Holiday-Tourismthailand

ท่องเที่ยว สูตรอาหารไทย อาหารเพื่อสุขภาพ ทั่วไทย เกาะช้าง เกาะเสม็ด เกาะกูด ภูกระดึง ระยอง หัวหิน พัทยา เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และ สถานที่ท่องเที่ยว ต่างๆ.

Custom Search

ธารโบกขรณี เดิมชื่อ "ธารอโศก" เป็นป่าดงดิบอยู่ในระหว่างหุบเขา มีธารน้ำไหลลอดใต้ภูเขาผ่านบริเวณนี้แล้วไหลลงสู่ทะเลอันดามันที่ตำบลแหลมสัก ต้นน้ำเป็นน้ำผุดเกิดขึ้นบริเวณเขาถ้ำเพชร และเขาถ้ำน้ำผุด ในท้องที่ตำบลอ่าวลึกเหนือ อำเภออ่าวลึกจังหวัดกระบี่ ซึ่งอยู่ห่างจากอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณีไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 4 กิโลเมตร น้ำผุดเกิดขึ้นตลอดทั้งปี ไหลมาตามลำคลอง เรียกว่า "คลองอ่าวลึก" ในปี พ.ศ. 2496 นายวิเวก จันทโรจน์-วงค์ ข้าหลวงประจำจังหวัดกระบี่ ได้มาตรวจราชการในท้องที่อำเภออ่าวลึก และแวะพักผ่อนที่ธารอโศก เห็นว่า สถานที่นี้มีธรรมชาติสวยงามควรที่จะได้สงวนไว้เป็นพื้นที่ของทางราชการ เพื่อใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน และพลโท บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มาพักผ่อน ณ สถานที่นี้และได้ตั้งชื่อธารอโศกใหม่ว่า "ธารโบกขรณี" กรมป่าไม้ได้จัดตั้งเป็นสวนรุกขชาติธารโบกขรณีอยู่ในความดูแลของกองบำรุง ในปี 2498 กรมป่าไม้ โดยกองอุทยานแห่งชาติ ได้เสนอให้จัดตั้งสวนรุกขชาติธารโบกขรณีและพื้นที่บริเวณใกล้เคียงเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 67 ก ลงวันที่ 30 กันยายน 2541 มี เนื้อที่ 104 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ป่าปากลาวและป่าคลองบากัน ป่าคลองกาโหรดและป่าคลองหิน พื้นที่ป่าบริเวณใกล้เคียง และบริเวณหมู่เกาะเหลาบิเละ ในท้องที่ตำบลอ่าวลึกใต้ ตำบลอ่าวลึกเหนือ ตำบลแหลมสัก ตำบลอ่าวลึกน้อย อำเภออ่าวลึก และตำบลเขาทอง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่
ภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี บางส่วนมีสภาพพื้นที่เป็นเขาสูงชันที่ทอดตัวในแนวเหนือ-ใต้ พื้นที่บางส่วนมีลักษณะแบบคาร์ส (Karst Topography) มีบ่อหรือพื้นยุบตัวของหินเบื้องล่าง (sink hole) มีลักษณะของธารน้ำใต้ดิน สภาพพื้นที่เป็นแบบลูกคลื่น ทั้งลอนลาดและลอนชัน มีเขาโดดเตี้ย (monadnock) ของหินปูน ซึ่งมีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชันกระจายอยู่ทั่วไป ประกอบด้วย ถ้ำสระยวนทอง ควนสอง เขาลูกบ้า ถ้ำทะลุฟ้า เขาลอดใต้ เขาช่องลม เขานอก เขาตากรด เขาอ่าวน้ำ เขาอ่าวม่วง เขาใสโต๊ะดำ เขาใหญ่ปากช่องลาด และพื้นที่บางส่วนเป็นหมู่เกาะในทะเลอันดามันประกอบด้วย เกาะเหลาบิเละ (เกาะห้อง) เกาะเหลากา เกาะเหลาเหรียม เกาะปากกะ เกาะเหลาลาดิง เกาะยะลาฮูดัง เกาะเหลาบุโล๊ะ (เกาะผักเบี้ย) เกาะกามิด เกาะปาหุเสีย เกาะฮันตู เกาะจาบัง เกาะเมย เกาะกาโรส เกาะแตก เกาะมีไลย เกาะอ่าวช้างตาย เกาะเลาดัว เกาะรงมารง (เกาะขลุ่ย) เกาะแหลมค้างคาว เกาะแหลมทะลุ เกาะแหลมตุโดด เกาะช่องลาดใต้ และเกาะฮาม พื้นที่อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณีเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารในพื้นที่อำเภออ่าวลึกหลายสาย ที่สำคัญได้แก่ คลองมะรุย คลองกลาง คลองน้ำตก คลองอ่าวลึก และคลองกาโรส
ภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศ เป็นแบบมรสุมในเขตร้อน มี 2 ฤดู คือฤดูฝนและฤดูร้อน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ฝนแปดแดดสี่" หมายถึงฤดูฝน 8 เดือน ฤดูร้อน 4 เดือน ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคมของทุกปี เดือนกันยายนจะเป็นเดือนที่มีปริมาณฝนตกมากที่สุดในรอบปี เดือนพฤศจิกายนเป็นเดือนที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดในรอบปีประมาณ 26.4 องศาเซลเซียส ฤดูร้อน เริ่มจากกลางเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนของทุกปี เดือนกุมภาพันธ์จะเป็นเดือนที่มีปริมาณฝนตกน้อยที่สุดของปีอากาศช่วงนี้จะร้อน เหมาะแก่การท่องเที่ยว เดือนเมษายนเป็นเดือนที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดประมาณ 29 องศาเซลเซียส
สัตว์ป่า
ด้วยสภาพพื้นที่ป่าในปัจจุบันไม่เป็นผืนป่าขนาดใหญ่ติดต่อกัน ทำให้สัตว์ป่าที่หลงเหลืออยู่มีไม่มากนักที่พบเห็นได้แก่ หมูป่า เสือปลา กระจงหนู ชะนี ลิง ค่าง ชะมดหางปล้อง เม่นใหญ่แผงคอยาว ลิ่น นากเล็บสั้น กระแต กระรอก อ้นเล็ก พังพอนธรรมดา บ่าง หนู ไก่ป่า นกดุเหว่า นกเขาใหญ่ นกเขาชะวา นกกวัก นกเอี้ยงสาริกา นกยางเปีย เหยี่ยวแดง นกตบยุง นกขุนทอง นกแซงแซว นกขมิ้น นกหัวขวาน นกกางเขนดง นกกางเขนบ้าน นกเด้าลมหลังเทา นกปรอด เต่า งู กบ และอึ่งอ่าง ฯลฯ ในห้วยลำคลองมีปลาน้ำจืดที่พบเห็นโดยทั่วไปได้แก่ ปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลาเสือข้างลาย ปลาแก้มช้ำ ปลาซิว ปลาดุก ปลาหัวตะกั่ว ปลาไหล ปลากดเหลือง ปลากระดี่นาง ปลากระดี่หม้อ ปลากัด ปลาตูหนา ปลาหมอไทย ปลากระทุงเหวเมือง และปลากระสูบขีดอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณีครอบคลุมท้องน้ำทะเลประมาณ 64.3 ตารางกิโลเมตร มีสัตว์น้ำที่สำคัญและมีเป็นจำนวนมากทั้งพวกหอย ปู กุ้ง ปลากะรัง ปลากระพงแดง ปลาผีเสื้อ ปลานกแก้ว ปลาสลิดหิน ปลาสิงโต ปลาการ์ตูน ปลิงทะเล ดาวทะเล แมงดาทะเล ดอกไม้ทะเล เม่นทะเล ฟองน้ำ ปะการังอ่อน ปะการังเขากวาง ปะการังสมอง และปะการังเห็ด เป็นต้น
ป่าและพันธุ์ไม้
สังคมพืชในเขตอุทยานแห่งชาติสามารถจำแนกออกได้เป็น 1) ป่าดงดิบ พบในบริเวณเทือกเขาสูงชัน พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ หลุมพอ ตะเคียน เคี่ยม อินทนิลน้ำ ตะแบก โสกน้ำ มะม่วงป่า ไข่เขียว ยางนา ตำเสา พืชพื้นล่างและพืชอิงอาศัยเป็นพวกระกำ หวาย ไผ่ป่า เต่าร้าง หมากเทา บอน เฟิน กล้วยป่า และเอื้องป่า เป็นต้น 2) ป่าชายเลน ขึ้นอยู่ในดินเลนริมทะเลและตามบริเวณปากแม่น้ำใหญ่ ในบริเวณเขาถ้ำลอดใต้ อ่าวน้ำ แหลมสัก คลองบากัน และคลองกาโรสบางส่วน พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ตะบูนดำ ตะบูนขาว ลำพู ลำแพน ถั่วขาว ถั่วดำ พังกาหัวสุม และแสม 3) ป่าพรุ พบในบริเวณที่มีน้ำจืดขังอยู่ตลอดปีของเขาช่องลมตอนใต้ มีเนื้อที่ไม่มากนัก
สิ่งอำนวยความสะดวก
ที่พัก/บ้านพักโรงแรม จำนวน 16 แห่ง อยู่ บริเวณ อำเภออ่าวลึก จำนวน 2 แห่ง ชื่อ พี เอ็น แมนชั่นและเอ ที ในบริเวณอำเภอเมืองกระบี่ จำนวน 14 แห่ง ได้แก่ กระบี่เมอร์รีไทม์ ไทยโฮเต็ล เวียงทอง แกรนด์แมนชั่น ซิตี้โฮเต็ล กระบี่รอยัล อโนเกสท์เฮาส์ แกรนด์ทาวเวอร์ เคเเอลเกสท์เฮาส์ เคอาร์แมนชั่น การ์เด้นเฮาส์ ชาเกสท์เฮาส์ โดมทอง และเล็กเกสท์เฮาส์ รีสอร์ท จำนวน 2 แห่ง ชื่อ อ่าวลึก รีสอร์ท และอ่าวลึก บังกะโล ที่พักนักท่องเที่ยว พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก จำนวน 2 แห่ง ที่ทำการอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี และบริเวณ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ ธบ.1 (เกาะห้อง) เป็นพื้นที่กางเต็นท์ ขนาด 1,600 ตารางเมตร ร้านอาหาร ของที่ระลึก - ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก และ ลานจอดรถไว้บริการนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือน ขนาด 1,000 ตารางเมตร ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว - จำนวน 1 แห่ง บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี (ชั่วคราว)
การเดินทาง
รถยนต์รถยนต์ส่วนบุคคล สามารถมาตามทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ไปอำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ถึงสี่แยกอ่าวลึก แล้วเข้าสู่ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4039 เป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ รวมระยะทางจากตัวเมืองกระบี่ประมาณ 48 กิโลเมตร หรืออาจใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4035 สุดเส้นทางแล้ว ต่อเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4039 อีก 2 กิโลเมตร เครื่องบินการเดินทางโดยเครื่องบิน เที่ยวบินกรุงเทพฯ–กระบี่ จากท่าอากาศยานดอนเมือง สู่ท่าอากาศยานกระบี่ แล้วเดินทางต่อโดยรถยนต์หรือรถโดยสารประจำทางถึงสถานีขนส่งจังหวัดกระบี่ ไปยังอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี ซึ่งมีรถประจำทางหลายสายให้นักท่องเที่ยวเลือกใช้บริการ เช่น รถโดยสารธรรมดา อัตราค่าโดยสาร ราคา 20 บาท ปรับอากาศ 30 บาท รถตู้ประจำทางปรับอากาศ ราคา 30 บาท จากสี่แยกอ่าวลึกไปอุทยานแห่งชาติ ระยะทาง 2 กิโลเมตร ค่าโดยสารรถ 2 แถว หรือรถจักรยานยนต์รับจ้าง ราคา 10 บาทรถโดยสารประจำทางรถโดยสารประจำทาง เส้นทาง กรุงเทพ-กระบี่ ระยะทาง 814 กิโลเมตร อัตราค่าโดยสารสำหรับรถธรรมดา ราคา 300 บาท รถปรับอากาศ 450 บาท ปรับอากาศชั้น 1 486 บาท 24 ที่นั่ง 650 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม