Holiday-Tourismthailand

ท่องเที่ยว สูตรอาหารไทย อาหารเพื่อสุขภาพ ทั่วไทย เกาะช้าง เกาะเสม็ด เกาะกูด ภูกระดึง ระยอง หัวหิน พัทยา เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และ สถานที่ท่องเที่ยว ต่างๆ.

Custom Search

อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง เดิมเป็นที่รู้จักกันในนามของ “น้ำตกลำปี” ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 กรมป่าไม้จัดตั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็น “วนอุทยานเขาลำปี” และกำหนดให้อยู่ในความคุมดูแลของกองอุทยานแห่งชาติ ในวันที่ 14 เมษายน 2529 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 52 ของประเทศไทยรวมเนื้อที่ประมาณ 72 ตารางกิโลเมตร หรือ 45,000 ไร่
ลักษณะภูมิประเทศ
   อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง เป็นพื้นที่ทางทิศตะวันออกของชายฝั่งทะเลอันดามัน มีสภาพพื้นที่แยกจากกันเป็น 2 ส่วน คือ บริเวณหาดท้ายเหมืองและบริเวณเทือกเขาลำปี บริเวณหาดท้ายเหมืองซึ่งอยู่ริมทะเลอันดามัน ปลายสุดของหาดเป็นแหลม เรียกว่า แหลมอ่าวขาม (เขาหน้ายักษ์) ทางด้านตะวันออกของพื้นที่แห่งนี้มีคลองน้ำกร่อยขนาดใหญ่ น้ำจืดส่วนใหญ่ไหลมาจากเทือกเขาลำปี ซึ่งมีสภาพเป็นป่าดงดิบพื้นที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน เรียงตัวยาวไปตามแนวเหนือ-ใต้ เรียกว่า เทือกเขาลำปี มีสภาพพื้นที่แปรเปลี่ยนสูงขึ้น 40-100 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลางบริเวณรอบๆ เขตอุทยานแห่งชาติสู่พื้นที่ภูเขาสูงในตอนกลางของอุทยานแห่งชาติ ยอดเขาสูงสุดคือ เขาขนิม อยู่ทางเหนือของพื้นที่ มีความสูง 622 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ลักษณะภูมิอากาศ
   ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งมีกำลังแรงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม พัดพาความชุ่มชื้นจากมหาสมุทรอินเดียมายังแผ่นดิน ทำให้เกิดฝนตกชุก พื้นที่นี้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือน้อย เนื่องจากมีเทือกเขาสูงทอดตัวในแนวเหนือ-ใต้ เป็นแนวกั้น ทำให้ลมมีกำลังอ่อนลง อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรงก็สามารถก่อให้เกิดฝนตกได้ ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน เป็นช่วงฤดูแล้ง ท้องฟ้ามีเมฆปกคลุมน้อยลง อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นขณะที่ปริมาณฝนจะมีน้อย ดังนั้น ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยว คือเดือนธันวาคม–เดือนมีนาคม
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
   จาการศึกษาสภาพอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง พบว่าสังคมพืชในเขตอุทยาน สามารถจำแนกออกได้เป็น 4 ประเภท ดังต่อไปนี้
   ป่าดงดิบ พบในบริเวณที่เป็นเทือกเขาสูงชัน เช่น เขาขนิม เขาลำปี และทางด้านตะวันออกของหาดท้ายเหมืองบางส่วน เทือกเขาลำปีมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์มาก พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยาง กระบากแดงควน ตะเคียนทอง พิกุลป่า ส่วนพืชพื้นล่างประกอบด้วย หวายและไผ่ชนิดต่าง ๆ
   ป่าชายเลน ป่าชนิดนี้ขึ้นอยู่ในดินเลนริมทะเล และบริเวณปากน้ำใหญ่ๆ พบอยู่บริเวณชายเลนทุ่งมะพร้าว และคลองหินลาดตามแนวทิศตะวันออกของหาดท้ายเหมือง มีห้วยดินเลนลึกเหมาะแก่การเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ป่าชายเลน พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ถั่วดำและถั่วขาว เป็นต้น
   ป่าชายหาด มีลักษณะเป็นป่าโปร่งพบตลอดแนวพื้นที่ของหาดท้ายเหมือง พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ สนทะเล หูกวาง หยีทะเล และจิกเล เป็นต้น
   ป่าบึงหรือป่าพรุ สังคมพืชชนิดนี้เกิดขึ้นในที่ที่มีน้ำขังเกือบตลอดปีพบอยู่ในบริเวณศูนย์กลางพื้นที่หาดท้ายเหมืองสภาพดินเป็นดินทรายละเอียดขาวนวล สังคมพืชที่เด่นชัดในป่านี้คือ สภาพที่เป็นป่าเสม็ดล้วน
   สัตว์ป่าแบ่งตามประเภทของสัตว์ป่าได้ดังนี้
   สัตว์ป่าประเภทนก ที่พบทั้งหมด คือ 188 ชนิด เช่น เหยี่ยวแมลงปอขาดำ เหยี่ยวผึ้ง เป็นต้น
   สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบทั้งหมด 64 ชนิด สัตว์ป่าสงวน 2 ชนิด คือ สมเสร็จและเลียงผา ส่วนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทอื่นๆ ได้แก่ ค้างคาวมงกุฎ ค้างคาวหน้ายักษ์ ชะนีมือขาว หมีหมา เป็นต้น
   สัตว์เลื้อยคลาน พบทั้งหมด 57 ชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง 26 ชนิด สัตว์ที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง 31 ชนิด ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง 2 ชนิด คือ เต่ามะเฟือง และเต่าหญ้าตาแดง สัตว์ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ 2 ชนิด คือ เต่าตนุ และเต่ากระ และสัตว์เลื้อยคลานที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ 4 ชนิดได้แก่ เต่าหก เต่าจักร งูหลามปากเป็ด และงูกะปะค่างหรืองูปาล์ม
   สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สำรวจพบทั้งหมด 16 ชนิด มีสถานภาพตามกฎหมายเพียง 2 ชนิด คือ จงโคร่ง และกบทูด นอกนั้นไม่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายอีก 14 ชนิด เช่น กบนา เป็นต้น
   ปลาน้ำจืด สำรวจพบ 31 ชนิด มีเพียงชนิดเดียวที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ คือ ปลาแขยงหิน หรือ ปลาแขยงขีด และสำหรับปลานิล จัดเป็นปลาน้ำจืดต่างถิ่นที่พบในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ และปลาหายาก ได้แก่ ปลากดดำ และปลาหลด ส่วนปลาที่พบชนิดอื่นๆ เช่น ปลาดุกลำพัน ปลาหัวตะกั่ว เป็นต้น
บ้านพักและสิ่งอำนวยความสะดวก
    ทางอุทยานมีบ้านพัก ลานกาเต้นท์ ร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว
แหล่งท่องเที่ยว
   ชายหาดท้ายเหมือง เป็นหาดที่มีลักษณะค่อนข้างตรงและยาวจากอำเภอท้ายเหมืองไปจนถึงเขาหน้ายักษ์ แต่ไม่เหมาะในการเล่นน้ำ (โดยเฉพาะในช่วงมรสุมที่มีคลื่นลมแรง) เนื่องจากชายฝั่งมีความลาดชันมาก    หาดท้ายเหมืองเป็นหาดที่มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน–มีนาคม ของทุกปี ได้จัดให้มีงานประเพณีปล่อยเต่าเป็นประจำทุกปี
   ทุ่งหญ้าบัว ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 800 เมตร อยู่ในส่วนของหาดท้ายเหมือง

   น้ำตกโตนบางปอ เป็นน้ำตกที่ไหลลดเลี้ยวตามป่าที่สมบูรณ์ ปัจจุบันมีถนน ร.พ.ช. ตัดเลียบชายป่าน้ำตก ไปบ้านอินทนิล และบ้านบางทอง แต่ยังไม่ถึงน้ำตก ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 25 กิโลเมตร
   น้ำตกโตนไพร สูงประมาณ 50 เมตร ด้านล่างเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่เหมาะแก่การเล่นน้ำ เกิดจากเขาโตนบ้านไทร สภาพป่าโดยรอบมีความสมบูรณ์ดี
   น้ำตกลำปี ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาลำปี มีจำนวน 4 ชั้น ชั้นล่างเป็นอ่างน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่อยู่ห่างจากถนนเพชรเกษมตรงข้ามบ้านลำปีตามทางลาดยาง เป็นระยะทางประมาณ 1.8 กิโลเมตร
การเดินทาง
   รถยนต์ เดินทางตามทางหลวงแผ่นดินซึ่งจะมีสายหลักๆ 3 สาย คือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 เส้นทางถนนเพชรเกษม เป็นทางหลวงแผ่นดินสายหลักของภาคใต้ดป็นทางเรียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกรวมระยะทางจากกรุเทพฯ ถึง พังงา ประมาณ 839 กิโลเมตร
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 401 ซึ่งจะแยกจากทางหลวงหมายเลข 4 ที่อำเภอตะกั่วป่า ผ่านจังหวัดสุราษฎร์ธานี สิ้นสุดเส้นทางที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 402 เส้นทางสายโคกกลอย-ภูเก็ต
   เครื่องบิน เนื่องจากจังหวัดพังงาอยู่ห่างจากสนามบินภูเก็ตซึ่งเป็นสนามบินนานาชาติเพียง 66 กิโลเมตร ดังนั้นการเดินทางเข้าสู่จังหวัดพังงาด้วยเครื่องบินจึงค่อนข้างสะดวกสบายพอควร แล้วเดินทางต่อโดยรถยนต์ตามทางหลวงหมายเลข 4 ประมาณ 57 กิโลเมตร ถึงตลาดท้ายเหมือง เดินทางต่อมาอีกประมาณ 6 กิโลเมตรถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
   รถโดยสารประจำทาง ใช้บริการของบริษัทขนส่งจำกัด สายกรุงเทพฯ-พังงา โดยมีอัตราค่าโดยสารรถธรรมดา 425 บาท และรถปรับอากาศ 495 บาท และจากพังงาถึงอุทยานแห่งชาติระยะทาง 62 กิโลเมตร ค่าโดยสารรถธรรมดา 30 บาท และรถโดยสารปรับอากาศ 45 บาท รถสองแถว 20 บาท
สถานที่ติดต่อ
   อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง หมู่ 5 ต.ท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา 82120

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม