Holiday-Tourismthailand

ท่องเที่ยว สูตรอาหารไทย อาหารเพื่อสุขภาพ ทั่วไทย เกาะช้าง เกาะเสม็ด เกาะกูด ภูกระดึง ระยอง หัวหิน พัทยา เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และ สถานที่ท่องเที่ยว ต่างๆ.

Custom Search

งานประเพณี
• งานประจำปีจังหวัดชลบุรี เป็นงานประจำปีที่ชาวจังหวัดชลบุรีได้ร่วมกันจัดติดต่อกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยรวมงานนมัสการพระพุทธสิหิงค์ งานสงกรานต์ และงานกาชาดไว้ด้วยกัน โดยถือเอาประมาณกลางเดือนเมษายนของทุกปีเป็นวันจัดงานกิจกรรมของงานประกอบไปด้วย ขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ พิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การละเล่นพื้นบ้าน การแสดงโขน ของกรมศิลปากร และการแสดงทางวัฒนธรรม นิทรรศการ และการออกร้าน ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริม และรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น ตลอดจนปลูกฝังคุณค่าด้านศิลปวัฒนธรรมไว้สืบไป
• งานประเพณีวันไหล คือวันทำบุญขึ้นปีใหม่ของชาวทะเลในช่วงวันสงกรานต์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-20 เมษายน ของทุกปี ของชาวจังหวัดชลบุรี มีการทำบุญตักบาตร สรงน้ำ ก่อพระเจดีย์ทราย เล่นสาดน้ำ และกีฬาพื้นบ้าน ในจังหวัดชลบุรี พื้นที่ที่จัดงานประเพณีวันไหล ดังนี้
งานประเพณีวันไหล พัทยา-นาเกลือและงานกองข้าวนาเกลือ กำหนดจัดงานในวันที่ ๑๘-๑๙-๒๐ เดือนเมษายน ของทุกปี ณ บริเวณสวนสาธารณลานโพธิ์ นาเกลือ และวัดชัยมงคล พัทยาใต้ โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีรดน้ำดำหัว ขบวนแห่วันไหล การสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานของประชาชน และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย ชาวต่างประเทศ
• งานประเพณีสงกรานต์ศรีมหาราชาและงานประเพณีกองข้าว เป็นประเพณีอันเก่าแก่ของชาวเมืองชลบุรี ปัจจุบันมีที่อำเภอศรีราชาที่ยังคงรักษาประเพณีนี้อยู่ โดยจัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๑ เมษายน เพื่อเป็นการบวงสรวงเทพเทวดาที่ปกป้องคุ้มครองมาตลอดปี กิจกรรมของงานประกอบด้วยการจัดขบวนแห่ที่นำโดยกลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่แต่งกายด้วยชุดไทย เข้าร่วมขบวน พิธีบวงสรวง และเซ่นสังเวยผี การสาธิตประเพณีกองข้าว การละเล่นพื้นบ้าน การสาธิต และจำหน่ายขนมพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง
• งานประเพณีก่อพระทรายวันไหล บางแสน เป็นงานประเพณีที่ชาวตำบลแสนสุขได้ถือปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยโบราณ เดิมเรียกว่า “งานทำบุญวันไหล” คือ การที่ประชาชนในหมู่บ้านต่าง ๆ ได้มาทำบุญร่วมกันเนื่องในเทศกาลวันสงกรานต์ หรือวันปีใหม่ของไทย จัดทุกวันที่ ๑๖-๑๗ เมษายน ของทุกปี โดยการนิมนต์พระทุกวัดที่อยู่ในเขตตำบลแสนสุขมาประกอบพิธีสงฆ์ มีการทำบุญ ตักบาตร สรงน้ำ หลังจากนั้นก็เป็นกิจกรรมก่อพระเจดีย์ทราย เล่นสาดน้ำ การละเล่น และกีฬาพื้นบ้าน เป็นต้น
• งานบุญกลางบ้านและเครื่องจักสานพนัสนิคม เป็นงานประเพณีที่สืบทอดกันมาช้านานของชาวอำเภอพนัสนิคม ซึ่งจะจัดขึ้นในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ของสัปดาห์แรกเดือนพฤษภาคม หรือเดือน ๖ ของไทย ชาวบ้านจะนำอาหารมาร่วมกันทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้พระภูมิเจ้าที่เจ้ากรรมนายเวร ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อขับไล่สิ่งเลวร้าย ให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารสมบูรณ์ หลังพิธีสงฆ์จะมีการรับประทานอาหารร่วมกัน การละเล่นพื้นบ้าน และสาธิตการทำเครื่องจักสานพนัสนิคม
• งานประเพณีวิ่งควาย เป็นประเพณีเก่าแก่ของจังหวัดชลบุรี เริ่มต้นจากชาวบ้านในท้องที่ต่าง ๆ นำเวียนเทียมควายบรรทุกสินค้ามาจอดพักแถบบ้านท่าเกวียนในตัวเมืองชลบุรี ระหว่างนั้นได้นำควายมาวิ่งแข่งกันเพื่อความสนุกสนานจนกลายเป็นประเพณี โดยจัดขึ้นในเดือนตุลาคมของทุกปี นอกจากอำเภอเมืองแล้ว ยังมีการจัดที่อำเภอบ้านบึง อำเภอหนองใหญ่ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ในวันงานชาวไร่ ชาวนาจะตกแต่งควายของตนอย่างสวยงาม และนำควายมาชุมนุมกันที่บริเวณสนามหน้าเมืองชลบุรี มีการแข่งขันวิ่งควาย ประกวดสุขภาพควาย ประกวดการตกแต่งควาย ประกวดนางงาม "น้องนางบ้านนา" เป็นต้น

สินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึก
จังหวัดชลบุรีมีสินค้าพื้นเมืองที่น่าซื้อหามากมายสำหรับเป็นของฝากทั้งอาหาร ข้าวของเครื่องใช้และของตกแต่งบ้าน
• ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป จำพวก กุ้งแห้ง ปลาเค็ม ปลาหมึกแห้งและปรุงรส กะปิ น้ำปลา ฯลฯ แหล่งจำหน่ายอยู่ที่ตลาดหนองมน
อาหารท้องถิ่น ได้แก่ ห่อหมก แจงลอน (เครื่องปรุงคล้ายห่อหมก ปั้นเป็นก้อนกลมเสียบไม้ย่าง) หอยจ๊อ และขนมหวานนานาชนิด ได้แก่ กล้วยฉาบ เผือกฉาบ ผลไม้กวน ผลไม้แช่อิ่ม ขนมจากและที่ขึ้นชื่อที่สุดคือข้าวหลาม ซึ่งมีความหวานมันเป็นที่รู้จักของนักชิมโดยทั่วไป ส่วน ผลไม้ ได้แก่ ขนุน สับปะรด และมะพร้าวอ่อน มีแหล่งจำหน่ายที่ตลาดหนองมน นอกจากนี้ยังมีอาหารพื้นบ้าน ได้แก่ แกงลาว (แกงข้นทำจากหน่อไม้และใบย่านาง) ขนมก้นถั่ว (คล้ายขนมถ้วยทำจากแป้งและกะทิ) มีขายในตลาดสดทรัพย์สินในตัวเมืองชลบุรี เมี่ยงก๋วยเตี๋ยวและก๋วยเตี๋ยวเป็ด อาหารขึ้นชื่อของอำเภอบ้านบึง
• ผลิตภัณฑ์จากหิน เช่น ครกหิน หินลับมีด หินแกะเป็นรูปสัตว์ สิงห์ ช้าง ม้า และอื่น ๆ จำหน่ายกันมากที่ อ่างศิลา ซึ่งอยู่ระหว่างทางจากชลบุรีไปบางแสน
• ผลิตภัณฑ์จากกระดาษใยสับปะรด ผลิตที่ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากใยกระดาษสับปะรด ได้แก่ กล่อง-ถุงใส่ไวน์ กล่องกระดาษทิชชู กล่องใส่เครื่องหอม อัลบั้มรูป แฟ้มใส่เอกสาร ชุดซองจดหมาย กล่องกระดาษโน้ต นอกจากนั้นยังผลิตกระดาษลูกผสม กระดาษจากใยกล้วย และกระดาษจากผักตบชวาเป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๑๗๒๓ ๐๓๓๙
• เครื่องจักสานพนัสนิคม เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบสานต่อจากบรรพบุรุษชาวลาว มีชื่อเป็นที่รู้จักกันในความประณีต โดยเฉพาะของพื้นบ้าน คือ กระจาดและฝาชี แหล่งผลิตใหญ่อยู่ที่ตำบลไร่หลักทอง ห่างจากตัวอำเภอตามเส้นทางไปฉะเชิงเทรา ๔ กิโลเมตร มีจำหน่ายที่ ตลาดจักสาน บริเวณถนนเกาะแก้ว หลังตลาดสดเทศบาล (ตลาดเก่า) นอกจากนี้ ที่ศูนย์ส่งเสริมฝีมือการจักสานด้วยไม้ไผ่ ตามโครงการพระราชดำริ สอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ โทร. ๐ ๓๘๔๖ ๑๓๑๓ ข้างโรงเจ ถนนอินทอาษา ก็มีการผลิตเครื่องจักสานซึ่งออกแบบสวยงาม ลวดลายละเอียดเป็นพิเศษ ส่งไปจำหน่ายที่ศูนย์ศิลปาชีพสวนจิตรลดา
• ผลไม้ดินปั้น ผลิตที่บ้านหนองพรหม หมู่ที่ ๑๒ ตำบลนาเริก อำเภอพนัสนิคม ตามเส้นทางสายพนัสนิคม-เกาะโพธิ์ เส้นทางหลวงหมายเลข ๓๒๔๖ ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร มีการปั้นดินเหนียวเป็นผลไม้ต่าง ๆ ขนาดย่อส่วนนำไปตากแดดจนแห้งแล้วนำไปทาสีให้เหมือนของจริง จากนั้นนำไปผึ่งให้แห้งสนิท เหมาะสำหรับเป็นของขวัญ หรือของประดับบ้าน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม