Holiday-Tourismthailand

ท่องเที่ยว สูตรอาหารไทย อาหารเพื่อสุขภาพ ทั่วไทย เกาะช้าง เกาะเสม็ด เกาะกูด ภูกระดึง ระยอง หัวหิน พัทยา เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และ สถานที่ท่องเที่ยว ต่างๆ.

Custom Search

อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ประกาศเป็นเขตอุทยานฯ เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2529 มีพื้นที่ทั้งหมด 45,000 ไร่ แยกออกเป็นสองส่วน คือ เทือกเขาลำปี ประกอบด้วยภูเขาหลายลูกเรียงเป็นแนวยาว ส่วนใหญ่เป็นหินอัคนี อายุอยู่ในช่วง 60–140 ล้านปี สภาพป่าเป็นป่าดงดิบ มีพันธุ์ไม้ เช่น ไม้ยาง ตะเคียนทอง กระบาก เฟิร์น หวาย ไผ่ มียอดเขาที่สูงที่สุดคือ ยอดเขาขนิม สูง 622 เมตร และหาดท้ายเหมืองซึ่งอยู่ริมฝั่งทะเลอันดามัน ชายหาดฝั่งตะวันตกเป็นหาดทรายขาว ด้านตะวันออกติดป่าชายเลนและเป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานฯ สัตว์ที่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานฯ ได้แก่ อีเห็น กวางป่า ไก่ป่า นกเขาเปล้าธรรมดา ส่วนในทะเลและชายหาดจะพบ ปลากระเบน ปลากระบอก ปลาบิน ปลาดาว และปะการังกลุ่มเล็ก
สถานที่น่าสนใจภายในเขตอุทยานฯ ได้แก่
หาดท้ายเหมือง อยู่ในเขตสุขาภิบาลท้ายเหมือง มีทางแยกขวาเข้าไปอีก 1.5 กิโลเมตร จากนั้นเข้าถนนเลียบชายหาดไปอีก 5 กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณที่ทำการอุทยานฯ ชายหาดท้ายเหมืองเป็นหาดทรายสะอาดขนานไปกับทางหลวงแผ่นดินมีความยาวกว่า 13 กิโลเมตร น้ำทะเลใส เล่นน้ำได้ ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ จะมีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ จึงมีกิจกรรมเดินดูเต่าไข่ในตอนกลางคืนเดือนหงาย และช่วงที่ไข่เต่าฟักเป็นตัวจะมีการปล่อยเต่าลงทะเล เรียกว่า ประเพณีปล่อยเต่า มีในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี
ทุ่งเสม็ด ทางตอนกลางของหาดท้ายเหมือง เป็นป่าเสม็ดขาวล้วน ในพื้นที่ 1,000 ไร่ สภาพดินเป็นทรายขาวละเอียด
น้ำตกโตนไพร เป็นน้ำตกที่มีความสูงใหญ่ เกิดจากเขาโตนย่านไทร สภาพป่าโดยรอบร่มรื่นมีต้นไม้ใหญ่ การเดินทาง จากอำเภอท้ายเหมือง ตามทางหลวงหมายเลข 4 บริเวณกิโลเมตรที่ 28-29 ให้เลี้ยวขวาเข้าไปอีก 7 กิโลเมตร
น้ำตกลำปี เป็นน้ำตกขนาดกลาง มี 4 ชั้น ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาลำปี ชั้นล่างเป็นอ่างน้ำขนาดใหญ่ มีน้ำตลอดปี ในฤดูฝนจะมีประชาชนนิยมไปพักผ่อนกันมาก การเดินทาง จากอำเภอท้ายเหมือง ตามทางหลวงหมายเลข 4 บริเวณกิโลเมตรที่ 32–33 จะมีทางแยกให้เลี้ยวขวา เข้าไป 2 กิโลเมตร
ที่พัก อุทยานฯ มีบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว จำนวน 3 หลัง พักได้ 5–10 คน ราคา 800-1,000 บาท เต็นท์ ให้เช่าสำหรับ 2-5 คน ราคา 100–200 บาท ในกรณีที่นักท่องเที่ยวนำเต็นท์มาเองเสียค่าพื้นที่กางเต็นท์ คนละ 20 บาท/คืน นักท่องเที่ยวจะต้องนำอาหารมาเอง ทางอุทยานฯ ไม่มีร้านค้าสวัสดิการ ติดต่อรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา 82120 หรือ ส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเล กรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. 0 2561 2918-22
การเดินทาง จากตัวเมืองพังงาใช้เส้นทางสายพังงา-ท้ายเหมือง ระยะทาง 56 กิโลเมตร ให้เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกตลาดท้ายเหมืองประมาณ 6 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานฯ แต่หากเดินทางโดยรถยนต์จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางถนนเพชรเกษมผ่านอำเภอตะกั่วป่าแล้วใช้เส้นทางสายตะกั่วป่า-ท้ายเหมือง ประมาณ 66 กิโลเมตร ก็จะถึงสี่แยกตลาดท้ายเหมือง
บ่อน้ำพุร้อน บ้านบ่อดาน อยู่ตำบลบ่อดาน ห่างจากตัวเมืองพังงา 43 กิโลเมตร ตามเส้นทางพังงา -โคกกลอย เมื่อถึงสี่แยกโคกกลอย ขับตรงไปประมาณ 2 กิโลเมตร จะเห็นป้ายบ่อน้ำพุร้อนให้เลี้ยวขวาเข้าไปอีก 3 กิโลเมตร น้ำพุร้อน บ้านบ่อดาน เป็นของเอกชน รอบบริเวณจัดเป็นสวนสวยงามร่มรื่น มีน้ำแร่อุ่น ๆ ไหลวนเวียนอยู่ในสระเหมาะสำหรับการแช่เพื่อการพักผ่อนคลายความเครียด บรรเทาอาการปวดข้อ กระดูก เหน็บชา ตลอดจนบำรุงผิวพรรณ และเส้นผม เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00–21.00 น. อัตราค่าบริการ ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 20 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 7658 1115, 0 7658 1360
ศูนย์อนุรักษ์อุทยานใต้ทะเลจุฬาภรณ์ อยู่ในกองทัพเรือภาค 3 หมู่บ้านทับละมุ ตำบลลำแก่น ฐานทัพเรือพังงาตั้งขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเลแก่นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป เป็นอาคาร 2 ชั้น แสดงนิทรรศการเกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมทางทะเล การฉายสไลด์มัลติวิชั่นเกี่ยวกับใต้ทะเลอันดามัน ศูนย์ฯ แห่งนี้ เปิดบริการทุกวันไม่เสียค่าเข้าชม ตั้งแต่เวลา 08.30–16.30 น. และทางศูนย์ฯ มีบริการที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 7644 3299–300
บ่ออนุบาลเต่ากองทัพเรือภาค3 อยู่ใกล้ ๆ ศูนย์อนุรักษ์อุทยานใต้ทะเลจุฬาภรณ์ เป็นบ่ออนุบาลและเพาะเลี้ยงเต่าทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งทางฝั่งทะเลอันดามัน มีทั้งเต่าตนุ เต่ากระ และเต่าหญ้า เปิดให้เข้าชมในวัน และเวลาราชการ

อำเภอตะกั่วทุ่ง
วัดสุวรรณคูหา ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลกระโสม ตามทางหลวงหมายเลข 4 (พังงา-ภูเก็ต) ห่างจากตัวเมืองพังงาประมาณ 9 กิโลเมตร บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 30 จะมีถนนลาดยาง แยกเข้าขวามือไปอีก 1 กิโลเมตร วัดสุวรรณคูหานี้ชาวบ้านทั่วไป เรียกว่า “วัดถ้ำ” เป็นวัดสำคัญของจังหวัดพังงา เนื่องจากเป็นโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทางโบราณคดี บริเวณที่ตั้งวัดมีภูเขา ซึ่งมีถ้ำใหญ่น้อย ถ้ำที่สำคัญ ได้แก่ ถ้ำใหญ่ ถ้ำแจ้ง ถ้ำมืด และถ้ำแก้ว โดยถ้ำใหญ่อยู่ตอนล่างสุด ตลอดความยาวของถ้ำประดับตกแต่งด้วยกระเบื้อง ถ้วย จานเชิงลายคราม และเบญจรงค์ ถ้ำใหญ่นี้ใช้เป็นวิหารมีพระพุทธรูปต่าง ๆ ประดิษฐานอยู่หลายองค์ ที่สำคัญคือ พระพุทธไสยาสน์ มีความงดงามมาก นอกจากนั้นยังมีพระปรมาภิไธยย่อของพระเจ้าแผ่นดิน และพระราชวงศ์หลายพระองค์ เช่น จปร. ปปร. ภปร. รพ. เป็นต้น นอกจากนั้นบริเวณหน้าถ้ำยังเป็นที่อยู่อาศัยของฝูงลิงจำนวนมากที่ลงมาหาอาหาร เก็บค่าเข้าชมเฉพาะชาวต่างชาติ คนละ 10 บาท
