Holiday-Tourismthailand

ท่องเที่ยว สูตรอาหารไทย อาหารเพื่อสุขภาพ ทั่วไทย เกาะช้าง เกาะเสม็ด เกาะกูด ภูกระดึง ระยอง หัวหิน พัทยา เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และ สถานที่ท่องเที่ยว ต่างๆ.

Custom Search


หลวงปู่ศุข นามเดิมท่านชื่อ ศุข นามสกุล เกษเวช ต่อมาลูกหลานได้ใช้ เกษเวชสุริยาก็มี เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน 4 ขึ้น 8 ค่ำ ปีวอก พ.ศ. 2390 ที่บ้านมะขามเฒ่า (เรียกกันในสมัยนั้น ปัจจุบันเรียกบ้านปากคลอง) ตำบลมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท โดยมบิดาชื่อน่วม โยมมารดาชื่อทองดี ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลนี้ มีบุตรและธิดาด้วยกัน 9 คน (1) หลวงปู่ศุข (2) นางอ่ำ (3) นายรุ่ง (4) นางไข่ (5) นายสิน (6) นายมี (7) นางขำ (8) นายพลอย (9) หลวงพ่อปลื้ม หลวงพ่อปลื้ม หลวงปู่นั้นท่านมีลุงคนหนึ่งชื่อ แฟง ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบางเขน จังหวัดพระนคร (ในสมัยนั้น) มีอาชีพทำสวน ไม่มีบุตรหรือธิดาด้วยกัน จึงได้มาขอหลานจากโยมหลวงปู่ศุขไปเลี้ยงสักคน โยมหลวงปู่ศุขก็อนุญาตให้เลือกเอา ลุงแฟงก็เลือกเอาคนโต หรือเรียกว่าคนหัวปี คือ หลวงปู่ศุข เข้าใจว่าขณะนั้นอายุประมาณ 10 ขวบ เมื่อหลวงปู่ศุขไปอยู่กับลุงแฟงเจริญเติบโตที่ตำบลบางเขนจนอายุได้ 18 ปี ก็ได้ภรรยาคนหนึ่งชื่อสมบุญอยู่ครองคู่กันโดยประกอบอาชีพทำสวน ต่อมาได้กำเนิดบุตรชาย 1 คน ชื่อ สอน การอุปสมบทของหลวงปู่ศุขนั้นท่านได้อุปสมบทเมื่ออายุได้ 25 ปี ที่วัดโพธิ์บางเขน (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดโพธิ์ทองล่าง) โดยมี พระครูเชย จนฺทสิริ วัดโพธิ์บางเขนเป็นพระอุปัชฌาย์ พระถมยาเป็นพระคู่สวด การอุปสมบทนี้มีลุงแฟงเป็นผู้อุปการะทั้งสิ้น ส่วนโยมบิดามารดาไม่ได้มาร่วมพิธีด้วยเพราะการเดินทางในสมัยนั้นลำบากมาก จากชัยนาทถึงกรุงเทพฯ ก็กินเวลาอย่างน้อย 2 ถึง 3 วัน จึงจะถึง เมื่อได้อุปสมบทแล้วอยู่กับพระอุปัชฌาย์ เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยพอสมควรแล้ว ท่านก็ได้ออกเดินธุดงค์หาที่สงบฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐาน และวิชาอาคมต่าง ๆ จากสำนักที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยนั้นจนชำนาญดีแล้ว จึงกราบลาอาจารย์กลับมาบ้านเกิดของท่าน โดยมาพักอยู่ที่วัดร้างแห่งหนึ่งข้างหมู่บ้านของท่าน ชื่อวัดอู่ทอง ปัจจุบันนี้เรียกวัดปากคลอง ชาวบ้านแถวนั้นมีความศรัทธาเลื่อมใสจึงได้นิมนต์ให้ท่านจำพรรษาอยู่ที่นั้น เพื่อที่ว่าจะได้สร้างวัดขึ้นมาใหม่ ดังนี้ท่านจึงได้อยู่ ณ ที่นั้นมาจนท่านมรณภาพ ในระหว่างที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้น ได้เริ่มพัฒนาในท้องถิ่นให้เจริญรุ่งเรืองด้วยจากวัดร้างที่ไม่มีอะไรเลย จนถึง พุทธาวาส ธรรมาวาส และสังฆาวาส เป็นวัดที่สมบูรณ์แบบจนถึงทุกวันนี้ยังมีพระอุโบสถและมณฑปปรากฏให้เห็นอยู่ ส่วนการอบรมสั่งสอนนั้นท่านได้แนะแนวการประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ให้เห็นคุณและโทษของผลการปฏิบัติตนในทางที่ดีหรือไม่ดีอย่างไร จนประชาชนแถวนั้นมีความประพฤติดีมีศีลธรรมเป็นส่วนมาก
อนึ่ง มีผู้กล่าวว่าท่านมีวิชาอาคมเวทย์มนต์เก่งมาก สามารถเสกใบไม้ให้เป็นตัวต่อ ตัวแตน เสกหัวปลีให้เป็นกระต่าย เสกก้านกล้วยให้เป็นงูได้ และเรื่องอภินิหารของขลัง คงกระพันชาตรี มีอีกมากจนถึงกับสมเด็จกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ในราชวงศ์จักรีได้มาทดลองดู เห็นจริงจึงได้ยอมตนมอบตัวเป็นศิษย์ตั้งแต่นั้นมา และได้วาดภาพพุทธประวัติด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ที่อุโบสถด้านในหน้าอุโบสถซึ่งปรากฏจนทุกวันนี้ หลวงปู่ศุข ท่านมีเมตตามากจึงมีศิษย์เป็นอันมากที่มาเรียนวิชาเหล่านี้ ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูวิมลคุณากร และเป็นเจ้าคณะแขวง (ปัจจุบันเรียกว่าเจ้าคณะอำเภอ) เป็นองค์แรกของอำเภอวัดสิงห์ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเมื่อใด ท่านมรณภาพเมื่อ เดือน 1 ปีกุน พ.ศ. 2466 ไม่ปรากฏที่ที่แน่นอน คำนวณอายุได้ 76 ปี วันสวดพระพุทธมนต์ทำศพอยู่ 7 วัน 7 คืน จึงประชุมเพลิง
ปัจจุบันชาวจังหวัดชัยนาทผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ได้ร่วมกันสร้างรูปหุ่นขี้ผึ้งไว้ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า เพื่อจะได้ทำการสักการะบูชาโดยทั่วกัน กรมทหารเรือเห็นความสำคัญ จึงได้ทำการบูรณะซ่อมแซมมณฑปเมื่อ พ.ศ. 2545 ทำให้ประชาชนทั้งใกล้และไกลต่างจังหวัด หลั่งไหลมาสักการะบูชาทุก ๆ วันมิได้ขาด วัดปากคลองมะขามเฒ่า จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจังหวัดชัยนาทต่อไป

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม