Holiday-Tourismthailand

ท่องเที่ยว สูตรอาหารไทย อาหารเพื่อสุขภาพ ทั่วไทย เกาะช้าง เกาะเสม็ด เกาะกูด ภูกระดึง ระยอง หัวหิน พัทยา เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และ สถานที่ท่องเที่ยว ต่างๆ.

Custom Search

ถ้ำใหญ่กลางขุนเขาติดอันดับโลกแห่งนี้ ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางขุนเขามากกว่า 3,000 ปี อยู่ในพื้นที่อำเภอมะนัง เป็นถ้ำที่อลังการมีขนาดกว้างขวางใหญ่โตขนาดเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ หรือ 20,000 ตารางเมตร เดิมทีเรียกว่า ถ้ำลอด หรือ ถ้ำเพชร ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นภูผาเพชร เพราะความวิจิตรตระการตาไปด้วยหินงอกหินย้อยที่ส่องแสงระยิบระยับยามต้องแสง ซึ่งห้องในโถงใหญ่แห่งนี้มีมากกว่า 20 ห้อง แต่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมแค่เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ทุกห้องโถงมีความแตกต่างกัน เช่น หินงอกที่เป็นเสาค้ำสุริยัน เสาหินปูนขนาดมหึมาค้ำเพดานถ้ำรอบทิศ ส่วนที่โคนเสาหินงอกนี้จะเป็นเกล็ดหินคล้ายแผ่น




ปะการังใต้ท้องทะเล รวมทั้งมีผ้าม่านเป็นริ้ว ๆ แปลกตา บางจุด จะมีหยดน้ำทิพย์จากเพดานถ้ำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสความบริสุทธิ์ บางคนนำมาดื่มหรือชโลมร่างกาย ถือว่าเป็นสิริมงคลและเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์
• ไฮไลต์ของถ้ำภูผาเพชรแห่งนี้คือ ห้องแสงมรกต ซึ่งเมื่อเดินลึกเข้าไปด้านในสุดจะเห็นเพดานถ้ำโหว่มีแสงส่องลงมากระทบกับ หินสีเขียวก้อนใหญ่ตรงใจกลางห้อง กลายเป็นลานแสงมรกตแปลกตา และสุดท้ายปลายทางเป็นห้องที่มีความมืด 100 เปอร์เซ็นต์ที่ห้องพญานาค สาเหตุที่เรียกว่าห้องพญานาคก็ด้วยเหตุผลที่ว่า กว่า 3,000 ปีมาแล้ว ที่ห้องแห่งนี้ถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานานทำให้เกิดตะกอนหินปูนจับตัวกันเป็น สันนูนโดยรอบ ลักษณะคล้ายหลังพญานาคจึงตั้งชื่อว่า “ถ้ำพญานาค”
• ถ้ำภูผาเพชร ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 9 บ้านควนดินดำ ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอ 27 กิโลเมตร ไปตามถนนที่ลาดยางตลอดสายจนถึงบริเวณถ้ำตั้งอยู่บนเทือกเขาหินปูน ในเขตของทิวเขานครศรีธรรมราช ซึ่งนิยมเรียกว่า เขาบรรทัด ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันออก ทางขึ้นไม่ค่อยลาดชันนัก ความสูงจากพื้นราบถึงปากถ้ำประมาณ 50 เมตร ใช้เวลาในการเดินทางจากพื้นราบถึงจุดเข้าถ้ำราว 30 นาที
• ชื่อเดิมของถ้ำภูผาเพชร คือ “ถ้ำลอด ถ้ำยาว หรือถ้ำเพชร” เนื่องจากถ้ำมีความยาว ลักษณะคดเคี้ยว แบ่งเป็นหลายตอน ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย เมื่อกระทบกับแสงไฟ ผนังถ้ำมีประกายแวววาวเหมือนเพชร จึงเป็นที่มาของชื่อถ้ำเพชรก่อน ภายหลังชื่อเต็มอย่างเป็นทางการว่า ถ้ำภูผาเพชร
• ตามประวัติมีว่า เมื่อปี พ.ศ. 2517 ครอบครัวของนายช่วงและนางแดง รักทองจันทร์ ได้ย้ายเข้ามาอาศัยบริเวณถ้ำยาวเป็นครอบครัวแรก ล่วงมาปีพ.ศ. 2535 มีพระธุดงค์รูปหนึ่งมาตั้งสำนักบริเวณถ้ำยาว อยู่ได้หนึ่งปีก็จากไป ก่อนจากไปท่านได้บอกชาวบ้านว่าได้เห็นทางเข้าไปในถ้ำยาว มีถ้ำน้อยใหญ่อีกหลายถ้ำ บางถ้ำมีพื้นที่กว้างขวางสวยงาม กระทั่งปี พ.ศ.2540 นายศักดิ์ชัย บุญคง สมาชิก อบต. ตำบลปาล์มพัฒนาได้ทำการสำรวจร่วมกับทางราชการและราษฏรถ้ำภูผาเพชรจึงได้เปิด โฉมหน้าให้คนทั่วไปได้รู้จักกันทุกวันนี้
• พ.ศ. 2541 นักโบราณคดีของสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ 10 จังหวัดสงขลา ได้สำรวจบริเวณถ้ำภูผาเพชร โดยความร่วมมือของสภาตำบลปาล์มพัฒนา พบร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดี ประกอบด้วยกระดูกมนุษย์ยุคโบราณ พบเศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบร่องรอยส่วนก้นภาชนะดินเผา ถูกหินปูนและเปลือกหอยยึดเกาะอยู่ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า บริเวณถ้ำภูผาเพชรเคยเป็นที่อยู่ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว
• ถ้ำภูผาเพชรมีเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ หรือ 20,000 ตารางวา แบ่งเป็นห้องเล็กห้องน้อยประมาณ 20 ห้อง ชื่อเรียกต่างกันออกไป เช่น ห้องปะการัง มีหินงอกหินย้อยคล้ายปะการังในทะเล ห้องเห็ด เต็มไปด้วยรูปดอกเห็ดขนาดต่าง ๆ ห้องม่านเพชร ลักษณะคล้ายผ้าม่านแขวนเป็นหลืบซ้อนกัน ห้องพญานาคเห็นหินงอกต่อตัวกันคล้ายงูใหญ่หรือพญานาค ส่วนห้องสวนมรกตจะมีสีเขียว ส่องแสงระยิบระยับคล้ายสีของมรกต ล้วนเป็นการรังสรรค์ของธรรมชาติโดยแท้
• ถ้ำภูผาเพชรจึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวบนบกแห่งใหม่ของจังหวัดสตูล การไปมาก็สะดวก มีถนนลาดยางถึงบริเวณปากถ้ำ สภาตำบลปาล์มพัฒนาดำเนินการเร่งรัดปรับปรุงสถานที่แห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่อง เที่ยวที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัดสตูลขณะนี้
• การเดินทางสู่ภูผาเพชร : สามารถไปได้ 2 เส้นทาง คือ จากจังหวัดสตูลเข้าทางแยกควนกาหลง เข้าสู่อำเภอมะนัง หากเริ่มต้นจากจังหวัดตรังเมื่อเข้าสู่เขตสตูลให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่มะนังเช่นกัน ทั้งนี้จะมีป้ายบอกเป็นระยะๆ และต้องเดินขึ้นบันไดประมาณ 300 ขั้น (เท่านั้นเอง) ส่วนภายในถ้ำมีบันไดไม้เดินได้สะดวก
• เตรียมตัวเดินทาง : นักท่องเที่ยวควรนำไฟฉายติดตัวไปเพื่อส่องดูความงามภายในถ้ำ หรือสามารถเช่าจากชาวบ้านบริเวณทางเข้าถ้ำ และควรสวมใส่รองเท้าที่เดินสบาย

 อุทยานแห่งชาติศรีพังงา มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอคุระบุรี และอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เป็นอุทยานแห่งชาติ 1 ในจำนวน 5 แห่ง ของโครงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเพื่อการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2530 ซึ่งมีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์และสวยงามตามธรรมชาติ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญ มีสัตว์ป่าชุกชุม และจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตก หน้าผา อุทยานแห่งชาติศรีพังงา มีเนื้อที่ประมาณ 153,800 ไร่ หรือ 246.08 ตารางกิโลเมตร


   ความเป็นมา : ในต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2529 ราษฎรอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ได้เสนอผ่าน นายบรม ตันเถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ทางราชการจัดตั้งพื้นที่บริเวณน้ำตกตำหนัง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่อปรับปรุงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและอนุรักษ์ไว้เป็นแหล่งต้นน้ำ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2529 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2529 พิจารณาจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้จัดตั้งพื้นที่ป่าบริเวณน้ำตกตำ หนัง เป็นอุทยานแห่งชาติเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ
   เดือนพฤษภาคม 2529 กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 877/2529 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2529 ให้ นายธวัช ไชยพัฒน์ เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 ไปดำเนินการสำรวจและจัดตั้งพื้นที่บริเวณป่าน้ำตกตำหนังเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยใช้ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติศรีพังงา” จากรายงานการสำรวจตามหนังสือ ที่ กษ 0713 (ศง)/32 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2529 บริเวณดังกล่าวมีสภาพป่าสมบูรณ์ มีทิวทัศน์และจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงาม กองอุทยานแห่งชาติ ได้ดำเนินการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเทือกเขานมสาว ในท้องที่ตำบลคุระ ตำบลแม่นางขาว ตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี และตำบลบางนายสี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่ม 105 ตอนที่ 60 ลงวันที่ 16 เมษายน 2531 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 56 ของประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศ
   สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นแนวขนานกับฝั่งทะเลอันดามันในแนวเหนือใต้ บริเวณเทือกเขาจะมีสภาพป่าที่สมบูรณ์เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เป็นต้นกำเนิดลำห้วยต่างๆ มากมาย ทำให้เกิดจุดเด่นทางธรรมชาติประเภทน้ำตก หน้าผา และสภาพป่าที่สวยงาม มีต้นน้ำลำธารมากมาย เช่น คลองคุรอด คลองตำหนัง คลองแพรกขวา คลองแพรกซ้าย คลองบางแดง คลองบางวัน คลองหลักเขต และคลองบางใหญ่
ลักษณะภูมิอากาศ
   อุทยานแห่งชาติได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีฝนตกเกือบตลอดปี มีเพียง 2 ฤดูกาล โดยฤดูร้อนจะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม - เมษายน และฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - ธันวาคม ซึ่งสภาพอากาศจะชื้นและไม่หนาวหรือร้อนจัด มีอุณหภูมิตั้งแต่ 26-29 องศาเซลเซียส ตลอดปี
พืชพรรณและสัตว์ป่า
   พื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยป่าดิบชื้นเป็นไม้ไม่ผลัดใบสภาพป่าค่อนข้างชื้น มีพรรณไม้ที่สำคัญได้แก่ ยาง ตะเคียน สะตอป่า กระท้อน ตาเสือ เสียดช่อ และนาคบุตร เป็นต้น ส่วนพืชพื้นล่างรกทึบด้วย หวาย เถาวัลย์ ว่าน สมุนไพร ระกำ มอส และเฟินชนิดต่างๆ รวมทั้งไผ่หลายชนิด มีสัตว์ป่าชุกชุมเนื่องจากพื้นที่ติดกับป่าเหนือเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้สัตว์ป่าอพยพหนีน้ำอันเกิดจากการปิดกั้นเขื่อนกักน้ำ มาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น สมเสร็จ เลียงผา ช้างป่า เก้ง กวางป่า หมี เสือ กระจง ชะนี ลิง ค่าง วัวแดง และนกชนิดต่างๆ อีกมากมาย เช่น นกแก้ว ไก่ป่า นกเงือก นกโพระดก นกแซงแซว นกปรอด นกหัวขวาน ฯลฯ นอกจากนี้ยังพบสัตว์เลื้อยคลานประกอบด้วย เต่า ตะพาบน้ำ เห่าช้าง ตะกวด งู กิ้งก่า ฯลฯ ทั้งยังมีสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เช่น กบทูด คางคก เขียด อึ่งอ่าง และปลาที่สวยงามอยู่มากมายตามแอ่งน้ำต่างๆ
แหล่งท่องเที่ยว
   อุทยานแห่งชาติศรีพังงามีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ป่าในท้องที่อำเภอคุระบุรี และอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งมีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์และสวยงามตามธรรมชาติ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญ มีสัตว์ป่าชุกชุม และจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามw เช่น น้ำตก สภาพป่า ฯลฯ มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่
   น้ำตกตำหนัง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ทิ้งตัวลงมาจากหน้าผาหิน สูงประมาณ 60 ม. ลงสู่แอ่งน้ำใหญ่เบื้องล่าง เหมาะแก่การเล่นน้ำมาก เป็นน้ำตกที่เดินทางไปเที่ยวได้สะดวกที่สุดของอุทยานแห่งชาติศรีพังงา จากที่ทำการอุทยานแห่งชาติจะมีทางรถยนต์ต่อเข้าไปอีกราว 1.5 กิโลเมตร จากนั้นเดินเท้าผ่านแอ่งปลาพลวงและผืนป่าร่มรื่นไปอีก 500 เมตร ก็จะถึงน้ำตกตำหนัง ระหว่างทางมีนกหลายชนิดให้ชม เช่น นกหัวขวานสีน้ำตาล นกปรอดเล็กตาขาว นกปรอดโอ่งท้องสีน้ำตาล ฯลฯ
   น้ำตกโตนต้นไทร เกิดจากลำน้ำซึ่งตกจากโขดหินขนาด ใหญ่ บริเวณใกล้น้ำตกจะมีต้นไม้ใหญ่น้อย และโขดหินสวยงาม สายน้ำไหลตกลงมาตามผาหินสูงประมาณ 20 เมตร บริเวณน้ำตกมีต้นไทรอยู่หลายต้นจนเป็นที่มาของชื่อน้ำตก ทางเข้าน้ำตกอยู่เลยด่านตรวจอุทยานแห่งชาติก่อนเข้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติ มาเล็กน้อย เมื่อพบทางแยกให้เลี้ยวซ้าย ผ่านสวนผลไม้ชาวบ้านไปอีก 2 กิโลเมตร จากนั้นต้องเดินเลาะลำธารเข้าไปถึงน้ำตก ควรมีเจ้าหน้าที่ช่วยนำทาง แต่ในช่วงฤดูฝนจะเดินเข้าไปน้ำตกไม่ได้ จากน้ำตกโตนต้นไทรไปอีก 500 เมตร จะถึง ถ้ำค้างคาว ซึ่งมีค้างคาวอาศัยอยู่จำนวนมาก
   น้ำตกโตนต้นเตย จากที่ทำการอุทยานแห่งชาติมีทางเดินไปน้ำตกโตนต้นเตย ผ่านลำธารที่มีก้อนหินน้อยใหญ่ประมาณ 30 นาที จะถึงน้ำตกชั้นล่าง เรียกว่า น้ำตกโตนเตยน้อย สูง 10 เมตร จากนั้นเดินตามลำธารไปจนถึงน้ำตกโตนเตยที่ทิ้งตัวลงจากผาหินสูง 45 เมตร อยู่ท่ามกลางป่าดงดิบ มีเฟิน หวาย และนกหลายชนิดให้พบเห็น เช่น นกเขียวคราม นกเขียวก้านตอง นกโพระดกคางแดง ฯลฯ ในช่วงฤดูฝนที่น้ำหลากไม่สามารถเดินตามลำธารเข้าไปได้ ควรมีเจ้าหน้าที่ช่วยนำทางเพราะอาจหลงทางได้
   เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เริ่มจากบริเวณลานจอดรถของน้ำตกตำหนัง มีทางเดินไต่เขาผ่านป่าดิบชื้นขึ้นไปจนถึงจุดชมทิวทัศน์ มองเห็นบริเวณที่คลองตำหนังไหลผ่านป่าชายเลนลงทะเลระหว่างทางมีต้นไทร ซึ่งถ้าโชคดีเป็นช่วงลูกไทรสุก ก็จะมีโอกาสได้พบนกหลากชนิดที่แวะมากินลูกไทร เช่น นกแก๊ก รวมทั้งนกเงือกหายาก เช่น นกชนหิน นกเงือกดำ ในบริเวณนี้ยังมีพืชหากยาก เช่น กระโถนพระฤาษี บัวผุด ด้วย จากนั้นเส้นทางจะผ่าน น้ำตกโตนอู น้ำตกโตนเด้ง แล้ววกกลับมายังจุดเริ่มต้น

ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก
   มีบ้านพักสำหรับบริการนักท่องเที่ยว จำนวน 3 หลัง มีลานกางเต้นท์ ร้านอาหาร ภายในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
   มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น.
การเดินทาง
   รถยนต์ โดยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ตะกั่วป่า-ระนอง) ผ่านป่าเทือกเขานมสาว เลี้ยวเข้าทางแยกสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติตรงหลักกิโลเมตรที่ 756 เป็นเส้นทางลำลองจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (จากปากทางบ้านตำหนัง) เข้าเขตน้ำตกตำหนังเป็นระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร
สถานที่ติดต่อ
   อุทยานแห่งชาติศรีพังงา ตู้ ปณ.22 ปทจ.ตะกั่วป่า อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา 82110 โทรศัพท์ 0 7641 9056



วนอุทยานน้ำตกรามัญ อยู่ในท้องที่ตำบลกระโสม อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา มีเนื้อที่ประมาณ 125 ไร่ กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2526
ลักษณะภูมิประเทศ
   สภาพพื้นที่โดยทั่วไปบริเวณน้ำตกรามัญ เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนติดต่อกัน พื้นที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 100 เมตร ดินเป็นดินเหนียวปนทราย หินเป็นหินปูน มีหินทรายและหินแกรนิตปนบ้างเล็กน้อย
ลักษณะภูมิอากาศ
   ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคม รวม 8 เดือน แต่ช่วงที่มีฝนตกชุกคือระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน


พืชพรรณและสัตว์ป่า
   ป่าบริเวณน้ำตกยังสมบูรณ์ซึ่งเป็นป่าดงดิบชื้นเหลืออยู่เฉพาะบริเวณลำห้วยเท่านั้น เหนือขึ้นไปส่วนใหญ่ป่ามีสภาพเสื่อมโทรม ถูกบุกรุกแผ้วถางทำสวนเกือบหมด พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ตะเคียนสามพอน ตะเคียนทราย ยาง ยูง เสียดช่อ ส้าน เป็นต้น ไม้พื้นล่างได้แก่ ไผ่บง ไผ่ซาง ไผ่รวก กล้วย ป่าเฟิร์น และบอน
   สัตว์ป่าที่พบได้แก่ ลิง ค่าง หมูป่า กระจง เก้ง อีเห็น กระรอก และนกชนิดต่างๆ
ที่พักและบริการ
   วนอุทยานน้ำตกรามัญ ไม่มีบ้านพักบริการแก่นักท่องเที่ยว หากมีความประสงค์จะไปพักแรมเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ โปรดนำเต็นท์ไปกางเอง แล้วไปติดต่อขออนุญาตใช้สถานที่กับเจ้าหน้าที่วนอุทยานน้ำตกรามัญโดยตรง
การเดินทาง
   รถยนต์ ระยะทางห่างจากที่ว่าการอำเภอตะกั่วทุ่งประมาณ 10 กิโลเมตร โดยเดินทางไปตามทางหลวง แผ่นดินหมายเลข 4 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 874 แยกเข้าทางแยกซ้ายมือตามถนนลูกรังไปประมาณ 6 กิโลเมตร
สถานที่ติดต่อ
   วนอุทยานน้ำตกรามัญ หมู่ 6 บ้านหินสามก้อน ต.กระโสม อ. ตะกั่วทุ่ง จ. พังงา 82130 โทรศัพท์ 0 7535 6134, 0 7635 6780 

วนอุทยานถ้ำผาตูบ อยู่ในท้องที่บ้านผาตูบ ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน มีเนื้อที่ประมาณ 582 ไร่ กรมป่าไม้ได้ประกาศเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2521


ลักษณะภูมิประเทศ
   เป็นภูเขาค่อนข้างเป็นหินรายรอบติดต่อกัน นับจากทางด้านเหนือลงมา มีถ้ำผาตูบ เขาถ้ำพระเขาป่าซาง เขาบ่อน้ำทิพย์ เขาผาผักเฮือก เขาม่อนมะฝางและเขาหน้าต่ำ เป็นต้น ซึ่งเขาเหล่านี้มีอาณาเขตติดต่อเป็นเทือกเขาเดียวกัน ตั้งแต่ถ้ำผาตูบลงมาทางทิศใต้จนถึงเขาผาผักเฮือก แล้ววกกลับที่เขาม่อนมะฝางติดต่อไปยังเขาหน้าผาต่ำและอื่นๆ ตามที่มีเขาต่างๆติดต่อกันและวนกลับเช่นนี้ จึงเป็นเหตุให้มีป่าเกิดขึ้นอยู่ในบริเวณล้อมรอบของเขาดังกล่าวที่ชาวบ้านเรียกว่า “ หนองน่าน “
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
   เป็นป่าดงดิบและป่าเบญจพรรณ พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ สัก พะยูง ตะแบก แดง ตีนเป็ด รกฟ้า ยอ ป่า เป็นต้น และยังมีสมุนไพรและเถาวัลย์ชนิดต่างๆเป็นไม้พื้นล่างขึ้นอยู่หนาแน่น
   สัตว์ป่าที่พบได้แก่ เลียงผา หมูป่า เก้ง กระจง ไก่ป่า กระรอก อีเห็น งู หมี และนกชนิดต่างๆ
บ้านพัก-บริการ 
   วนอุทยานถ้ำผาตูบไม่มีบ้านพักหรือค่ายพักแรมบริการแก่นักท่องเที่ยว หากนักท่องเที่ยวมีความประสงค์จะไปพักแรมค้างคืนเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ หรือศึกษาหาความรู้ทางธรรมชาติ โปรดนำเต็นท์และเตรียมอาหารไปเอง โดยทางวนอุทยานได้จัดสถานที่ไว้ให้พร้อมกับห้องสุขา ให้ไปติดต่อขออนุญาตใช้สถานที่กับเจ้าหน้าที่ที่วนอุทยานถ้ำผาตูบ โดยตรง หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ฝ่ายจัดการวนอุทยาน สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรุงเทพฯ 10900 โทร.0-2561-4292-3 ต่อ 719 หรือ สำนักบริหารจัดการในพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 (ลำปาง) โทร.(054) 710136 ในวันและเวลาราชการ
แหล่งท่องเที่ยว 
จุดชมวิว ตั้งอยู่บนเขาป่าซาง ติดกับบ่อน้ำทิพย์ทางด้านทิศใต้ สามารถมองเห็นทิวทัศน์รอบๆและ สามารถมองเห็นในอำเภอเมืองน่านได้ถนัด
ถ้ำขอน มีลักษณะยาวคล้ายกับท่อนซุง ด้านในมีหินงอกหินย้อยงดงามและด้านหน้าบริเวณปากทางขึ้นถ้ำมีหน้าผา
ถ้ำบ่อน้ำทิพย์ ภายในถ้ำเป็นห้องโถง กว้างประมาณ 30 ตารางวา มีปล่องเพดานให้แสงสว่าง มีหินย้อยรอบถ้ำ ผนังด้านหนึ่งมีซอกเว้าลึกเป็นโพรง มีแอ่งน้ำรูปไข่ป้อมมีน้ำขังตลอดปี ยึดถือเป็นน้ำศักสิทธิ์
ถ้ำพระ เป็นถ้ำขนาดใหญ่ ลานพื้นกว้าง เนื้อที่ราว 50 ตารางวา มีปล่องเพดาน ด้านหนึ่งมีลมพัดเข้ามาและให้แสงสว่าง มีหินงอกหินย้อยงดงาม
ถ้ำเจดีย์แก้ว เป็นถ้ำขนาดเล็ก ด้านหน้าของถ้ำจะมีหินรูปร่างคล้ายเจดีย์ตั้งอยู่
ทางเดินศึกษาธรรมชาติ มีพรรณไม้ที่ควรศึกษาและหาดูได้ยาก เช่น จันทน์ผาและเอื้องผึ้งต่างๆ โดยจะเริ่มจากเส้นทางเดินเข้าถึงถ้ำบ่อน้ำทิพย์และเส้นทางจากที่ทำการถึงจุดชมวิว
ป่าหนองน่าน สภาพป่าเป็นป่าดงดิบ มีพรรณไม้นานาชนิดที่แตกต่างกับพรรณไม้พื้นเมืองที่มีอยู่ทั่วๆไปของจังหวัดน่านขึ้นอยู่เป็นระเบียบตามธรรมชาติ บริเวณป่าร่มรื่นสวยงาม
การเดินทาง 
   รถยนต์ เดินทางจากกรุงเทพฯถึงจังหวัดแพร่ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 ไปจนถึงอำเภอ เมืองน่าน ระยะทาง 115 กิโลเมตร จากจังหวัดน่านออกไปตามทางหลวงหมายเลข1080 ประมาณ 10 กิโลเมตร จะมีทางแยกเข้าไปในเขตวนอุทยานถ้ำผาตูบ ประมาณ 200 เมตร
สถานที่ติดต่อ วนอุทยานถ้ำผาตูบ

อุทยานแห่งชาติขุนสถาน มีพื้นที่กว้างใหญ่เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งขวาแม่น้ำน่านตอนใต้ ในท้องที่ อำเภอนาน้อย และอำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยป่าไม้ชนิดต่างๆ คือ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าสนเขา ป่าดงดิบ ป่าดิบแล้ง สัตว์ที่พบเห็นได้แก่สัตว์จำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบก ครึ่งน้ำ นก ปลา แมลงชนิดต่างๆ


    ความเป็นมา : ด้วยศูนย์อุทยานแห่งชาติ จังหวัดน่าน ได้มีหนังสือที่ กษ 0712.ศอช.จ.น่าน/1 ลงวันที่ 7 เมษายน 2541 แจ้งว่า ศูนย์อุทยานแห่งชาติ จังหวัดน่าน ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติ 6 แห่ง ได้มีความเห็นและสอดคล้องต้องกันว่า พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยแม่ขะนิง ป่าน้ำสาและป่าสาครฝั่งซ้าย และป่าฝั่งขวาแม่น้ำน่านตอนใต้ ในท้องที่อำเภอเวียงสา อำเภอนาน้อย และอำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรสัตว์ป่ามีลักษณะโดดเด่นอัศจรรย์ และมีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและนันทนาการสำหรับประชาชน มีพื้นที่ประมาณ 300,000-400,000 ไร่เศษ เหมาะสมและสมควรจัดตั้งเป็น ดังนั้นจึงเห็นสมควรขอให้ส่วนอุทยานแห่งชาติเสนอให้กรมป่าไม้ พิจารณาจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกมาสำรวจ ประกาศจัดตั้ง และควบคุมพื้นที่ดังกล่าว เพื่อประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป
   กรมป่าไม้ จึงได้มีคำสั่งที่ 1041/2541 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 ให้นายวิโรจน์ โรจนจินดา เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 อุทยานแห่งชาติแม่ยม ปฏิบัติงานประจำอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท จังหวัดลำปาง ไปดำเนินการสำรวจพื้นที่ดังกล่าว และกรมป่าไม้ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ที่ทำการสำรวจว่า พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยแม่ขะนิงได้ถูกบุกรุกแผ้วถางและยึดถือครอบครองเป็นส่วนมาก สมควรประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเฉพาะในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำสาฝั่งขวาตอนขุน ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำสาและป่าสาครฝั่งซ้าย ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่สาครฝั่งขวา ป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งขวาแม่น้ำน่านตอนใต้ ในท้องที่อำเภอเวียงสา อำเภอนาน้อย และอำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน เนื้อที่ประมาณ 535,625 ไร่ หรือ 857 ตารางกิโลเมตร ต่อมากรมป่าไม้ได้มีคำสั่งให้ไปสำรวจรายละเอียดเพิ่มเติม จากการสำรวจพบว่าพื้นท่มีความเหมาะสมอย่ในพื้นท่ป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งขวาแม่นำน่านตอนใต้ ในท้องท่อำเภอนาน้อย อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน เนื้อที่ประมาณ 262,000 ไร่ หรือ 419.2 ตารางกิโลเมตร
ลักษณะภูมิประเทศ เป็นภูเขาสลับซับซ้อนมีความสูงชัน ทอดตัวจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ มีแนวสันเขาของดอยแปรเมืองเป็นแนวแบ่งเขตระหว่างจังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน มีลำธารและลำห้วยไหลลงสู่แม่น้ำหลายสาย เช่น น้ำสา น้ำถา น้ำแหง น้ำแม่สาคร เป็นต้น ดอยที่สำคัญ เช่น ดอยกู่สถาน มีความสูง 1,630 เมตร ดอยแปรเมือง มีความสูง 1,395 เมตร ดอยขุนห้วยฮึก มีความสูง 1,233 เมตร ดอยแม่จอก มีความสูง 1,424 เมตร และดอยที่สูงที่สุดคือ ดอยภูคา สูง 1,728 เมตรจากระดับน้ำทะเล
ลักษณะภูมิอากาศ แบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ฤดูฝน เริ่มเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม และฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ จากข้อมูลภูมิอากาศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 - 2540 ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปี วัดได้ 1,194 มิลลิเมตรต่อปี อุณหภูมิสูงสุดเดือนพฤษภาคม 25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเดือนมกราคม 5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยรายปี 27 องศาเซลเซียส
พืชพรรณและสัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติขุนสถานสามารถจำแนกสังคมพืชออกได้เป็น
   ป่าดิบเขา ขึ้นอยู่ตามสันเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป เช่น บริเวณดอยขุนห้วยย่าทาย ดอยขุนห้วยหก ดอยขุนสถาน มีพันธุ์ไม้และพืชพื้นล่าง ได้แก่ ก่อ สารภีดอย พะวา จำปีป่า เหมือด กำยาน เฟิน และปรงป่า และทีเฟริ์น
   ป่าสนเขา ขึ้นกระจายตามยอดเขาที่ความสูงประมาณ 1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเล เช่น บนดอยจวงปราสาท ดอยแปรเมือง มีอาณาบริเวณไม่กว้างนัก พันธุ์ไม้ที่พบได้แก สนสองใบ สนสมใบ เหียง และพะยอม ป่าดิบแล้ง พบกระจายอยู่ทั่วไป สภาพป่ามีความชื้นสูง สภาพป่ารกทึบ มีพันธุ์ไม้และพืชพื้นล่างได้แก่ ยางปาย ยมหิน ม่วงก้อม ชมพูป่า เขืองแข้งม้า และหนามเล็บเหยี่ยว
   ป่าเบญจพรรณ พบกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 250-1,00 เมตร ชนิดไม้และพืชพื้นล่างที่พบได้แก่ ประดู่ ชิงชัน เก็ดแดง เก็ดดำ รกฟ้า มะเฟืองช้าง ตะแบกเลือด ปู่เจ้า มะกอกเกลื้อน ไผ่ไร่ ไผ่บง ไผ่ซาง เห็ดจั่น เห็ดมัน เห็ดซาง และเห็ดขอน และ ป่าเต็งรัง พบตามสันเขาที่มีความสูงระหว่าง 700-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้และพืชพื้นล่างที่พบ ได้แก่ เต็ง รัง เหียง พะยอม มะม่วงหัวแมงวัน กระโดน ติ้ว กระท่อมหมู ปรง เห็ดไข่ห่านเหลือง และเห็ดขมิ้นใหญ่ เป็นต้น
   ป่าดิบชื้น ขึ้นอยู่ตามริมห้วย พบกระจายอยู่ทั่วไป แต่เป็นบริเวณไม่กว้างนัก พันธุ์ไม้และพืชพื้นล่าง ได้แก่ ตะเคียนทอง ยมหอม เชียด เลือดม้า กระทุ่มบก ลำพูป่า เฟิน ผักกูด กีบแรด บอน เห็ดแดง และเห็ดขมิ้นน้อย และยังพบกล้วยไม้นานาชนิด เช่น สิงโตสยามฯ
   สัตว์ป่าที่พบในอุทยานแห่งชาติขุนสถาน ได้แก่ เสือโคร่ง หมีควาย กวางป่า เลียงผา หมูป่า ลิง อีเห็น หมูหริ่ง หมาหริ่ง กระต่ายป่า ตุ่น อ้น กระรอก นกขุนทอง นกแก้ว นกขมิ้น นกหัวขวาน นกแซงแซวหางบ่วง นกตะขาบทุ่ง แย้ ตะกวด กิ้งก่า ตุ๊กแกป่า กบ เขียด อึ่งอ่าง คางคก ฯลฯ    สำหรับในบริเวณแหล่งน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำสิริกิตติ์ มีปลาอาศัยอยู่หลายชนิด เช่น ปลานิล ปลาตะเพียนแดง ปลาแรด ปลาชะโด ปลาไน ปลาช่อน ปลาบู่ทอง ปลาสลาก ปลาตะโกก ปลาหมอ และปลาสร้อย เป็นต้น
แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ
ศาลเจ้าพ่อเขาครึ่ง เป็นเจ้าพ่อประตูเมืองของจังหวัดน่าน และเป็นที่เคารพสักการะของผู้เดินทางผ่านไปมา ตั้งอยู่บริเวณริมถนนสายร้องกวาง-อำเภอเวียงสา บริเวณหลักกิโลเมตร ที่ 30 (เขตแดนจังหวัดน่าน-แพร่)
น้ำน่านตอนบนเขื่อนสิริกิตติ์ มีความสวยงามของธรรมชาติและทิวทัศน์สองฝั่งลำน้ำ ซึ่งล้อมรอบด้วยทิวเขาที่ทอดตัวเป็นแนวยาว สามารถล่องเรือหรือแพชมความสวยงามได้ และบางครั้งยังพบฝูงปลากระโดดเล่นน้ำและแหวกว่ายอยู่กลางน้ำที่ใสสะอาดอีกด้วย
น้ำตกตาดหมอก เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มีจำนวน 3 ชั้น ความสูงรวมประมาณ 50 เมตร ตั้งอยู่บริเวณดอยแม่จอก ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 3 กิโลเมตร
น้ำตกผาแดง เป็นน้ำตกหลายชั้น โดยมีชั้นที่มีขนาดใหญ่จำนวน 4 ชั้น ชั้นที่สูงที่สุดประมาณ 15 เมตร ตั้งอยู่ใกล้กับถ้ำละโอ่ง ห่างจากบ้านเชตวัน ตำบลสันทะ อำเภอนาน้อย ประมาณ 5 กิโลเมตร
ดอยกู่สถาน เป็นดอยที่มีความสูงถึง 1,630 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงาม อากาศหนาวเย็นตลอดปี
ถ้ำละโอ่ง เป็นถ้ำขนาดใหญ่ มีความยาวประมาณ 1.8 กิโลเมตร ภายในถ้ำมีลำธารไหลผ่าน และมีหินงอกหินย้อยที่มีความสวยงาม
ดอยแม่จอก เป็นยอดดอยที่มีความสูง 1,424 เมตรจากระดับน้ำทะเล อากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี เป็นสถานที่ตากอากาศและจุดชมทิวทัศน์ มีวิวทิวทัศน์ของเทือกเขาที่เรียงรายสลับซับซ้อน สามารถมองเห็นความงดงามของดวงอาทิตย์ขึ้นในยามเช้าและทะเลหมอกที่เป็นผืนขนาดใหญ่กว้างไกลสุดสายตา
กาดวัว ในอดีตเคยเป็นที่ชุมนุมของวัวแดงและกระทิง ตั้งอยู่บนยอดดอยขุนห้วยย่าทาย ห่างจากหมู่บ้านนาก้า ประมาณ 5 กิโลเมตร ต้องเดินเท้าเข้าไป 6 ชั่วโมง จากจุดนี้สามารถมองเห็นทะเลหมอกในตอนเช้าช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว
น้ำตกขุนลี เป็นน้ำตกที่มีขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 100 เมตร อยู่บริเวณดอยกู่สถาน การเดินทางไม่สะดวก ต้องเดินเท้าผ่าดงทาก ประมาณ 4 ชั่วโมง จึงจะถึงตัวน้ำตก
สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ 
   อุทยานแห่งชาติ ยังไม่ที่พัก-บริการไว้บริการนักท่องเที่ยว มีแต่สถานที่กางเต็นท์ให้บริการนักท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นอุทยานแห่งชาติจัดตั้งใหม่ หากสนใจที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวต้องจัดเตรียมเต็นท์และอาหารไปเอง
การเดินทาง
   รถยนต์ ใช้เส้นทางจากตัวจังหวัดแพร่ได้ 2 เส้นทาง คือ
   1. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 (ถนนยนตรกิจโกศล) เป็นเส้นทางจากตัวจังหวัดแพร่ไปจังหวัดน่าน มาตามเส้นทางประมาณ 66 กิโลเมตรจะถึงหม่บ้านห้วยแก๊ต ให้เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางหลวง 1216 ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ระยะทางประมาณ 24 กิโลเมตร
   2. จากจังหวัดน่าน ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1026 สายอำเภอเวียงสา - อำเภอนาน้อย และจากอำเภอนาน้อยเลี้ยวขวา ไปถึงที่ทำการอุทยาน ระยะทางประมาณ 33 กิโลเมตร
   สำหรับการเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ลำนำน่านตอนบนเขื่อนสิริกิต์ ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 ไปถึงอำเภอเวียงสาเลี้ยวขวาไปตามถนนเจ้าฟ้า ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1026 จากอำเภอเวียงสา อำเภอนาน้อย ระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร และจากอำเภอนาน้อยไปตามถนนลาดยางไปอำเภอนาหมื่น ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร และจากอำเภอนาหมื่นแยกเลี้ยวซ้ายไปตามถนนลาดยางไปบ้านปากนาย ระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร

บทความที่ได้รับความนิยม