Holiday-Tourismthailand

ท่องเที่ยว สูตรอาหารไทย อาหารเพื่อสุขภาพ ทั่วไทย เกาะช้าง เกาะเสม็ด เกาะกูด ภูกระดึง ระยอง หัวหิน พัทยา เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และ สถานที่ท่องเที่ยว ต่างๆ.

Custom Search

อุทยานแห่งชาติศรีพังงา มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอคุระบุรี และอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เป็นอุทยานแห่งชาติ 1 ในจำนวน 5 แห่ง ของโครงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเพื่อการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2530 ซึ่งมีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์และสวยงามตามธรรมชาติ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญ มีสัตว์ป่าชุกชุม และจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตก หน้าผา อุทยานแห่งชาติศรีพังงา มีเนื้อที่ประมาณ 153,800 ไร่ หรือ 246.08 ตารางกิโลเมตร
   ความเป็นมา : ในต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2529 ราษฎรอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ได้เสนอผ่าน นายบรม ตันเถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ทางราชการจัดตั้งพื้นที่บริเวณน้ำตกตำหนัง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่อปรับปรุงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและอนุรักษ์ไว้เป็นแหล่งต้นน้ำ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2529 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2529 พิจารณาจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้จัดตั้งพื้นที่ป่าบริเวณน้ำตกตำหนัง เป็นอุทยานแห่งชาติเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ
   เดือนพฤษภาคม 2529 กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 877/2529 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2529 ให้ นายธวัช ไชยพัฒน์ เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 ไปดำเนินการสำรวจและจัดตั้งพื้นที่บริเวณป่าน้ำตกตำหนังเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยใช้ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติศรีพังงา” จากรายงานการสำรวจตามหนังสือ ที่ กษ 0713 (ศง)/32 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2529 บริเวณดังกล่าวมีสภาพป่าสมบูรณ์ มีทิวทัศน์และจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงาม กองอุทยานแห่งชาติ ได้ดำเนินการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเทือกเขานมสาว ในท้องที่ตำบลคุระ ตำบลแม่นางขาว ตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี และตำบลบางนายสี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่ม 105 ตอนที่ 60 ลงวันที่ 16 เมษายน 2531 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 56 ของประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศ
   สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นแนวขนานกับฝั่งทะเลอันดามันในแนวเหนือใต้ บริเวณเทือกเขาจะมีสภาพป่าที่สมบูรณ์เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เป็นต้นกำเนิดลำห้วยต่างๆ มากมาย ทำให้เกิดจุดเด่นทางธรรมชาติประเภทน้ำตก หน้าผา และสภาพป่าที่สวยงาม มีต้นน้ำลำธารมากมาย เช่น คลองคุรอด คลองตำหนัง คลองแพรกขวา คลองแพรกซ้าย คลองบางแดง คลองบางวัน คลองหลักเขต และคลองบางใหญ่
ลักษณะภูมิอากาศ
   อุทยานแห่งชาติได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีฝนตกเกือบตลอดปี มีเพียง 2 ฤดูกาล โดยฤดูร้อนจะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม - เมษายน และฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - ธันวาคม ซึ่งสภาพอากาศจะชื้นและไม่หนาวหรือร้อนจัด มีอุณหภูมิตั้งแต่ 26-29 องศาเซลเซียส ตลอดปี
พืชพรรณและสัตว์ป่า
   พื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยป่าดิบชื้นเป็นไม้ไม่ผลัดใบสภาพป่าค่อนข้างชื้น มีพรรณไม้ที่สำคัญได้แก่ ยาง ตะเคียน สะตอป่า กระท้อน ตาเสือ เสียดช่อ และนาคบุตร เป็นต้น ส่วนพืชพื้นล่างรกทึบด้วย หวาย เถาวัลย์ ว่าน สมุนไพร ระกำ มอส และเฟินชนิดต่างๆ รวมทั้งไผ่หลายชนิด มีสัตว์ป่าชุกชุมเนื่องจากพื้นที่ติดกับป่าเหนือเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้สัตว์ป่าอพยพหนีน้ำอันเกิดจากการปิดกั้นเขื่อนกักน้ำ มาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น สมเสร็จ เลียงผา ช้างป่า เก้ง กวางป่า หมี เสือ กระจง ชะนี ลิง ค่าง วัวแดง และนกชนิดต่างๆ อีกมากมาย เช่น นกแก้ว ไก่ป่า นกเงือก นกโพระดก นกแซงแซว นกปรอด นกหัวขวาน ฯลฯ นอกจากนี้ยังพบสัตว์เลื้อยคลานประกอบด้วย เต่า ตะพาบน้ำ เห่าช้าง ตะกวด งู กิ้งก่า ฯลฯ ทั้งยังมีสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เช่น กบทูด คางคก เขียด อึ่งอ่าง และปลาที่สวยงามอยู่มากมายตามแอ่งน้ำต่างๆ
แหล่งท่องเที่ยว
   อุทยานแห่งชาติศรีพังงามีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ป่าในท้องที่อำเภอคุระบุรี และอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งมีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์และสวยงามตามธรรมชาติ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญ มีสัตว์ป่าชุกชุม และจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามw เช่น น้ำตก สภาพป่า ฯลฯ มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่
   น้ำตกตำหนัง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ทิ้งตัวลงมาจากหน้าผาหิน สูงประมาณ 60 ม. ลงสู่แอ่งน้ำใหญ่เบื้องล่าง เหมาะแก่การเล่นน้ำมาก เป็นน้ำตกที่เดินทางไปเที่ยวได้สะดวกที่สุดของอุทยานแห่งชาติศรีพังงา จากที่ทำการอุทยานแห่งชาติจะมีทางรถยนต์ต่อเข้าไปอีกราว 1.5 กิโลเมตร จากนั้นเดินเท้าผ่านแอ่งปลาพลวงและผืนป่าร่มรื่นไปอีก 500 เมตร ก็จะถึงน้ำตกตำหนัง ระหว่างทางมีนกหลายชนิดให้ชม เช่น นกหัวขวานสีน้ำตาล นกปรอดเล็กตาขาว นกปรอดโอ่งท้องสีน้ำตาล ฯลฯ
   น้ำตกโตนต้นไทร เกิดจากลำน้ำซึ่งตกจากโขดหินขนาดใหญ่ บริเวณใกล้น้ำตกจะมีต้นไม้ใหญ่น้อย และโขดหินสวยงาม สายน้ำไหลตกลงมาตามผาหินสูงประมาณ 20 เมตร บริเวณน้ำตกมีต้นไทรอยู่หลายต้นจนเป็นที่มาของชื่อน้ำตก ทางเข้าน้ำตกอยู่เลยด่านตรวจอุทยานแห่งชาติก่อนเข้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติมาเล็กน้อย เมื่อพบทางแยกให้เลี้ยวซ้าย ผ่านสวนผลไม้ชาวบ้านไปอีก 2 กิโลเมตร จากนั้นต้องเดินเลาะลำธารเข้าไปถึงน้ำตก ควรมีเจ้าหน้าที่ช่วยนำทาง แต่ในช่วงฤดูฝนจะเดินเข้าไปน้ำตกไม่ได้ จากน้ำตกโตนต้นไทรไปอีก 500 เมตร จะถึง ถ้ำค้างคาว ซึ่งมีค้างคาวอาศัยอยู่จำนวนมาก
   น้ำตกโตนต้นเตย จากที่ทำการอุทยานแห่งชาติมีทางเดินไปน้ำตกโตนต้นเตย ผ่านลำธารที่มีก้อนหินน้อยใหญ่ประมาณ 30 นาที จะถึงน้ำตกชั้นล่าง เรียกว่า น้ำตกโตนเตยน้อย สูง 10 เมตร จากนั้นเดินตามลำธารไปจนถึงน้ำตกโตนเตยที่ทิ้งตัวลงจากผาหินสูง 45 เมตร อยู่ท่ามกลางป่าดงดิบ มีเฟิน หวาย และนกหลายชนิดให้พบเห็น เช่น นกเขียวคราม นกเขียวก้านตอง นกโพระดกคางแดง ฯลฯ ในช่วงฤดูฝนที่น้ำหลากไม่สามารถเดินตามลำธารเข้าไปได้ ควรมีเจ้าหน้าที่ช่วยนำทางเพราะอาจหลงทางได้
   เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เริ่มจากบริเวณลานจอดรถของน้ำตกตำหนัง มีทางเดินไต่เขาผ่านป่าดิบชื้นขึ้นไปจนถึงจุดชมทิวทัศน์ มองเห็นบริเวณที่คลองตำหนังไหลผ่านป่าชายเลนลงทะเลระหว่างทางมีต้นไทร ซึ่งถ้าโชคดีเป็นช่วงลูกไทรสุก ก็จะมีโอกาสได้พบนกหลากชนิดที่แวะมากินลูกไทร เช่น นกแก๊ก รวมทั้งนกเงือกหายาก เช่น นกชนหิน นกเงือกดำ ในบริเวณนี้ยังมีพืชหากยาก เช่น กระโถนพระฤาษี บัวผุด ด้วย จากนั้นเส้นทางจะผ่าน น้ำตกโตนอู น้ำตกโตนเด้ง แล้ววกกลับมายังจุดเริ่มต้น
ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก
   มีบ้านพักสำหรับบริการนักท่องเที่ยว จำนวน 3 หลัง มีลานกางเต้นท์ ร้านอาหาร ภายในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
   มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น.
การเดินทาง
   รถยนต์ โดยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ตะกั่วป่า-ระนอง) ผ่านป่าเทือกเขานมสาว เลี้ยวเข้าทางแยกสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติตรงหลักกิโลเมตรที่ 756 เป็นเส้นทางลำลองจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (จากปากทางบ้านตำหนัง) เข้าเขตน้ำตกตำหนังเป็นระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร
สถานที่ติดต่อ
   อุทยานแห่งชาติศรีพังงา ตู้ ปณ.22 ปทจ.ตะกั่วป่า อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา 82110 โทรศัพท์ 0 7641 9056

 หมู่เกาะสุรินทร์ ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 29 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 มีขนาดพื้นที่ 135 ตารางกิโลเมตร (84,357 ไร่) เป็นพื้นที่เกาะร้อยละ 24 ที่เหลือเป็นทะเล ประกอบด้วย 5 เกาะ คือ เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะรี (สต็อคหรือไฟแว๊บ) เกาะกลาง (ปาจุมบาหรือมังกร) และเกาะไข่ (ตอรินลา) บริเวณใกล้เคียงยังมีหินแพและหินกอง และทางทิศตะวันออก ห่างจากเกาะประมาณ 14 กิโลเมตร มีกองหินโผล่น้ำที่มีชื่อเสียงมากในเรื่องการดำน้ำลึกชื่อว่า ริเชลิ่ว ปัจจุบันกำลังผนวกเข้ากับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ระบบนิเวศ - ความหลากหลายทางชีวภาพ
• อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ไม่ได้เป็นแค่เพียงสถานที่ให้นักท่องเที่ยวแวะเวียนเยี่ยมชมหาความสำราญสนุกสนานเฮอาเท่านั้น แต่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ยังเป็นสถานที่ซึ่งมีคุณค่าอันประเมินไม่ได้ เป็นมรดกทางธรรมชาติ และยังเป็นแหล่งความรู้สำหรับทุกคน เป็นที่รวมของธรรมชาติทั้งพันธุ์พืชและสัตว์ป่ามากมายหลายชนิด อาจกล่าวได้ว่า อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ เป็นห้องเรียนธรรมชาติที่สมบูรณ์บริสุทธิ์ เป็นที่รวมของระบบนิเวศจากป่าดิบชื้น ป่าชายหาด ป่าชายเลน มาประจบกับแนวปะการัง ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่หลากหลายที่สุดในท้องทะเล และด้วยอาณาเขตที่ครอบคลุมทั้งทะเลและพื้นป่าอันสุดสมบูรณ์ จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ตั้งแต่ปลาใหญ่ที่สุดในโลก เช่น ฉลามวาฬ จนถึงนกหายากอย่าง กระแตผีชายหาด ชาปีไหน รวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น บ่าง ที่ร่อนไปมาให้เห็นกันบ่อย ๆ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดที่ผู้ไปเยือนจะก่อความเสียหาย ทำลาย หรือแม้แต่กระทำการรบกวน ต่อเจ้าของบ้าน เช่น ปูเสฉวนตัวเล็ก ๆ สักตัวเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
• อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะประมาณ 2 กิโลเมตรจากที่ทำการ ฯสู่หาดไม้งาม การเดินทางควรใช้เวลาไป – กลับ อย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อการซึมซับถึงความเป็นสุดยอดของเส้นทางที่รวมความหลากหลายของป่าดิบจนถึงแนวปะการังไว้ในที่แห่งเดียว จึงจำเป็นที่ทุกคนท่มาเยือนเกาะแห่งนี้ต้องมาสัมผัส
หมู่เกาะชาวเล “ มอแกน “ เป็นชุมชนเผ่าเร่ร่อนที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไว้มากที่สุด ปัจจุบันตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ หมู่เกาะสุรินทร์บริเวณอ่าวไทรเอน ละอ่าวบอน นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองเดิม ที่น่าเยี่ยมชม
แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและกิจกรรมที่น่าสนใจ
เกาะสุรินทร์เหนือ เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ มีบ้านพัก ร้านอาหาร อุปกรณ์ดำน้ำตื้นและเรือหางยาว เกาะสุรินทร์เหนือมีภูมิสัณฐานที่เป็นอ่าวเว้าแหว่งอยู่รอบ แต่ละแห่งล้วนกว้างใหญ่ สวยงามและสงบ จุดที่นักท่องเที่ยวนิยมกางเต็นท์มากที่สุดคือบริเวณหน้าอ่าวช่องขาด ตรงข้ามกับเกาะสุรินทร์ใต้ และบริเวณนี้ยังเป็นจุดชมดวงอาทิตย์ตกที่สวยงามมาก รองลงมาคือลานกว้างเหนือหาดที่อ่าวไม้งาม ส่วนอ่าวอื่น ๆ ต้องนั่งเรือหางยาว เช่น อ่าวจาก ใช้เวลานั่งเรือประมาณ 45 นาที
เกาะสุรินทร์ใต้ มีจุดที่น่าสนใจหลายแห่ง แต่ต้องนั่งเรือไปจากเกาะสุรินทร์เหนือเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมการดำน้ำตื้นรอบๆเกาะ จุดเด่นคือ อ่าวสุเทพ อ่าวผักกาด และจุดที่นักท่องเที่ยวมีโอกาสพบเต่ามากที่สุดก็คือ เกาเต่า
ดำน้ำลึก หมู่เกาะสุรินทร์มีแหล่งดำน้ำลึกที่สวยงามมากมายโดยเฉพาะที่โดดเด่นมากที่สุดก็คือ กองหินปริ่มน้ำที่มีชื่อว่า ริเชลิว ซึ่งกำลังจะถูกผนวกเข้ากับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ กองหินนี้อยู่ห่างจากเกาะสุรินทร์มาทางทิศตะวันออกประมาณ 14 กิโลเมตร สำหรับนักดำน้ำที่สนใจสามารถติดต่อกับทัวร์ได้ทั่วไป ส่วนจุดดำน้ำลึกรอบเกาะนั้นก็มีอยู่หลายแห่ง
ดำน้ำตื้น ในบริเวณอ่าวรอบๆ หมู่เกาะสุรินทร์เกือบทุกอ่าวจะเต็มไปด้วยแนวปะการังแข็งที่สมบูรณ์ที่สุดของท้องทเลไทย เป็นที่อาศัย หากิน หลบภัย และขยายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตจำนวนมากในระบบนิเวศ ทั้งหมดนี้สามารถชมได้เพียงก้มมองใต้ผิวน้ำ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จึงไม่พลาดโอกาส ที่จะต้องลงดำน้ำตื้นเมื่อมาถึงหมู่เกาะสุรินทร์
จุดดำน้ำตื้นที่สำคัญของเกาะสุรินทร์
1.อ่าวแม่ยาย มีปะการังแข็ง ปะการังอ่อน หอยมือเสือ
2.หินกอง บริเวณนีมีปลาใหญ่เยอะหน่อยครับ
3.อ่าวเต่า มีปลาและหนอนพู่ฉัตร
4.อ่าวมังกร จะมีกลุ่มดอกไม้ทะเลและปลาการ์ตูน
5.เกาะตอรินล่า มีเต่าทะเล ปลาฉลามหูดำและแนวปะการังเขากวาง
6.อ่าวสุเทพ มีกัลปังหา ปะการังและปลาตามพื้นหน้าดิน อาทิปลากระเบน ปลาโรนัล
7.อ่าวไม้งาม มีปลาเยอะครับ
8.อ่าวจาก บริเวณนี้มีปะการังและปลาเยอะ
9.อ่าวผักกาด เน้นดูปลานานาชนิด
10.เกาะสต๊อค ที่นี่มีปลาใหญๆให้ดูเยอะ
(ข้อมูลจากการบอกกล่าวของเจ้าหน้าที่อุทยานฯเกาะสุรินทร์)กฎระเบียบข้อห้าม
• การท่องเที่ยวพักผ่อนในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ มีกฎระเบียบที่นักท่องเที่ยวผู้มีจิตสำนึกทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในการใช้พื้นที่ร่วมกันอย่างยั่งยืนถาวร ดังนี้
  -ไม่เก็บทุกอย่างออกจากพื้นที่นอกจากขยะ
  -ไม่ส่งเสียงดังอันเป็นที่รบกวนผู้อื่นรวมทั้งสัตว์ป่า
  -ไม่ล่า ทำลาย หรือกระทำการใดๆ อันจะทำให้พืช สัตว์ และสภาพแวดล้อมเสียหาย
  -จงตระหนักถึงคุณค่าของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ที่เราทุกคนต้องใช้ร่วมกันและรักษาไว้เพื่อตัวเราเองและลูกหลานสืบไปค่าธรรมเนียมบุคคลเข้าเขตอุทยานแห่งชาติ
คนไทย  ผู้ใหญ่ 40 บาท / เด็ก 20 บาท
ต่างชาติ  ผู้ใหญ่ 200 บาท / เด็ก 100 บาท
ค่าธรรมเนียมดำน้ำลึก : คนไทยและต่างชาติ 200 บาท/คน/วัน
ค่าเช่าอุปกรณ์ดำน้ำ : หน้ากาก 100 บาท/วัน, ตีนกบ 100 บาท/วัน, ชูชีพ 50 บาท/วันข้อห้ามดำเนินการในเขตอุทยานฯ
1.ห้ามก่อกองไฟ
2.ห้ามประกอบอาหาร
3.ห้ามจุดเทียนไขในเต้นท์
4.ห้ามส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น
5.ห้ามเคลื่นย้ายเครื่องนอนทั้งในบ้านพักและเต็นท์
6.ห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปในเขตอุทยานฯ
7.ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อุทยานฯอย่างเคร่งครัดการเดินทาง
• การเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงกิโลเมตรที่ 720 (ห่างจากตัวอำเภอคุระบุรีประมาณ 6 กิโลเมตร) จะมีทางแยกไปท่าเรือคุระบุรีอีกประมาณ 2 กิโลเมตร ถึงที่ทำการและศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
• หากเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางจากสถานีขนส่งสายใต้สามารถไปได้ทุกคันที่ผ่านอำเภอคุระบุรี ลงที่ทางแยกไปท่าเรือคุระบุรีหรือที่ตัวอำเภอคุระบุรีแล้วต่อรถมาที่ท่าเรือ
• ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม เป็นฤดูท่องเที่ยว มีเรือโดยสารจากท่าเรือคุระบุรีไปเกาะสุรินทร์ทุกวัน ออกเวลา 9.00 น. ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง และเที่ยวกลับออกจากเกาะสุรินทร์เวลา 10.00 น. ถึงฝั่งประมาณ 14.00 น.
• เกาะสุรินทร์มีพื้นที่จำกัดอยู่ห่างจากฝั่ง 60 กิโลเมตร มีสิ่งอำนวยความสะดวกเท่าที่จำเป็นสำหรับนักท่องเที่ยวจำนวนจำกัด การเดินทางไปเกาะสุรินทร์จึงต้องติดต่อล่วงหน้าเท่านั้น
• ติดต่อสำรองที่พักที่ส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเล กรมป่าไม้ โทร.0-2561-2918, 0-2561-2921, 0-2561-4292-4 ต่อ 746 หรือที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ โทร.0-7649-1378, 0-7649-1582 โทรสาร 0-7649-1583

อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง เดิมเป็นที่รู้จักกันในนามของ “น้ำตกลำปี” ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 กรมป่าไม้จัดตั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็น “วนอุทยานเขาลำปี” และกำหนดให้อยู่ในความคุมดูแลของกองอุทยานแห่งชาติ ในวันที่ 14 เมษายน 2529 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 52 ของประเทศไทยรวมเนื้อที่ประมาณ 72 ตารางกิโลเมตร หรือ 45,000 ไร่
ลักษณะภูมิประเทศ
   อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง เป็นพื้นที่ทางทิศตะวันออกของชายฝั่งทะเลอันดามัน มีสภาพพื้นที่แยกจากกันเป็น 2 ส่วน คือ บริเวณหาดท้ายเหมืองและบริเวณเทือกเขาลำปี บริเวณหาดท้ายเหมืองซึ่งอยู่ริมทะเลอันดามัน ปลายสุดของหาดเป็นแหลม เรียกว่า แหลมอ่าวขาม (เขาหน้ายักษ์) ทางด้านตะวันออกของพื้นที่แห่งนี้มีคลองน้ำกร่อยขนาดใหญ่ น้ำจืดส่วนใหญ่ไหลมาจากเทือกเขาลำปี ซึ่งมีสภาพเป็นป่าดงดิบพื้นที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน เรียงตัวยาวไปตามแนวเหนือ-ใต้ เรียกว่า เทือกเขาลำปี มีสภาพพื้นที่แปรเปลี่ยนสูงขึ้น 40-100 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลางบริเวณรอบๆ เขตอุทยานแห่งชาติสู่พื้นที่ภูเขาสูงในตอนกลางของอุทยานแห่งชาติ ยอดเขาสูงสุดคือ เขาขนิม อยู่ทางเหนือของพื้นที่ มีความสูง 622 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ลักษณะภูมิอากาศ
   ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งมีกำลังแรงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม พัดพาความชุ่มชื้นจากมหาสมุทรอินเดียมายังแผ่นดิน ทำให้เกิดฝนตกชุก พื้นที่นี้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือน้อย เนื่องจากมีเทือกเขาสูงทอดตัวในแนวเหนือ-ใต้ เป็นแนวกั้น ทำให้ลมมีกำลังอ่อนลง อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรงก็สามารถก่อให้เกิดฝนตกได้ ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน เป็นช่วงฤดูแล้ง ท้องฟ้ามีเมฆปกคลุมน้อยลง อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นขณะที่ปริมาณฝนจะมีน้อย ดังนั้น ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยว คือเดือนธันวาคม–เดือนมีนาคม
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
   จาการศึกษาสภาพอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง พบว่าสังคมพืชในเขตอุทยาน สามารถจำแนกออกได้เป็น 4 ประเภท ดังต่อไปนี้
   ป่าดงดิบ พบในบริเวณที่เป็นเทือกเขาสูงชัน เช่น เขาขนิม เขาลำปี และทางด้านตะวันออกของหาดท้ายเหมืองบางส่วน เทือกเขาลำปีมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์มาก พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยาง กระบากแดงควน ตะเคียนทอง พิกุลป่า ส่วนพืชพื้นล่างประกอบด้วย หวายและไผ่ชนิดต่าง ๆ
   ป่าชายเลน ป่าชนิดนี้ขึ้นอยู่ในดินเลนริมทะเล และบริเวณปากน้ำใหญ่ๆ พบอยู่บริเวณชายเลนทุ่งมะพร้าว และคลองหินลาดตามแนวทิศตะวันออกของหาดท้ายเหมือง มีห้วยดินเลนลึกเหมาะแก่การเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ป่าชายเลน พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ถั่วดำและถั่วขาว เป็นต้น
   ป่าชายหาด มีลักษณะเป็นป่าโปร่งพบตลอดแนวพื้นที่ของหาดท้ายเหมือง พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ สนทะเล หูกวาง หยีทะเล และจิกเล เป็นต้น
   ป่าบึงหรือป่าพรุ สังคมพืชชนิดนี้เกิดขึ้นในที่ที่มีน้ำขังเกือบตลอดปีพบอยู่ในบริเวณศูนย์กลางพื้นที่หาดท้ายเหมืองสภาพดินเป็นดินทรายละเอียดขาวนวล สังคมพืชที่เด่นชัดในป่านี้คือ สภาพที่เป็นป่าเสม็ดล้วน
   สัตว์ป่าแบ่งตามประเภทของสัตว์ป่าได้ดังนี้
   สัตว์ป่าประเภทนก ที่พบทั้งหมด คือ 188 ชนิด เช่น เหยี่ยวแมลงปอขาดำ เหยี่ยวผึ้ง เป็นต้น
   สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบทั้งหมด 64 ชนิด สัตว์ป่าสงวน 2 ชนิด คือ สมเสร็จและเลียงผา ส่วนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทอื่นๆ ได้แก่ ค้างคาวมงกุฎ ค้างคาวหน้ายักษ์ ชะนีมือขาว หมีหมา เป็นต้น
   สัตว์เลื้อยคลาน พบทั้งหมด 57 ชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง 26 ชนิด สัตว์ที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง 31 ชนิด ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง 2 ชนิด คือ เต่ามะเฟือง และเต่าหญ้าตาแดง สัตว์ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ 2 ชนิด คือ เต่าตนุ และเต่ากระ และสัตว์เลื้อยคลานที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ 4 ชนิดได้แก่ เต่าหก เต่าจักร งูหลามปากเป็ด และงูกะปะค่างหรืองูปาล์ม
   สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สำรวจพบทั้งหมด 16 ชนิด มีสถานภาพตามกฎหมายเพียง 2 ชนิด คือ จงโคร่ง และกบทูด นอกนั้นไม่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายอีก 14 ชนิด เช่น กบนา เป็นต้น
   ปลาน้ำจืด สำรวจพบ 31 ชนิด มีเพียงชนิดเดียวที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ คือ ปลาแขยงหิน หรือ ปลาแขยงขีด และสำหรับปลานิล จัดเป็นปลาน้ำจืดต่างถิ่นที่พบในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ และปลาหายาก ได้แก่ ปลากดดำ และปลาหลด ส่วนปลาที่พบชนิดอื่นๆ เช่น ปลาดุกลำพัน ปลาหัวตะกั่ว เป็นต้น
บ้านพักและสิ่งอำนวยความสะดวก
    ทางอุทยานมีบ้านพัก ลานกาเต้นท์ ร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว
แหล่งท่องเที่ยว
   ชายหาดท้ายเหมือง เป็นหาดที่มีลักษณะค่อนข้างตรงและยาวจากอำเภอท้ายเหมืองไปจนถึงเขาหน้ายักษ์ แต่ไม่เหมาะในการเล่นน้ำ (โดยเฉพาะในช่วงมรสุมที่มีคลื่นลมแรง) เนื่องจากชายฝั่งมีความลาดชันมาก    หาดท้ายเหมืองเป็นหาดที่มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน–มีนาคม ของทุกปี ได้จัดให้มีงานประเพณีปล่อยเต่าเป็นประจำทุกปี
   ทุ่งหญ้าบัว ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 800 เมตร อยู่ในส่วนของหาดท้ายเหมือง

   น้ำตกโตนบางปอ เป็นน้ำตกที่ไหลลดเลี้ยวตามป่าที่สมบูรณ์ ปัจจุบันมีถนน ร.พ.ช. ตัดเลียบชายป่าน้ำตก ไปบ้านอินทนิล และบ้านบางทอง แต่ยังไม่ถึงน้ำตก ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 25 กิโลเมตร
   น้ำตกโตนไพร สูงประมาณ 50 เมตร ด้านล่างเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่เหมาะแก่การเล่นน้ำ เกิดจากเขาโตนบ้านไทร สภาพป่าโดยรอบมีความสมบูรณ์ดี
   น้ำตกลำปี ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาลำปี มีจำนวน 4 ชั้น ชั้นล่างเป็นอ่างน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่อยู่ห่างจากถนนเพชรเกษมตรงข้ามบ้านลำปีตามทางลาดยาง เป็นระยะทางประมาณ 1.8 กิโลเมตร
การเดินทาง
   รถยนต์ เดินทางตามทางหลวงแผ่นดินซึ่งจะมีสายหลักๆ 3 สาย คือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 เส้นทางถนนเพชรเกษม เป็นทางหลวงแผ่นดินสายหลักของภาคใต้ดป็นทางเรียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกรวมระยะทางจากกรุเทพฯ ถึง พังงา ประมาณ 839 กิโลเมตร
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 401 ซึ่งจะแยกจากทางหลวงหมายเลข 4 ที่อำเภอตะกั่วป่า ผ่านจังหวัดสุราษฎร์ธานี สิ้นสุดเส้นทางที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 402 เส้นทางสายโคกกลอย-ภูเก็ต
   เครื่องบิน เนื่องจากจังหวัดพังงาอยู่ห่างจากสนามบินภูเก็ตซึ่งเป็นสนามบินนานาชาติเพียง 66 กิโลเมตร ดังนั้นการเดินทางเข้าสู่จังหวัดพังงาด้วยเครื่องบินจึงค่อนข้างสะดวกสบายพอควร แล้วเดินทางต่อโดยรถยนต์ตามทางหลวงหมายเลข 4 ประมาณ 57 กิโลเมตร ถึงตลาดท้ายเหมือง เดินทางต่อมาอีกประมาณ 6 กิโลเมตรถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
   รถโดยสารประจำทาง ใช้บริการของบริษัทขนส่งจำกัด สายกรุงเทพฯ-พังงา โดยมีอัตราค่าโดยสารรถธรรมดา 425 บาท และรถปรับอากาศ 495 บาท และจากพังงาถึงอุทยานแห่งชาติระยะทาง 62 กิโลเมตร ค่าโดยสารรถธรรมดา 30 บาท และรถโดยสารปรับอากาศ 45 บาท รถสองแถว 20 บาท
สถานที่ติดต่อ
   อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง หมู่ 5 ต.ท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา 82120

อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทยในท้องที่ ตำบลกระโสม ตำบลกะไหล ตำบลคลองเคียน อำเภอตะกั่วทุ่ง ตำบลเกาะปันหยี อำเภอเมืองพังงา และ ตำบลเกาะยาวน้อย ตำบลเกาะยาวใหญ่ อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา มีอาณาเขตติดต่อกันดังนี้
• ทิศเหนือ จดพื้นที่ป่าชายเลนในท้องที่ อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา
• ทิศใต้ จดทะเลเขตอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา และเขตทะเล จังหวัดภูเก็ต
• ทิศตะวันออก จดเขตท้องที่จังหวัดกระบี่
• ทิศตะวันตก จดพื้นที่ป่าชายเลน และที่ชายทะเล ท้องที่ อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา
ลักษณะภูมิประเทศ
• ลักษณะโครงสร้างและธรณีสัณฐานของดินแดนภาคใต้ฝั่ง ตะวันตก เป็นบริเวณที่อยู่ใกล้กับแนวทิวเขาแกรนิต ที่เรียกว่า ทิวเขาตะนาวศรี และทิวเขาภูเก็ต อันเป็นเส้นกั้นพรมแดนไทย-พม่า ที่ทอดยาวไปจนถึงจังหวัดพังงา-ภูเก็ต เป็นทิวเขาที่เกิดในยุคครีตาเชียสกับยุคเทอร์เชียรีตอนต้น อายุประมาณ 136-36 ล้านปีมาแล้ว ภูมิสัณฐานและภูมิประเทศทั่วไปของบริเวณนี้ ยังเป็นผลมาจากลักษณะโครงสร้างที่เรียกว่า รอยเลื่อน มีชื่อทางธรณีว่า รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย และรอยเลื่อนพังงา การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของหิน (รอยคดโค้ง-รอยเลื่อน) ของหินแกรนิต นำเอาแร่ธาตุที่มีค่ามาสะสมตกผลึก เช่น แร่ดีบุก ตะกั่ว วุลแฟรม เหล็ก พลวง แมงกานีส แบไรต์ ฟลูออไรต์ และทองคำ ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของภูมิภาคนี้ นอกจากนั้นยังมีภูเขาหินตะกอน หินแปร แทรกสลับอยู่เป็นแนว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูเขาหินปูนซึ่งแทรกโผล่เป็นหย่อมๆ กระจายอยู่ทั่วไป ทั้งภูเขาหินปูนที่เป็นแนวเทือกเขาสลับซับซ้อนหรือภูเขาหินปูนลูกโดด และยังปรากฏว่ามี ซากดึกดำบรรพ์ (ฟอสซิล) อีกการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติดังกล่าวทำให้เกิดเป็นช่อง โพรงหรือถ้ำมากมาย ส่วนภูเขาหินดินดานบางแห่งสลายตัวกลายเป็นหย่อมเนินเขาขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง การยุบตัวของแผ่นดินทางด้านตะวันตกทำให้เกิดเป็นชายฝั่งขรุขระ เว้าๆ แหว่งๆ เกิดเป็นอ่าวและเกาะซึ่งเป็นภูเขาหินปูนลูกโดด กระจายอยู่ตามฝั่งมากมาย โดยเฉพาะในเขตจังหวัดพังงา กระบี่ ตรัง และสตูล โดยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา เป็นท้องทะเล พื้นทะเลเป็นดินเลน โคลน และทราย เป็นส่วนใหญ่ มีภูเขาหินปูน โผล่อยู่กลางน้ำ กระจายทั่วบริเวณอ่าวพังงา มีลักษณะสวยงาม โดดเด่น รูปร่างแปลกๆ มากมาย ประกอบไปด้วย เกาะน้อยใหญ่ ประมาณ 42 เกาะ เช่น เกาะเขาเต่า เกาะพระอาตเฒ่า ฯลฯ ซึ่งแต่ละเกาะก็จะมีสภาพธรรมชาติที่แตกต่างกันไปและมีความ สวยงามเฉพาะตัว
ลักษณะภูมิอากาศ
• เนื่องจากภาคใต้ฝั่งตะวันตกเป็นฝั่งทะเลเปิด จึงได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เต็มที่ในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ทะเลมีคลื่นลมจัด ฝั่งทะเลช่วงใดที่ไม่มีเกาะกำบังจึงกลายเป็นฝั่งซึ่งมีหาดทรายชันและน้ำลึกในระยะใกล้ฝั่ง ส่วนฝั่งทะเลช่วงที่มีเกาะกำบังลมด้านนอก หรือฝั่งตอนที่เป็นอ่าวเว้าไม่รับลมมรสุมเต็มที่ จะมีลักษณะเป็นบริเวณที่พื้นดินอ่อนเป็นโคลนเลน มีป่าชายเลนขึ้นหนาแน่นตามขอบฝั่งและเลยลึกเข้าไปในฝั่งที่น้ำเค็มเข้าไปถึง ลักษณะเช่นนี้จะเห็นได้ชัดบริเวณอ่าวพังงา จังหวัดพังงา นี้เอง
พรรณไม้และสัตว์ป่า
สังคมพืชในอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
ป่าชายเลน ป่าชายเลนบริเวณเขาหินปูนพบว่า มีชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญในป่าชายเลนมากถึง 12 ชนิด ได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ตะบูนขาว เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบ ต้นจาก ซึ่งขึ้นอยู่บริเวณริมน้ำ หรือที่ค่อนข้างเป็นดินเลนเป็นจำนวนมาก และเหงือกปลาหมอ ส่วนปรงทะเล พบน้อยมากบริเวณที่โล่ง หรือบริเวณที่ป่าถูกทำลายเท่านั้น
• ป่าชายเลนบริเวณเขาหินเซลล์และควอทไซท์ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ พบ 7 ชนิด ได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ตะบูนขาว เป็นต้น สำหรับพันธุ์ไม้พื้นล่างอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ เหงือกปลาหมอ ซึ่งขึ้นอยู่หนาแน่น
• ป่าชายเลนบริเวณเขาหินทราย ชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญในบริเวณนี้มีน้อยมาก ทั้งนี้เนื่อง จากบริเวณนี้อยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ พันธุ์ไม้สำคัญที่พบมี 5 ชนิดได้แก่โกงกางใบเล็ก ลำแพน แสม ตะบูนขาว และฝาด นอกจากนี้มักพบเสม็ด ในบริเวณที่ติดกับป่าบกซึ่ง น้ำมีความเค็มค่อนข้างต่ำ
ป่าบก ป่าบกที่พบเป็นป่าประเภทที่ไม่ผลัดใบ ซึ่งจัดเป็นป่าดิบชื้น จำแนกได้ดังนี้
• ป่าบกที่ขึ้นบนพื้นที่เขาหินปูน พบอยู่กระจัดกระจายทั่วไป มี 2 ประเภท ได้แก่ ป่าที่ ขึ้นอยู่บนบก พื้นที่ค่อนข้างราบ และบริเวณทีเรียกว่า Karst ซึ่งเป็นบริเวณหุบเขา ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ขี้หนอน เหรียง ตะเคียนหิน และชุมเห็ด สำหรับไม้พื้นล่าง จะขึ้นอยู่หนาแน่น พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ เต่าร้าง เคย ลำเพ็ง นอกจากนี้ยังมี พวกหญ้า ปาล์ม และว่านชนิดต่างๆ อีกประเภทได้แก่ ป่าที่ขึ้นอยู่บนที่สูงค่อนข้างชื้น ของเขาหินปูน ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ที่มีขนาดเล็ก ค่อนข้างเตี้ย พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ตะเคียนหิน เขากวาง เป็นต้น
• ป่าบกที่ขึ้นอยู่บนพื้นที่เขาหินเชลล์ ควอทไซท์ พันธุ์ไม้ขึ้นอยู่ค่อนข้างหนาแน่น ใน บริเวณที่ลุ่มตามเชิงเขาที่มีความชื้นค่อนข้างสูงจะพบไม้ยางนา ขึ้นอยู่กระจัดกระจาย และพบพันธุ์ไม้อื่นที่สำคัญได้แก่ มังตาล พังกา เฉียงพร้านางแอ เป็นต้น สำหรับไม้ พื้นล่างพบพวก ไผ่ป่า พังแหร หญ้า ฯลฯ
• ป่าบกที่ขึ้นอยู่บนหินทราย พบบนพื้นที่ค่อนข้างลาดมีไม้ขึ้นอยู่หนาแน่น ไม่ค่อยสูง นัก ไม้พื้นล่างไม่หนาแน่น อาจเป็นเพราะขาดความ อุดมสมบูรณ์ของดิน พันธุ์ไม้ที่ สำคัญได้แก่ สตอตั๊กแตน พังกา แค เป็นต้น สำหรับไม้พื้นล่างปรากฏอยู่น้อยมากส่วน ใหญ่เป็นจำพวกหญ้า

• เมื่อปีงบประมาณ 2517 จังหวัดพังงาได้เสนอพื้นที่บริเวณถ้ำลอด เกาะปันหยี และเขาพิงกัน ให้กรมป่าไม้ดำเนินการจัดตั้งเป็นวนอุทยาน โดยใช้ชื่อว่า " วนอุทยานศรีพังงา " แต่ต่อมากรมป่าไม้ได้ดำเนินการสำรวจบริเวณอ่าวพังงาเพื่มเติม และดำเนินการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยกำหนดเป็นพระราชกฤษฎีกา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า 1 - 3 เล่มที่ 98 ตอนที่ 64 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2524 ภายใต้ชื่อว่า " อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา " มีเนื้อที่ประมาณ 400 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 250,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนผืนใหญ่ ที่อุดมสมบูรณ์คงสภาพธรรมชาติดั้งเดิมอยู่เป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่เขตอำเภอเมืองพังงา เลียบตามชายฝั่ง จนถึงเขตอำเภอตะกั่วทุ่ง และพื้นน้ำในท้องทะเลอันดามันมีพื้นที่กว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาทั้งหมด ซึ่งในร้อยละ 80 ของพื้นที่ประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ ประมาณ 42 เกาะ เช่น เขาเต่า เกาะพระอาดเฒ่า เกาะมะพร้าว เกาะโบยใหญ่ เกาะรายาหริ่ง เกาะพนัก เกาะห้อง เขาพิงกัน ฯลฯแหล่งท่องเที่ยว
• เกาะปันหยี เป็นหมู่บ้านชาวประมง ซึ่งก่อสร้างบนพื้นที่น้ำทะเลท่วมถึง บ้านถูกสร้างยกระดับให้พ้นการขึ้น- ลง ของน้ำทะเล บริเวณหมู่บ้านอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติ ชาวปันหยีเป็นชุมชนชาวประมงดั้งเดิม ประกอบอาชีพประมงน้ำตื้น โดยการทำประมงอวนลอย โป๊ะ เลี้ยงหอยแครง เลี้ยงปลากระชัง ปัจจุบันเกาะปันหยีเป็นชุมชนที่รองรับนักท่องเที่ยว โดยได้ทำการปรับปรุงบ้านอยู่อาศัยเดิมบางส่วนเป็นร้านอาหารและจำหน่ายของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยว
• เขาเขียน อยู่ระหว่างเส้นทางไปเกาะปันหยี มีภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งกรมศิลปากรได้ทำการสำรวจศึกษา พบว่าภาพเขียนสีเหล่านี้มีอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี ภายในภาพเขียนจะมีรูปสัตว์ชนิดต่างๆและรูปเรือ