วนอุทยานน้ำตกรามัญ อยู่ตำบลกระโสม ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขาโตนดิน มีพื้นที่ประมาณ 125 ไร่ วนอุทยานฯ เป็นน้ำตกขนาดกลางมีน้ำไหลตลอดทั้งปี เหตุที่มาของชื่อน้ำตกรามัญ คือ เมื่อสงครามเก้าทัพ ได้มีชาวมอญกลุ่มหนึ่งหนีทัพพม่าขึ้นไปตั้งชุมชนตรงชั้นบนสุดของน้ำตกแห่งนี้ ชาวบ้านจึงรียกว่า “น้ำตกรามัญ” บริเวณต้นน้ำมีลักษณะเป็นเทือกเขาเรียงรายติดต่อกัน สภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์เป็นป่าดงดิบ วนอุทยานฯ ในส่วนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวประกอบด้วยธารน้ำขนาดกลางไหลจากป่าต้นน้ำผ่านหุบเขา และพื้นที่ต่างระดับทำให้เกิดน้ำตกชั้นต่าง ๆ หลายชั้น นอกจากนี้ยังมีสัตว์ป่า ได้แก่ เลียงผา สมเสร็จ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวน ตะพาบน้ำ ปลาซิว ปลาพรวงหิน ปลาเสือ วนอุทยานฯ มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติด้วย นอกเหนือจากน้ำตกรามัญ ยังมีน้ำตกอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีก เช่น โตนใต้ เป็นน้ำตกชั้นล่างสุด หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ตีนล่าง โตนขอนปัก มีลักษณะเป็นสระน้ำขนาดกลาง มีความลึกพอสมควร เหมาะสำหรับการเล่นน้ำ โตนไอ้จุ่น มีลักษณะเหมือนชั้นที่ 2 สามารถลงเล่นน้ำได้ตลอดทั้งปี โตนกลาง เป็นชั้นที่มีธารน้ำตกสูงพอสมควร มีความสวยงาม และเหมาะสำหรับเล่นน้ำใต้ธารน้ำตก โตนหินราว เป็นชั้นน้ำตกที่มีความลึกมาก โตนสาวงาม เป็นน้ำตกชั้นสุดท้ายที่มีความสวยงามเช่นกัน
ที่พัก วนอุทยานฯ ไม่มีบริการบ้านพัก แต่มีสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว โดยจะต้องนำเต็นท์ เตรียมเครื่องนอน-อุปกรณ์ในการพักแรมมาเอง และมีบริการร้านค้าสวัสดิการ ตั้งแต่เวลา 09.00–16.30 น.
การเดินทาง รถยนต์ จากตัวเมืองพังงาไปตามทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม ไปทางตำบลกระโสม ห่างจากตัวเมืองประมาณ 11 กิโลเมตร มีทางแยกขวาเข้าสู่วนอุทยานฯ อีก 6 กิโลเมตร หรือจากอำเภอตะกั่วทุ่ง ตามทางหลวงหมายเลข 4 ประมาณ 10 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายเข้าสู่วนอุทยานฯ รถประจำทาง สามารถจะเช่าเหมาได้จากตลาดในอำเภอเมืองไปวนอุทยานฯ ได้
ชายทะเลท่านุ่น อยู่เชื่อมระหว่างสะพานสารสิน - สะพานเทพกษัตรี ระหว่างจังหวัดพังงาและภูเก็ต จากทางหลวงหมายเลข 4 ตรงเข้าสู่จังหวัดภูเก็ต โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 402 ก่อนถึงเกาะภูเก็ตบริเวณช่องแคบปากพระ จะแลเห็นหาดทรายทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ที่หาดทรายนี้ทุก ๆ ปี จะมีเต่าขึ้นมาวางไข่อยู่เสมอ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม