Holiday-Tourismthailand

ท่องเที่ยว สูตรอาหารไทย อาหารเพื่อสุขภาพ ทั่วไทย เกาะช้าง เกาะเสม็ด เกาะกูด ภูกระดึง ระยอง หัวหิน พัทยา เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และ สถานที่ท่องเที่ยว ต่างๆ.

Custom Search


สภาพทั่วๆ ไปของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นพื้นที่ด้านตะวันตกของเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งสูงโดดเด่นขึ้นมาจากที่ราบภาคกลางแล้วก่อตัวเป็นแนวเขตของที่ราบสูงโคราช มีเขาร่มเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด 1,351 เมตร เขาแหลมสูง 1,326 เมตร เขาเขียวสูง 1,292 เมตร เขาสามยอดสูง 1,142 เมตร เขาฟ้าผ่าสูง 1,078 เมตร เขากำแพงสูง 875 เมตร เขาสมอปูนสูง 805 เมตร และเขาแก้วสูง 802 เมตร ซึ่งวัดความสูงจากระดับน้ำทะเลเป็นเกณฑ์ และยังประกอบด้วยทุ่งกว้างสลับกับป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ด้านทิศเหนือและตะวันออกพื้นที่จะลาดลง ทางทิศใต้และตะวันตกเป็นที่สูงชันไปเรื่อยๆ

นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารที่สำคัญถึง 5 สาย ได้แก่ แม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำนครนายก อยู่ในพื้นที่ทางทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเกษตรกรรมและระบบทางเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคนี้ แม่น้ำทั้ง 2 สายนี้ มาบรรจบกันที่จังหวัดฉะเชิงเทรา กลายเป็นแม่น้ำบางปะกงแล้วไหลลงสู่อ่าวไทย แม่น้ำลำตะคองและแม่น้ำพระเพลิง อยู่ในพื้นที่ทางทิศเหนือ ไหลไปหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมของที่ราบสูงโคราช ไปบรรจบกับแม่น้ำมูลซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของภาคอีสานตอนล่างไหลลงสู่แม่น้ำโขง ห้วยมวกเหล็ก อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีปริมาณน้ำไหลตลอดทั้งปีและให้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะการปศุสัตว์ของภูมิภาคนี้ ไหลลงสู่แม่น้ำป่าสัก ที่อำเภอมวกเหล็ก



ลักษณะภูมิอากาศ

ด้วยสภาพป่าที่รกทึบและได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม ทำให้เกิดฝนตกชุกตามฤดูกาล อากาศไม่ร้อนจัดและหนาวจัดจนเกินไป จัดอยู่ในประเภทเย็นสบายตลอดทั้งปี เหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยวและประกอบกิจกรรมนันทนาการชนิดต่างๆ อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 23 องศาเซลเซียส

ฤดูร้อน แม้ว่าอากาศจะร้อนอบอ้าวกว่าในที่อื่น แต่ที่เขาสูงบนเขาใหญ่อากาศเย็นสบายเหมาะแก่การพักผ่อน เล่นน้ำในลำธารและนำอาหารไปรับประทาน ไม้ป่ามีดอกหลากสีบานสะพรั่งบ้างออกผลตามฤดูกาล

ฤดูฝน เป็นช่วงหนึ่งของปีที่สภาพบนเขาใหญ่ชุ่มฉ่ำ ป่าไม้ทุ่งหญ้าเขียวขจีสดสวย น้ำตกทุกแห่งไหลแรงส่งเสียงดังก้องป่าให้ชีวิตชีวาแก่ผู้ไปเยือน แม้การเดินทางจะลำบากกว่าปกติแต่จำนวนนักท่องเที่ยวก็ไม่ลดน้อยลงเลย

ฤดูหนาว ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นฤดูที่นิยมไปเขาใหญ่มากที่สุด ท้องฟ้าสีครามแจ่มใสตัดกับสีเขียวขจีของป่าไม้ พยับหมอกที่ลอยเอื่อยไปตามทิวเขา ดวงอาทิตย์กลมโตอยู่เบื้องหน้าไกลโพ้น อากาศหนาวเย็นในเวลากลางคืน แต่รุ่งเช้าของวันใหม่จะพบกับธรรมชาติที่สวยงามแตกต่างไปจากเมื่อวานอีกแบบหนึ่ง



พืชพรรณและสัตว์ป่า

สภาพป่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แบ่งออกๆได้เป็น ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้น ป่าดิบเขา ทุ่งหญ้า และป่ารุ่นหรือป่าเหล่า ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ป่าเบญจพรรณแล้ง ลักษณะของป่าชนิดนี้อยู่ทางด้านทิศเหนือ ซึ่งมีระดับความสูงระหว่าง 200-600 เมตร จากระดับน้ำทะเล ประกอบด้วยไม้ยืนต้นประเภทผลัดใบ เช่น มะค่าโมง ประดู่ ตะแบก ตะเคียนหนู แดง นนทรี ซ้อ ปออีเก้ง สมอพิเภก ตะคล้ำ เป็นต้น พืชชั้นล่างมีไม้ไผ่และหญ้าต่างๆ รวมทั้งกล้วยไม้ด้วย ในฤดูแล้งป่าชนิดนี้จะมีไฟลุกลามเสมอ และตามพื้นป่าจะมีหินปูนผุดขึ้นอยู่ทั่วๆ ไป

ป่าดงดิบแล้ง ลักษณะป่าชนิดนี้มีอยู่ทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นที่ราบลูกเนินในระดับความสูง 200-600 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ไม้ชั้นบน ได้แก่ ยางนา พันจำ เคี่ยมคะนอง ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน ตะแบก สมพง สองสลึง มะค่าโมง ปออีเก้ง สะตอ ซาก และคอแลน เป็นต้น ไม้ยืนต้นชั้นรองมี กะเบากลัก หลวงขี้อาย และกัดลิ้น เป็นต้น พืชจำพวกปาล์ม เช่น หมากลิง และลาน พืชชั้นล่างประกอบด้วยพืชจำพวกมะพร้าว นกคุ้ม พวกขิง ข่า กล้วยป่า และเตย เป็นต้น

ป่าดงดิบชื้น ลักษณะป่าชนิดนี้เป็นป่าที่อยู่ในระดับความสูง 400-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง จะมีชนิดไม้คล้ายคลึงกับป่าดงดิบแล้ง เพียงแต่ว่าไม้วงศ์ยางขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ยางกล่อง ยางขน ยางเสี้ยน และกระบาก โดยเฉพาะพื้นที่ถูกรบกวนจะพบ ชมพูป่าและกระทุ่มน้ำขึ้นอยู่ทั่วไป พรรณไม้ผลัดใบ เช่น ปออีเก้ง สมพง และกว้าว แทบจะไม่พบเลย บริเวณริมลำธารมักจะมีไผ่ลำใหญ่ๆ คือ ไผ่ลำมะลอกขึ้นอยู่เป็นกลุ่ม ป่าดิบชื้นบนที่สูงขึ้นไปจะมียางปายและยางควน นอกจากไม้ยางแล้วไม้ชั้นบนชนิดอื่นๆ ยังมี เคี่ยมคะนอง ปรก บรมือ จำปีป่า พะดง และทะโล้ ไม้ชั้นรอง ได้แก่ ก่อน้ำ ก่อรัก ก่อด่าง และก่อเดือย ขึ้นปะปนกัน

ป่าดิบเขา ป่าชนิดนี้เกิดอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นบนภูเขาสูง ที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 เมตรขึ้นไป สภาพป่าแตกต่างไปจากป่าดงดิบชื้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่มีไม้วงศ์ยางขึ้นอยู่เลย พรรณไม้ที่พบเป็นไม้เนื้ออ่อน เช่น พญาไม้ มะขามป้อมดง ขุนไม้ และสนสามพันปี และไม้ก่อชนิดต่างๆ ที่พบขึ้นในป่าดงดิบชื้น นอกจากก่อน้ำและก่อต่างๆ ความสูงจากระดับน้ำทะเล 600-900 เมตรเท่านั้น ตามเขาสูงจะพบต้นกำลังเสือโคร่งขึ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ไม้ชั้นรอง ได้แก่ เก็ดล้าน ส้มแปะ แกนมอ เพลาจังหัน และหว้า พืชชั้นล่าง ได้แก่ ต้างผา กำลังกาสาตัวผู้ กูด และกล้วยไม้ดิน

ทุ่งหญ้าและป่ารุ่นหรือป่าเหล่า ลักษณะป่าชนิดนี้เป็นผลเสียเนื่องจากการทำไร่เลื่อนลอยในอดีต ก่อนมีการจัดตั้งป่าเขาใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติได้มีราษฎรอาศัยอยู่และได้แผ้วถางป่าทำไร่ เมื่อมีการอพยพราษฎรลงไปสู่ที่ราบ บริเวณไร่ดังกล่าวถูกปล่อยทิ้ง ต่อมามีสภาพเป็นทุ่งหญ้าคาเสียส่วนใหญ่ บางแห่งมีหญ้าแขม หญ้าพง หญ้าขนตาช้างเลา และตองกง และยังมีกูดชนิดต่างๆ ขึ้นปะปนอยู่ด้วย เช่น โขนใหญ่ กูดปี้ด โขนผี กูดงอดแงด และกูดตีนกวาง

เนื่องจากในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีการป้องกันไฟป่าเป็นอย่างดี พื้นที่ป่าหญ้าหรือป่าเหล่านี้จึงไม่ถูกรบกวนจากไฟป่าเลย ดังนั้น จึงมีพันธุ์ไม้เบิกนำจำนวนไม่น้อย แพร่พันธุ์กระจัดกระจายทั่วไป เช่น สอยดาว บรมือ ลำพูป่า เลี่ยน ปอหู ตลงแตบ ฯลฯ ปัจจุบันพื้นที่ป่าทุ่งหญ้าบางแห่งได้กลับฟื้นคืนสภาพเป็นป่าละเมาะบ้างแล้ว

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นแหล่งที่มีสัตว์ป่าชุกชุมมาก ในบางโอกาสขณะขับรถยนต์ไปตามถนน จะสามารถเห็นสัตว์ป่าเดินผ่านหรือออกหากินตามทุ่งหญ้า หรืออาจจะเห็นโขลงช้างออกหากินริมถนน ลูกช้างเล็กๆ ซนและน่ารักมาก บริเวณตั้งแต่ที่ชมวิวกิโลเมตรที่ 30 จนถึงปากทางเข้าหนองผักชี ตลอดจนโป่งต้นไทร ในปัจจุบันถ้าขับรถยนต์ขึ้นเขาใหญ่ทางด่านตรวจเนินหอมข้ามสะพานคลองสามสิบไปแล้ว สามารถเห็นโขลงช้างได้เหมือนกัน โดยเฉพาะในตอนกลางคืนจากการศึกษาตามโครงการการอนุรักษ์ช้างป่า และการจัดการพื้นที่ป้องกัน (ELEPHANT CONSERVATION AND PROTECTED AREA MANAGMENT) โดย MR. ROBERT J. DOBIAS ภายใต้ความร่วมมือของ WWF และ IUCN ในปี พ.ศ.2527-2528 พบว่า มีจำนวนประมาณ 250 เชือก

สัตว์ป่าที่สามารถพบได้บ่อยๆ และตามโอกาสอำนวย ได้แก่ เก้ง กวาง ตามทุ่งหญ้าทั่วๆ ไป นอกจากนี้ยังพบ เสือโคร่ง กระทิง เลียงผา หมี เม่น ชะนี พญากระรอก หมาไม้ ชะมด อีเห็น กระต่ายป่า นกชนิดต่างๆ จำนวน 250 ชนิด จากจำนวนไม่น้อยกว่า 340 ชนิด ที่สำรวจพบอาศัยอยู่บริเวณป่าเขาใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งหาอาหารและที่อาศัยอย่างถาวร นกที่น่าสนใจและพบเห็นได้บ่อย ได้แก่ นกเงือก นกขุนทอง นกขุนแผน นกพญาไฟ นกแต้วแล้ว นกโพระดก นกแซงแซว นกเขา นกกระปูด ไก่ฟ้า และนกกินแมลงชนิดต่างๆ นกเงือกทั้ง 4 ชนิด ซึ่งได้แก่ นกกก นกเงือกกรามช้าง นกแก๊ก และนกเงือกสีน้ำตาล ที่พบบนเขาใหญ่นับว่าเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักดูนกเป็นอย่างดี เพราะพบเห็นได้ทั่วไป พวกแมลงที่มีมากกว่า 5,000 ชนิด ที่สวยงามและพบเห็นบ่อยได้แก่ ผีเสื้อ มีรายงานพบกว่า 216 ชนิด


อุทยานแห่งชาติตาพระยาเป็นส่วนหนึ่งในเทือกเขาพนมดงรัก ตั้งอยู่ในแนวทิศตะวันออกยาวไปทางทิศตะวันตก ระหว่างเส้นรุ้งที่ 14 องศา 5 ลิบดาเหนือถึง 14 องศา 22 ลิบดาเหนือ และเส้นแวงที่ 102 องศา 30 ลิบดาตะวันออก ถึง 103 องศา 14 ลิบดาตะวันออก หรือบริเวณของด้านทิศใต้ของที่ราบสูงโคราช มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 371,250 ไร่ หรือ 594 ตารางกิโลเมตร โดยครอบคลุมเนื้อที่ 2 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว และบุรีรัมย์ อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 380 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชา

ความเป็นมา : เนื่องด้วยกรมป่าไม้ได้รับแจ้งจากกองทัพภาคที่ 1 ขอให้พิจารณาประกาศจัดตั้งป่าบริเวณเทือกเขาบรรทัด รอยต่อ 3 จังหวัด คือ จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์เป็นป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้พิจารณาแล้วจึงให้นายอภิศักดิ์ จัตตุพรพงษ์ นักวิชาการป่าไม้ 5 ปฎิบัติงานประจำอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในขณะนั้น ไปดำเนินการสำรวจ และจัดตั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าตาพระยา ป่าดงใหญ่ ป่าบ้านกรวด แปลงที่ห้า และป่าใกล้เคียง ในท้องที่จังหวัดสระแก้ว และจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นอุทยานแห่งชาติ ตามคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 1640/2534 ลงวันที่ 2 กันยายน 2534

เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งในอดีต (ปี 2515 - 2531) เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีการต่อสู้ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอย่างรุนแรง เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมากจนกระทั่งปี พ.ศ. 2525 ใช้การเมืองนำการทหารจนกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยยอมเข้ามอบตัว แปรสภาพฐานะเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในที่สุดความสงบสุขในพื้นที่แห่งนี้จึงกลับมาเยือนอีกครั้ง

อุทยานแห่งชาติตาพระยาได้ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฏีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าบ้านกรวด แปลงที่ห้า และป่าดงใหญ่ ในท้องที่ตำบลบึงเจริญ ตำบลจันทบเพชร ตำบลสายตะกู ตำบลหนองไม้งาม ตำบลปราสาท อำเภอบ้านกรวด ตำบลโนนดินแดง ตำบลลำนางรอง กิ่งอำเภอโนนดินแดง อำเภอละหานทราย ตำบลสำโรงใหม่ ตำบลหนองแวง ตำบลตาจง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ และป่าตาพระยา ในท้องที่ตำบลทัพราช ตำบลทัพไทย อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 113 ตอนที่ 65 ก ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2539 เป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 82





ลักษณะภูมิประเทศ

อุทยานแห่งชาติตาพระยา เป็นเทือกเขาสูงจากเทือกเขาบรรทัดตลอดแนวจนไปถึงเทือกเขาพนมดงรัก เป็นแนวเขตติดต่อระหว่างไทยกับสาธารณรัฐกัมพูชาประชาธิปไตย ตั้งแต่หลักเขตประเทศที่ 24 ถึง หลักเขตที่ 28 วางตั้งในแนวทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 206-579 เมตร ยอดเขาที่สูงที่สุดคือ ยอดเขาพรานนุช ความสูง 579 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีความลาดชันเฉลี่ยทั้งพื้นที่ประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ บริเวณที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของที่ราบสูงโคราช ซึ่งมีความสูงเฉลี่ยประมาณ 100-200 เมตร จากระดับน้ำทะเล ประกอบด้วยเขาเขาวง เขาสะแกกรอง เขาบรรทัด เขาเนินหิน เขาพนมแม่ไก่ เป็นต้นน้ำลำธารของลำสะโดน ห้วยซับกระโดน ลำนางรอง ลำจันหัน ห้วยตรุมะเมียง ห้วยแห้ง ห้วยละหอกพลวง ห้วยดินทราย ห้วยนาเหนือ ห้วยพลู และห้วยเมฆา



ลักษณะภูมิอากาศ

สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปของภูมิภาคนี้ อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงฤดูลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม-เดือนตุลาคม ความชุ่มชื้นจะถูกพัดพามาจากทะเลอันดามันและอ่าวไทย จนทำให้พื้นที่บริเวณนี้ได้รับปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อเดือนวัดได้ระหว่าง 100 มิลลิเมตร ถึง 140 มิลลิเมตร ในฤดูลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เทือกเขาพนมดงรักจะปะทะกับลมมรสุม และทำให้ฝนตกในบริเวณด้านที่รับลมมากกว่าด้านไม่รับลม ฤดูกาลมี 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม และฤดูหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม สำหรับอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีสูงสุดประมาณ 39.8 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 14.3 องศาเซลเซียส



พืชพรรณและสัตว์ป่า

ในภูมิภาคแถบนี้ยังมีสภาพป่าที่สมบูรณ์กระจายอยู่ในพื้นที่โดยทั่วไปเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง

ป่าเบญจพรรณ ป่าชนิดนี้ขึ้นอยู่ระดับความสูง 400 เมตร จากระดับน้ำทะเล ปรากฏอยู่ทางทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ คือ ในท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์ ไม้ที่สำคัญ คือ มะค่าโมง แดง ตะแบกใหญ่

ป่าดิบแล้ง ป่าชนิดนี้อยู่พื้นที่ค่อนข้างราบ ทางทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพื้นที่อุทยานแห่งชาติในท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์ และบางส่วนของจังหวัดปราจีนบุรี มักจะอยู่ในระดับความสูงประมาณ 100-400 เมตร จากระดับน้ำทะเล ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ มะค่าโมง ยางนา พยอม ตะเคียนทอง

ป่าเต็งรัง ป่าชนิดนี้อยู่ในพื้นดินทิศใต้และดินทิศเหนือบางส่วน อยู่กระจายกันในจังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ เต็ง รัง และเหียง

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่พบเห็นได้แก่ เลียงผา กวาง เก้ง กระจง หมี หมูป่า ลิง ค่าง ชะนี อีเห็น ชะมด เสือไฟ เสือปลา วัวแดง กระทิง หมาไน แมวป่า หมูหริ่ง บ่าง เม่น พังพอน ค้างคาว กระต่ายป่า กระรอก กระรอกบิน กระแต เป็นต้น

นก ที่พบเห็นได้แก่ นกพญาไท นกขุนแผน นกแก้ว นกเขาเขียว นกกางเขนดง นกหัวขวาน นกเหยี่ยว นกฮูก นกปรอด นกแขวก นกเค้าแมว นกดุเหว่า ไก่ป่า ไก่ฟ้า นกขุนทอง เป็นต้น

สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ที่พบเห็นได้แก่ งูชนิดต่าง ๆ ตะกวด ลิ่น ตุ๊กแก กิ้งก่า จิ้งเหลน แย้ ตะขาบ แมลงป่อง กิ้งกือ

ปลา ที่พบเห็นได้แก่ ปลาช่อน ปลาดุก ปลากระทิง ปลาหมอ ปลาบู่ ปลาตะเพียน ปลาสลิด ปลาซิว


อุทยานแห่งชาติทับลาน มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์และมีป่าลาน ซึ่งหาดูได้ยากที่มีเฉพาะบางท้องที่เท่านั้น มีต้นลานขึ้นตามธรรมชาติ เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำ ลำธารต่างๆ และมีธรรมชาติที่สวยงาม เช่น หุบผา หน้าผา น้ำตก เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีเนื้อที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ คือ มีเนื้อที่ประมาณ 1,397,375ไร่ หรือ 2,235.80 ตารางกิโลเมตร

ในอดีตป่าลานที่อุดมสมบูรณ์มีขึ้นอยู่กระจายทั่วๆ ไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมามีการขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรม จึงทำให้ป่าลานได้ถูกบุกรุกทำลายลงไปมาก จนปัจจุบันคงเหลือป่าลานแห่งสุดท้าย คือ บริเวณบ้านทับลาน บ้านขุนศรี บ้านบุพราหมณ์ และบ้านวังมืด จังหวัดปราจีนบุรี ในการไปตรวจสอบสภาพป่าลานเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2517 นายประดิษฐ์ วนาพิทักษ์ อธิบดีกรมป่าไม้ พบว่า ป่าลานในบริเวณดังกล่าวเป็นป่าลานแห่งสุดท้ายของประเทศเพื่ออนุรักษ์ป่าลานไว้ จึงมีดำริให้จัดตั้งป่าลานนี้เนื้อที่ประมาณ 36,250 ไร่ หรือ 58 ตารางกิโลเมตร เป็นวนอุทยาน และในการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติครั้งที่ 1/2518 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2518 ได้มีมติให้ดำเนินการวางแผนปฏิบัติการที่ป่าลานกบินทร์บุรี ซึ่งสำนักงานป่าไม้เขตปราจีนบุรี ได้มีคำสั่งที่ 169/2518 ลงวันที่ 11 เมษายน 2518 และคำสั่งที่ 194/2518 ลงวันที่ 15 เมษายน 2518 ให้ นายสุชล ผาติเสนะ นักวิชาการป่าไม้ตรี และ นายยัณห์ ทักสูงเนิน พนักงานประจำเขต โดยอยู่ในความควบคุมการดำเนินงานของนายไพโรจน์ เชี่ยวเอี่ยมวัฒนา นักวิชาการป่าไม้โท ไปดำเนินการรังวัดหมายแนวเขต และจัดพื้นที่ปรับปรุงให้เป็นวนอุทยานป่าลาน ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแก่งดินสอ-แก่งใหญ่-เขาสะโตน จังหวัดปราจีนบุรี

ต่อมากองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 2383/2520 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2520 ให้นายเชาวลิต เลิศชยันตรี นักวิชาการป่าไม้ 5 ทำหน้าที่หัวหน้าวนอุทยานทับลาน และในปี พ.ศ. 2523 กองอุทยานแห่งชาติ ได้ให้วนอุทยานทับลานสำรวจพื้นที่โดยรอบ เพื่อผนวกพื้นที่บริเวณใกล้เคียงแนวเขตติดต่อวนอุทยาน ยกฐานะวนอุทยานทับลานเป็นอุทยานแห่งชาติ ผลการสำรวจปรากฏว่า บริเวณป่าดังกล่าวโดยรอบมีสภาพป่าสมบูรณ์ มีทิวทัศน์สวยงาม สัตว์ป่าชุกชุมเป็นป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำบางปะกงและแม่น้ำมูล ตามหนังสือรายงานผลการสำรวจ ที่ กส 0708(ทล.)/16 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2523 ทั้งเพื่อเป็นการสนองมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2522 ที่ให้รักษาป่าไว้โดยการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ

กรมป่าไม้จึงเสนอให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2523 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2523 เห็นสมควรออกพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่าดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าวังน้ำเขียวและป่าครบุรี ในท้องที่ตำบลสะแกราช ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอปักธงชัย ตำบลครบุรี ตำบลจระเข้หิน ตำบลโคกกระชาย อำเภอครบุรี และตำบลสระตะเคียน ตำบลโนนสมบูรณ์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน ในท้องที่ตำบลบุพราหมณ์ ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 98 ตอนที่ 210 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2524 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 39 ของประเทศ

ต่อมาได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2531 อนุญาตให้กรมชลประทานใช้พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานบริเวณป่าวังน้ำเขียว ป่าครบุรี ป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน บางส่วนในท้องที่ตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำมูลบน เพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีเนื้อที่ 2,625 ไร่ หรือ 4.20 ตารางกิโลเมตร โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนพื้นที่ส่วนนี้ออก และในปี 2532 จึงได้มีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนอุทยานแห่งชาติป่าวังน้ำเขียว ป่าครบุรี ป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน บางส่วนในท้องที่ตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ออกจากการเป็นอุทยานแห่งชาติตามที่กำหนดไว้โดยพระราชกฤษฎีกาเดิมปี พ.ศ. 2524 ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 106 ตอนที่ 107 ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2532





ลักษณะภูมิประเทศ

อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตเทือกเขาพนมดงรัก สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปประกอบด้วยภูเขาใหญ่น้อยสลับซับซ้อนต่อเนื่องกันเป็นบริเวณกว้างขวาง โดยมีเขาที่สำคัญหลายลูก เช่น เขาละมั่ง เขาภูสามง่าม เขาภูสูง เขาใหญ่ เขาวง เขาสลัดได เขาทิดสี เขาไม้ปล้อง เขาทับเจ็ก และเขาด่านงิ้ว ซึ่งยอดเขาละมั่งเป็นยอดเขาที่สูงสุด มีระดับความสูงประมาณ 992 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นเทือกเขายาวต่อเนื่องกันทำให้มีหุบเขาตามธรรมชาติ เหว และน้ำตก เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำหลายสาย เช่น ห้วยขมิ้น ห้วยปลาก้าง ห้วยคำแช ห้วยคำขี้แรด ห้วยมูลสามง่าม ห้วยภูหอม ห้วยกระทิง ห้วยลำเลย ห้วยกุดตาสี ห้วยลำดวน เป็นต้น ลำห้วยแต่ละสายไหลรวมกันเป็นแม่น้ำมูล ส่วนลำห้วยสวนน้ำหอม ห้วยหินยาว ห้วยชมพู ห้วยสาลิกา ห้วยวังมืด ห้วยลำไยใหญ่ ฯลฯ ลำห้วยเหล่านี้จะไหลรวมกันเป็นแม่น้ำบางปะกง



ลักษณะภูมิอากาศ

อุทยานแห่งชาติทับลาน ในช่วงฤดูลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ความชุ่มชื้นจะถูกพัดมาจากทะเลอันดามันและอ่าวไทย จนทำให้พื้นที่บริเวณนี้ได้รับปริมาณน้ำฝนมาก เฉลี่ยตลอดปี 1,070 มิลลิเมตร ฝนจะตกชุกที่สุดในเดือนกันยายน ซึ่งเทือกเขาพนมดงรักจะปะทะลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และทำให้ฝนตกในบริเวณด้านรับลมมากกว่าด้านไม่รับลม ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมากราคม อากาศจะหนาวเย็นมากในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นเดือนที่มีค่าเฉลี่ยอุณหภูมิต่ำสุด 22.8 องศาเซลเซียส ฟดูร้อนเริ่มตั้งแต่กุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม อากาศจะร้อนอบอ้าวมากในเดือนเมษายนซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 29.3 องศาเซลเซียส สำหรับอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 26.7 องศาเซลเซียส



พืชพรรณและสัตว์ป่า

อุทยานแห่งชาติทับลาน มีสังคมพืชที่จัดเป็นป่าลุ่มต่ำที่มีความสมบูรณ์มากสามารถจำแนกได้ 4 ประเภท คือ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้ง จัดเป็นสังคมพืชที่มีการซ้อนทับกันของลักษระทางนิเวศของป่าภาคกลางและป่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าชุกชุม

ป่าเต็งรัง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานมีสภาพเป็นป่าโปร่ง ขาดแคลนแหล่งน้ำ มีต้นไม้ขึ้นกระจัดกระจายทั่วพื้นที่และมักจะมีลำต้นเล็กและเตี้ย พืชพื้นล่างเป็นพวกหญ้าเพ็ก หญ้าคา และสาบเสือ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น เต็ง รัง เหียง พลวง ฯลฯ

ป่าเบญจพรรณ จะมีไม้ต่างชนิดขึ้นปะปน และจะพบไผ่ขึ้นปนมากมาย มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น แดง ตะแบกใหญ่ ประดู่ มะกอก ชิงชัน ฯลฯ พืชพื้นล่างที่สำคัญ เช่น ไผ่กาย โด่ไม่รู้ล่ม เป็นต้น ป่าผลัดใบเหล่านี้ในช่วงฤดูฝนไม้พื้นล่างจะผลิใบอ่อนเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์กินพืช ได้แก่ ช้างป่า กระทิง วัวแดง กวางป่า และนกที่อาศัยพื้นที่นี้ได้แก่ ไก่ป่า เหยี่ยวชิครา นกแขกเต้า นกหัวขวาน สัตว์เลื้อยคลานที่พบได้แก่ ตะกวด และแย้ เป็นต้น

ป่าดงดิบชื้น พบขึ้นอยู่ทั่วไปในพื้นที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 400-1,000 เมตร

ป่าดงดิบแล้ง จะพบขึ้นอยู่บนพื้นที่ค่อนข้างราบ ไม้ที่พบโดยทั่วไปได้แก่ ยางนา ยางแดง เป็นต้น จากลักษณะเรือนยอดที่ต่อเนื่องกันนั้นจึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชะนีมือขาว ชะนีมงกุฎ ค่างหงอก ลิงกัง พญากระรอกบินหูแดง และจากสภาพป่าที่มีความรกทึบเป็นที่หลบพักและซ่อนตัวของสัตว์ใหญ่ เช่น ช้างป่า กระทิง นกป่าที่หากินและดำเนินกิจกรรมอยู่ในพื้นที่ ได้แก่ ไก่ฟ้าพญาลอ ไก่ฟ้าหลังขาว นกมูม นกลุมพู นกเค้าเหยี่ยว นกเงือกกรามช้าง นกแก๊ก นกกก นกพญาปากกว้างสีดำ นกพญาปากกว้างหางยาว นกขุนแผนหัวแดง และนกขุนทอง สัตว์เลื้อยคลานที่พบได้แก่ ตะกวด เต่าใบไม้ เต่าเหลือง และตะกอง เป็นต้น

นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติทับลานยังมีป่าอีกชนิดหนึ่งซึ่งถือเป็นประเภทป่าผลัดใบ ป่าชนิดนี้ถูกเรียกว่า “ป่าลาน” สภาพจะเป็นป่าโปร่ง มีลานขึ้นอย่างหนาแน่นทั่วพื้นที่ ป่าลานนี้มีเนื้อที่ 200 ไร่ บริเวณที่ราบบนเขาละมั่ง ด้านตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ไม้ลานเป็นพืชในตระกูลปาล์ม (Palmae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Corypha lecomtei Becc. บริเวณป่าลานและป่ารุ่นเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่สามารถปรับตัวอยู่ในสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้แก่ กระรอก หนู กระต่ายป่า พังพอน เก้ง กวางป่า เหยี่ยวขาว นกคุ่มอกลาย กิ้งก่าหัวแดง ตุ๊กแกบ้าน กิ้งก่าหางยาว อึ่งอ่างบ้าน และคางคก เป็นต้น

บริเวณเขาหินปูน ถ้ำ หน้าผา ซึ่งได้แก่บริเวณเขาละมั่ง เขาวง และภูสามง่าม เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และที่กำบังภัยของสัตว์ป่าบางชนิด เช่น เลียงผา เม่นหางพวง และค้างคาว เป็นต้น บริเวณแหล่งน้ำ ห้วย ลำธาร เป็นย่านที่อาศัยของสัตว์ป่าบางชนิดได้แก่ งูปลิง กบหงอน เขียดอ่องเล็ก นกยางไฟธรรมดา นกยางเขียว นกกระเต็นธรรมดา นกกระเต็นใหญ่ธรรมดากำกวม และนกกระเต็นลาย ปลาน้ำจืดที่พบ เช่น ปลาชะโอน ปลาดุกเนื้อเลน ปลากระสง ปลาดัก และปลากระทิงดำ เป็นต้น


เป็นของคนไทยทุกคน โปรดช่วยกันรักษาไว้ให้ลูกหลานของเรา




ข้อมูลทั่วไป

อุทยานแห่งชาติปางสีดา มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอตาพระยา อำเภอวัฒนานคร อำเภอเมืองจังหวัดสระแก้ว และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า มีสภาพธรรมชาติและเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตกปางสีดา น้ำตกผาตะเคียน น้ำตกแควมะค่า จุดชมวิว โขดหินตามลำน้ำที่มีลักษณะแปลกๆ มีเนื้อที่ประมาณ 527,500 ไร่ หรือ 844 ตารางกิโลเมตร

เดิมบริเวณน้ำตกปางสีดา เป็นหน่วยงานหนึ่งในโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการที่จะจัดป่าในบริเวณให้เป็นสถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวทั่วไป อีกทั้งยังเป็นการรักษาป่าต้นน้ำลำธารและสภาพป่าโดยรอบ กรมป่าไม้จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกดำเนินการสำรวจและจัดตั้งเป็นวนอุทยาน ชื่อว่า “วนอุทยานปางสีดา” เมื่อปี พ.ศ. 2521 อยู่ในความดูแลของสำนักงานป่าไม้จังหวัดปราจีนบุรี มีนายเดชา พงษ์พานิช นักวิชาการป่าไม้ 3 ทำหน้าที่หัวหน้าวนอุทยาน

ต่อมาได้มีการสำรวจพื้นที่โดยรอบที่มีเขตติดต่อกันปรากฏว่า บริเวณดังกล่าวมีสภาพป่าที่สมบูรณ์ ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า และทิวทัศน์ที่สวยงาม สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเชาสูงชันสลับซับซ้อน มีน้ำตกหลายแห่ง เช่น น้ำตกปางสีดา น้ำตกนาโตร น้ำตกผาน้อย และยังเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำบางประกง ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรรมในภาคตะวันออก สมควรดำเนินการให้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามหนังสือวนอุทยานปางสีดา ที่ กส 07008(ปด)/22 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2523 เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติดั้งเดิมไว้ เพื่อประโยชน์ในการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ และเพื่อการศึกษาค้นคว้าของประชาชนส่วนรวม ทั้งเป็นการสนองมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2522 ที่ให้พิจารณาจัดตั้งอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าให้เป็นการเพียงพอ ต่อมาจึงได้โอนความรับผิดชอบมาให้กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติ

กองอุทยานแห่งชาติได้นำรายงานการสำรวจเบื้องต้นและข้อคิดเห็น เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีมติในการประชุม ครั้งที่ 2/2523 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2523 เห็นสมควรให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ ป่าเขาสะโตน และป่าท่ากระบาก ในท้องที่ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี ตำบลบ้านแก่ง ตำบลโคกปี่ฆ้อง ตำบลท่าแยก อำเภอสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว และตำบลหนองน้ำใส ตำบลช่องกุ่ม อำเภอวัฒนานคร จังหวัดปราจีนบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 24 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2525 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 41 ของประเทศไทย





ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติปางสีดา เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน และเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งทอดยาวมาจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลานไปยังอุทยานแห่งชาติตาพระยาจรดประเทศกัมพูชา โดยมีความลาดชันจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 50 - 878 เมตร มียอดเขาใหญ่เป็นยอดเขาที่สูงที่สุด เทือกเขาเหล่านี้เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยลำธารหลายสาย เช่น ห้วยชมพู ห้วยสวนน้ำหอม ห้วยสาริกา ห้วยวังมืด และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำบางปะกง



ลักษณะภูมิอากาศ

มีสภาพภูมิอากาศเป็นแบบฝนเมืองร้อน อากาศแห้งแล้งและชุ่มชื้นสลับกัน ในฤดูมรสุมจะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดผ่าน ทำให้ลักษณะอากาศเป็นแบบชุ่มชื้น และมีฝนตลอดฤดูกาล แต่ในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือ หรือฤดูหนาวจะมีอากาศแห้งแล้ง ฤดูร้อน เริ่มต้นแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม และฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 28 องศาเซลเซียส



พืชพรรณและสัตว์ป่า

อุทยานแห่งชาติปางสีดา ครอบคลุมไปด้วยพื้นที่ป่าประมาณร้อยละ 95 ประกอบไปด้วย
ป่าดิบชื้น พบทั่วไปในเขตอุทยานแห่งชาติ บริเวณพื้นที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 400-1.000 เมตร ไม้ที่พบอยู่ทั่วไป ได้แก่ ยางกล่อง ยางขน ยางเสี้ยน กระบาก ยางปาย เคี่ยมคะนอง ทะโล้ จำปีป่า พะอง ก่อน้ำ ก่อเดือย ฯลฯ ไม้พุ่มมีหลายชนิด เช่น ส้มกุ้ง ข้าวสารหลวง ชะโอน คานหามเสือ เป็นต้น ส่วนบริเวณฝั่งลำธารจะมีพวก ลำพูป่า กระทุ่ม มหาสะดำ กูดพร้าว ละอองไฟฟ้า พืชอิงอาศัยที่พบโดยทั่วไปได้แก่ กระปอกเล็ก ชายผ้าสีดา กูดอ้อม เอื้องกุหลาบพวง และเอื้องปากเป็ด เป็นต้น

ป่าดิบแล้ง พบขึ้นในบริเวณพื้นที่ค่อนข้างราบสูง จากระดับน้ำทะเล 100-400 เมตร ไม้ที่พบขึ้นอยู่ทั่วไป ได้แก่ ยางนา ยางแดง สะเดาปัก ตะเคียนทอง มะค่าโมง ตาเสือ หมากนางลิง ลาน ฯลฯ พืชชั้นล่าง เช่น พืชในสกุลขิงข่า กระเจียว และกล้วยป่า เป็นต้น

ป่าดิบเขา พบในบริเวณที่มีอากาศเย็นบนภูเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตรขึ้นไป ไม้ที่พบขึ้นอยู่ทั่วไป ได้แก่ พญาไม้ มะขามป้อมดง สนสามพันปี ก่อน้ำ ก่อด่าง กำลังเสือโคร่ง ฯลฯ พืชชั้นล่างเป็นพวกไม้พุ่มชนิดต่างๆ เช่น กาลังกาสาตัวผู้ กล้วยไม้ดิน หญ้าข้าวกล่ำ สามร้อยยอด เป็นต้น

ป่าเบญจพรรณ ชนิดของไม้ที่ขึ้นอยู่ ได้แก่ มะค่าโมง ซ้อ ประดู่ ตะแบกใหญ่ ตีนนก สมอพิเภก กว้าว ฯลฯ พืชชั้นล่าง ได้แก่ ไผ่ป่า และหญ้าต่างๆ และ (5) ป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง มะขามป้อม รกฟ้า ฯลฯ พืชพื้นล่างเป็นพวกหญ้าเพ็ก และหญ้าคา

ด้วยสภาพป่าอันอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้และลักษณะภูมิประเทศทำให้บริเวณนี้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสายเหมาะสมที่จะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า จึงมีสัตว์ป่าที่มีขนาดใหญ่จนถึงขนาดเล็ก รวมทั้งนกไม่ต่ำกว่า 200 ชนิด อาศัยอยู่กระจัดกระจายทั่วไป สัตว์ป่าที่พบได้แก่ ช้าง กระทิง วัวแดง เสือโคร่ง เก้ง กวางป่า กระจง ชะนีมงกุฎ นากเล็กเล็บสั้น เม่นแผงคอใหญ่ ค้างคาวปีกขน ไก่ฟ้าพญาลอ นกยางเขียว นกพญาปากกว้างอกสีเงิน นกแต้วแล้วธรรมดา นกเด้าดิน ตะกอง กิ้งก่าบิน ตะกวด เขียดตาปาด เขียดทราย อึ่งแม่หนาว เป็นต้น บริเวณลำห้วยลำธารต่างๆ เช่น ห้วยน้ำเย็น ห้วยโสมง ห้วยพลับพลึง พบปลาชนิดต่างๆ ได้แก่ ปลาสร้อยนกเขา ปลาชะโอน ปลาค้อ ปลากดเหลือง ปลาดัก ปลาแค้ขี้หมู ปลาดุก ปลาก้าง และปลากระทิงดำ เป็นต้น


อุทยานแห่งชาติแม่เมย เริ่มมีการสำรวจว่าจัดตั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เป็นหน่วยงานสังกัดส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ใช้ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติแม่เมยนั้น เพราะว่ามีแม่น้ำเมยซึ่งกั้นระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่า เป็นเขตด้านทิศตะวันตกเกือบ 50 กิโลเมตร จากทิศเหนือจรดทิศใต้ อีกทั้ง แม่น้ำเมยนั้นเป็นแม่น้ำที่แปลกคือ จะไหลมาทางทิศใต้ขึ้นไปทางทิศเหนือ อุทยานแห่งชาติแม่เมยมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 185.28 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 115,800 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตท้องที่ตำบลแม่ต้านและตำบลแม่สอง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก
ลักษณะภูมิประเทศ
ส่วนมากเป็นภูเขาสลับซับซ้อนมีที่ราบน้อยมาก โดยมีความสูงเฉลี่ย 680 เมตร จากระดับน้ำทะเล ( จุดสูงสุด 1,250 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ) ปกคลุมไปด้วยป่าไม้ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ไม้ใหญ่มีน้อย เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของลำน้ำแม่สอง ลำน้ำแม่อุสุ ลำน้ำแม่สลิดหลวง และแม่น้ำเมย
ลักษณะภูมิอากาศ
จะมีฝนตกชุกมากในฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - เดือนตุลาคม ซึ่งไม่เหมาะสมต่อการท่องเที่ยว ฤดูร้อนอากาศค่อนข้างอบอุ่น และจะหนาวถึงหนาวจัดในฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะแก่การรองเที่ยวชมทะเลหมอกและสภาพทิวทัศน์ทั่วไปเป็นอย่างมาก
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
สัตว์ที่สามารถพบเห็นได้บ่อยเช่น เก้ง หมูป่า อีเห็น ไก่ป่า และนกชนิดต่างๆ
แหล่งท่องเที่ยว
ถ้ำแม่อุสุ เป็นถ้ำที่มีลำน้ำลอดผ่าน คือ ลำน้ำแม่อุสุ ภายในมีสภาพเป็นหินงอกหินย้อยที่สวยงามมาก และยังมีบางส่วนที่ยังไม่ได้ทำการสำรวจอีก เป็นถ้ำที่สวยงามแห่งหนึ่งในประเทศไทย
น้ำตกแม่สลิดน้อย เป็นน้ำตกสำหรับผู้ที่รักการเดินป่า เพราะต้องเดินจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่เมยประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดเล็ก - กลาง เป็นต้นน้ำของลำห้วย แม่สลิดน้อยเกโกที่ไหลผ่านที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่เมย ซึ่งเป็นชั้น ๆ เรื่อยไปจนถึงชั้นสูงสุด
น้ำตกชาวดอย เป็นน้ำตกขนาดกลาง เดินเท้าเข้าชมประมาณ 1 กิโลเมตร
จุดชมทะเลหมอก ซึ่งทุกจุดจะตั้งอยู่ติดทางหลวงสายแม่สลิด - อมก๋อย
จุดชมทะเลหมอกหลังที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่เมย ซึ่งมีความสูงประมาณ 1,100 เมตร เป็นจุดที่มองเห็นทะเลหมอกได้กว้างไกลมาก รวมทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก อีกทั้งเป็นจุดชมวิวที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่นิยมการเดินป่า เพราะจะต้องเดินเท้าเข้าไปประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง และต้องพักค้างแรม 1 คืน เพื่อชมทิวทัศน์ที่สวยงาม
ม่อนครูบาใสและม่อนพูนสุดา ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 200 เมตร สามารถชมทะเลหมอกยามเช้าและชมพระอาทิตย์ตกดินได้ ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่เมย ประมาณ 7 กิโลเมตร
ม่อนกิ่วลม เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวมากที่สุด เพราะจะเห็นพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าเหนือทะเลหมอก อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่เมย ประมาณ 14 กิโลเมตร
สิ่งอำนวยความสะดวก
ทางอุทยานแห่งชาติแม่เมย มีบ้านพักไว้บริการ หากนักท่องเที่ยวถ้าต้องการสัมผัสกับธรรมชาติ ก็มีที่กางเต็นท์ ณ บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่เมย และบริเวณจุดชมทิวทัศน์ม่อนกิ่วลม
สิ่งอำนวยความสะดวก
ทางอุทยานแห่งชาติแม่เมย มีบ้านพักไว้บริการ หากนักท่องเที่ยวถ้าต้องการสัมผัสกับธรรมชาติ ก็มีที่กางเต็นท์ ณ บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่เมย และบริเวณจุดชมทิวทัศน์ม่อนกิ่วลม
การเดินทาง
โดยทางรถยนต์จากจังหวัดตาก มาอำเภอแม่สอดและอำเภอแม่สองยาง โดยใช้เส้น ทางสายแม่สอด - แม่สะเรียง หมายเลข 105 ประมาณ 84 กิโลเมตร แยกก่อนถึงบ้านแม่สลิดหลวง ประมาณ 11 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่เมย
การติดต่อ
อุทยานแห่งชาติแม่เมย ต.แม่สอง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก 63150 โทรศัพท์ : (055) 519644

สู่...แม่เมย


ในช่วงเดือนธันวาคมไปจนถึงกลางเดือนมกราคม ท่านใดที่ต้องการพบดอกซากุระเมืองไทยหรือดอกนางพญาเสือโคร่ง จะพบในที่มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร สามารถหาชมได้ที่ดอยช้างครับ

หลังจากที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เมื่อมาถึงจังหวัดเชียงรายก็มักนึกถึงดอยอ่างขาง หรือว่าจะเป็นแม่สายจนบางท่านไม่รู้จักดอยช้างด้วยซ้ำไปหรือรู้จักว่าดอยช้างก็คือที่ผลิตกาแฟของ
จังหวัดเชียงราย แต่ถ้านักท่องเที่ยวท่านใดได้ขึ้นมาสัมผัสก็คงติดใจไปตามๆกันนึกว่า
เป็นประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมเป็นต้นไปเจ้าซากุระสีชมพูจะช่วยกันย้อม
เทือกเขาทั้งเทือกให้ดูโรแมนติก ดอยช้างเป็นยอดดอยสูงในเทือกเขาดอยวาวี ในอำเภอแม่สลวย จังหวัดเชียงราย เป็นจุดที่สามารถชมความงามของดอกซากุระที่สวยงามที่สุด เส้นทางขึ้นสู่ดอยช้างคดโค้ง สูงชัน และแคบต้องใช้ความระมัดระวังในการขับรถขึ้นไป เมื่อไปถึงบ้านดอยช้างจะพบกับดงดอกบ๊วยออกดอกขาวโพลนไปทั่วทั้งหุบเขา เลยขึ้นไปเป็นศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตเชียงราย ทั่วทั้งภูเขาที่นี่เต็มไปด้วยดอกซากุระสีชมพูแซมด้วยดอกซากุระสีขาวแล้วยังมีแปลงไม้เมืองหนาว
ออกดอกชูช่อรอนักท่องเที่ยวอย่างเราๆให้ไปชมกันอย่างมากมายครับ หลังจากชมดอกไม้
เมืองหนาวจนอิ่มตาแล้วที่ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตเชียงรายยังมีพุทธอุทยานอยู่
ท่ามกลางสวนไผ่และพรรณไม้เมืองเหนืออีกหลากหลายชนิด ห่างจากพุทธอุทยานก็มีจุดชมวิวมองเห็นทะเลภูเขาอันสลับวับซ้อน ยิ่งเป็นตอนพระอาทิตย์ตกดินยิ่งงดงามจับใจยิ่งนัก นอกจากที่จะได้สัมผัสกับความงามทางธรรมชาติที่แสนสวยแล้ว สามารถเก็บภาพถ่ายไว้เป็นที่ระลึกจนแทบนับไม่ถ้วนเลยครับ

การเดินทางจากกรุงเทพมุ่งสู่จังหวัดเชียงราย เข้าสู่อำเภอแม่สรวย จากอำเภอแม่สรวยเดินทางไปสู่ดอยช้าง โดยผ่านบ้านตีนดอย ทุ่งพร้าว ห้วยใคร้ จนเข้าดอยช้างรวมระยะทาง 30 กิโลเมตร หรือจะเลือกเส้นทางอำเภอแม่สรวย-ห้วยส้าน (อำเภอแม่ลาว) ระยะทาง 15 กิโลเมตรแต่เป็นทางดินโดยตลอด


ตามหาตำนานพระลอ ที่เวียงสรอง จังหวัดแพร่ สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดแพร่เรื่องราวความรักของพระลอตำนานรักอมตะระหว่างพระลอกับพระเพื่อนพระแพง ที่กลายเป็นตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาในท้องถิ่นล้านนานับร้อยๆปี เป็นโศกนาฎกรรมรักระหว่างหนุ่มสาวสองราชวงศ์ที่เป็นศัตรูกัน เวียงสรองปัจจุบันอยู่ในอำเภอแม่สอง เริ่มต้นการเดินทางจากอุทยานลิลิตพระลอ เมื่อเข้าไปภายในอุทยานก็จะพบประติมากรรมพระลอ พระเพื่อนและพระแพง สามองค์ประทับยืนพิงกันโดดเด่นแต่ไกล นอกจากนี้ยังมีการสร้างจุดสนใจต่างๆตามเหตุการณ์สำคัญในวรรณคดีลิลิตพระลอรวม 13 แห่ง เอาไว้ตามจุดต่างๆท่ามกลางดอกไม้นานาพรรณ นอกจากนี้ยังมีการแสดงนิทรรศการภาพวาดพระลอเอาไว้โชว์นักท่องเที่ยวที่ผ่านไปผ่านมาด้วยครับ นอกจากนี้ยังมีตู้โชว์ของสะสมเอาไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ชมกันด้วยครับ เดินออกมาจากตัวอาคารเล็กน้อยก็พบกับศาลปู่เจ้าสมิงพราย ซึ่งชาวบ้านทั่วไปต่างเชื่อกันว่าใครไม่มีคู่แล้วมาอธิษฐานขอจากหลวงปู่สมิงพรายก็จะได้มีคู่ ออกจากศาลหลวงปู่สมิงพรายก็เดินตรงไปเป็นจุดชมวิวซึ่งสามารถมองเห็นแนวกำแพงโบราณทั้งสามชั้น ของเมืองโบราณหลังออกจากอุทยานก็ไปไหว้พระต่อที่ วัดพระธาตุพระลอ เป็นเจดีย์ขนาดไม่ใหญ่เชื่อกันว่าเป็นสถานที่บรรจุอัฐิของพระลอพระแพงและพระเพื่อน เด่นเป็นสง่า ก่อนเดินทางกลับก็แวะหาของฝากที่ตลาดแม่สอง ซึ่งก็มีของให้เลือกซื้อเลือกทานอย่างมากมาย

ครับ สำหรับการเดินทาง ทางรถยนต์ เดินทางจากกรุงเทพมหานคร ใช้ทางหลวงหมายเลข1แยกเข้าทางหลวงหมายเลข11 ที่อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ผ่านจังหวัด นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เข้าสู่จังหวัดแพร่ รวมระยะทางประมาณ 551 กิโลเมตร จากตัวเมืองแพร่ใช้ทางหลวงหมายเลข 101 ประมาณ 25 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวง 103 อีก 18 กิโลเมตรแล้วเลี้ยวขวาเข้าตามทางหลวงหมายเลข 1154 สู่อำเภอแม่สอง


อุทยานแห่งชาติบางลาง มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอบันนังสตา อำเภอธารโต อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นอุทยานแห่งชาติ 1 ใน 5 ของโครงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเพื่อการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2530 ประกอบด้วยบริเวณพื้นที่ป่าเหนือเขื่อนบางลาง บริเวณป่ารอบ ๆ อ่างเก็บน้ำที่สมบูรณ์ ทะเลสาป เกาะ ตลอดจนจุดเด่นทางธรรมชาติทิวทัศน์ที่สวยงาม รวมเนื้อที่ประมาณ 461.04 ตารางกิโลเมตร หรือ 288,150 ไร่ ได้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2530
ลักษณะภูมิประเทศ
เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน สลับกับเนินเขาและพื้นที่ราบบางตอน พื้นที่ลาดเทจากด้านทิศใต้ลงสู่ทิศเหนือ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 600 เมตร ส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนดินเหนียวมีดินลูกรังเป็นบางส่วน เป็นต้นกำเนิดของแหล่งน้ำหลายสายไหลมาบรรจบเป็นแม่น้ำปัตตานี และต้นน้ำที่สำคัญหลายสาย อาทิเช่น แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำสายบุรี คลองโต๊ะโม๊ะ คลองฮาลา และคลองบ้านเจ็ด
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพอากาศเย็นชุ่มชื้นมีลมมรสุมตะวันออกพัดผ่านทำให้มีฝนตกเกือบตลอดปีระหว่างเดือนพฤษภาคม-เดือนธันวาคม จะมีฝนตกหนักในเดือนกันยายน - พฤศจิกายน มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,200 มิลลิเมตรต่อปี และฤดูร้อน ระหว่างเดือนมกราคม - เดือนเมษายน อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 29 องศาเซลเซียส
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
สภาพป่าประกอบด้วยป่าดงดิบชื้น มีไม้นานาชนิดขึ้นอยู่หนาแน่น ได้แก่หลุมพอ ตะเคียนทอง สยา นาคบุตร และไม้ตระกูลยาง ส่วนสัตว์ป่าที่พบเห็นได้แก่ เก้ง เลียงผา หมูป่า ลิง ค่าง ชะนี เม่น กระทิง กระซู่ สมเสร็จ วัวแดง และนกชนิดต่างๆ เช่นนกกางเขนดง นกกรงหัวจุก นกเงือกซึ่งมีอยู่ 9 ชนิด ในเขตอุทยานแห่งชาติ
แหล่งทองเที่ยว
เขื่อนบางลาง ตั้งอยู่ที่บ้านบางลาง ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา อยู่ห่างจากตัวจังหวัดยะลา 58 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 410 (ยะลา-เบตง) ถึงบ้านกาโสด หลักกิโลเมตรที่ 46 แยกเข้าเขื่อน 12 กิโลเมตร เขื่อนบางลาง สร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม 2524 ตัวเขื่อนเป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียว สูง 85 เมตร ยาว 422 เมตร สันเขื่อนกว้าง 10 เมตร ฐานเขื่อนกว้าง 366 เมตร สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 72,000 กิโลวัตต์ มีพื้นที่ผิวน้ำระดับสูงสุด 51 ตารางกิโลเมตร
ทะเลสาปธารโต เป็นทะเลสาปเหนือเขื่อนบางลาง เกิดจากการถูกน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง มีความกว้างประมาณ 2 กิโลเมตร ยาว 6 กิโลเมตร มีทิวทัศน์และบรรยากาศที่สวยงามแปลกตา และเกาะที่อยู่กลางทะเลสาปธารโต ชื่อ “เกาะหัวล้าน” มีเนื้อที่ประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ยังประกอบด้วยเกาะเล็ก ๆ อีกมากมาย
น้ำตกธารโต เดิมกรมป่าไม้ได้จัดตั้งเป็นวนอุทยานน้ำตกธารโตมาตั้งแต่ พ.ศ. 2503 เป็นน้ำตกที่มีน้ำไหลลดหลั่นกันมารวม 9 ชั้น ทุกชั้นมีทางเดินเท้าสามารถเดินชมความงามได้ตลอด บริเวณน้ำตกชั้นที่ 3-5 มีศาลาพักชมความงามของน้ำตกและผืนป่า ชั้นที่ 9 เป็นชั้นสูงสุด ระยะทางจาก 1-9 ประมาณ 500 เมตร เหมาะแก่การดูนก เพราะผ่านไปตามป่าดงดิบร่มครื้น สามารถเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 410 (ยะลา-เบตง) ตรงหลักกิโลเมตรที่ 56 อยู่ห่างจากอำเภอธารโต 4 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอบันนังสตา 16 กิโลเมตร
น้ำตกละอองรุ้ง เป็นน้ำตกมีชั้นน้ำตกสูงตกลงมากระจายเป็นละอองน้ำ และเมื่อกระทบแสงแดดมองดูเป็นสายรุ้ง จึงตั้งชื่อว่า “น้ำตกละอองรุ้ง” สามารถเดินชมความงามได้ทุกชั้นตามทางเท้า สามารถเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 410 (ยะลา-เบตง) ตรงหลักกิโลเมตรที่ 40
น้ำตกโต๊ะโม๊ะ อยู่ในเขตหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติบางลาง ที่ บล. 2 ห่างจากตัวเมืองยะลาประมาณ 90 กม. แยกจากทางหลวงแผ่นดินสายยะลา-เบตง เข้าทางเขื่อนบางลาง น้ำตกมีความสูงประมาณ 100 เมตร นอกจากนี้บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงยังมีน้ำตกจิ้งจก น้ำตกบ้าน 9 และโป่งดิน ที่สัตว์ลงมาหากิน 4-5 แห่ง
ผืนป่าฮาลา-บาลา อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา รวมกับผืนน้ำของอ่างเก็บน้ำบางลาง บริเวณผืนป่ายังคงความอุดสมบูรณ์มาก มีเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นที่อยู่อาศัยของนกเงือก รวมไปถึงสัตว์ป่าต่าง ๆ อาทิ กระทิง ช้าง เก้ง กวาง เป็นต้น การเดินทาง ต้องใช้เส้นทางด้านหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9 เข้าทางหลังเขื่อนบางลาง ไปตามถนนที่คดเคี้ยวบนเทือกเขาจะสามารถมองเห็นจุดชมวิวเหนืออ่างเก็บน้ำที่สวยงาม
บ้านพักปละสิ่งอำนวยความสะดวก
อุทยานแห่งชาติบางลาง ได้จัดสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการและ มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว
การเดินทาง
รถยนต์ สามารถเดินทางไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 (ยะลา-เบตง) ตรงหลักกิโลเมตรที่ 56 ที่ทำการอุทยานแห่งชาติบางลาง ตั้งอยู่ในบริเวณน้ำตกธารโต ต.ถ้ำทะลุ อ.บันนังสตา จ.ยะลา
สถานที่ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติบางลางตู้ ปณ. 1 ปณจ.ธารโต,อ. ธารโต จ. ยะลา 95150 โทรศัพท์ : (6673) 297099, 201716


คำว่า ยะลา มาจากภาษาพื้นเมืองเดิมว่า ยะลอ ซึ่งแปลว่า “แห” เป็นเมืองชายแดนภาคใต้ที่มีความน่าสนใจทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และธรรมชาติที่สวยงาม เป็นเมืองที่ผสมผสานวัฒนธรรมของชนต่างเชื้อชาติ ทั้งไทย จีน และอิสลาม ตัวเมืองยะลามีการวางผังเมืองที่เป็นระเบียบเรียบร้อย และยังเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคใต้
• เดิมยะลาเป็นส่วนหนึ่งของเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นเมืองขึ้นอยู่กับราชอาณาจักรไทยครั้งสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า บรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ในบริเวณแถบนี้ต่างก็ประกาศตัวเป็นอิสระ ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงรับสั่งให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทยกทัพหลวงไปตีเมืองปัตตานี ในปี พ.ศ. ๒๓๕๑ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกหัวเมืองปัตตานีเป็น ๗ หัวเมือง คือ เมืองปัตตานี เมืองสายบุรี เมืองหนองจิก เมืองยะหริ่ง เมืองระแงะ เมืองรามัน และเมืองยะลาสำหรับเมืองยะลานั้น มีการเปลี่ยนแปลงเจ้าเมืองหลายครั้ง ก่อนที่จะมีการประกาศยุบเลิกมณฑล ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยระเบียบแห่งราชอาณาจักรสยามในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ และกลายมาเป็นจังหวัดหนึ่งของไทยในที่สุด
• จังหวัดยะลาเป็นจังหวัดที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ ๔,๕๒๑ ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อจังหวัดสงขลา ปัตตานี นราธิวาส และประเทศมาเลเซีย เป็นจังหวัดเดียวในภาคใต้ที่ไม่มีพื้นที่ติดต่อกับทะเล พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้ พื้นที่ราบมีน้อย ยะลาแบ่งการปกครองออกเป็น ๗ อำเภอ และ ๑ กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอเบตง อำเภอบันนังสตา อำเภอยะหา อำเภอรามัน อำเภอธารโต อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง
อาณาเขต
• ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดปัตตานี
• ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดนราธิวาส
• ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดสงขลา
• ทิศใต้ ติดกับประเทศมาเลเซีย
การเดินทาง
• รถยนต์ ยะลาอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ๑,๐๘๔ กิโลเมตร โดยเดินทางไปตามถนนเพชรเกษมผ่านเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข ๔๑ ผ่านทุ่งสง-พัทลุง-หาดใหญ่ และเดินทางต่อไปปัตตานีจนถึงยะลา
• รถไฟ ยะลาอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ๑,๐๕๕ กิโลเมตร การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดบริการเดินรถ กรุงเทพฯ - ยะลา ทุกวัน ทั้งรถด่วนและรถเร็ว รายละเอียดสอบถามได้ที่ หน่วยบริการเดินทาง สถานีรถไฟหัวลำโพง โทร. ๑๖๙๐ สถานีรถไฟยะลา โทร. ๐ ๗๓๒๑ ๔๒๐๗
• รถโดยสารประจำทาง มีรถปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด บริการระหว่าง กรุงเทพฯ – ยะลา รถออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. ๐ ๒๔๓๕ ๑๑๙๙, ๐ ๒๔๓๔ ๗๑๙๒, ๐ ๒๔๓๕ ๕๖๐๕ และบริษัทเอกชน บริการระหว่างกรุงเทพฯ – ยะลา – เบตง ติดต่อบริษัท ไทยเดินรถ โทร. ๐ ๒๔๓๕ ๕๐๑๕ และบริษัทปิยะทัวร์ โทร. ๐ ๒๔๓๕ ๕๐๑๔
• เครื่องบิน ไม่มีบริการเดินทางโดยเครื่องบินไปจังหวัดยะลาโดยตรง แต่การบินไทยมีบริการเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯ – หาดใหญ่ และเดินทางต่อไปยังจังหวัดยะลาโดยรถไฟ รถประจำทาง รถแท๊กซี่หรือรถตู้ปรับอากาศ สอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัท การบินไทย จำกัด โทร. ๑๕๖๖, ๐ ๒๒๘๐ ๐๐๖๐, ๐ ๒๖๒๘ ๒๐๐๐ สำนักงานหาดใหญ่ โทร. ๐ ๗๔๒๓ ๓๔๓๓ หรือ หจก.สายโสภา รีพีทเตอร์ ยะลา โทร. ๐ ๗๓๒๑ ๒๕๘๒, ๐ ๗๓๒๑ ๕๘๓๐
ระยะทางจากตัวเมืองไปยังอำเภอและกิ่งอำเภอต่าง ๆ
อำเภอยะหา ๒๑ กิโลเมตร
อำเภอกรงปินัง ๒๒ กิโลเมตร
อำเภอรามัน ๒๖ กิโลเมตร
อำเภอบันนังสตา ๓๙ กิโลเมตร
อำเภอกาบัง ๔๐ กิโลเมตร
อำเภอธารโต ๖๑ กิโลเมตร
อำเภอเบตง ๑๔๐ กิโลเมตร

หมายเลขโทรศัพท์สำคัญ
อำเภอเมือง
สำนักงานจังหวัด โทร. ๐ ๗๓๒๑ ๒๕๔๒
สถานีตำรวจภูธรจังหวัดยะลา โทร. ๐ ๗๓๒๑ ๒๖๓๔, ๐ ๗๓๒๑ ๒๖๓๖, ๑๙๑
ชุมสายโทรศัพท์ยะลา โทร. ๐ ๗๓๒๑ ๒๒๓๔
โรงพยาบาลยะลา โทร. ๐ ๗๓๒๔ ๔๗๑๑-๘
โรงพยาบาลสิโรรส โทร. ๐ ๗๓๒๒ ๑๑๑๔-๕
สถานีรถไฟยะลา โทร. ๐ ๗๓๒๑ ๒๗๓๗, ๐ ๗๓๒๑ ๔๒๐๗
อำเภอเบตง
ศูนย์บริการข่าวสารการท่องเที่ยวเบตง โทร. ๐ ๗๓๒๓ ๒๐๓๙
ด่านตรวจคนเข้าเมือง โทร. ๐ ๗๓๒๓ ๑๒๙๒, ๐ ๗๓๒๓ ๐๐๒๖
ด่านศุลกากรเบตง โทร. ๐ ๗๓๒๓ ๑๑๙๔
ศูนย์บริการข่าวสารการท่องเที่ยว อำเภอเบตง
โทร. ๐ ๗๓๒๓ ๒๐๓๙
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เขต ๓
๑๐๒/๓ หมู่ ๒ ถ.นราธิวาส-ตากใบ ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส ๙๖๐๐๐
โทร. ๐ ๗๓๕๑ ๖๑๔๔, ๐ ๗๓๕๒ ๒๔๑๑ โทรสาร ๐ ๗๓๕๒ ๒๔๑๒ www.tatnara@tat.or.th
พื้นที่ความรับผิดชอบ: นราธิวาส ปัตตานี ยะลา
ข้อมูลรายละเอียดในเอกสารนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้


หลวงปู่ศุข นามเดิมท่านชื่อ ศุข นามสกุล เกษเวช ต่อมาลูกหลานได้ใช้ เกษเวชสุริยาก็มี เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน 4 ขึ้น 8 ค่ำ ปีวอก พ.ศ. 2390 ที่บ้านมะขามเฒ่า (เรียกกันในสมัยนั้น ปัจจุบันเรียกบ้านปากคลอง) ตำบลมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท โดยมบิดาชื่อน่วม โยมมารดาชื่อทองดี ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลนี้ มีบุตรและธิดาด้วยกัน 9 คน (1) หลวงปู่ศุข (2) นางอ่ำ (3) นายรุ่ง (4) นางไข่ (5) นายสิน (6) นายมี (7) นางขำ (8) นายพลอย (9) หลวงพ่อปลื้ม หลวงพ่อปลื้ม หลวงปู่นั้นท่านมีลุงคนหนึ่งชื่อ แฟง ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบางเขน จังหวัดพระนคร (ในสมัยนั้น) มีอาชีพทำสวน ไม่มีบุตรหรือธิดาด้วยกัน จึงได้มาขอหลานจากโยมหลวงปู่ศุขไปเลี้ยงสักคน โยมหลวงปู่ศุขก็อนุญาตให้เลือกเอา ลุงแฟงก็เลือกเอาคนโต หรือเรียกว่าคนหัวปี คือ หลวงปู่ศุข เข้าใจว่าขณะนั้นอายุประมาณ 10 ขวบ เมื่อหลวงปู่ศุขไปอยู่กับลุงแฟงเจริญเติบโตที่ตำบลบางเขนจนอายุได้ 18 ปี ก็ได้ภรรยาคนหนึ่งชื่อสมบุญอยู่ครองคู่กันโดยประกอบอาชีพทำสวน ต่อมาได้กำเนิดบุตรชาย 1 คน ชื่อ สอน การอุปสมบทของหลวงปู่ศุขนั้นท่านได้อุปสมบทเมื่ออายุได้ 25 ปี ที่วัดโพธิ์บางเขน (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดโพธิ์ทองล่าง) โดยมี พระครูเชย จนฺทสิริ วัดโพธิ์บางเขนเป็นพระอุปัชฌาย์ พระถมยาเป็นพระคู่สวด การอุปสมบทนี้มีลุงแฟงเป็นผู้อุปการะทั้งสิ้น ส่วนโยมบิดามารดาไม่ได้มาร่วมพิธีด้วยเพราะการเดินทางในสมัยนั้นลำบากมาก จากชัยนาทถึงกรุงเทพฯ ก็กินเวลาอย่างน้อย 2 ถึง 3 วัน จึงจะถึง เมื่อได้อุปสมบทแล้วอยู่กับพระอุปัชฌาย์ เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยพอสมควรแล้ว ท่านก็ได้ออกเดินธุดงค์หาที่สงบฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐาน และวิชาอาคมต่าง ๆ จากสำนักที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยนั้นจนชำนาญดีแล้ว จึงกราบลาอาจารย์กลับมาบ้านเกิดของท่าน โดยมาพักอยู่ที่วัดร้างแห่งหนึ่งข้างหมู่บ้านของท่าน ชื่อวัดอู่ทอง ปัจจุบันนี้เรียกวัดปากคลอง ชาวบ้านแถวนั้นมีความศรัทธาเลื่อมใสจึงได้นิมนต์ให้ท่านจำพรรษาอยู่ที่นั้น เพื่อที่ว่าจะได้สร้างวัดขึ้นมาใหม่ ดังนี้ท่านจึงได้อยู่ ณ ที่นั้นมาจนท่านมรณภาพ ในระหว่างที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้น ได้เริ่มพัฒนาในท้องถิ่นให้เจริญรุ่งเรืองด้วยจากวัดร้างที่ไม่มีอะไรเลย จนถึง พุทธาวาส ธรรมาวาส และสังฆาวาส เป็นวัดที่สมบูรณ์แบบจนถึงทุกวันนี้ยังมีพระอุโบสถและมณฑปปรากฏให้เห็นอยู่ ส่วนการอบรมสั่งสอนนั้นท่านได้แนะแนวการประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ให้เห็นคุณและโทษของผลการปฏิบัติตนในทางที่ดีหรือไม่ดีอย่างไร จนประชาชนแถวนั้นมีความประพฤติดีมีศีลธรรมเป็นส่วนมาก
อนึ่ง มีผู้กล่าวว่าท่านมีวิชาอาคมเวทย์มนต์เก่งมาก สามารถเสกใบไม้ให้เป็นตัวต่อ ตัวแตน เสกหัวปลีให้เป็นกระต่าย เสกก้านกล้วยให้เป็นงูได้ และเรื่องอภินิหารของขลัง คงกระพันชาตรี มีอีกมากจนถึงกับสมเด็จกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ในราชวงศ์จักรีได้มาทดลองดู เห็นจริงจึงได้ยอมตนมอบตัวเป็นศิษย์ตั้งแต่นั้นมา และได้วาดภาพพุทธประวัติด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ที่อุโบสถด้านในหน้าอุโบสถซึ่งปรากฏจนทุกวันนี้ หลวงปู่ศุข ท่านมีเมตตามากจึงมีศิษย์เป็นอันมากที่มาเรียนวิชาเหล่านี้ ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูวิมลคุณากร และเป็นเจ้าคณะแขวง (ปัจจุบันเรียกว่าเจ้าคณะอำเภอ) เป็นองค์แรกของอำเภอวัดสิงห์ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเมื่อใด ท่านมรณภาพเมื่อ เดือน 1 ปีกุน พ.ศ. 2466 ไม่ปรากฏที่ที่แน่นอน คำนวณอายุได้ 76 ปี วันสวดพระพุทธมนต์ทำศพอยู่ 7 วัน 7 คืน จึงประชุมเพลิง
ปัจจุบันชาวจังหวัดชัยนาทผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ได้ร่วมกันสร้างรูปหุ่นขี้ผึ้งไว้ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า เพื่อจะได้ทำการสักการะบูชาโดยทั่วกัน กรมทหารเรือเห็นความสำคัญ จึงได้ทำการบูรณะซ่อมแซมมณฑปเมื่อ พ.ศ. 2545 ทำให้ประชาชนทั้งใกล้และไกลต่างจังหวัด หลั่งไหลมาสักการะบูชาทุก ๆ วันมิได้ขาด วัดปากคลองมะขามเฒ่า จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจังหวัดชัยนาทต่อไป


สวนนกชัยนาท เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดชัยนาท เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2526 ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาพลอง หมู่ที่ 4 ตำบลเขาท่าพระ ตั้งอยู่ริมถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1) ก่อนถึงตัวเมือง 4 กิโลเมตร สวนนกชัยนาท มีพื้นที่ 248 ไร่ มีกรงนกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย ครอบคลุมพื้นทื่ 26 ไร่ โดยปล่อยพันธุ์นกต่าง ๆ ให้อยู่อย่างธรรมชาติ นอกจากนั้นยังมีกรงนกขนาดกลางและขนาดเล็กอีก 63 กรง มีสวนหย่อม สวนงู สวนกระต่าย สวนสัตว์ป่า เช่น ละมั่ง เลียงผา กวางดาว เนื้อทราย มีศาลากลางน้ำ อาคารจำหน่ายสินค้าของที่ระลึก และมีพิพิธภัณฑ์ปลาน้ำจืดเป็นปลาจากแม่น้ำเจ้าพระยา 63 ชนิด เช่น ปลาเสือตอ ปลาตองลาย ปลาเสือสุมาตรา ปลากดหิน เป็นต้น ซึ่งจะเปิดให้เข้าชมเวลา 08.00–17.00 น. สำหรับสวนนกชัยนาท เปิดให้เข้าชมระหว่างเวลา 08.00–18.00 น. อัตราค่าเช้าชมชาวไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. (056) 411413
การเดินทาง จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 32 ถึงสี่แยกถนนสายเอเชีย ช่วงชัยนาท-ตาคลี เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1 ประมาณ 7 กิโลเมตร สวนนกชัยนาทจะอยู่ทางขวามือ
วัดธรรมามูลวรวิหาร เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองชัยนาทมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่บนไหล่ เขาธรรมามูล ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลธรรมามูล ห่างจากอำเภอเมืองไปทางทิศเหนือประมาณ 8 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1 กิโลเมตรที่ 288-289 เข้าทางโรงเรียนธรรมานุกูล ภายในวิหารของวัดมี หลวงพ่อธรรมจักร เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติประทับบนฐานรูปดอกบัว เป็นศิลปะประยุกต์สมัยเชียงแสนตอนปลายถึงสุโขทัยตอนต้น ผสมกับสมัยอยุธยา มีรูปพระธรรมจักรปรากฎอยู่กลางฝ่าพระหัตถ์เบื้องขวา ซึ่งเข้าใจว่าเป็นความคิดของช่างสมัยนั้นที่ตั้งใจสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ให้มีเครื่องหมายแห่งมหาปุริสลักษณะ (เป็นลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ ตามคติอินเดีย เช่น ในฝ่าเท้ามีจักรลักษณะ มีลายตาข่ายในฝ่ามือฝ่าเท้า ข้อเท้าเหมือนสังข์ที่ตั้งขึ้น คางเหมือนคางราชสีห์ เป็นต้น) และสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ ใบเสมา เป็นศิลาทรายสีแดงตั้งรายรอบพระอุโบสถ สลักลวดลายแบบสมัยอยุธยา ทุกปีจะมีงานนมัสการหลวงพ่อธรรมจักรเป็นประจำปีละ 2 ครั้ง คือ วันขึ้น 4- 8 ค่ำ เดือน 6 และ แรม 4-8 ค่ำ เดือน 11
วัดพระบรมธาตุวรวิหาร ตั้งอยู่ที่บ้านท้ายเมือง ตำบลชัยนาท เป็นพระอารามหลวงชั้นโท เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ภายในวัดนี้มีเจดีย์พระบรมธาตุรูปแบบสถาปัตยกรรมอู่ทอง บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในจังหวัดชัยนาทและจังหวัดใกล้เคียง มีงานเทศกาลสมโภชพระบรมธาตุในวันเพ็ญเดือน 6 เป็นประจำทุกปี
การเดินทาง อยู่ห่างจากตัวเมืองชัยนาทประมาณ 4 กิโลเมตร จากอำเภอเมืองใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 340 จนถึงสี่แยกตัดกับเส้นทางหลวงหมายเลข 3183 ประมาณ 1 กิโลเมตร หรือรถโดยสารประจำทางสายกรุงเทพฯ – วัดสิงห์
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี ตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระบรมธาตุวรวิหาร เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ 2 ชั้น ชั้นบนจัดแสดงพระพิมพ์สมัยต่างๆ ตั้งแต่สมัยทวาราวดีถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ชั้นล่างจัดแสดงพระพุทธรูปสังคโลก เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับ ตั้งแต่สมัยทวาราวดีถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ศิลปโบราณวัตถุที่จัดแสดงส่วนใหญ่ได้รับมอบจากท่านเจ้าคุณพระชัยนาทมุนี (นวม) สุทตฺโต อดีตเจ้าคณะจังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นผู้รวบรวมเก็บรักษาและได้มอบให้กรมศิลปากร ในภายหลังกรมศิลปากรจึงตั้งชื่อพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนีเปิดให้ชมทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น. และ 13.00-16.00 น. เว้นวันจันทร์-วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าเข้าชมชาวไทย 5 บาท ชาวต่างประเทศ 10 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. (056) 411467 การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับวัดพระบรมธาตุวรวิหาร
อำเภอวัดสิงห์
วัดปากคลองมะขามเฒ่า ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลมะขามเฒ่า เป็นวัดที่ตั้งอยู่บริเวณปากคลองมะขามเฒ่า (แม่น้ำท่าจีน) แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจากตัวเมืองชัยนาทประมาณ 25 กิโลเมตร ไปทางอำเภอวัดสิงห์ประมาณ 20 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 3183 กิโลเมตรที่ 36–37 เนื่องจากเดิมมีต้นมะขามเก่าแก่อยู่ต้นหนึ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัด วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่มีทิวทัศน์ที่สวยงามน่ารื่นรมย์ และมีชื่อเสียงด้านพระเครื่องด้วย
หลวงปู่ศุขแห่งวัดปากคลองมะขามเฒ่า เป็นพระที่มีชื่อเสียงทางเวทมนต์คาถา ได้สร้างพระเครื่องที่เรียกว่า “หลวงปู่ศุขวัดปากคลองมะขามเฒ่า” ซึ่งประชาชนนิยมนำไปสักการะบูชา กุฏิของท่านเป็นแบบทรงไทยโบราณ สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งของวัดนี้คือ ภาพเขียนฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ อยู่ในพระอุโบสถติดอยู่ตามผนังของพระอุโบสถเป็นภาพพุทธประวัติ แต่พระองค์มิได้เขียนเองทั้งหมด คงมีข้าราชบริพารร่วมเขียนด้วย ทั้งหมดเขียนด้วยอักษรขอมผนังด้านใต้มีภาพเขียนบอกเวลาไว้ในปี พ.ศ. 2433
ฟาร์มจระเข้วสันต์ (ร้านอาหารสวนสัตว์) ตั้งอยู่ที่ 121 หมู่ 3 ต.มะขามเฒ่า จากอำเภอเมืองชัยนาท มาตามถนนสายชัยนาท-วัดสิงห์ (ทางหลวงหมายเลข 3183) กิโลเมตรที่ 24 ตั้งอยู่ทางขวามือ ในฟาร์มจะมีสัตว์หลายชนิด เช่น จระเข้ เสือ ปลาช่อนอะเมซอน ปลากระเบน นกชนิดต่าง ๆ ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามข้อมูลเพิ่ม โทร. (056) 461104

ชัยนาท แปลตามศัพท์มีความหมายว่า ชัยชนะที่มีเสียงบันลือ เป็นเมืองโบราณเมืองหนึ่ง ตัวเมืองเดิมอยู่บริเวณฝั่งขวาแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองแพรกศรีราชาใต้ปากลำน้ำเก่า ตั้งขึ้นหลังเมืองพันธุมวดี (สุพรรณบุรี) เป็นเมืองหน้าด่านของกรุงสุโขทัย สร้างในสมัยพญาเลอไทแห่งกรุงสุโขทัย ระหว่าง พ.ศ. 1860-1879 เมืองๆ นี้จึงได้ชื่อว่า เมืองแพรก หรือเมืองสรรค์ มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านทางใต้ เมื่อกรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง เมืองแพรกได้กลายเป็นเมืองหน้าด่านทางตอนเหนือของกรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้เกิดชุมชนใหม่ไม่ไกลจากเมืองสรรค์ มีเจ้าสามพระยาเป็นผู้ครองเมือง ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เมืองที่เกิดขึ้นใหม่นี้เป็นเมืองใหญ่ มีชื่อว่า ชัยนาท ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ย้ายตัวเมืองจากบริเวณแหลมยางมาตั้งตรงฝั่งซ้ายแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนเมืองสรรค์นั้นเสื่อมลงเรื่อยๆ เพราะผู้คนอพยพมาอยู่ที่ชัยนาทเป็นส่วนใหญ่ ในที่สุดก็กลายเป็นเพียงอำเภอหนึ่งของชัยนาทเท่านั้น ชัยนาทเป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เคยใช้เป็นที่ตั้งทัพรับศึกพม่าหลายครั้ง และมีชัยทุกครั้งไป จึงเป็นที่มาของชื่อ เมืองชัยนาทแห่งนี้
• นอกจากชัยนาทจะเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน แต่ปัจจุบันชัยนาทก็มีชื่อเสียงและมีสินค้าด้านหัตถกรรม การจักสาน การปั้น การทอ การทำเครื่องเบญจรงค์ ที่มีฝีมือปราณีต รูปแบบทันสมัย ราคาย่อมเยา มีตลาดการจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยฝีมือของชาวบ้านกลุ่มต่าง ๆ อีกด้วย
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดอุทัยธานี และนครสวรรค์
ทิศตะวันออก ติดนครสวรรค์ และสิงห์บุรี
ทิศใต้ ติดสิงห์บุรี และสุพรรณบุรี
ทิศตะวันตก ติดอุทัยธานี
การปกครอง
ชัยนาท มีเนื้อที่ประมาณ 2,469.74 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 6 อำเภอ และ 2 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอหันคา อำเภอมโนรมย์ อำเภอสรรคบุรี อำเภอสรรพยา อำเภอวัดสิงห์ กิ่งอำเภอหนองมะโมง และกิ่งอำเภอเนินขาม

ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอต่าง ๆ
อำเภอหันตา 35 กิโลเมตร
อำเภอมโนรมย์ 14 กิโลเมตร
อำเภอสรรคบุรี 27 กิโลเมตร
อำเภอสรรพยา 21 กิโลเมตร
อำเภอวัดสิงห์ 22 กิโลเมตร

การเดินทาง
• รถยนต์ ชัยนาทอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 194 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 ประมาณกิโลเมตรที่ 50 มีทางแยกเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 32 ผ่าน อ่างทอง สิงห์บุรี ประมาณกิโลเมตรที่ 183 มีทางแยกซ้ายมือเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1 ไปชัยนาทอีก 10 กิโลเมตร
• รถโดยสารประจำทาง จากกรุงเทพฯ มีรถโดยสารประจำทางปรับอากาศและรถโดยสารธรรมดา ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ เริ่มบริการตั้งแต่เวลา 05.10-17.30 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง สอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัท ขนส่ง โทร. 537-8055 บริษัท ชัยนาท ทัวร์ กรุงเทพฯ โทร. 936–3608 ชัยนาท โทร. (056) 412264

หมายเลขโทรศัพท์ที่ควรทราบ (รหัสทางไกล 056)
สำนักงานจังหวัด โทร. 411181
ประชาสัมพันธ์จังหวัด โทร. 411919
สถานีตำรวจภูธร อำเภอเมือง โทร. 411734
ที่ทำการไปรษณีย์ อำเภอเมือง โทร. 411226
ชัยนาททัวร์ โทร. 412264
บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร. 411140, 411897

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สำนักงาน ททท. ภาคกลาง เขต 7 (ลพบุรี)
ถนนรอบวัดพระธาตุ บริเวณสวนราชานุสรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี 15000
โทร. (036) 422768-9 โทรสาร (036) 422769
พื้นที่ความรับผิดชอบ : ลพบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี


เมืองพังงา เมืองที่สงบเงียบดูเรียบง่าย เป็นอำเภอที่มีภูเขารูปลักษณะสวยงามแปลกตาตลอดเส้นทาง ภูเขาเหล่านี้มีต้นไม้เขียวครึ้มขึ้นปกคลุม ทำให้ดูชุ่มชื้นและเย็นสบาย มีถนนหนทางที่สะอาด ตึกสองข้างทางยังเป็นตึกเตี้ย ๆ ที่ไม่บดบังความสวยงามของทิวทัศน์ธรรมชาติ เป็นเมืองที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความเรียบง่ายในการพักผ่อนอยู่กับธรรมชาติไม่มีแสงสี และก่อนจะเข้าถึงตัวเมืองพังงา จะมองเห็น “เขารูปช้าง” สูงตระหง่านแต่ไกล ถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด
สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดพังงาที่น่าสนใจ
• สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ถนนเขาช้าง ริมถนนเพชรเกษม เยื้องศาลากลางจังหวัด เป็นสวนสาธารณะที่มีทัศนียภาพสวยงาม มีรูปหล่อโลหะของ “สมเด็จย่า” ในท่าทรงประทับยืนอยู่กลางสวน ช่วงเย็นๆ จะมีประชาชนมาออกกำลังกายและพักผ่อนกันมาก
• ถ้ำฤาษีสวรรค์ และถ้ำลูกเสือ อยู่ในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ถ้ำฤาษีสวรรค์ จะอยู่ด้านหน้าถ้ำลูกเสือ ภายในจะมีธารน้ำใส เย็นสบาย มีหินงอกหินย้อย สามารถเดินจากด้านหน้าถ้ำทะลุไปด้านหลังถ้ำได้ จากนั้นจึงเดินไปยังถ้ำลูกเสือ ที่มีขนาดเล็กกว่าถ้ำฤาษีสวรรค์ ในถ้ำมีหินงอกหินย้อยอยู่ประปราย และมีฝูงลิงอยู่ด้านหน้าถ้ำด้วย
• วนอุทยานสระนางมโนห์รา อยู่ตำบลนบปริง ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาทอยนางหงษ์ มีพื้นที่ทั้งหมด 180 ไร่ พื้นที่โดยทั่วไปเป็นภูเขาหินปูนเป็นแนวยาวจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปทิศใต้ เป็นป่าประเภทป่าดงดิบหรือป่าฝน วนอุทยานฯ ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ มีลำธารไหลจากป่าต้นน้ำที่อยู่บนสันเขาผ่านหุบเขาทั้งพื้นที่ราบ และพื้นที่ต่างระดับทำให้เกิดน้ำตกขนาดเล็ก มีไม้ทางเศรษฐกิจคือ ไม้หลุมพอ ตะเคียน จำปาป่า สัตว์ป่า ได้แก่ เลียงผา ลิง ค่าง หมูป่า ปลาเสือ ปลาพลวงหิน ตะพาบน้ำ ที่มาของชื่อวนอุทยาน “สระนางมโนราห์” ตามความเชื่อเล่าว่ามีนางกินรี 7 ตน บินจากเขาไกรลาศมาเล่นน้ำในสระ แล้วพรานบุญใช้บ่วงบาศจับน้องสุดท้อง ที่ชื่อว่ามโนราห์ไว้ได้ เพื่อนำไปถวายพระสุธน ชาวบ้านจึงใช้เรียกชื่อสระนี้
สถานที่น่าสนใจภายในเขตวนอุทยานสระนางมโนราห์ ได้แก่
• น้ำตกสระนางมโนราห์ มีลักษณะเป็นแอ่งน้ำขนาดกลาง และมีน้ำตกขนาดเล็กที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี
• ถ้ำเปลือกหอย อยู่ห่างจากที่ทำการ 1,300 เมตร เป็นถ้ำขนาดกลางที่มีสุสานหอยอยู่ภายใน เส้นทางเดินเป็นทางลาด เดินสบาย
• ถ้ำขี้ค้างคาว อยู่ห่างจากที่ทำการ 2,300 เมตร เป็นถ้ำที่มีขนาดใหญ่กว่าถ้ำเปลือกหอย มีค้างคาวอาศัยอยู่จำนวนมาก ทางเดินไม่ลาดชันสามารถเดินเที่ยวได้เอง
• ถ้ำแก้ว อยู่ห่างจากที่ทำการ 3 กิโลเมตร เป็นถ้ำที่มีขนาดใหญ่กว่าถ้ำขี้ค้างคาว อยู่ห่างจากถ้ำขี้ค้างคาวประมาณ 1,500 เมตร ในถ้ำมีหินงอก หินย้อยสวยงาม การเดินเที่ยวถ้ำแก้วจะต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง
• นอกจากนี้วนอุทยานฯ มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติซึ่งมีป้ายสื่อความหมายแสดงความเป็นอยู่ร่วมกันของพืชและสัตว์ ระยะทาง 2 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินประมาณ 1 ชั่วโมง นักท่องเที่ยวสามารถเดินได้เอง ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง
• ที่พัก วนอุทยานฯ ไม่มีบ้านพัก แต่มีสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยวต้องนำเต็นท์ และเครื่องนอนพร้อมอุปกรณ์ในการพักแรมมาเอง และทางวนอุทยานฯ มีบริการร้านอาหาร เปิดตั้งแต่เวลา 09.00 น.–16.30 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่ หัวหน้าวนอุทยานสระนางมโนราห์ ตำบลนบปริง อำเภอเมือง จังหวัดพังงา 82000
• การเดินทาง จากตัวเมืองพังงาใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม ไปทางตำบลนบปริง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 4 กิโลเมตร จะมีป้ายวนอุทยานฯ เลี้ยวขวาเข้าไป 4 กิโลเมตร
• สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจังหวัดพังงา อยู่ริมถนนเพชรเกษม ตำบลตากแดด จากตัวเมืองพังงา อยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 33 (เยื้ององค์การโทรศัพท์จังหวัดพังงา) มีการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าที่หายาก และใกล้สูญพันธุ์ เช่น นกปรอดหัวโขนเคราแดง นกแก็บ นกแสก เหยี่ยวแดง ไก่ฟ้าสีทอง นกยูงไทย-อินเดีย นอกจากนี้ยังมีเลียงผา เม่น ชะนี ลิง ค่างดำ หมี เป็ด เปิดให้เข้าโดยไม่เสียค่าเข้าชมทุกวัน เวลา 08.30–16.30 น. หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ และต้องการเจ้าหน้าที่นำชม ต้องทำหนังสือติดต่อล่วงหน้าถึง หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจังหวัดพังงา สอบถามรายละเอียดได้ที่ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจังหวัดพังงา โทร. 0 7641 3261
• เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนปริวรรต อยู่ตำบลสองแพรก มีพื้นที่ 100,000 ไร่ ร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้ต่าง ๆ มีน้ำตกโตนปริวรรต หรือชาวบ้านเรียกว่า “น้ำตกสองแพรก” ห่างจากเขตรักษาพันธุ์ฯ 100 เมตร เป็นน้ำตกไม่สูงนักเบื้องล่างเป็นแอ่งน้ำที่ยังมีเศษแร่ตกค้างอยู่ ช่วงหน้าฝนน้ำจะไหลแรง มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทาง 2 กิโลเมตร ตามเส้นทางสามารถจะเห็น บัวผุด เป็นพันธุ์ไม้ที่มีดอกใหญ่ที่สุดในโลก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 80 เซนติเมตร เป็นพืชกาฝากเกาะกินรากไม้เถาชื่อ ย่านไก่ต้ม กลีบดอกมี 5 กลีบ มีสีน้ำตาลแดง เป็นพืชที่หาดูได้ยากจะเกิดเฉพาะป่าที่มีความสมบูรณ์ ออกดอกปลายหน้าฝนประมาณเดือนตุลาคม นอกจากนั้นตามเส้นทางจะสังเกตุเห็น เหมืองเก่าร่องรอยแห่งอดีต จุดดูนก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของป่า ผ่านน้ำตกหินเพิง ซึ่งถือเป็นแหล่งต้นน้ำ เป็นต้น การเดินศึกษาต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ปัจจุบันมีบริษัทนำเที่ยวจัดกิจกรรมท่องเที่ยวทั้งนั่งช้างผ่านป่าชมธรรมชาติสองข้างทางของลำธารซึ่งยังคงความบริสุทธิ์ของป่าที่ยังไม่มีใครเข้าไปรุกราน และล่องแก่ง ที่นี่มีเกาะแก่งมากทำให้สนุกสนานและตื่นเต้นเหมาะสำหรับผู้ที่รักการผจญภัย โดยใช้เวลาในการล่องแก่งประมาณ 45 นาที และสามารถล่องได้ตลอดทั้งปี
• ที่พัก มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว จำนวน 2 หลัง และมีที่กางเต็นท์โดยนักท่องเที่ยวจะต้องนำเต็นท์มาเอง ติดต่อขอรายละเอียดได้ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนปริวรรต หมู่ 2 ตำบลสองแพรก อำเภอเมือง จังหวัดพังงา 82000
• การเดินทาง รถยนต์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 5 กิโลเมตร จากทางหลวงหมายเลข 4 เลี้ยวขวาที่บ้านสองแพรกเข้าไปประมาณ 10 กิโลเมตร รถโดยสารประจำทาง สามารถนั่งรถสายกรุงเทพฯ-พังงา มาลงที่สถานีเดินรถโดยสารประจำทางจังหวัดพังงาแล้วทางเจ้าหน้าที่เขตฯ จะมารับ โดยต้องติดต่อล่วงหน้า
• อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา มีพื้นที่ประมาณ 250,000 ไร่ ครอบคลุมอำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเกาะยาว อุทยานฯ แห่งนี้เป็นอุทยานแห่งชาติประเภทชายฝั่งทะเลแห่งที่สองของประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเล และเกาะน้อยใหญ่ มีเขาหินปูนลักษณะต่าง ๆ ที่มีความงามแตกต่างกันไปตามลักษณะของหิน สมบูรณ์ด้วยป่าชายเลน และยังเป็นแหล่งขยายพันธุ์สัตว์น้ำอีกด้วย ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2524 ช่วงที่เหมาะจะมาท่องเที่ยวคือ เดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน ส่วนเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมเป็นช่วงที่ฝนตกชุก คลื่นลมแรง
สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดพังงาที่น่าสนใจภายในเขตอุทยานฯ ได้แก่
• เกาะปันหยี เป็นเกาะเล็ก ๆ มีที่ราบประมาณ 1 ไร่ มีบ้านเรือน 200 หลังคาเรือน ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีอาชีพประมง ขายของที่ระลึก และขายอาหารให้แก่นักท่องเที่ยว มีโรงเรียน และสถานีอนามัยอยู่บนเกาะ
• เกาะพนัก เป็นเกาะที่สวยงาม มีถ้ำหินงอก หินย้อย และมีแอ่งน้ำตกขนาดเล็กเป็นชั้น ๆ ลดหลั่นกันอยู่ในถ้ำด้วย
• เขาพิงกัน เหตุที่ชื่อนี้เพราะภูเขาหินแตกออกจากกัน หินที่เล็กกว่าเลื่อนลงมา ฐานจมลงไปในดินแยกห่างจากกัน ส่วนด้านบนยังคงพิงกันอยู่ ด้านหลังของเขาพิงกันมีทิวทัศน์ที่สวยงาม มองออกไปในทะเลจะเห็น “เขาตะปู” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เกาะเจมส์บอนด์” มีลักษณะเหมือนตะปู อยู่กลางน้ำ อุทยานฯ เก็บค่าขึ้นเขาพิงกัน ชาวไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท เพราะเป็นเกาะที่อยู่บนหาด
• เขาหมาจู อยู่ระหว่างทางผ่านที่จะไปยังเกาะปันหยี เขาหมาจู เป็นภูเขาหินมีลักษณะคล้ายรูปสุนัขแบ่งเป็นส่วนหัว ลำตัวและหางเป็นพู่
เขาเขียน หรือ ภาพเขียนสี เป็นทางผ่านที่จะไปยังเกาะปันหยี บริเวณหน้าผาจะมีรูปเขียนเป็นภาพสัตว์ชนิดต่าง ๆ สันนิษฐานว่าเป็นภาพวาดโดยนักเดินเรือสมัยโบราณที่แวะมาจอดพักหลบมรสุม ซึ่งกรมศิลปากรได้ทำการศึกษาว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี
ถ้ำลอด เป็นภูเขาลักษณะเกาะทะลุ ปากถ้ำกว้างประมาณ 50 เมตร สูง 40 เมตร เรือขนาดเล็กสามารถแล่นผ่านทะลุไปอีกด้านของถ้ำได้ บนเพดานถ้ำมีหินย้อยดูแปลกตา
• เกาะห้อง เป็นภูเขาเล็กใหญ่สลับซับซ้อน เมื่อแล่นเรือเข้าไประหว่างเกาะ มองโดยรอบเหมือนอยู่ในห้องโถงใหญ่ที่มีประตู 2 บาน และเป็นแหล่งปะการังที่สวยงาม
• การเดินทางไปอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา
• ทางรถยนต์ อุทยานฯ อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 8 กิโลเมตร จากทางหลวงหมายเลข 4 จะมีทางแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4144 เข้าไปประมาณ 4 กิโลเมตร จะถึงท่าเรือท่าด่านศุลกากร สามารถเช่าเรือจากบริเวณท่าเรือได้ หรือเดินทางโดยรถสองแถว มีรถออกจากตัวเมืองไปท่าเรือท่าด่านศุลกากรทุกวัน
• การเช่าเรือล่องอ่าวพังงา มีเรือบริการนำเที่ยวออกจากท่าเรือต่าง ๆ ดังนี้
• ท่าเรือท่าด่านศุลกากร ใกล้โรงแรมพังงาเบย์ รีสอร์ท มีเรือนำเที่ยวหลายขนาดให้เช่า เรือสำหรับ 5 คน ราคา 650 บาท 15 คน ราคา 1,500 บาท 40–50 คน ราคา 2,500 บาท 80 คน ราคา 3,500 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3-4 ชั่วโมง
• ท่าเรือสุระกุล หรือ ท่าเรือกะโสม ในอำเภอตะกั่วทุ่ง มีเรือให้เช่าหลายขนาด เรือสำหรับ 1–10 คน ราคา 1,000 บาท 11–20 คน ราคา 1,200 บาท 21–30 คน ราคา 1,500 บาท
• ท่าเรือในบริเวณอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา มีเรือหลายขนาดไว้บริการนักท่องเที่ยว เรือสำหรับ 2-4 คน ราคา 800 บาท 10–15 คน ราคา 1,500 บาท 40 คน ราคา 3,500 บาท 41–60 คน ราคา 4,500 บาท 61–80 คน ราคา 5,500 บาท* ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3-4 ชั่วโมง (อัตราค่าเรืออาจเปลี่ยนแปลงได้)
• ที่พัก อุทยานฯ มีบ้านพักบริการนักท่องเที่ยว จำนวน 5 หลัง พักได้ 4 คน ราคา 500 บาท พักได้ 15 คน ราคา 900 บาท มีบริการเต็นท์ให้เช่า พักได้ 1-2 คน ราคา 200 บาท พักได้ 5 คน ราคา 250 บาท ในกรณีที่นักท่องเที่ยวนำเต็นท์มาเองเสียค่าอาบน้ำคนละ 20 บาท
• สอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา 80 หมู่ 1 ตำบลเกาะปันหยี อำเภอเมือง จังหวัดพังงา 82000 โทร. 0 7641 1136, 0 7641 2188 หรือส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเล กรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. 0 2561 2920-1


ลักษณะ
จังหวัดชุมพรเป็นที่สูงมีเทือกเขาตะนาวศรีลาดเทจากทิศตะวันตกสู่พื้นที่ต่ำทางทิศตะวันออก จึงประกอบด้วยภูเขาหินปูนตลอดแนวทิศตะวันตก และเป็นแหล่งแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง แร่หินอุตสาหกรรมที่ได้จากการระเบิดภูเขาหินเป็นหินประเภทหินปูน (Limstone) จัดเป็นหินชั้นหรือหินตะกอน ประกอบด้วยแคลเซี่ยมคาร์บอนเนต (CACO2) เป็นส่วนใหญ่เพราะเกิดจากการตกตะกอนของซากดึกดำบรรพ์ (Fossils) ของพวก ซากหอยต่าง ๆ ปะการัง สาหร่ายทะเล ซากสัตว์ที่มีโครงกระดูกทับถมกันเป็นเวลาหลายร้อยปี
แหล่งที่พบ
ภูเขาที่ใช้เป็นแหล่งหินอุตสาหกรรมมีในท้องที่เขตอำเภอท่าแซะ อำเภอหลังสวน อำเภอเมือง และอำเภอละแม
ความสัมพันธ์กับชุมชน
ภูเขาหินปูนที่ได้รับสัมปทานให้ระเบิดหินเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ส่งผลให้มีการจ้างงานในท้องถิ่น เพราะต้องใช้แรงงานในการวางระเบิด การขับรถบรรทุกหินลำเลียงเข้าโรงโม่ และบุคลากรที่ทำงานในโรงโม่หิน แต่ส่งผลกระทบกับชุมชนในด้านต่าง ๆ เช่น
1. ทำให้เกิดโรคฝุ่นหินกับผู้อาศัยในบริเวณใกล้เคียง
2. ทำลายผิวถนนให้ชำรุดอย่างรวดเร็วเนื่องจากไม่สามารถรับน้ำหนักของการบรรทุกหินที่เกินขนาดมาตรฐานได้
3. ทำให้อาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหายจากแรงสะเทือนของการระเบิดหิน
4. ก่อให้เกิดมลพิษสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อการเกษตร เนื่องจากผงฝุ่นของหินปลิวจับใบไม้ของพืชเศรษฐกิจต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่และไม่สามารถออกดอก/ผล เพื่อให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตได้
ความสำคัญทางเศรษฐกิจ
แร่หินที่ได้จะมีการแปรรูปเป็นหินที่ใช้สำหรับก่อสร้างประเภทต่าง ๆ และเป็นส่วนสำคัญในการผลิตปูนซิเมนต์เพื่อใช้ในงานคอนกรีต รวมทั้งใช้สร้างถนนและอุตสาหกรรมก่อสร้างทุกประเภท

วนอุทยานน้ำตกกะเปาะ อยู่ในตำบลสลุย ห่างจากอำเภอท่าแซะ ตามทางหลวงสายเพชรเกษม ประมาณ 13 กิโลเมตร ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 466-468 หรือจากสี่แยกปฐมพรไปตามถนนเพชรเกษม ประมาณ 30 กิโลเมตร อยู่ริมถนนทางขวามือก่อนถึงตัวเมืองชุมพร วนอุทยานแห่งนี้มีเนื้อที่ประมาณ 7,010 ไร่ มีบรรยากาศเป็นส่วนป่าร่มรื่น ในบริเวณนี้มีน้ำตกขนาดเล็กที่มีน้ำไหลตลอดปี เหมาะแก่การพักผ่อน
ศาลพ่อตาหินช้าง ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลสลุย อยู่ริมเชิงเขาติดกับถนนเพชรเกษมกิโลเมตรที่ 453 เป็นที่ประดิษฐานหินรูปช้างอันศักดิ์สิทธิ์เป้นที่เคารพสักการะของผู้เดินทาง
วัดเทพเจริญ (ถ้ำรับรอ) ตั้งอยู่ตำบลท่าข้าม จากถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) กิโลเมตรที่ 490 มีทางแยกซ้ายไปประมาณ 4 กิโลเมตร วัดเทพเจริญ ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี 2479 วัดตั้งอยู่เชิงเขารับร่อ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณอุทุมพร อันเป็นเมืองท่ารักษาด่านทางข้ามคอคอดมลายู มีการสร้างพระพุทธรูปหลวงปู่หลักเมืองไว้ในถ้ำ และพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย 577 องค์ ถัดมาคือถ้ำอ้ายเตย์สภาพภายในถูกดัดแปลงเพื่อใช้เป็นสถานที่วิปัสสนากรรมฐานมีภาพเขียนสีพระพุทธรูปปางไสยาสน์อยู่บนผนังถ้ำ คาดว่าเป็นศิลปะสมัยอยุธยา แต่ยังวาดไม่เสร็จ และมีถ้ำไทร ซึ่งเดิมเป็นที่พำนักของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่คราวสร้างศาลหลักเมืองงดงามด้วยหินงอกหินย้อย บริเวณศาลาราษฎร์สามัคคีเป็นที่ตั้งสังขารของหลวงปู่ไสย ซึ่งมรณภาพแล้วแต่ร่างกายไม่เน่าเปื่อย และมีรอยพระพุทธบาทหินทรายสลักภาพลายมงคล 108 ประการ ขอบสลักภาพการตั้งถิ่นฐานของชนกลุ่มน้อย นอกจาก นั้นยังมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่รวบรวมโบราณวัตถุที่พบในบริเวณวัด และมีการแกะตัวหนังตะลุงลวดลายงดงาม โดยมีฝีมือ คุณลุงเว้น จิตต์ธารา สนใจสอบถามรายละเอียด โทร.0-7754-7056

อำเภอละแม
บ่อน้ำพุร้อน ถ้ำเขาพลู ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลสวนแตง จากถนนเพชรเกษมแยกซ้ายกิโลเมตรที่ 92 ไปบ้านดวดประมาณ 700 เมตร บริเวณเชิงเขามีบ่อน้ำพุร้อนจำนวน 3 บ่อ แวดล้อมด้วยป่าทึบ แต่ละบ่อมีน้ำร้อนผุดจากผิวดินน้ำร้อนพอประมาณสามารถล้างหน้าและเช็ดตัวได้ ระหว่างทางไปบ่อมีการจัดทำเส้นทางปูลาดด้วยหินกลมมน ผ่านป่าสละและป่าหวายก็จะมี สัตว์ต่างๆ ให้พบเห็น เช่น กระรอก นกสวยงามหลายชนิด ลิงกับฝูงใหญ่ที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้
หาดตะวันฉาย เป็นชายหาดกว้าง ยาวขนานไปกับทิวมะพร้าว เหมาะสำหรับการพักผ่อนและชมวิถีชีวิตชาวประมง นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางโดยรถยนต์จากถนนเพชรเกษมถึงสี่แยกอำเภอละแม แยกซ้ายไปอีกประมาณ 7 กิโลเมตร

หนองใหญ่ เป็นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดชุมพร อยู่ริมถนนสายชุมพร-อ่าวทุ่งวัวแล่น ถึงชลประทานจังหวัดชุมพร แล้วแยกขวาใช้เส้นทางเลียบคลองหัววัง-พนังตัก จนถึงที่ทำการโครงการ ในพื้นที่ 3,000 ไร่ ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีไม้ยืนต้นปลูกเป็นแนวรอบอ่างเก็บน้ำ บรรยากาศเงียบสงบร่มรื่น ริมอ่างเก็บน้ำเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีนกทุ่งอาศัยอยู่หลายชนิด เหมาะแก่การศึกษาชีวิตนกและระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำ
หาดทุ่งวัวแล่น เป็นชายหาดที่สวยงามขึ้นชื่อของอำเภอปะทิว ตั้งอยู่ที่ตำบลสะพลี ห่างจากตัวจังหวัดชุมพร ไปตามถนนสายชุมพร-หาดทุ่งวัวแล่น ระยะทาง 16 กิโลเมตร เป็นชายหาดที่มีเม็ดทรายสีขาวนวลละเอียดทอดตัวยาวสุดสายตา ลักษณะเป็นชายหาดน้ำตื้นค่อยๆ ลาดเอียงลงทีละน้อย เหมาะแก่การเล่นน้ำเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ส่วนทางด้านใต้ของหาดติดภูเขาจะเป็นหาดที่มีหินอยู่มากมาย
หาดถ้ำธง-บางเบิด ตำบลปากคลอง จากอำเภอเมืองใช้เส้นทางถนนเพชรเกษม แยกขวากิโลเมตรที่ 426 เข้าไป 21 กิโลเมตร หาดทรายสวยงดงามทอดยาวกว่า 5 กิโลเมตรจดเทือกเขาหินปูนรูปทรงแปลกตาและหมู่บ้านชายทะเล ขนาบด้วยถนนเลียบชายหาดและทิวสนตลอดเส้นทาง เหมาะสำหรับขับรถหรือปั่นจักรยานเที่ยวทะเล ชายหาดทอดยาวไปถึงบางเบิด ในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งโครงการส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เขตอนุรักษ์สัตว์ป่าถ้ำเขาพลู จากตัวเมืองตามทางหลวงหมายเลข 3253 ห่างจากที่ว่าการอำเภอปะทิวประมาณ 3 กิโลเมตร ลักษณะเป็นเทือกเขาหินปูนทอดยาวขนานไปกับถนนรูปทรงสวยงามเป็นแหล่งอาศัยของค่างแว่นถิ่นใต้ ซึ่งแต่ละฝูงจะลงมาหากินอาหารบริเวณเชิงเขาริมถนนในเวลาเย็น
อ่าวบ่อเมา (อ่าวบ่อมูล) เป็นอ่าวกว้างชายหาดยาวริมทะเลเป็นทิวสนมีชาวประมงอาศัยอยู่ จากอ่าวบ่อเมานักท่องเที่ยวสามารถเช่าเรือไป เกาะไข่ อยู่ห่างจากหาดบ่อเมาประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นเกาะขนาดเล็กที่มีหาดทรายสั้นๆ รอบเกาะ สามารถดำผิวน้ำดูปะการังได้ รอบๆ เกาะมีปลาชุกชุม จึงเป็นจุดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวนิยมตกปลา สอบถามรายละเอียดได้ที่ ที่ทำการชมรม สำนักงานหินกบการเกษตร (หน้าสำนักสงฆ์หินกบ) โทร.0-1968-9394 หรือเช่าเรือชาวบ้านได้บริเวณนั้น
หาดสะพลี ตั้งอยู่ที่ หมู่ 4 ตำบลสะพลี (บริเวณอ่าวสะพลี)อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอปะทิว ไปทางใต้ประมาณ 16 กิโลเมตร หรืออยู่ห่างจากตัวเมืองชุมพร ไปตามถนนลาดยางสายชุมพร-สะพลี ประมาณ 18 กิโลเมตร หาดสะพลี เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวประมงชื่อ บ้านเสม็ด เป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงในการทำกะปิและน้ำปลา นักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้ออาหารทะเลตากแห้งได้ที่นี่

ประวัติความเป็นมา
ในระหว่าง วันที่ 23 กรกฎาคม – 20 สิงหาคม 2536 กรมป่าไม้ โดยส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ออกไปดำเนินการสำรวจเบื้องต้นในท้องที่ตำบลน้ำจืด ตำบลมะมุ ตำบลปากจั่น และตำบลลำเลียง อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง และตำบลบ้านนา อำเภอเมือง ตำบลวิสัยใต้ ตำบลครน ตำบลทุ่งระยะ และตำบลเขาทะลุ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร เนื้อที่ประมาณ 211,650 ไร่ (338.64 ตารางกิโลเมตร) ผลการสำรวจ เจ้าหน้าที่มีความเห็นว่ามีพื้นที่เหมาะสมที่จะประกาศให้เป็น “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุ่งระยะ – นาสัก”
วันที่ 10 กรกฎาคม 2539 ประกาศจัดตั้งเป็น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งระยะ – นาสัก ตามพระราชกฤษฎีกาในราชกิจจานุเบกษาครอบคลุมพื้นที่รอยต่อ 2 จังหวัด คือ จังหวัดระนอง และจังหวัดชุมพร
สถานที่ตั้งและอาณาเขต
ทิศเหนือ จรดคลองกุ่ม คลองง่อม คลองหินใส ท้องที่ตำบลวิสัยเหนือ ตำบลทุ่งคา ตำบลบ้านนา อำเภอเมืองจังหวัดชุมพร คลองวัน ท้องที่ตำบลมะมุ อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง
ทิศใต้ จรดอุทยานแห่งชาติ กระบุรี อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง
ทิศตะวันออก จรดคลองพลึง คลองวิสัย ท้องที่ตำบลวิสัยใต้ คลองน้ำลอด คลองน้ำลอดน้อย ตำบลทุ่งระยะ ตำบลนาสัก อำเภอสวี จังหวัดชุมพร
ทิศตะวันตก จรดคลองพรุใหญ่ คลองกระบุรี ตำบลน้ำจืดน้อย คลองบางบอน คลองบางนา คลองลำเลียง คลองแพรกดาด ตำบลลำเลียง อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง
ภูมิประเทศ
พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งระยะนาสักและนาสัก เนื้อที่ประมาณ 211,650 ไร่ หรือประมาณ 338.64 ตารางกิโลเมตร อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 4 ป่า คือ
1. ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าทุ่งระยะและป่านาสัก ตำบลวิสัยใต้ ตำบลครน ตำบลทุ่งระยะ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร
2. ป่าสงวนแห่งชาติป่าเสียบญวน และป่าท่าสาร ตำบลบ้านนา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร
3. ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าน้ำจืด ป่ามะมุ และป่าปากจั่น ท้องที่ตำบลน้ำจืด ตำบลมะมุ ตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง
4. ป่าสงวนแห่งชาติป่าลำเลียง ท้องที่ตำบลลำเลียง อำเภอลำเลียง อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง
ภูมิอากาศ
สภาพอากาศอยู่ในเขตมรสุมเขตร้อนซึ่งมีอากาศชุ่มชื้นฤดูฝน เริ่มเดือนพฤษภาคม - ตุลาคม ซึ่งเป็นอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนในช่วงที่มีฝนตกน้อย คือ ช่วงเดือนธันวาคม – เมษายน โดยได้รับอิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ
ป่าไม้
เป็นป่าดิบชื้น ดินมีความอุดมสมบูรณ์มีพรรณไม้นานาชนิด ได้แก่ ตะเคียนทอง สมอพิเภก แซะก่อ ตะเคียนทราย ตะเคียนซวย ช้างแหก มะปริง ดำดง เสียดค่าง อินทนิล เสียดช่อ ส้าน หลุมพอ ตะเคียนหิน เม่าเหล็ก ตะแบกใหญ่ สาเสือ ไข่เขียว หรือโดแหลม ยางนา กระบาก ยูง คอแห้ง กะเบียด สังธรรม จิกเขา สุเหรียญ มังดะ พรมคต สะแกแสง ซิบ กฤษณา กาสาย เลือดควาย ตุ่งกิ่ง สะตอป่า ลางสาด เขาสมพง จำปา นนทรี มะม่วงป่า รักเขา ทัง เทพท่าโร เตยนะ ค่างเต้น ตะโกลน ขี้หนอน และแคยอดคำ
สำหรับพรรณไม้ที่เป็นอาหารของสัตว์ป่า ได้แก่ ไทร มะเดื่อ กระท้อนป่า พะเนียง มะกอกป่า หว้า ขนุนป่า ไผ่ผาก ระกำ และหวาย
ไม้พื้นล่างต่าง ๆ หลายชนิด เช่น เฟิร์น กล้วยไม้ ปาล์ม และพุดป่า
สัตว์ป่า
เนื่องจากสภาพป่าเป็นป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าอยู่มากมาย เช่น เลียงผา หมีคน กวางป่า อีเก้ง หมีขอ กระทิง วัวแดง สมเสร็จ เสือ อีเห็น หมูป่า แมวดาว เสือปลา และนกชนิดต่าง ๆ เท่าที่สำรวจพบมี นกเปล้า นกตบยูง และนกกวักลิ่น สัตว์เลื้อยคลานชนิดที่สำคัญ ได้แก่ตะกวด เห่าช้าง เหี้ย ตะพาบน้ำ งูชนิดต่าง ๆ เช่น งูเขียวต่าง ๆ เช่น งูเขียวหางไหม้ งูกะปะ งูสายพราน งูเหลือม งูเขียว และงูจงอาง เป็นต้น
จุดเด่นที่น่าสนใจ
น้ำตกบกทราย อยู่ปลายคลองบางบอน หมู่ที่ 8 ตำบลน้ำจืด อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง เส้นทางเข้าน้ำตกเป็น เส้นทางลาดยาง จากถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) เข้าถึงน้ำตกระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร
น้ำตกธารทิพย์ (แบกลาย) ท้องที่หมู่ที่ 9 ตำบลครน อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ไม่มีเส้นทางเข้าออกต้องเดินทางไปตามทางด่านตรวจสัตว์ป่าจึงจะไปถึงน้ำตกได้
น้ำตกชุมแสง ตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง เป็นเส้นทางลูกรังจากถนน เพชรเกษม เข้าถึงน้ำตกระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร
น้ำตกบางใหญ่ ตำบลลำเลียง อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง เป็นเส้นทางลูกรังเข้าสู่น้ำตกระยะทาง ประมาณ 3 กิโลเมตร
น้ำตกตาดโตน หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านนา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร
การเดินทาง
ระยะทางจากกรุงเทพฯ ไปยังที่ทำการ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งระยะและนาสัก ระยะทางประมาณ 585 กิโลเมตร เดินทางตามถนนสายเอเชีย แล้วเลี้ยวขวาสี่แยกปฐมพร เดินทางต่ออีกประมาณ 70 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการเขตบริเวณน้ำตกบกทราย ในท้องที่ หมู่ที่ 8 ตำบลบางน้ำจืด อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ระหว่างกิโลเมตรที่ 556 – 557 ทางเข้าหน่วยงานเป็นเส้นทางลาดยาง ระยะทางห่างจากเพชรเกษม ประมาณ 10 กิโลเมตร
สถานที่ติดต่อ
ตู้ปณ.4 ตำบลบางน้ำจืด อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง 85110 โทรศัพท์ (077) 841319 , (077 )811267


มหาสารคาม เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีบรรยากาศเต็มไปด้วยความสงบ และเป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้ชื่อว่าเป็น “ตักศิลาแห่งอีสาน” เนื่องจากมีสถาบันการศึกษาอยู่มากมายหลายแห่ง อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 475 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 5,291 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 11 อำเภอ และ 2 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองมหาสารคาม กันทรวิชัย โกสุมพิสัย วาปีปทุม บรบือ พยัคฆภูมิพิสัย นาเชือก เชียงยืน นาดูน แกดำ ยางสีสุราช กิ่งอำเภอกุดรังและกิ่งอำเภอชื่นชม
อาณาเขต
• ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดกาฬสินธุ์
• ทิศใต้ ติดกับจังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดบุรีรัมย์
• ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดร้อยเอ็ด
• ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดขอนแก่น
การเดินทาง
• รถยนต์ จากกรุงเทพฯเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) แล้วต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ที่จังหวัดสระบุรี ผ่านจังหวัดนครราชสีมา (ทางหลวงหมายเลข 226) เข้าจังหวัดบุรีรัมย์(ทางหลวงหมายเลข 219) ผ่านอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย อำเภอบรบือ เข้าสู่จังหวัดมหาสารคาม รวมระยะทางประมาณ 475 กิโลเมตร
• รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด มีรถโดยสารประจำทางทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศบริการวันละหลายเที่ยว รายละเอียดสอบถามได้ที่สถานีเดินรถสายตะวันออกเฉียงเหนือ หมอชิต 2 โทร. 936-2852-66 สำหรับบริษัทเดินรถเอกชนที่วิ่งบริการไปจังหวัดมหาสารคามคือ มงคลทัวร์ โทร. (043) 711072 กรุงเทพฯ โทร. 936-3638-9
• สำหรับผู้ที่เดินทางโดยรถไฟ หรือเครื่องบิน จะต้องลงที่จังหวัดขอนแก่น แล้วต่อรถยนต์มาจังหวัดมหาสารคามอีกประมาณ 72 กิโลเมตร
ระยะทางจากตัวเมืองไปยังอำเภอและกิ่งอำเภอต่างๆ
อำเภอกันทรวิชัย 18 กิโลเมตร
อำเภอบรบือ 26 กิโลเมตร
อำเภอโกสุมพิสัย 28 กิโลเมตร
อำเภอแกดำ 28 กิโลเมตร
อำเภอวาปีปทุม 40 กิโลเมตร
อำเภอเชียงยืน 55 กิโลเมตร
อำเภอนาเชือก 58 กิโลเมตร
อำเภอนาดูน 64 กิโลเมตร
อำเภอยางสีสุราช 70 กิโลเมตร
อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย 82 กิโลเมตร
กิ่งอำเภอกุดรัง 70 กิโลเมตร
กิ่งอำเภอชื่นชม 40 กิโลเมตร


อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาพระวิหาร มีเนื้อที่ประมาณ 130 ตารางกิโลเมตรครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัดคือ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และกิ่งอำเภอน้ำขุ่น กับอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานีได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 83 ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2541 สภาพภูมิประเทศทั่วไปส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาตามแนวทิวเขาพนมดงรักกั้นชายแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่ปกคลุมด้วยป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมากที่อาศัยหากินข้ามไปมาในผืนป่าระหว่างสองประเทศได้แก่ หมูป่า กวาง เก้ง กระต่าย กระรอก ชะนี ชะมด เป็นต้น อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารยังมีแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมที่น่าสนใจ ดังนี้
ผามออีแดง ตั้งอยู่ที่ชายแดนไทย กัมพูชา เป็นหน้าผาหินสีแดงที่มีทัศนียภาพกว้างไกลสุดตาและจากจุดนี้นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นปราสาทเขาพระวิหารได้ นับเป็นจุดชมวิวในมุมสูงที่สวยงามแห่งหนึ่งในภาคอีสาน
ภาพสลักนูนต่ำ อยู่ทางทิศใต้ของผามออีแดง มีบันไดให้ลงไปชมได้สะดวก เป็นภาพเทพสามองค์ เชื่อว่าเป็นที่ซ้อมมือของช่างในการแกะสลักก่อนเริ่มการแกะสลักจริงที่ปราสาทเขาพระวิหาร
สถูปคู่ ชาวบ้านเรียกว่าพระธาตุ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของผามออีแดง ตัวสถูปทำจากหินทรายตัดเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ด้านบนกลมมนตั้งอยู่คู่กัน ข้างในเป็นโพรงบรรจุสิ่งของ เชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ของสมัยนั้น
ปราสาทโดนตวล สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 อยู่บริเวณบ้านภูมิซรอล เป็นปราสาทหินแบบขอม ตั้งอยู่ในเขตประเทศไทยห่างจากหน้าผาชายแดนไทย-กัมพูชา ประมาณ 300 เมตร มีตำนานเล่าว่านามนมใหญ๋ (เนียงเดาะทม) ได้แวะพักที่แห่งนี้ในขณะที่เดินทางไปเฝ้ากษัตริย์พระองค์หนึ่ง
น้ำตกและถ้ำขุนศรี น้ำตกอยู่เหนือถ้ำขุนศรีสูง 3 ชั้น ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของสระตราวใกล้เส้นทางเดินขึ้นปราสาทเขาพระวิหาร ส่วนถ้ำขุนศรีภายในมีขนาดกว้างเชื่อกันว่าเป็นที่พักของขุนศรี ขณะมาควบคุมการตัดหินบริเวณสระตราวเพื่อใช้สร้างปราสาทเขาพระวิหาร
เขื่อนห้วยขนุน เป็นอ่างเก็บน้ำชลประทานและเป็นที่ตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ เขื่อนห้วยขนุน ห่างจากที่ทำการอุทยานฯประมาณ 15 กิโลเมตร มีทิวทัศน์สวยงามเหมาะแก่การ พักผ่อนเที่ยวชมธรรมชาติ และเข้าค่ายกางเต็นท์พักแรม
เส้นทางศึกษาธรรมชาติกล้วยไม้เขาพระวิหาร ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีกล้วยไม้หลากหลายชนิด นอกจากนี้ยังมีพืชสมุนไพรมากมายเหมาะแก่การศึกษาหาความรู้
ช่องอานม้า เป็นจุดผ่อนปรนในการค้าขายและผ่านแดนระหว่างไทย-กัมพูชา อยู่ที่ตำบลโซง อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเฉพาะวันอังคารและวันพฤหัสบดี
การเดินทาง จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ถึงสระบุรีเลี้ยวขวาสู่ทางหลวง หมายเลข 2 (มิตรภาพ) ก่อนถึงอำเภอสีคิ้วเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 24 ผ่านอำเภอปักธงชัย อำเภอสังขะ และอำเภอขุขันธ์ ถึงสี่แยกตัดกับทางหลวงหมายเลข 221 เลี้ยวขวาเข้าสู่อำเภอกันทรลักษ์ แล้วต่อไปยังที่ทำการอุทยานฯ หรือ จากจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ทางหลวงหมายเลข 2178 และ 221 ผ่านอำเภอวารินชำราบ อำเภอสำโรง อำเภอ เบญจลักษ์ และอำเภอกันทรลักษ์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่พักและสถานที่กางเต็นท์ได้ที่ศูนย์บริการ นักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร 0 9522 4265 หรือ ส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 0 2579 7223 , 0 2579 5734
ปราสาทเขาพระวิหาร อยู่ห่างจากอำเภอกันทรลักษ์ ประมาณ 35 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรักในเขตประเทศกัมพูชา บริเวณที่ติดกับผามออีแดงของประเทศไทย ตัวปราสาทหันหน้ามาทางด้านที่ติดกับประเทศไทย ปราสาทเขาพระวิหารเดิมอยู่ในความ ปกครองดูแลของไทย กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2483 และหลังจากการตัดสินของศาลโลก ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 เป็นต้นมาได้เปลี่ยนไปอยู่ภายใต้การปกครองดูแลของประเทศกัมพูชาสืบมาจนถึงปัจจุบัน สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการเปิดให้เข้าชมปราสาทเขาพระวิหารได้ที่ประชาสัมพันธ์จังหวัดศรีสะเกษ โทร. 0 4561 2545
การเข้าชมปราสาทเขาพระวิหาร นักท่องเที่ยวสามารถสามารถเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารที่อยู่ในเขตแดนไทย โดยคนไทยเสียค่าธรรมเนียมการเข้าอุทยานคนละ 20 บาท ชาวต่างประเทศ 200 บาท และ ค่าผ่านแดนออกนอกประเทศคนละ 5 บาท เมื่อจะเข้าชมปราสาทเขาพระวิหาร กัมพูชาเก็บค่าธรรมเนียมชาวไทยคนละ 50 บาท ชาวต่างประเทศคนละ 200 บาท
น้ำตกภูละออ เป็นน้ำตกขนาดเล็กจะสวยงามในช่วงเดือนกันยายน-กุมภาพันธ์ ทางเดินท้าวจากบริเวณลานจอดรถถึงน้ำตกในระยะทางไป-กลับประมาณ 4 กิโลเมตร ได้รับ การพัฒนาให้เป็นเส้นทางที่ให้ความรู้เรื่องพืชพันธุ์และสภาพภูมิประเทศ ซึ่งเหมาะแก่ การท่องเที่ยวในลักษณะเดินป่าศึกษาธรรมชาติ

เทศกาลและงานประเพณี
งานเทศกาลดอกลำดวน จัดขึ้นเป็นประจำระหว่างวันที่ 15–17 มีนาคมของทุกปี ณ สวนสมเด็จศรีนครินทร์ เป็นช่วงที่ดอกลำดวนในสวนกำลังบาน ภายในงานประกอบด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านสี่เผ่า คือ เขมร ส่วย ลาว เยอ การออกร้านจำหน่ายสินค้าหัตถกรรม สินค้าพื้นเมือง การแสดงละครประกอบแสงเสียงตำนานการสร้างเมือง
งานเทศกาลเงาะทุเรียนศรีสะเกษ จัดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอกันทรลักษ์ หรืออำเภอขุนหาญ โดยจะจัดสลับกันแห่งละปี ภายในจะมีกิจกรรมมากมาย เช่น การออกร้านจำหน่ายพืชผักผลไม้ศรีสะเกษนานาชนิด เช่น เงาะ ทุเรียน ลองกอง มังคุด สะตอ ยางพารา เป็นต้น การจัดขบวนแห่รถประดับด้วยผลไม้ การจัดนิทรรศการทางวิชาการ และการจัดกิจกรรมคาราวานชมสวนชิมผลไม้ศรีสะเกษ
การแข่งขันวิ่งฮาล์ฟและควอเตอร์มาราธอนสู่ผามออีแดง จัดขึ้นในวันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนสิงหาคมของทุกปี บนเส้นทางขึ้นสู่เขาพระวิหาร ระหว่างหมู่บ้านภูมิซรอล-ผามออีแดง อำเภอกันทรลักษ์ เนื่องจากเป็นเส้นทางขึ้นเขาสู่ชายแดนที่ต้องวิ่งฝ่าสายหมอกในช่วงปลายฤดูฝน จึงนับเป็นเส้นทางที่ท้าทายและเป็นสนามประลองกำลังที่นักกีฬาวิ่งมาราธอนให้ความสนใจมากอีกแห่งหนึ่ง
สินค้าที่ระลึก ได้แก่ ผ้าไหม และผ้าฝ้ายลายขิต ทอกันมากที่อำเภอบึงบูรพ์และอุทุมพรพิสัย สินค้าหัตถกรรม เช่น ครุน้อย เกวียนน้อย รวมทั้งตะกรัาและกระเป๋าจักสาน ซึ่งทำด้วยฝีมืออันประณีต หาซื้อได้บริเวณถนนราชการรถไฟ นอกจากนี้ยังมีสินค้าประเภทอาหาร เช่น ไข่เค็มอำเภอไพรบึง หอมแดง กระเทียม และกระเทียมโทนดองน้ำผึ้งคุณภาพดี ที่หาซื้อได้ทั่วไป

โรคกาฬโรคเป็นโรคติดต่อเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Yersinia pestis เกิดจากหมัดหนูที่มีเชื้อกัด เมื่อมีการระบาดของโรคหนูจะตายก่อน หมัดหนูจะกระโดดมายังสัตว์อื่น และกัดทำให้เกิดโรคขึ้นมา การดูแลเรื่องความสะอาด และควบคุมการแพร่พันธ์ของหนูทำให้โรคนี้มีการระบาดน้อยลง


ในอดีตที่ผ่านมามีการระบาดใหญ่ของกาฬโรคสามครั้งที่ตะวันออกกลางถึงเมอร์ดิเตอร์เรเนียนในช่วงปีศตวรรษที่5-6 ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณร้อยละ 50 ครั้งที่สองระบาดที่ยุโรปศตวรรษที่8-14 มีผู้เสียชีวิตร้อยละ 40 ครั้งสุดท้ายระบาดที่ประเทศจีนปี 1855

อาการของโรคกาฬโรคเป็นอย่างไร



โรคกาฬโรคแบ่งออกตามกลุ่มอาการได้สามแบบคือ

Bubonic plague เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด อาการจะแสดงออกหลังจากถูกหมัดหนูกัดแล้ว 2-8 วัน เชื้อโรคจะเคลื่อนไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ใกล้ที่สุด จะทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตขนาด 1-10 ซม ลักษณะต่อมน้ำเหลืองจะ บวม แดง กดเจ็บ ซึ่งอาจจะปวดมากจนขยับแขนหรือขาไม่ได้ ตำแหน่งที่เกิดมักจะเป็นบริเวณขาหนีบ หรือรักแร้อาการที่สำคัญได้แก่
ต่อมน้ำเหลืองโต กดเจ็บ แดง
ไข้สูงหนาวสั่น
ปวดศีรษะ
ปวดกล้ามเนื้อ
Septicemic plague เป็นชนิดที่เชื้อเข้ากระแสเลือด ภาวะนี้มักจะเป็นโรคแทรกซ้อนจากชนิดต่อมน้ำเหลืองอักเสบ อาการที่สำคัญได้แก่
ไข้สูง หนาวสั่น
ปวดท้อง คลื่นไส้ และท้องเสีย
เลือดออกในปาก จมูก ก้น
เกิดภาวะช็อก shock
มักจะมีการเน่าของนิ้วที่เกิดจากการขาดเลือด
Pneumonic plague เป็นชนิดที่พบได้น้อยที่สุด เกิดจากการที่เราสูดเอาเชื้อที่อยู่ในอากาศ เป็นชนิดที่รุนแรงและอาจจะเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว อาการที่สำคัญ
ไข้สูง
อ่อนแรง
ไอ มีเสมหะ เหนื่อย เจ็บหน้าอก
คลื่นไส้อาเจียน
การรักษา

เมื่อสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้จะต้องแยกผู้ป่วยออกจากคนอื่น และแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้ทราบ
รีบทำการเพาะเชื้อจากเลือด และหนองที่ต่อมน้ำเหลือง
ให้ยาปฏิชีวนะก่อนที่จะทราบผลเพาะเชื้อ
สำหรับผู้ที่สำผัสกับผู้ป่วยจะต้องกักตัวไว้สังเกตอาการ และให้ยาปฏิชีวนะป้องกัน

เมื่อไรจะสงสัยว่าเป็นโรคกาฬโรค

สัมผัสกับสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระต่าย กระรอก แมวที่คิดว่าเสียชีวิตจากโรคนี้
ถูกหมัดหนุกัด
อยู่ในพื้นที่มีการระบาดของโรค
สัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ หรือคนที่ป่วยเป็นกาฬโรคปอด
ท่องเที่ยวไปในพื้นที่ที่มีการระบาด
สาเหตุของโรค

เกิดจากหมัดหนู ที่มีเชื้อโรคนี้กัดและปล่อยเชื้อเข้าสู่ผู้ที่ถูกกัด

การติดต่อ

เชื้อนี้สามารถแพร่จากสัตว์ไปสู่สัตว์ หรือจากสัตว์ไปสู่คนได้โดยการติดต่อโดยการที่หมัดหนูมีเชื้อโรคกัดคน อ่านที่นี่ นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อทางหายใจจากคนหรือสัตว์ที่ป่วยเป็นกาฬโรคปอด

ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ

การระบาดมักจะเกิดในที่แออัด และสุขอนามัยไม่ดี มีหนู้หรือขยะมาก
มักจะระบาดในช่วงพฤษภาคมถึงตุลาคมเนื่องจากหนูในช่วงนี้จะขยันออกหาอาหาร และคนออกนอกบ้านกันมาก
การสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นโรค เช่น หนู กระแต กระรอก หรือแมว
โรคแทรกซ้อนที่สำคัญ

นิ้วมือนิ้วเท้าเน่าจากการขาดเลือดเนื่องจากลิ่มเลือดอุดตัน คลิกที่นี่
เกิดภาวะช็อกอย่ารุนแรง
เกิดปอดบวมและหายใจล้มเหลว
เกิดโลหิตเป็นพิษ
เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
เสียชีวิต
การรักษา

หากแพทย์สงสัยว่าคุณเป็นกาฬโรคแพทย์จะรับตัวไว้ในห้องแยกโรค และให้ยาปฏิชีวนะอย่างแรงประมาณ 7- 10 วัน

การป้องกัน

โรคนี้ไม่มีวัคซีน แต่การให้ยาสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ หากคุณมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคดังนี้

ใกล้ชิดกับคนป่วยหรือสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคนี้
ถูกหมัดกัดในพื้นที่มีการระบาดของโรค
เมื่อคุณเดินทางเข้าหล่งระบาด
การป้องกันอื่นๆ

การปรับสิ่งแวดล้อม

การปรับปรุงสิ่งแวดล้อมจะช่วยไม่ให้คนถูกหมัดหนูกัด การปรับที่สำคัญได้แก่

มีแหล่งที่ทิ้งขยะและมีฝาปิดมิดชิด และมีระบบทำลายขยะ ไม่มีการกองขยะซึ่งเป็นแหล่งอาหารของหนู
หนูมักจะพักตามตลาดสด จะต้องไม่ทิ้งขยะ และกำจัดแหล่งที่พักของหนู
ไม่สัมผัสสัตว์ป่วยหรือสัตว์ตาย หากจำเป็นให้สวมถุงมือยาว
กำจัดหนู กำจัดแหน่งที่พักของหนู ทิ้งขยะให้เรียบร้อย
หากมีสัตว์เลี้ยงต้องใช้ยาฆ่าหมัดเป็นระยะ
ระวังเด็ก หรือผู้ใหญ่เมื่อออกนอกบ้านโดยเฉพาะในแหล่งที่มีการระบาดไม่ใกล้ชิดกับสัตว์ฟันแทะทั้งหลาย และทายากันหวัด
การให้ความรู้ประชาชน

ชุมชนต้องร่วมมือในระบบการดูแลสิ่งแวดล้อม กำจัดแหล่งอาหารและที่พักของหนูรอบบ้านหรือที่ทำงาน กำจัดพุ่มไม้ กองหิน กองฟืน อาหารของสัตว์เลี้ยงต้องเก็บให้ดี
เมื่อต้องเข้าไปในแหล่งระบาดให้ฉีดสารเมีป้องกันหมัดที่เสื้อ และสวมถุงมือเมื่อต้องสัมผัสสัตว์ตาย
หากท่านอาศัยในถิ่นระบาด สัตว์เลี้ยงของท่านต้องได้รับยาฆ่าหมัด
พ่นยาฆ่าหมัดหนูในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค
วิธีการจัดการกับอุจาระหรือรังหนู
ปล่อยให้อากาศถ่ายเทก่อนเข้าไปทำความสะอาด
ฉีดยาฆ่าหมัดหนูก่อนทำความสะอาด
เก็บขยะ ขี้หนูใส่ถงและนำไปทำลาย
ไม่กวาด หรือดูดฝุ่น ต้องทำให้บริเวณดังกล่าวชื้นเพื่อป้องกันการพุ้งกระจาย
ใส่ถุงมือขณะทำความสะอาด และล้างมือเมื่อเสร็จงาน


โรคชิคุนกุนยาเป็นโรคติดเชื้อไวรัสติดต่อโดยยุงลาย ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงและมีอาการปวดข้อ แต่มักจะไม่เสียชีวิต แต่อาการปวดข้ออาจจะต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะหาย มีอาการคล้ายไข้ เดงกี แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีการช็อก

ประวัติของโรคชิคุนกุนยา

ตัวเชื้อไวรัส
การติดต่อของเชื้อโรค
พบการระบาดโรคนี้ครั้งแรกในทวีปอัฟริกาที่ราบ Makonde Plateau ของประเทศ Tanzania. ซึ่งอยู่ระหว่างประเทศ Tanzania และ Mozambique และมีการระบาดที่ประเทศอินเดีย

เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรค

เกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (Chikungunya virus) ซึ่งเป็น RNA Virus จัดอยู่ใน genus alphavirus และ family Togaviridae เชื้อนี้เป็นชนิด single stranded RNA โดนทำลายโดยความร้อนที่อุณหภูมิ 58 องศา

พาหะนำโรค Vector

มียุงลาย Aedes aegypt เป็นพาหะนำโรคในเขตเมือง ส่วนชนิด Ae. albopictus เป็นพาหะนำโรคในเขตชนบท ยุงนี้จะวางไข่ในน้ำที่อยู่ใน้าง เช่นแจกัน นำระบายเครื่องปรับอากาศ ตุมน้ำ ถังน้ำ หรือแอ่งน้ำรอบบ้าน เช่น กระป๋อง กะลา ยางเก่า

วิธีการติดต่อ

โรคชิคุณกุนย่าเกิดจากไวรัสติดต่อถึงคนโดยการกัดของยุงลายที่มีเชื้อโรค ติดต่อกันได้โดยมียุงลาย Aedes aegypti เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ เมื่อยุงลายตัวเมียกัด และดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่ม จำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นเกิดอาการของโรคได้

ระยะฟักตัว

โดยทั่วไปประมาณ 1-12 วัน แต่ที่พบบ่อยประมาณ 2-3 วัน ระยะติดต่อ ระยะไข้สูงประมาณวันที่ 2 – 4 เป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก

อาการและอาการแสดง

ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกายและอาจมีอาการคัน ร่วมด้วย พบตาแดง (conjunctival injection) แต่ไม่ค่อยพบจุดเลือดออกในตาขาว ในผู้ใหญ่อาการที่เด่นชัดคืออาการปวดข้อ ซึ่งอาจพบข้ออักเสบได้ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาการปวดข้อจะพบได้หลายๆ ข้อเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ (migratory polyarthritis)อ่านที่นี่

การระบาดของโรคนี้

โรคชิคุนกุนยามักจะระบาดหลังฤดูมรสุมเนื่องจากจะมีพาหะชุกชุม มักจะระบาดในประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีคน ลิง กระรอก นกเป็นแหล่งแพร่โรค reservoir เกิดการระบาดครั้งใหญ่ที่ประเทศอินเดียทำให้เกิดความพิการกับผู้คนจำนวนมาก

