Holiday-Tourismthailand

ท่องเที่ยว สูตรอาหารไทย อาหารเพื่อสุขภาพ ทั่วไทย เกาะช้าง เกาะเสม็ด เกาะกูด ภูกระดึง ระยอง หัวหิน พัทยา เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และ สถานที่ท่องเที่ยว ต่างๆ.

Custom Search

อำเภอด่านช้าง
   ถ้ำเวฬุวัน ตั้งอยู่ในบริเวณวัดวังคัน ห่างจากอำเภอด่านช้างประมาณ 14 กิโลเมตร ห่างจากทางเข้าอุทยานแห่งชาติพุเตย 1 กิโลเมตร มีบันไดคอนกรีตขึ้นถึงบริเวณปากถ้ำ จำนวน 61 ขั้น สภาพภายในถ้ำ มีไฟฟ้าสว่างพอให้นักท่องเที่ยวเห็นสภาพภายในถ้ำ ซึ่งมีหินงอกและ หินย้อยสวยงาม และมีพระพุทธรูปจำลองปางป่าเลไลยก์ให้นักท่องเที่ยวได้สักการะบูชา นอกจากนั้นในบริเวณวัด ทางอำเภอได้จัดทำเป็นสวนไผ่เทิดพระเกียรติ มีพันธุ์ไผ่ต่าง ๆ ปลูกไว้ประมาณ 10 กว่าชนิด
   เขื่อนกระเสียว บริเวณสันเขื่อนต้องเดินขึ้นบันไดจากลานจอดรถด้านล่าง เมื่อขึ้นไปถึงจะมองเห็นทิวทัศน์กว้างไกลสุดสายตาถึงเขาพุเตย มีร้านอาหารส้มตำไก่ย่างบริการใกล้ลานจอดรถ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อที่เขื่อนกระเสียว โทร. 0 3559 5120
   อุทยานแห่งชาติพุเตย มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 198,422 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด คือ ป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำและป่าเขาห้วยพลู อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรีและวนอุทยานถ้ำเขาวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่า ชุกชุม เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารด้านการเกษตรของจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดกาญจนบุรี บนยอดเขามีป่าสนสองใบหลายพันต้นและยังเป็นจุดชมวิวที่สวยงาม
   จุดที่น่าสนใจของอุทยานแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ตามสถานที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานดังนี้
   หน่วยพิทักษ์อุทยานที่ 1 (พุเตย) บ้านป่าขี อำเภอด่านช้าง หากเดินทางจากเส้นทางหลวงหมายเลข 333 จะเห็นป้ายไปอุทยานแห่งชาติพุเตยอีก 18 กิโลเมตรจะถึงที่หน่วยพิทักษ์นี้ก่อน จากจุดนี้มีพื้นที่สำหรับให้นักท่องเที่ยวกางเต็นท์พักแรมได้ มีนิทรรศการเกี่ยวกับป่าไม้สำหรับผู้สนใจ
   ที่ทำการอุทยานแห่งชาติพุเตย ตั้งอยู่ ณ บ้านห้วยหินดำ ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง เดินทางจากหน่วยพิทักษ์อุทยานที่ 1 (พุเตย) ไปประมาณ 12 กิโลเมตร
   ศาลเลาด้า ตั้งอยู่ระหว่างทางจากหน่วยพิทักษ์อุทยานที่ 1 (พุเตย) ไปที่ทำการอุทยานแห่งชาติพุเตย สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเครื่องบินเลาด้าแอร์ตกเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2534 มีผู้เสียชีวิต 223 คน
ป่าสนสองใบธรรมชาติ อยู่บนเทือกเขาพุเตย ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานที่1(พุเตย) ประมาณ 12 กิโลเมตร สามารถเดินทางไปได้โดยรถขับเคลื่อนสี่ล้อแล้วเดินเท้าต่อเข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร ระหว่างทางเดินจะผ่านจุดชมวิว และผ่านเนินสนสองใบ สามารถพักค้างคืนกางเต็นท์ได้บริเวณป่าสนสองใบ
   ต้นปรงยักษ์ อยู่บนเทือกเขาพุเตย เจริญเติบโตขึ้นผสมกับสนสองใบ อายุประมาณ 200-300 ปี สูง 6-8 เมตร
   หมู่บ้านกะเหรี่ยงตะเพินคี่ อยู่ใกล้น้ำตกตะเพินคี่ เป็นหมู่บ้านปลอดอบายมุขของมึนเมาทุกประเภท กะเหรี่ยงตะเพินคี่ เป็นกะเหรี่ยงด้ายเหลือง นับถือศาสนาพุทธ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปีตลอด 3 วัน 3 คืน จะมีงานพิธีไหว้จุฬามณี ซึ่งนับถือกันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำจากไม้ไผ่เหลาแหลมปักไว้ที่ลานหมู่บ้าน
   น้ำตกตะเพินคี่ อยู่ห่างจากอำเภอด่านช้างประมาณ 51 กิโลเมตร ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติพุเตย บ้านห้วยหินดำ 33 กิโลเมตร เป็นน้ำตก 2 ชั้น มีน้ำไหลตลอดปี ผืนป่าและต้นน้ำตะเพิ่นคี่ยังคงสภาพสมบูรณ์ มีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่มากว่า 200 ปี เป็นป่าที่ยังคงสภาพความเป็นธรรมชาติอย่างสวยงาม เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย
   หน่วยพิทักษ์อุทยานฯที่ 2 (พุกระทิง) บ้านวังโหรา อ.ด่านช้าง
   อ่างเก็บน้ำลำตะเพิน อยู่ที่บ้านวังโหรา เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ อยู่ใกล้ที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานฯที่ 2 (พุกระทิง)
   น้ำตกพุกระทิง ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ 2 (พุกระทิง) ประมาณ 7 กิโลเมตร ใกล้อ่างเก็บน้ำ ลำตะเพิน
   การเดินทางและที่พัก อุทยานแห่งนี้อยู่ห่างจากอำเภอด่านช้างประมาณ 80 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดสุพรรณบุรี ประมาณ 160 กิโลเมตร จากอำเภอด่านช้างไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 333 ผ่าน ถ้ำเขาเวฬุวันไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะเห็นป้ายไปอุทยานแห่งชาติพุเตยอีก 18 กิโลเมตร และเลยผ่านบ้านป่าขีไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร จะถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานฯที่ 1 (พุเตย) รถยนต์ที่ใช้ควรเป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อ ที่มีกำลังแรงสูง
   ที่ทำการอุทยานฯ ไปทางอำเภอบ้านไร่ ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร ทางซ้ายมือจะมองเห็นป้ายหมู่บ้านวังคุ้น แล้วเลี้ยวเข้าไปประมาณ 14 กิโลเมตร หรือ ห่างจากอำเภอด่านช้างไปประมาณ 50 กิโลเมตร
   อุทยานมีศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลานกางเต็นท์ สนใจเดินทางไปอุทยานแห่งชาติพุเตย ติดต่อ ตู้ปณ. 19 อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี 72180 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ 2 (พุกระทิง) โทร. 0 3552 9215, หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ เขาสน โทร 0 1934 2240

อำเภอเดิมบางนางบวช
   วัดวัดเขาขึ้น หรือ วัดเขานางบวช (วัดพระอาจารย์ธรรมโชติ) ห่างจากจังหวัดประมาณ 51 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 340 กิโลเมตรที่ 138-139 มีทางลาดยางขึ้นไปจนถึงวัดซึ่งตั้งอยู่บนเขานางบวช หรือจะเดินขึ้นบันได 249 ขั้น ไปจนถึงยอดเขาก็ได้ พระอาจารย์ธรรมโชติเป็นพระที่มีความสำคัญใน ศึกชาวบ้านบางระจัน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านเครื่องรางของขลัง ชาวบ้านบางระจันจึงนิมนต์ไปเป็นขวัญและกำลังใจในการสู้รบกับพม่า ภายในวิหารพระอาจารย์ธรรมโชติประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ด้านนอกวิหาร จะเห็น เจดีย์หินแผ่น เป็นหินแผ่นบางๆวางซ้อนเป็นรูปเจดีย์ขนาดไม่สูงมากตั้งอยู่ติดกับวิหาร ในโบสถ์ หลังใหม่มีรูปปั้นอาจารย์ธรรมโชติ เมื่อยืนอยู่บนยอดเขาสามารถชมทิวทัศน์อันสวยงามของอำเภอเดิมบาง นางบวชได้อย่างทั่วถึง
   วัดหัวเขา ตั้งอยู่หมู่ 2 ตำบลหัวเขา ในตัวอำเภอเดิมบางนางบวช ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 60 กิโลเมตร ผ่านเข้าตัวอำเภอเดิมบางนางบวช แล้วไปตามทางหลวงหมายเลข 3350 ประมาณกิโลเมตรที่ 2-3 เมื่อถึงวัดหัวเขาจะเห็นบันไดขึ้น-ลงเขาทำด้วยคอนกรีตจำนวนรวม 212 ขั้น ทุกปีทางวัดจะจัดงานประเพณี ตักบาตรเทโว ซึ่งเป็นพิธีทำบุญของชาวไทยในเทศกาลออกพรรษา งานเริ่มหลังจากวันออกพรรษา 1 วัน คือ แรม 2 ค่ำ เดือน 11 มีผู้คนมาร่วมทำบุญเป็นจำนวนมาก
   วัดเดิมบาง ห่างจากจังหวัดประมาณ 55 กิโลเมตร สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดได้แก่ ธรรมาสน์ที่สร้างโดยช่างชาวจีน เป็นศิลปะไทยผสมจีน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2458 สร้างเสร็จ พ.ศ. 2466 ปัจจุบันเก็บไว้บนศาลา การเปรียญ นอกจากนั้นที่หอสวดมนต์ยังเก็บของมีค่าของวัดไว้ 3 ชิ้น ได้แก่ ฝาบาตรมุก ตาลปัตร และปิ่นโต ซึ่งรัชกาลที่ 5 พระราชทานแก่วัด ทางวัดเก็บรักษาไว้อยู่ในสภาพดี และยังมีมณฑปและหอระฆังที่ก่อสร้างอย่างประณีตสวยงาม ส่วนภายในพระอุโบสถที่บูรณะใหม่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังสภาพสมบูรณ์
   บึงฉวาก เป็นบึงน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,700 กว่าไร่ อยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองสุพรรณประมาณ 64 กิโลเมตร บึงฉวากมีพื้นที่ติดกับอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาทและอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนที่อยู่ในเขตอำเภอเดิมบางนางบวชมีพื้นที่ประมาณ 1,700 ไร่ บึงฉวากได้รับประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่ามาตั้งแต่ปี 2526 และในปี พ.ศ. 2541 ได้รับการจัดให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติตามอนุสัญญาแรมซาร์ ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี เนื่องจากความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์ที่มีในบึง ลักษณะที่เรียกว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำตามอนุสัญญาแรมซาร์ คือ พื้นที่ลุ่ม พื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่ลุ่มชื้นแฉะ พื้นที่ฉ่ำน้ำ มีน้ำท่วม น้ำขัง พื้นที่พรุ พื้นที่แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้าง ทั้งที่มีน้ำขังหรือน้ำท่วมถาวรและชั่วคราว ทั้งแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล แหล่งน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม รวมไปถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเลและทะเลในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดต่ำสุด น้ำลึกไม่เกิน 6 เมตร ซึ่งบึงฉวากเข้าข่ายลักษณะดังกล่าว คือเป็นบึงน้ำจืด ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีความลึกเฉลี่ยประมาณ 1-3 เมตร พื้นที่บึงฉวากอยู่ในความดูแลของหน่วยราชการ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตรและอุตสาหกรรม กรมป่าไม้ เป็นต้น
   บึงฉวากให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดสุพรรณบุรี ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตร มีสถานที่ ท่องเที่ยวน่าสนใจอยู่ในความดูแลเช่น อุทยานผักพื้นบ้านเฉลิมพระเกียรติบึงฉวาก ซึ่งประกอบด้วยศูนย์ข้อมูล ห้องนิทรรศการแสดงผลผลิตทางการเกษตร ศูนย์บริการท่องเที่ยวเกษตร เรือนเพาะชำกล้าไม้ อุทยาน เปิดให้เขาชมทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร 0 1948 9214 หรือสำนักงานเกษตร อำเภอเดิมบางนางบวช โทร. 0 3557 8061
   ในส่วนของกรมป่าไม้ มีอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยว จัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าชนิดต่างๆ มีตู้จำลองระบบนิเวศและห้องฉายวิดีทัศน์ ด้านนอกมีกรงเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าหายาก กรงนก กรงเสือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก เปิดทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-17.00 น. เสาร์-อาทิตย์ 08.00-18.00 น. โทร. 0 3543 9206
   การเดินทาง จากถนนสายตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี (ทางหลวงหมายเลข 340) เมื่อถึงอำเภอเดิมบางนางบวช สามารถเข้าไปได้ 2 ทางคือ เมื่อถึงสี่แยกทางเข้าตัวอำเภอเดิมบางนางบวช เลี้ยวซ้ายขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน ตรงไปจนพบสามแยกตัดกับถนนเลียบคลอง ชลประทาน ให้เลี้ยวขวาไปตามถนนเลียบคลองชลประทาน
อีกเส้นทางหนึ่งไปตามทางหลวงหมายเลข 340 หลักกิโลเมตรที่ 147 ด้านซ้ายมือจะเห็นโรงเรียน วัดเดิมบางนางบวช ให้เลี้ยวซ้ายเข้าซอยข้างโรงเรียน ข้ามแม่น้ำแล้วตรงไปเรื่อยๆ เมื่อถึงสามแยกตัดกับ ถนนเลียบคลองชลประทานให้เลี้ยวขวาไปตามถนน จนพบสะพานข้ามคลองชลประทานด้านซ้ายมือ ให้เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานแล้วตรงไปเรื่อยๆ จะเห็นบึงฉวาก
อำเภออู่ทอง
   ทวารวดี พระพุทธรูปสมัยทวารวดี อาคารที่ 2 จัดแสดงห้องชาติพันธุ์วิทยาและลูกปัดที่ค้นพบในเมืองอู่ทอง ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยทวารวดี ส่วนลานกลางแจ้งสร้างเป็นเรือนแบบลาวโซ่ง จัดแสดง วัฒนธรรมประเพณี การแต่งกาย เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวลาวโซ่ง พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 0 3555 1040
   วัดเขาพระศรีสรรเพชญาราม เดิมชื่อ วัดเขาพระ ห่างจากจังหวัดประมาณ 34 กิโลเมตร ตั้งอยู่ที่ถนนมาลัยแมน ในตัวอำเภออู่ทอง ใกล้หอนาฬิกาบรรหาร-แจ่มใส เข้าซอยไปประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าตั้งแต่สมัยทวารวดี เพราะ มีโบราณวัตถุหลายชิ้น เช่น พระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ซึ่งสลักจากเนื้อหิน เทวรูปจักรนารายณ์เนื้อหิน บนยอดเขาพบซากเจดีย์อยุธยา 1 องค์ และยังมีรอยพระพุทธบาทจำลองแกะสลักด้วยหินเขียวธรรมชาติ ประดิษฐานไว้ในมณฑปบนยอดเขาอีกด้วย ทุกปี มีงานนมัสการพระพุทธไสยาสน์ 2 ครั้ง คือ วันขึ้น 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 12 กับ วันขึ้น 14-15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 5
   วนอุทยานพุม่วง ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลจระเข้สามพัน ห่างจากจังหวัดประมาณ 40 กิโลเมตร ไปทางหลวงหมายเลข 321 กิโลเมตรที่ 128-129 แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 3342 ไป 500 เมตร จะเห็นทางเข้า วนอุทยานพุม่วงทางขวามือ อุทยานแห่งนี้มีเนื้อที่ประมาณ 1,725 ไร่ สภาพพื้นที่เป็นป่าเบญจพรรณสลับกับ ป่าไผ่รวก ภายในวนอุทยานมีสิ่งที่น่าสนใจได้แก่
   เส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทาง 1.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ระหว่างทางเดินจะเห็นไม้เบญจพรรณจำพวกไม้มะค่า ไผ่ จันทน์กะพ้อ จันทน์ผา
   คอกช้างดินสมัยทวารวดี อยู่ไม่ไกลจากที่ทำการ อายุราว 1,500 ปี จำนวน 3 คอก มีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่
ฐานวิหารศิลาแลงสมัยทวารวดี สันนิษฐานว่าใช้เป็นที่สำหรับกษัตริย์ทำพิธีบวงสรวงสังเวยเพื่อ คล้องช้างป่า
น้ำตกพุม่วง ซึ่งมีชื่อปรากฏอยู่ในวรรณกรรมเรื่องขุนช้างขุนแผน มีทั้งหมด 5 ชั้น ตลอดเส้นทางที่ น้ำตกไหลผ่าน จะผ่านจุดที่น่าสนใจ คือ คอกช้างดินและฐานศิลาแลง หากขึ้นไปบนเทือกเขาพระจะเห็นพันธุ์ไม้นานาชนิดอาทิ เช่น จันทน์กะพ้อ และปรงเผือก มี ลานหิน ที่มีก้อนหินน้อยใหญ่วางสลับกัน บางแห่งก็รวมกันเป็นเชิงชั้น มีต้นปรงขึ้นสลับ เป็นป่าใกล้เมืองที่หาได้ยากแห่งหนึ่ง
   หากต้องการพักค้างแรมควรติดต่อขออนุญาตล่วงหน้าและเตรียมอาหารไปเอง สอบถามข้อมูล เพิ่มเติมได้ที่ วนอุทยานพุม่วง ตำบลจระเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี 72160 โทร. 0 1943 5188
   วัดเขาดีสลัก ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลดอนคา ห่างจากอำเภออู่ทอง 8 กิโลเมตร สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ รอยพระพุทธบาทจำลองสร้างด้วยหินทรายสีแดง มีลักษณะแตกต่างจากรอยพระพุทธบาทที่พบที่อื่น คือ รอยพระพุทธบาทนูน ขนาดกว้างประมาณ 65.5 เซนติเมตร ยาว 141.5 เซนติเมตร นักโบราณคดีให้ความเห็นว่าเป็นศิลปะสมัยทวารวดี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-16 มีทางรถขึ้นไปชมรอยพระพุทธบาทบนยอดเขา ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ทางวัดปรับปรุงภูมิทัศน์บนยอดเขา มองเห็นวิวทิวทัศน์สวยงามในเขตอำเภออู่ทองโดยรอบ นอกจากนี้ยังพบโพรงหินภายในมีพระพุทธรูป และโบราณวัตถุต่าง ๆ อีกหลายชนิด
   วัดไผ่โรงวัว ตั้งอยู่ที่ตำบลบางตาเถร ห่างจากตัวจังหวัดสุพรรณบุรีประมาณ 43 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 70 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี มีทางแยกซ้ายก่อนถึงสามแยก ลาดบัวหลวงเข้าสู่วัดไผ่โรงวัว หรือ หากมาตามทางหลวงหมายเลข 3422 กิโลเมตรที่ 18-19 วัดนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2469 เป็นวัดที่มีพุทธศาสนิกชน และบุคคลทั่วไปนิยมไปเที่ยวชมกันมากเพราะท่านพระครูอุทัยภาคาธร (หลวงพ่อขอม) ได้ดำเนินการก่อสร้าง “พระพุทธโคดม” เป็นพระพุทธรูปโลหะสำริดองค์ใหญ่ที่สุด ในประเทศไทย และยังมี “พระวิหารร้อยยอด” และ “พระธรรมจักร” หล่อด้วยทองสำริดใหญ่ที่สุดในโลก รวมทั้ง สิ่งก่อสร้างอื่นๆ อีกมากมาย เป็นวัดที่โดดเด่นวัดหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี
   วัดทับกระดาน ไปตามทางหลวงหมายเลข 3387 ประมาณ 7 กิโลเมตร แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 3351 กิโลเมตรที่ 10 อำเภอสองพี่น้องเป็นอำเภอบ้านเกิดของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ นักร้องเพลงลูกทุ่งชื่อดังซึ่งมีคนนิยมฟังเพลงของเธอมากมายและ ได้เสียชีวิตไป ทำให้แฟนเพลงเสียใจกันมาก จึงมีการเก็บรวบรวมเสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้ ที่ใช้ในการร้องเพลง รวมทั้งรูปถ่ายจากข่าวหนังสือพิมพ์ไว้ในโบสถ์ของวัดนี้ เนื่องจาก พุ่มพวงคุ้นเคยกับวัดนี้ตั้งแต่เด็ก นอกจากนี้บริเวณศาลาท่าน้ำจะมีรูปวาดของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ที่มีคนนำมาให้เพื่อแก้บน ด้านหน้าวัดมีร้านขายของสด แห้งต่างๆ เช่น น้ำพริก หน่อไม้ ผลไม้ต่างๆ ทุกปีจะมีการจัดงานครบรอบวันเสียชีวิตของนักร้องผู้นี้ มีผู้คนมาร่วมงานจำนวนมาก

อำเภอดอนเจดีย์
   พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ อยู่ที่ตำบลดอนเจดีย์ อยู่ห่างจากจังหวัดประมาณ 31 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 322 (สุพรรณบุรี-ดอนเจดีย์) ประกอบด้วย พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จ พระนเรศวรมหาราช ทรงพระคชาธารออกศึก และ องค์เจดีย์ยุทธหัตถี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสร้างเจดีย์ขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะในสงครามยุทธหัตถีที่ทรงมีต่อพระมหา อุปราชาแห่งพม่าเมื่อเดือนมกราคม ปี พ.ศ.2135 และในปี พ.ศ. 2495 กองทัพบกได้บูรณะปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์ขึ้นใหม่ โดยสร้าง เป็นเจดีย์แบบลังกาทรงกลมใหญ่ สูง 66 เมตร ฐานกว้างด้านละ 36 เมตร ครอบเจดีย์องค์เดิมไว้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเสด็จไปประกอบพิธีบวงสรวงและเปิดพระบรมรา ชานุสรณ์ดอนเจดีย์เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2502 ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 25 มกราคม ของทุกปี เป็นวันถวายราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์ ดอนเจดีย์และถือเป็นวันกองทัพไทย พร้อมกันนั้นทางจังหวัดได้จัดให้มีงานเฉลิมฉลองพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ ทุกปี เลยจากเจดีย์ไปประมาณ 100 เมตร เป็นที่ตั้งของ พระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภายในมีรูปปั้นของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระสุพรรณกัลยา มีผู้นิยมไปสักการะบูชาอยู่เสมอ
   โบราณสถานบึงหนองสาหร่าย อยู่ห่างจากจังหวัดประมาณ 40 กิโลเมตร เลยพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ ไปตามทางหลวงหมายเลข 3038 ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นหนองน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามยุทธหัตถีสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับ พระมหาอุปราชาแห่งพม่า สมเด็จพระนเรศวรทรงเลือกบริเวณหนองสาหร่ายเป็นที่ตั้งทัพ เพราะน้ำบริเวณหนองสาหร่ายมีมากพอที่จะให้ทหารจำนวนแสนคน พร้อมช้าง ม้าได้อาศัยเป็นเวลาแรมเดือน ประกอบกับเป็นชัยภูมิที่ตั้งสูงห่างข้าศึก ปัจจุบันสภาพหนองน้ำตื้นเขินและมีเนื้อที่เหลือที่เป็นหนองน้ำเพียง 29 ไร่ บริเวณโดยรอบมีต้นไม้เรียงรายร่มรื่น เนื่องจากสภาพทรุดโทรมนักท่องเที่ยวไม่นิยมมาท่องเที่ยว
อำเภอบางปลาม้า
   อุทยานมัจฉา วัด ป่าพฤกษ์ อยู่ที่ตำบลบ้านแหลม ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 17 กิโลเมตร ทางหลวงหมายเลข 340 กิโลเมตรที่ 86 จะเห็นป้ายทางเข้าจากนั้นไปตาม ทางหลวงหมายเลข 3351 กิโลเมตรที่ 10 บริเวณหน้าวัดมีฝูงปลาโดยเฉพาะปลายสวาย ปลาเทโพ ปลานิล เป็นจำนวนมาก นักท่องเที่ยวสามารถยืนชม และให้อาหารปลาได้อย่างใกล้ชิดบริเวณริมแม่น้ำซึ่งทางวัดก่อสร้างเป็นเขื่อน ทางเท้าริมน้ำยาวประมาณ 100 เมตร
อำเภอศรีประจันต์
   บ้านควาย ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 340 (สุพรรณบุรี-ศรีประจันต์) กิโลเมตรที่ 115-116 เป็นสถานที่รวบรวมวิถีชีวิตแบบพื้นบ้านภาคกลาง มีพื้นที่ 100 กว่าไร่ แบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ เช่น หมู่บ้าน ชาวนาแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย มีลานนวดข้าว คอกควาย โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ บ้านเรือนไทยภาคกลาง เรือนแต่ละหลังมีกิจกรรมสำหรับผู้สนใจ เช่น เรือนแพทย์แผนไทย การนวดแผนไทย และการใช้สมุนไพร เรือนโหราศาสตร์ มีลานแสดงควายช่วงเช้าแสดงรอบ 11.00-11.30 น. ช่วงบ่ายรอบ 16.30-17.00 น. ด้านหน้าทางเข้ามีร้านขายสินค้าที่ระลึกของบ้านควายสำหรับนักท่องเที่ยว บ้านควายเปิดให้เข้าชมทุกวัน วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00-18.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ 09.30-18.30 น. ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างประเทศ 300 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สำนักงานกรุงเทพฯโทร. 0 2619 6326-9 สำนักงานสุพรรณบุรีโทร 0 3558 1668 เว็บไซต์ : www.buffalovillages.com
   วัดบ้านกร่าง จากทางหลวงหมายเลข 340 ผ่านอำเภอศรีประจันต์ เข้าทางหลวงหมายเลข 3038 กิโลเมตรที่ 14-15 ริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรีคนละฝั่งกับที่ว่าการอำเภอศรีประจันต์ ห่างจากจังหวัดประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นวัดที่มีกรุ พระขุนแผนบ้านกร่าง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังสงครามยุทธหัตถีระหว่าง สมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชา ลักษณะเป็นพระคู่ ด้านใต้ของวัดมีเจดีย์องค์หนึ่งอายุประมาณ 100 ปี บริเวณหน้าวัดริมแม่น้ำมีปลาอาศัยจำนวนมาก ทางวัดจัดจำหน่ายอาหารปลา ถือ เป็นอุทยานมัจฉา แห่งหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี จะสังเกตเห็นเรือนแถวหน้าทางเข้าวัดบ้านกร่าง เป็นเรือนแถวไม้สองชั้น แบบโบราณ บรรยากาศเงียบสงบ สะท้อนความเป็นอยู่เรียบง่ายแบบดั้งเดิมของผู้คนแถวนั้น

 อุทยานแห่งชาติพุเตย เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งเดียวในจังหวัดสุพรรณบุรี ครอบคลุมพื้นที่ในอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบด้วยป่าที่สมบูรณ์ เทือกเขาสลับซับซ้อนมีความลาดชันมาก ส่วนที่สูงที่สุดเรียกว่า “ยอดเขาเทวดา” มีระดับความสูง 1,123 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย มีป่าสนสองใบธรรมชาติที่สวยงามเหมาะที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ มีเนื้อที่ประมาณ 198,422 ไร่ หรือ 317.48 ตารางกิโลเมตร
ประวัติความเป็นมา
   เนื่องด้วยกรมป่าไม้ได้พิจารณาเห็นว่าพื้นที่ป่าไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำ ป่าเขาห้วยพลู ท้องที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเดิมเป็นวนอุทยานพุเตย วนอุทยานพุกระทิง วนอุทยานเตรียมการตะเพินคลี่ และป่าไม้ข้างเคียงมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ สมควรที่จะอนุรักษ์ไว้ ดังนั้นกรมป่าไม้จึงมีคำสั่ง ที่ 1224/2537 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2537 ให้นายพันเทพ อันตระกูล นักวิชาการป่าไม้ 6 ไปดำเนินการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติม และจัดตั้งวนอุทยานพุเตย วนอุทยานพุกระทิง ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำ จังหวัดสุพรรณบุรี และจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ จากผลการสำรวจพบว่า ประกอบไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า เช่น พันธุ์ไม้ ของป่า สัตว์ป่านานาชนิด ตลอดจนทิวทัศน์ ป่า ภูเขา เกาะ และน้ำตก ที่สวยงามยิ่ง สมควรกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่อสงวนไว้ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมมิให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไป
   คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำ และป่าเขาห้วยพลู ในท้องที่ตำบลองค์พระ ตำบลห้วยขมิ้น ตำบลนิคมกระเสียว ตำบลวังยาว และตำบลด่านช้าง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติพุเตย โดยประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 67 ก ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2541 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 85 ของประเทศไทย
ลักษณะภูมิประเทศ
   สภาพทั่วไปเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนมีความลาดชันมาก ประกอบด้วยเขาผาแดง เขาพุเตย เขาพุระกำ เขาปลักหมู เขาขโมย เขาม่วงเฒ่า เขาปะโลง และเขาห้วยพลู โดยมียอดเขาเทวดา สูงสุด มีระดับความสูง 1,123 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเทือกเขาเหล่านี้เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยที่สำคัญหลายสาย ได้แก่ ลำตะเพิน ห้วยเหล็กไหล ห้วยองคต ห้วยองค์พระ ห้วยท่าเดื่อ ห้วยขมิ้น ซึ่งไหลลงเขื่อนกระเสียว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี
ลักษณะภูมิอากาศ
   ภูมิอากาศทั่วไปช่วงต้นปีอากาศค่อนข้างร้อน และมีฝนตกชุกตลอดปี โดยเฉพาะช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม จะมีปริมาณน้ำบริเวณน้ำตกไหลมากกว่าปกติ
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
   สภาพป่าโดยทั่วไปยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก ประกอบด้วย ป่าสนสองใบธรรมชาติ ป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังผสมป่าดิบแล้ง พรรณไม้ที่สำคัญได้แก่ เหียง พลวง แดง ชิงชัน ประดู่ มะค่าโมง ไผ่ป่าต่าง ๆ สนสองใบ
   สัตว์ป่ามีอยู่ชุกชุมมาก เนื่องจากมีแหล่งน้ำและแหล่งอาหารสมบูรณ์ สัตว์ป่าทั่วไปได้แก่ เสือ เก้ง ชะนี หมี นางอาย หรือลิงลม เม่น งูจงอาง งูเห่า หมูป่า อีเห็น ลิง ฯลฯ

แหล่งท่องเที่ยว
   ป่าสนสองใบ อยู่ บนเทือกเขาพุเตย ห่างจากบ้านป่าขีด และที่ทำการอุทยานแห่งชาติพุเตย ประมาณ 7 กิโลเมตร ทางไปจะผ่านศาลเลาด้าห์ ซึ่งเครื่องบินโดยสารเลาด้าห์แอร์ตก เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2534 มีผู้เสียชีวิต 223 คน มีต้นสนสองใบขนาด 2-3 คนโอบ อายุประมาณ 200-300 ปี ขึ้นอยู่ทั้งหมด 1,376 ต้น เมื่อขึ้นไปถึงบนป่าสนสองใบจะสามารถชมวิวทิวทัศน์ได้กว้างไกล มองเห็นเหมือนทะเลภูเขาซึ่งมีลมเย็นพัดผ่านตลอดเวลา เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบเดินป่าชมความงามของพฤกษชาติ
   น้ำตกตะเพินคลี่ อยู่เลยไปจากน้ำตกพุกระทิง โดยใช้เส้นทางจากทุ่งมะกอกไปบ้านป่าผากแล้วเลี้ยวซ้ายขึ้นเขาไปบ้านตะเพิน คลี่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวกระเหรี่ยงเก่าแก่ อยู่ติดเขตแนวกันชนมรดกโลก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นหมู่บ้านปลอดอาวุธทุกประเภท น้ำตกตะเพินคลี่ ห่างจากหมู่บ้านเล็กน้อย เป็นน้ำตกที่สวยงามที่สุดมีน้ำตกไหลตลอดปี มองจากน้ำตกจะเห็นยอดเขาเทวดาสูง 1,123 เมตร น้ำตกแห่งนี้เคยมีการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวที่สำคัญของทางจังหวัด สุพรรณบุรี