• เกาะพนัก เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่กว่าเกาะห้อง อยู่ระหว่างเส้นทางเดินเรือ จากภูเก็ต–พังงา ประกอบด้วยถ้ำต่าง ๆ ที่มีความสวยงาม เช่น ถ้ำค้างคาว ถ้ำโกงกาง ถ้ำไอศครีม และถ้ำปีนที่มีลักษณะเป็นทะเลใน โดยในการเข้าสู่ทะเลในต้องใช้เรือซีแคนูเพียงอย่างเดียว จึงจะเข้าไปได้ มีความลึกตั้งแต่ 50–150 เมตร
• เกาะห้อง มีลักษณะเป็นเขาหินปูน มีหินงอกหินย้อยที่มีความสวยงาม คล้ายห้องหลายๆ ห้อง เรียงต่อกันเป็นแถว มีพันธุ์พืชและสัตว์ป่าชนิดต่างๆ จำนวนมาก สามารถเข้าไปชมทัศนียภาพได้ โดยการจอดเรือบริเวณหน้าเกาะและใช้เรือซีแคนูเข้าไปชมบริเวณภายในถ้ำ และรอบๆเกาะซึ่งมีความสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
• เกาะทะลุนอก เป็นเขาหินปูน มีถ้ำทะลุ คล้ายๆ ถ้ำลอดใหญ่ แต่มีขนาดเล็กกว่า เรือสามารถแล่นลอดผ่านได้ เช่นเดียวกับ ถ้ำลอดใหญ่ และเป็นจุดพายเรือแคนูที่มีนักท่องเที่ยวนิยมกันมากแห่งหนึ่งในอ่าวพังงา
• เขาตาปู–เขาพิงกัน เป็นจุดที่เรือทุกลำจะจอดให้นักท่องเที่ยวแวะชมและถ่ายภาพ เป็นที่รู้จักของชาวต่างประเทศ เพราะเป็นฉากหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องเจมส์บอนด์
• ถ้ำลอด เป็นถ้ำขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 50 เมตร เรือสามารถลอดผ่านได้ ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม ระหว่างการเดินทางไปยังถ้ำลอดจะผ่านป่าชายเลน ที่มีความอุดมสมบูรณ์ผืนหนึ่งของประเทศไทย
• เขาหมาจู อยู่ระหว่างเส้นทางไปเกาะปันหยี เป็นภูเขาหินปูนที่มีขนาดเล็ก สามารถมองเห็นได้ในระยะไกลเมื่อเรือแล่นผ่าน เขาหมาจู มีลักษณะเหมือนสุนัขพันธุ์พุดเดิ้ล
• เกาะละวะใหญ่ เป็นเกาะขนาดเล็ก ซึ่งมีหาดทรายที่ขาวสะอาด สามารถเดินทางโดยเรือ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ หรือสามารถลงเรือได้ที่ท่าเทียบเรือบ้านคลองเคียน ใช้เวลาประมาณ 30 นาที เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่มีความสวยงาม และมีร้านอาหารสวัสดิการของอุทยานฯไว้สำหรับบริการนักท่องเที่ยว และมีปะการังน้ำตื้นอยู่โดยรอบ

การเดินทาง
• รถยนต์ ท่านสามารถนำรถยนต์ส่วนตัวเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปตามถนนเพชรเกษม (ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 4) ไปจนถึงจังหวัดพังงา ระยะทางประมาณ 850 กิโลเมตร (11 ชั่วโมง) และเดินทางมุ่งหน้าไปสู่อำเภอตะกั่วทุ่ง จนถึงทางแยก เข้าทางหลวงจังหวัด หมายเลข 4144 ไปอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา โดยห่างจากทางแยก ประมาณ 2.5 กิโลเมตร
• เครื่องบิน ท่านสามารถเดินทางไปยังท่าอากาศยานกรุงเทพ และโดยสารเครื่องบินไปยังท่าอากาศยานนานาชาติ จังหวัดภูเก็ต ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที แล้วเดินทางโดยรถยนต์อีก ประมาณ 61 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง เมื่อถึงจังหวัดพังงา โดยสารรถยนต์ (รถสองแถว) สายพังงา-ท่าด่าน ระยะทาง 9 กิโลเมตร
• เรือ ท่านสามารถเหมาเรือหรือติดต่อบริษัทนำเที่ยว ได้ที่ท่าเรือบ้านท่าด่าน อำเภอเมืองพังงา หรือท่าเรือสุระกุล อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา
• รถไฟ ท่านสามารถขึ้นรถไฟได้ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพฯ เดินทางไปถึงสถานีรถไฟ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วขึ้นรถโดยสารประจำทางอีกประมาณ 160 กิโลเมตร ( 3 ชั่วโมง) เดินทางไปถึงจังหวัดพังงา
• รถโดยสารประจำทางท่านสามารถเดินทางโดยขึ้นรถยนต์ปรับอากาศ ลิกไนท์ทัวร์ หรือ รถ บขส. เส้นทาง พังงา-กรุงเทพฯ ได้ที่สถานีขนส่งสายใต้ กรุงเทพฯ ในอัตรา 441 บาท (สำหรับรถยนต์ 32 ที่นั่ง) และอัตรา 685 บาท (สำหรับรถยนต์ 24 ที่นั่ง) ระยะทางประมาณ 850 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 11 ชั่วโมง เมื่อเดินทางถึงสถานีขนส่ง จังหวัดพังงา แล้วเดินทางโดยรถประจำทาง(รถสองแถว) อีกประมาณ 9 กิโลเมตร ในราคาประมาณ 20 บาท/คน
สิ่งอำนวยความสะดวก
• มีบ้านพักไว้สำหรับบริการนักท่องเที่ยว จำนวน 8 หลัง สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ บริเวณเกาะละวะใหญ่ และมีบริการให้เช่าเต็นท์
มีร้านอาหารสวัสดิการอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา บริเวณที่ทำการอุทยานฯ และบริเวณเกาะละวะใหญ่
อัตราค่าธรรมเนียมในการเข้าเขตอุทยานฯ คนละ 20 บาท/วัน
สถานที่ติดต่อ
• อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา 80 ม.1 บ้านท่าด่าน ต.เกาะปันหยี อ.เมือง จ.พังงา 82000 โทรศัพท์ : 0-7641-1136 โทรสาร : 0-7641-2188

 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อยู่ตำบลเกาะพระทอง ครอบคลุมพื้นที่ 80,000 ไร่ ประกาศเป็นเขตอุทยานฯ เมื่อ 1 กันยายน พ.ศ. 2525 คำว่า “สิมิลัน” เป็นภาษายาวี หรือ มลายู แปลว่า เก้า หรือ หมู่เกาะเก้า หมู่เกาะสิมิลันเป็นหมู่เกาะเล็ก ๆ ในทะเลอันดามัน มีทั้งหมด 9 เกาะ เรียงลำดับจากเหนือมาใต้ ได้แก่ เกาะหูยง เกาะปายัง เกาะปาหยัน เกาะเมี่ยง (มี 2 เกาะติดกัน) เกาะปายู เกาะหัวกระโหลก ( เกาะบอน) เกาะสิมิลัน และเกาะบางู ที่ทำการอุทยานฯ อยู่ที่เกาะเมี่ยงเพราะเป็นเกาะที่มีน้ำจืด หมู่เกาะเหล่านี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหมู่เกาะที่มีความงามทั้งบนบกและใต้น้ำที่ยังคงความสมบูรณ์ของท้องทะเล สามารถดำน้ำได้ทั้งน้ำตื้นและน้ำลึก มีปะการังที่มีสีสันสวยงามหลากชนิด ปลาหลากสีสันและหายาก เช่น กระเบนราหู ปลาวาฬ ปลาโลมา ปลาไหลมอนเร่ ปลาการ์ตูน ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน เป็นช่วงที่น่าท่องเที่ยวมากที่สุด ส่วนเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน เป็นฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มีคลื่นลมแรงเป็นอันตรายต่อการเดินเรือและทางอุทยานฯ จะประกาศปิดเกาะในเดือนพฤษภาคมเพื่อเป็นการฟื้นฟูธรรมชาติทุกปี
สถานที่น่าสนใจภายในเขตอุทยานฯ ได้แก่
   เกาะสิมิลัน หรือ เกาะแปด เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะสิมิลัน ลักษณะอ่าวเป็นรูปโค้งเหมือนเกือกม้า มีหาดทรายขาวละเอียดเนียนนุ่มน้ำทะเลใสน่าเล่น ใต้ทะเลมีปะการังสวยงามหลายชนิด ทั้งปะการังเขากวาง ปะการังใบไม้ ปะการังสมอง ปะการังดอกเห็ดขนาดใหญ่ที่มีความสมบูรณ์ กัลปังหา พัดทะเล กุ้งมังกร และปลาประเภทต่าง ๆ ที่มีสีสันสวยงามมากมาย เป็นเกาะที่สามารถดำน้ำทั้งน้ำลึกและน้ำตื้น และทางด้านเหนือของเกาะมีก้อนหินขนาดใหญ่ รูปร่างแปลกตา เช่น หินรูปรองเท้าบู๊ท หรือรูปหัวเป็ดโดนัลด์ดั๊ก ตอนบนที่ตรงกับแนวหาดมีหินรูปเรือใบ ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่สวยงามที่จะมองเห็นความสวยงามของท้องทะเลได้กว้างไกล
   เกะบางู หรือ เกาะเก้า เป็นเกาะเล็ก ๆ ที่มีโขดหินรูปลักษณะต่าง ๆ โดยเฉพาะที่จุดดำน้ำ กองหินคริสมาสพอยต์เป็นกองหินใต้น้ำขนาดใหญ่ที่มีความสวยงามสลับซับซ้อนกันเป็นบริเวณกว้างจะมีแนวปะการัง และกัลปังหาที่สมบูรณ์ และยังเป็นที่อยู่ของปลาหลากชนิด เช่น ปลาไหลริบบิ้น ฉลามครีบเงิน ปลาเก๋า ปลาบู่ กั้งตั๊กแตน
   เกาะหัวกะโหลก-หินปูซา หรือเกาะเจ็ด เป็นเกาะที่มีลักษณะเหมือนรูปหัวกะโหลก สภาพใต้น้ำสวยงามเหมือนหุบเขาใต้ทะเลที่เต็มไปด้วยปะการังอ่อน กัลปังหารูปพัดหลากสีสัน ฝูงปลานานาพันธุ์ และยังสามารถพบปลากระเบนราหู หรือฉลามวาฬได้มากที่สุดแห่งหนึ่งในหมู่เกาะสิมิลัน
   เกาะหูยง หรือ เกาะหนึ่ง เป็นเกาะขนาดใหญ่ที่มีหาดทรายขาวสะอาด และยาวมากที่สุดในเก้าเกาะ มักจะมีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้เห็นร่องรอยของเต่าที่ขึ้นมาวางไข่บนชายหาดคล้ายกับรอยตีนตะขาบเล็ก ๆ
   เกาะเมี่ยง หรือเกาะสี่ เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่รองจากสิมิลัน เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานฯ มีแหล่งน้ำจืด ชายหาดที่เกาะสี่จะมีสีขาวละเอียดเนียนสวยงามน่าสัมผัส น้ำทะเลใส บนเกาะสี่จะมีสัตว์ที่หาดูได้ยาก เช่น ปูไก่ ที่มีลำตัวเป็นสีแดงสด มีก้ามสีดำเหลือบน้ำเงิน เวลาร้องจะมีเสียงคล้ายไก่ จะเห็นได้ในช่วงหัวค่ำที่มันออก0หากิน นกชาปีไหน เป็นนกประจำถิ่นขนาดใหญ่ตระกูลเดียวกับนกพิราบป่า มีสีสันและลวดลายบนตัวที่งดงาม จะพบได้ตามริมชายหาด หรือร้านอาหารหน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และ ปูเสฉวน ที่มีมากมายหลายขนาดทั้งเล็กและใหญ่
   นอกจากนั้นรอบ ๆ อุทยานฯ ยังมีบริเวณดำน้ำที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอีก ทั้ง จุดดำน้ำลึก ได้แก่ เกาะตาชัย อยู่ทางตอนเหนือสุดของอุทยานฯ จะพบปลาสาก ปลาค้างคาว ปลากระเบนราหู ฉลามวาฬ เกาะบอน อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่เกาะสิมิลัน จะพบฉลามครีบขาว ปลากระเบนราหู ฉลามกบ กองหินคริสต์มาสพอยต์ จะพบปลาไหลริบบิ้นสีฟ้า กั้งตั๊กแตน กองหินแฟนตาซี อยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะแปด เป็นจุดรวมของหินดอกไม้ ปะการัง กัลปังหา สัตว์น้ำหลากชนิด และ จุดดำน้ำตื้น ได้แก่ อ่าวลึก อ่าวกวางเอง เป็นต้น นักท่องเที่ยวที่สนใจกิจกรรมดำน้ำสามารถติดต่อบริษัทดำน้ำในจังหวัดภูเก็ตและพังงา
การเดินทางไปอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
  - ท่าเรือทับละมุ อำเภอท้ายเหมือง อยู่ห่างจากอำเภอเมือง 70 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายพังงา-ตะกั่วป่า และเป็นท่าเรือที่อยู่ใกล้อุทยานฯที่สุด ประมาณ 40 กิโลเมตร จากท่าเรือทับละมุใช้เวลาในการเดินทางไปหมู่เกาะสิมิลันประมาณ 3-4 ชั่วโมง มีเรือให้เช่าหลายขนาด สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะเดินทางไปหมู่เกาะสิมิลัน สามารถติดต่อบริษัททัวร์ ที่ท่าเรือได้
การเดินทางไปท่าเรือทับละมุ สามารถไปได้หลายเส้นทาง คือ
  - จากกรุงเทพฯ นั่งรถประจำทางสายกรุงเทพฯ-ระนอง และกรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี ลงที่สามแยกลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จากนั้นนั่งรถมอเตอร์ไซด์มาท่าเรือทับละมุ
  - จากตัวเมืองพังงา มีรถประจำทางสายพังงา-ท่าเรือทับละมุ ออกจากสถานีขนส่งพังงา หรือนั่งรถประจำทางกรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี หรือ กรุงเทพฯ   –ระนอง ลงที่สามแยกลำแก่น จากนั้นนั่งรถมอเตอร์ไซด์ไปท่าเรือ
  - จากอำเภอท้ายเหมือง มีรถสองแถวสายท้ายเหมือง-ทับละมุ รถโดยสารประจำทางสายภูเก็ต-ตะกั่วป่าหรือ ภูเก็ต-สุราษฎร์ธานี ขึ้นที่ตลาดถนนเพชรเกษม มาลงที่สามแยกลำแก่นจากนั้นให้นั่งรถมอเตอร์ไซด์ไปท่าเรือ
  - ท่าเรือคุระบุรี อำเภอคุระบุรี อยู่ห่างจากหมู่เกาะสิมิลัน 70 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง 3 ชั่วโมง สามารถติดต่อเช่าเรือได้ที่ คุระบุรี กรีนวิว รีสอร์ท
  - ท่าเรือหาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ก็สามารถเดินทางไปอุทยานฯได้ ระยะทาง 70 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัทนำเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต หรือเดินทางโดยเรือท่องเที่ยวของบริษัทเอกชน
   ที่พัก อุทยานฯ มีบริการบ้านพักเป็นเรือนแถว พักได้ห้องละ 4 คน จำนวน 10 ห้อง ราคา 600 บาท พักได้ 2 คน จำนวน 5 ห้อง ราคา 1,000 บาท มีบริการเต็นท์ให้เช่า หลังละ 100–300 บาท สำหรับ นักท่องเที่ยวที่นำเต็นท์มาเองเสียค่าพื้นที่กางเต็นท์คนละ 40 บาท/คืน นอกจากนี้นักท่องเที่ยวต้องเสียค่าขึ้นเกาะ นักท่องเที่ยว ชาวไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน หมู่ 1 ทับละมุ ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา 82120 โทร. 0 7642 1365 สำนักงานบนฝั่ง โทร. 0 7659 5045 หรือส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเล กรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. 0 2561 2920-1

บทความที่ได้รับความนิยม