ข้อแตกต่างระหว่างไข้เลือดออกและโรคชิคุณกันย่า

จะมีไข้สูงเหมือนกันแต่ไข้ชิคุณกันย่าจะใช้เวลาน้อยกว่า และมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า อ่านที่นี่ การรักษา ไม่มีการรักษาที่จำเพาะเจาะจง (specific treatment)

การป้องกันโรค

เนื่องจากยังไม่มียาหรือวัคซีนเฉพาะ ดังนั้นการป้องกันจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด โดยการหลีกเลี่ยงมิให้ยุงลายกัด อ่านที่นี่

การรักษา

เป็นการรักษาแบบประคับประคอง (supportive treatment) เช่นให้ยาลดอาการไข้ ปวดข้อ และการพักผ่อน 3


การหย่อนสมรรถภาพทางเพศหมายถึงภาวะที่อวัยวะเพศไม่สามารถแข็งตัวได้อย่างเพียงพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ บางคนอาจจะไม่แข็งตัว บางคนอาจจะหลั่งเร็ว บางคนอาจจะมีอาการปวดเวลาหลั่ง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงที่อวัยวะเพศไม่พอ อุบัติการณ์จะพบมากตามอายุกล่าวคือพบได้ร้อยละ 5 ในผู้ที่อายุน้อยกว่า 40 ปี สำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 40-70 ปีจะพบได้ร้อยละ 37.5โรคนี้สามารถรักษาได้หากพบปัญหาและรีบรักษา ผู้ที่มีปัญหานี้ไม่ต้องกังวลเพราะส่วนมากเป็นแค่ชั่วคราว หากเป็นถาวรแสดงว่าอาจจะมีปัญหาทางด้านจิตใจหรือทางร่างกาย เมื่ออายุมากขึ้นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงทางเพศสัมพันธ์คือ การแข็งตัวอาจจะต้องใช้เวลานานขึ้น และไม่แข็งเหมือนตอนหนุ่มๆ นอกจากนั้นอาจจะต้องใช้สิ่งเร้ามากกว่าปกติ เมื่อถึงจุดสุดยอดก็ไม่เหมือนเก่า น้ำอสุจิก็น้อยกว่าเก่า ภาวะนี้จะไม่ได้หมายถึงภาวะที่ความต้องการทางเพศลดลงหรือภาวะมีปัญหาในการหลั่ง

โครงสร้างของอวัยวะเพศ

อวัยวะเพศของผู้ชายประกอบไปด้วยท่อสามท่อเหมือนพองน้ำเรียกว่า corpus carvernosum สองท่อวิ่งขนานกับท่อปัสสาวะ อยู่ด้านบน และ corpus spongiosum 1 ท่อวิ่งอยู่ด้านล่าง เมื่ออ่อนตัวความยาวอยู่ประมาณ 8.8 ซม.เมื่อได้รับการกระตุ้นเลือดจะเข้าท่อฟองน้ำทำให้มันสามารถขยายได้มากถึง 7 เท่าทำให้อวัยวะเพศใหญ่ขึ้นและแข็งตัวขึ้นและมีความยาว 12.9 ซม.ตราบเท่าที่ยังมีการตื่นเต้นทางเพศอวัยวะเพศก็ยังแข็งตัว แต่เมื่อมีการหลั่งเลือดออกจากอวัยวะเพศทำให้มีการอ่อนตัว

กลไกการแข็งตัวของอวัยวะเพศ

การที่อวัยวะเพศจะแข็งตัวได้ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้

หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงอวัยวะเพศต้องไม่ตีบ เพราะการที่อวัยวะเพศจะแข็งตัวต้องมีเลือดไปคั่ง หากมีหลอดเลือดแดงแข็งเลือดก็ไม่สามารถไปเลี้ยงได้อย่างเต็มที่ ภาวะที่ทำให้หลอดเลือดแข็งได้แก่ ผู้ที่สูบบุหรี่ โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
ระบบประสาทส่วนปลายซึ่งเป็นระบบที่จะรับความรู้สึกที่เกิดจากการสัมผัสทางร่างกาย
ระบบไขสันหลังซึ่งเป็นระบบที่จะเชื่อมโยงการรับความรู้สึกจากประสาทส่วนปลายไปยังประสาทส่วนกลางและถ่ายทอดคำสั่งมายังองคชาติ
ระบบประสาทส่วนกลางซึ่งประกอบด้วยสิ่งเร้าทั้งหลาย เช่น การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น รวมทั้งจิตนาการณ์และประสบการณ์ในอดีต
จิตก็เป็นเรื่องสำคัญ
ใครที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้

สาเหตุของโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศมักจะมีหลายสาเหตุร่วมกัน หากมีหลายสาเหตุก็จะทำให้มีโอกาศเกิดมากขึ้น ปัจจัยที่เป็นสาเหตุได้แก่

อายุ พบว่าอายุมากก็พบโรคนี้ได้เพิ่มขึ้นโดยพบว่าผู้ที่มีอายุ 40-49,50-59,60-70 ปีจะพบ ED ได้ร้อยละ 20.4,46.3,73.4 ตามลำดับ
สังคมและเศรษฐกิจพบว่าผู้ที่มีรายได้สูง มีความรู้ อาชีพที่ดีจะมีปัญหา ED น้อยกว่าคนที่มีรายได้น้อย
โรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง โรคประจำตัวต้องเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นมานานพอควรเป็นโรคที่มีผลต่อหลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำ กล้ามเนื้อบริเวณอวัยวะเพศสามารถทำให้โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เช่นโรคเบาหวาน โรคไต โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคหลอดเลือดแดงแข็ง atherosclerosis โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศในกลุ่มนี้พบได้ร้อยละ 70 โรคที่สำคัญได้แก่
โรคหัวใจและหลอดเลือด เพราะจะทำให้มีการไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะเพศน้อยลง
โรคความดันโลหิตสูง
โรคเบาหวานมักจะเกิดหลังจากเป็นเบาหวานแล้วประมาณ 10 ปีซึ่งมีสาเหตุสำคัญคือ เส้นเลือดแข็ง ระบบประสาทอัตโนมัติ
โรคต่อมลูกหมากโต
การผ่าตัดและอุบัติเหตุที่มีผลต่อเส้นประสาทที่ไปควบคุมการแข็งตัวขององคชาต เช่นการผ่าตัดในอุ้งเชิงกราน การผ่าตัดต่อมลูกหมาก การได้รับอุบัติเหตุที่อวัยวะเพศ ประสาทไขสันหลัง กระเพาะปัสสาวะ กระดูกเชิงกราน อาจจะทำลายเส้นประสาททำให้เกิดกามตายด้าน การผ่าตัดผ่านทางท่อปัสสาวะ
จากยาที่รับประทาน ยาหลายชนิดอาจจะทำให้ความต้องการทางเพศลดลง บางชนิดอาจจะทำให้เกิดกามตายด้าน
พฤติกรรมการดำรงชีวิตได้แก่
การสูบบุหรี่ คนที่สูบบุหรี่จะมีการเกิด ED สูงกว่าคนไม่สูบโดยพบได้ร้อยละ 45 คนปกติพบได้ร้อยละ 35
การดื่มสุรา คนที่ดื่มสุราจะมี RD ร้อยละ 54 ซึ่งคนปกติพบได้ร้อยละ 28
การออกกำลังกายผู้ที่ออกกำลังจะพบได้น้อยกว่าผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย
ED ที่เกิดจากจิตใจพบได้ประมาณร้อยละ 10-20 ของผู้ป่วยโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ภาวะดังกล่าวอาจจะเกิดจากความเครียด ความวิตกกังวลเกี่ยวกับงาน ครอบครัว ความกลัวความล้มเหลวทางเพศสัมพันธ์ หรือถูกตำหนิจากคู่ครองทำให้หมดความมั่นใจ
อาการของผู้ป่วย
อาการของผู้ป่วยที่มีปัญหาทางเพศมักจะมีอาการดังนี้

ไม่สามารถแข็งตัวได้ตลอดการมีเพศสัมพันธ์
อวัยวะเพศไม่แข็งตัวเต็มที่
ไม่สามารถแข็งตัวเลย
หากคุณมีอาการดังกล่าวนานเกิน 2 เดือนหรืออาการเกิดซ้ำควรปรึกษาแพทย์

สาเหตุของกามตายด้าน

การแข็งตัวของอวัยวะเพศต้องมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

โดยเริ่มต้นจากต้องมีความรู้สึกต้องการทางเพศซึ่งเกิดที่สมองได้รับการกระตุ้นซึ่งอาจจะเกิดจากรูป กลิ่น เสียง สัมผัส และจากความคิด
ส่งผ่านความรู้สึกต้องการทางเพศนั้นไปยังประสาทไขสันหลังและไปกระตุ้นอวัยวะเพศทำให้เลือดไหลเข้าอวัยวะเพศ
หลอดเลือดที่อวัยวะเพศต้องมีการขยายตัวเลือดจึงจะเข้าในอวัยวะเพศได้อย่างเต็มที่
ดังนั้นหากมีปัจจัยมากระทบกลไกทั้งสามก็จะทำให้เกิดการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

สาเหตุของโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศแบ่งตามกลไกการแข็งตัว

สาเหตุของ ED แบ่งตามกลไกการแข็งตัวได้เป็น 3 ขั้นตอนได้แก่

ความล้มเหลวในการกระตุ้นให้เกิดการแข็งตัวมักจะเกิดจากจิตใจ สมอง ระบบประสาท และการขาดฮอร์โมนเพศชาย
ความล้มเหลวที่เลือดแดงจะไหลเข้ามาคั่งในอวัยวะเพศ ประเภทใจสู่แต่องคชาติไม่ขยายตัวยาว ใหญ่และแข็งพอมักจะเกิดจากระบบไหลเวียนโลหิตมาเลี้ยงองคชาติไม่พอ
ความล้มเหลวในการกักกันเลือดแดงที่ไหลเข้ามาคั่งในองคชาติแล้วค้างอยู่ได้มากพอและนานพอที่จะทำให้ องคชาตแข็งตัวเต็มที่และนานพอที่จะมีเพศสัมพันธุ์ได้สำเร็จ มักจะเกิดจากผู้สูงอายุมีพังผืดมาแทนหลอดเลือดแดง
สาเหตุของ ED แยกตามระบบต่างๆ

ความผิดปกติของเส้นเลือดแดง เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดสาเหตุสำคัญได้แก่
โรคเบาหวาน
โรคความดันโลหิตสูง
โรคไขมันในเลือดสูง
การสูบบุหรี่
การฉายแสง
คนที่ขี่จักรยานทางไกล ขี่มอเตอร์ไซด์
ความผิดปกติของระบบประสาท แบ่งตามระดับต่างๆได้ดังนี้
ระดับสมอง เช่นเนื้องอกสมอง โรคลมชัก อัมพาต Parkinson Alzheimer's disease
ระดับไขสันหลัง สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือการได้รับอุบัติเหตุ
ระดับเส้นประสาทและปลายประสาท สาเหตุที่พบบ่อยคือโรคเบาหวาน นอกจากนั้นยังพบได้ในผู้ที่ผ่าตัดในช่องท้อง ผ่าตัดต่อมลูกหมาก
ความผิดปกติเกี่ยวกับหลอดเลือดดำ มักจะพบในผู้ที่สูงอายุ โรคเบาหวานเนื่องจากมีการแข็งตัวของหลอดเลือดดำ
ความผิดปกติในระดับฮอร์โมน ผู้ที่มีฮอร์โมนเพศชายน้อยกว่าปกติมักจะมีปัญหาเรื่อง ED โดยจะมีความต้องการทางเพศลดลง แต่จะไม่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของอวัยวะเพศ
ความผิดปกติเกี่ยวกับเรื่องจิตใจซึ่งแบ่งได้เป็นสองประเภท คือพวกที่มีโรคทางจิตใจอยู่เก่า เช่นโรคซึมเศร้า ผู้ที่เครียด ส่วนประเภทที่สองคือพวกที่มีปัญหาทางเพศซึ่งอาจจะเกิดจากการหลั่งเร็ว หรือแข็งตัวไม่เต็มที่แล้วเกิดความกังวลใจเรื้อรัง
ความรุนแรงของโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศแบ่งออกได้ 3 ระดับคือ

อาการน้อย คือสามารถมีเพศสัมพันธุ์ได้สำเร็จเกือบทุกครั้ง
อาการปานกลาง คือมีเพศสัมพันธุ์ได้สำเร็จประมาณครึ่งหนึ่ง
อาการรุนแรง คือมีเพศสัมพันธุ์ไม่สำเร็จ
การวินิจฉัย

ประวัติการเจ็บป่วย โรคที่เป็นอยู่ ยาที่ใช้เป็นประจำ ความถี่ของความต้องการทางเพศ ความถี่ของการแข็งตัว ความถี่ของการหลั่ง ข้อมูลเหล่านี้คุณต้องเตรียมไว้สำหรับตอบคำถามแพทย์
การตรวจร่างกาย ลองจับอวัยวะเพศว่ามีการแข็งตัวหรือไม่หากไม่มีการแข็งตัวอาจจะหมายถึงว่ามีปัญหาเกี่ยวกับเส้นประสาท มีการร่วงของขนอวัยวะเพศหรือไม่หากมีสาเหตุก็อาจจะเกิดจากต่อมไร้ท่อ
การวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการณ์ แพทย์จะเจาะเลือดตรวจการทำงานของตับ น้ำตาล ไต ไขมันผลเลือดทั่วไป สำหรับผู้ที่มีความต้องการทางเพศต่ำอาจจะต้องเจาะหาระดับฮอร์โมน testosterone นอกจากนั้นยังต้องสังเกตการแข็งตัวของอวัยวะเพศระหว่างที่หลับหากสามารถแข็งตัวตอนกลางคืนหรือตอนเช้ามืดแสดงสาเหตุน่าจะเกิดจากจิตใจ
การรักษา

การรักษาเบื้องต้นต้องกำจัดหรือลดปัจจัยเสี่ยงให้น้อยที่สุด คือจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตเช่น รับประทานอาหารที่มีกากอาหาร อาหารที่มีไขมันต่ำ ลดเกลือ งดสุรา งดบุหรี่
Psychotherapy การรักษาทางด้านจิตใจหากปัญหากามตายด้านเกิดจากทางด้านจิตใจแพทย์จะช่วยลดความกังวล
การใช้ยาในการรักษา Drug Therapy มีทั้งยารับประทาน ยาฉีดหรือยาสอด
Sildenafil citrate หรือชื่อในทางการค้าว่า Viagra เป็นยาที่ใช้รักษาอาการกามตายด้านตัวแรกโดยต้องรับประทานก่อนมีเพศสัมพันธ์ 30 นาที-1 ชั่วโมง ควรจะรับประทานยาตอนท้องว่าง ยาจะออกฤทธิ์นาน 4-5 ชั่วโมง จนทำให้บางคนสามารถมีเพศสัมพันธ์ตอนเช้าทั้งที่รับประทานยาตอนก่อนนอน ยานี้จะได้ผลก็ต่อเมื่อผู้ที่ใช้จะต้องมีความต้องการทางเพศ ยานี้จะเพิ่มเลือดให้ไปเลี้ยงอวัยวะเพศมากขึ้นขนาดที่ใช้ 50 มิลิกรัมต่อวันไม่ควรใช้มากกว่า 1 ครั้งต่อวัน สำหรับผู้ที่มีโรคตับ ไตวาย หรืออายุมากกว่า 65 ปีอาจจะเริ่มวันละ 25 มิลิกรัมต่อวัน หากได้ผลไม่ดีและไม่มีโรคแทรกซ้อนจึงเพิ่มขนาดของยา ข้อห้ามใช้ยานี้ได้แก่ผู้ที่เป็นโรคหัวใจได้รับยา nitrate ไม่ควรใช้ยานี้เนื่องจากอาจจะทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำเป็นลมและเกิดอันตราย ส่วนการรับประทานยานี้ร่วมกับยาลดความดันชนิดอื่นก็ไม่ส่งผลเสีย ยาในกลุ่มนี้ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยได้แก่ Levistra
ยาในกลุ่ม alpha blocker ได้แก่ yohimbine [Procomil] แต่เดิมเป็นยากระตุ้นความต้องการทางเพศ แต่ปัจจุบันทราบว่ายานี้ออกฤทะฺ์ที่สมองและขยายหลอดเลือดที่ส่วนปลายรวมทั้งองคชาตทำให้แข็งตัวได้ ขนาดของยาที่ใช้ 18-30 มิลิกรัมให้รับประทานติดต่อกัน 1-3 เดือน แต่ต้องระวังโรคแทรกซ้อน เช่น ความดันโลหิตสูง ใจสั่น ปัสสาวะบ่อย
Apomorphine ส่วนใหญ่ใช้ 2-4 มิลิกรัม ออกฤทธิ์ใน 10-25 นาทีใช้อมใต้ลิ้น ผลข้างเคียงของยาต่ำมีเพียงคลื่นไส้อาเจียนเท่านั้น
ยาฮอร์โมน testosterone เหมาะสำหรับผู้ที่มีระดับฮอร์โมน testosterone ในเลือดต่ำ
การฉีดยาเข้าอวัยวะเพศ ยาที่นิยมใช้คือ papaverine hydrochloride,phentolamine, and alprostadil ยาเหล่านี้จะทำให้หลอดเลือดขยาย ยานี้จะเริ่มออกฤทธิ์หลังจากฉีดไปแล้ว 5-20 นาทีและออกฤทธิ์ได้นาน 1 ชั่วโมง ผลข้างเคียงของยาอาจจะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่าโด่ไม่รู้ล้มจะทำให้เกิดอาการปวด เกิดอาการปวดบริเวณที่ฉีด เลือดออก
การใส่ยาเข้าทางท่อปัสสาวะจะเริ่มออกฤทธิ์ในเวลา 8-10 นาที และอยู่ได้นาน 30-60 นาทีและต้องใช้ยางรัดไวเพื่อให้อวัยวะเพศแข็งตัวนาน ผลข้างเคียงมีการระคายเคืองต่อท่อปัสสาวะ อัณฑะ อาจจะมีเลือดออกจากท่อปัสสาวะ
การใช้เครื่องสุญญากาศ Vacuum Devices โดยการใช้เครื่องสุญญากาศครอบที่อวัยวะเพศ หลังจากนั้นก็สูบอากาศให้ออกจากท่อทำให้เลือดเข้าไปในอวัยวะเพศจนอวัยวะเพศแข็งตัวได้ดีจึงใช้ยางรัด

การผ่าตัด Surgery ซึ่งมีการผ่าตัดได้ 3 วิธี
การผ่าตัดใส่ท่อ prostheses เข้าไปในอวัยวะเพศ ท่อนี้จะต่อเข้ากับเครื่องปั้มเพื่อปั้มน้ำเข้าท่อทำให้เกิดการแข็งตัว

การผ่าตัดแก้เส้นเลือดแดงอุดเนื่องจากได้รับอุบัติเหตุเหมาะสำหรับคนหนุ่ม
การผ่าตัดแก้หลอดเลือดดำไม่นิยมทำ
ในการเลือกวิธีรักษาแพทย์จะพิจารณาจากอายุและโรคที่เป็นอยู่ หากคุณมีโรคอะไรต้องบอกแพทย์ก่อนรักษาทุกครั้งเนื่องจากมีบางภาวะที่อาจจะมีอันตรายหากมีเพศสัมพันธ์เช่น

เพิ่งเกิดโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองในระยะเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา
มีการเต้นผิดปกติของหัวใจบางชนิด
มีอาการเจ็บหน้าอกเนื่องจากหัวใจขาดเลือดซึ่งยังควบคุมไม่ได้
ความดันโลหิตที่ยังควบคุมไม่ได้
โรคหัวใจวายที่ยังควบคุมไม่ได้
โรคลิ้นหัวใจตีบชนิดรุนแรง
การป้องกัน
แม้ว่าอาจจะเกิดการหย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ชายได้เป็นครั้งคราว เราสามารถลดการหย่อนสมรรถภาพทางเพศโดยวิธีดังต่อไปนี้

การบริหารอวัยวะเพศให้แข็งแรง
หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและยาเสพติด
หยุดสูบบุหรี่
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ลดความเครียดและวิตกกังวล
ผักผ่อนให้เต็มที่
ตรวจร่างกายประจำปี

บทความที่ได้รับความนิยม