   ถ้ำนาคี หมีน้อย ห้อยระย้า และผาใหญ่ อยู่ใกล้ที่ทำการอุทยานแห่งชาติพุเตย (บ้านป่าขีด) ห่างจากอำเภอด่านช้างประมาณ 30 กิโลเมตร มีหินงอก หินย้อย ที่สวยงามตามธรรมชาติ เป็นที่ชุมนุมของสัตว์ป่าอาทิเช่น หมี งูจงอาง เม่น อ้น สุนัขจิ้งจอก หมูป่า และค้างคาวมากมาย ถ้ำแห่งนี้อยู่ในเขาตู่ตี่ซึ่งมีต้นจันทร์ผา บัวสวรรค์ ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น
   น้ำตกตาด(ใหญ่) จากทางแยกศาลเลาด้าห์ไปป่าสนสองใบธรรมชาติอีกด้านหนึ่งเดินทางเข้าไปตามป่าสมบูรณ์ ธรรมชาติเต็มไปด้วย ต้นไม้ สัตว์ป่าชุกชุม เดินตามร่องห้วย ไปทางเท้าเข้าหมู่บ้านกกเชียง ตำบลห้วยขมิ้น อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี อีกประมาณ 4 กิโลเมตร ก็พบน้ำตกตาด(ใหญ่) เป็นน้ำตกที่มีบรรยากาศร่มรื่นเย็นมาก มีพืชชั้นล่างพันธุ์ไม้ เฟิร์น มอส เกาะตาม รากไม้กิ่งไม้ดูเขียวขจี น้ำตกมีหลายชั้นใกล้กันแต่ละชั้นมีแอ่งหรืออ่างธรรมชาติไม่ลึก นักท่องเที่ยวสามารถลงไปเล่นน้ำตกหรือตั้งแคมป์ พักผ่อน ได้อย่างสบายใจและปลอดภัย
   ผาใหญ่ เป็นหน้าผาสูงบริเวณเขาตู่ตี่ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 2 กม. บนเขายังมีถ้ำย้อยระย้า ซึ่งมีหินงอกหินย้อยงดงาม ยามกระทบแสงจะส่องประกายแวววาว การเดินทางขึ้นสู่ถ้ำลำบากพอสมควร บางช่วงต้องปีนไต่ไปตามไหล่เขา
   น้ำตกพุกระทิง อยู่ที่บ้านคลองเหล็กไหลใกล้บ้านวัง โหรา จะมีทางลูกรังเข้าไปถึงน้ำตกพุกระทิง จากอำเภอด่านช้างถึงน้ำตกพุกระทิง มีอ่างเก็บน้ำลำตะเพินตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมีหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ พต. 2 (พุกระทิง) ประจำอยู่พร้อมที่จะบริการให้ความสะดวกและรักษาความปลอดภัยแก่ผู้มาใช้ บริการ น้ำตกพุกระทิงแม้จะมีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่ก็สวยงามด้วยสายน้ำที่ไหลลดหลั่นลงมาถึง 9 ชั้น มีน้ำเฉพาะในหน้าฝน
สิ่งอำนวยความสะดวก อุทยานแห่งชาติพุเตย ได้จัดสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว
การเดินทาง
   รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ให้ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 340 (บางบัวทอง-สุพรรณบุรี) จนกระทั่งถึงทางแยกเข้าสู่อำเภอเดิมบางนางบวช ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร จากนั้นให้เลี้ยวซ้ายผ่านอำเภอเดิมบางนางบวช ระยะทางประมาณ 33 กิโลเมตรแล้วเลี้ยวขวาอีกครั้งเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 733 มุ่งหน้าสู่ตัวเมืองอำเภอด่านช้าง ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร
   จากกรุงเทพฯใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) เข้าสู่ตัวจังหวัดนครปฐม จากนั้นให้เลี้ยวขวาที่สามแยกมาลัยแมน เข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 321 มุ่งหน้าสู่อำเภออู่ทอง ระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร และจากอำเภออู่ทอง ให้ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 333 เข้าสู่อำเภอด่านช้าง อีก 50 กิโลเมตร
   จากอำเภอด่านช้างใช้เส้นทางสาย 333 (ด่านช้าง-บ้านไร่)ไปอีก 15 กิโลเมตรก็จะพบทางแยกเข้าบ้านวังดินเข้าไปที่บ้านป่าขีดอีก 15 กิโลเมตร (ทางลาดยาง) แล้วต่อด้วยทางลูกรัง จากบ้านป่าอีเข้าสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติพุเตย อีก 3 กิโลเมตร
สถานที่ติดต่อ
   อุทยานแห่งชาติพุเตย ตู้ ปณ. 19 ป.ท.ด่านช้าง,อ. ด่านช้าง จ. สุพรรณบุรี 72180 โทรศัพท์ : 035 - 529 215

จังหวัดสุพรรณบุรี อยู่ห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 100 กิโลเมตร เป็นเมืองที่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย ทั้งทางประวัติศาสตร์และทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ วัดเขาขึ้นของพระอาจารย์ธรรมโชติผู้สร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวบ้านบางระจัน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง อุทยานแห่งชาติพุเตย บึงฉวาก และ มีขนมขึ้นชื่ออย่างสาลี่สุพรรณ
   สุพรรณบุรีเป็นเมืองสมัยโบราณ พบหลักฐานทางโบราณคดี มีอายุไม่ต่ำกว่า 3,500-3,800 ปี โบราณวัตถุที่ขุดพบมีทั้งยุคหินใหม่ ยุคสัมฤทธิ์ ยุคเหล็ก สืบทอดวัฒนธรรม
ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิ เดิมจังหวัดสุพรรณบุรีมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เมืองทวารวดีศรีสุพรรณภูมิ” หรือ “พันธุมบุรี”    ต่อมาเมื่อพระเจ้ากาแต (เชื้อสายไทยปนพม่า) เสด็จขึ้นครองราชย์ และย้ายเมืองมาอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำท่าจีน ได้ทรงสร้างวัดสนามชัยและบูรณะวัดป่าเลไลยก์ ทรงชักชวนข้าราชการออกบวช จำนวน 2,000 คน จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “สองพันบุรี” ครั้นพระเจ้าอู่ทองทรงย้ายเมืองไปอยู่ทางฝั่งใต้ (ทิศตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน) เมืองนี้จึงมีชื่อใหม่ว่า “อู่ทอง” จนกระทั่งลุเข้าสมัยขุนหลวงพะงั่ว จึงเปลี่ยนชื่อเป็น สุพรรณบุรี ในที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นเมืองต้นกำเนิด วรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน อันเป็นวรรณคดีสำคัญเรื่องหนึ่งของของชาติไทย เมื่อไปถึงจังหวัดสุพรรณบุรี เราจะได้สัมผัสบรรยากาศของวรรณกรรมเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็น ชื่อตำบล ชื่อบ้าน ชื่อถนนและชื่อสถานที่ สำคัญต่างๆ ในท้องเรื่องยังมีปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น บ้านรั้วใหญ่ วัดเขาใหญ่ ท่าสิบเบี้ย ไร่ฝ้าย วัดป่าเลไลยก์ วัดแค ถนนนางพิม ถนนขุนไกร อำเภออู่ทองและอำเภอศรีประจันต์
   สุพรรณบุรี มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 5,358 ตารางกิโลเมตร แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 10 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอบางปลาม้า อำเภอศรีประจันต์ อำเภอดอนเจดีย์ อำเภอเดิมบางนางบวช อำเภออู่ทอง อำเภอสามชุก อำเภอหนองหญ้าไซ อำเภอสองพี่น้อง และอำเภอด่านช้าง
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดชัยนาท และจังหวัดอุทัยธานี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดอ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และสิงห์บุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดนครปฐม
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดกาญจนบุรี

การเดินทาง
   รถยนต์ สามารถใช้เส้นทางในการเดินทางได้หลายเส้นทาง ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ 1 ชั่วโมง ดังนี้
   1. จากกรุงเทพฯ ผ่านอำเภอบางบัวทอง ไปจนถึงตัวจังหวัดสุพรรณบุรี หรือ จากกรุงเทพฯ ผ่านนนทบุรี อำเภอบางบัวทอง ไปจนถึงตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ 107 กิโลเมตร
   2. จากกรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดปทุมธานี อำเภอลาดหลุมแก้ว ไปจนถึงตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ 115 กิโลเมตร
   3. จากกรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปจนถึงตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ 132 กิโลเมตร
   4. จากกรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดสิงห์บุรี อำเภอเดิมบางนางบวช ไปจนถึงตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ 228 กิโลเมตร
   5. จากกรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดอ่างทอง ไปจนถึงตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร
   6. จากกรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดนครปฐม อำเภอกำแพงแสน ไปจนถึงตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ 164 กิโลเมตร
   รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการรถโดยสารประจำทางออกจาก สถานีขนส่ง หมอชิต ถนนกำแพงเพชร 2 ไปจังหวัดสุพรรณบุรีทุกวัน ทั้งรถธรรมดา และปรับอากาศ ติดต่อสอบถาม รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2537 8055 และมีรถออกจาก สถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 20 นาที ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม รถธรรมดา โทร. 0 2434 5557-8 และ รถปรับอากาศ โทร. 0 2435 1199-200
   รถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย มีขบวนรถไฟออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงไปสถานีรถไฟจังหวัดสุพรรณบุรีทุกวัน วันละ 1 เที่ยว จากกรุงเทพฯ 16.40 น.ถึงสุพรรณบุรี 19.32 น. และเที่ยวกลับ จากสุพรรณบุรี 05.00 น. ถึง กรุงเทพฯ 08.10 น. ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยบริการเดินทาง โทร. 0 2223 7010, 0 2223 7020, 1690 หรือ เว็บไซต์ www.srt.or.th

ระยะทางจากอำเภอเมืองสุพรรณบุรีไปยังอำเภอใกล้เคียง
   อำเภอบางปลาม้า 10 กิโลเมตร
   อำเภอศรีประจันต์ 20 กิโลเมตร
   อำเภอดอนเจดีย์ 31 กิโลเมตร
   อำเภออู่ทอง 32 กิโลเมตร
   อำเภอสามชุก 39 กิโลเมตร
   อำเภอเดิมบางนางบวช 54 กิโลเมตร
   อำเภอหนองหญ้าไซ 58 กิโลเมตร
   อำเภอสองพี่น้อง 70 กิโลเมตร
   อำเภอด่านช้าง 77 กิโลเมตร
ระยะทางจากจังหวัดสุพรรณบุรีไปยังจังหวัดใกล้เคียง
   พระนครศรีอยุธยา 31 กิโลเมตร
   อ่างทอง 44 กิโลเมตร
   ปทุมธานี 80 กิโลเมตร
   นนทบุรี 89 กิโลเมตร
   กาญจนบุรี 91 กิโลเมตร

บทความที่ได้รับความนิยม