อุทยานแห่งชาติทะเลบัน ตั้งอยู่ในท้องที่ อ.ควนโดน และอ.เมือง จ.สตูล มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
ทิศเหนือ จดคลองตูโย๊ะ ตำบลวังประจัน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล
ทิศตะวันออก จดเขตอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
ทิศใต้ จดรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย
ทิศตะวันตก จดทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติทะเลบันเป็นภูเขาสลับซับซ้อน พืชพรรณป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูง มีเทือกเขาหินปูนที่ยังไม่สลายตัว จึงถูกปัจจัยธรรมชาติ คือน้ำที่อยู่ใต้ดินเกิดการกัดเซาะทำให้เป็นร่องรอยหรือรูโหว่ขนาดใหญ่ กลายเป็นถ้ำขนาดใหญ่ เช่น ถ้ำโตนดิน ถ้ำผาเดี่ยว ถ้ำลอดปูยู นอกจากนี้การเกิดของบึงทะเลบันก็เช่นเดียวคือเกิดการการยุบตัวของโพรงถ้ำหินปูนใต้ดินระหว่างหุบเขา ยอดเขาสูงสุดพื้นที่นี้คือเขาจีน สูง 756 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ลักษณะภูมิอากาศ
จังหวัดสตูลได้รับอิทธิพลเต็มที่จากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดมาจากมหาสมุทรอินเดีย ในเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ในระยะที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้อ่อนกำลังลงก็จะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากประเทศจีนพัดเข้ามาแทนที่
แต่เนื่องจากจังหวัดสตูลอยู่ทางด้านตะวันตกของฝั่งทะเล จึงไม่ค่อยได้รับอิทธิพลมากนักจากมรสุมนี้ อย่างไรก็ตามในระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ก็ยังมีฝนตกชุกอยู่หลังจากนี้ไปฝนจะเริ่มน้อยลงตามลำดับ ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคมเป็นช่วงที่มีอากาศแห้งแล้ง เนื่องจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้พัดเข้ามาแทนที่ ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นในระยะนี้ โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปี 27.5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 38.9 องศาเซลเซียส ในเดือนเมษายน และอุณหภูมิต่ำสุด 17.0 องศาเซลเซียส ในเดือนกุมภาพันธ์ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปี 2,280.9 มิลลิเมตร เดือนที่มีฝนตกน้อยที่สุด คือ เดือนมกราคม วัดได้โดยเฉลี่ย 7.2 มิลลิเมตร เดือนที่มีฝนตกมากที่สุด คือ เดือนกันยายน วัดได้ 377.8 มิลลิเมตร
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
พืชพรรณ สามารถจำแนกออกได้ 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ
1.พืชพรรณไม้ป่าบก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
ป่าดงดิบ เป็นป่าผืนใหญ่ปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานฯ ประกอบด้วยไม้ยืนต้นที่มีเรือนยอดสูงที่สุด เป็นระดับชั้นที่ 1 ได้แก่ สกุลไม้ยาง ตะเคียนทอง ไข่เขียว และไม้ยืนต้นที่มีความสูงของระดับเรือนยอดรองลงมา คือ ความสูงระหว่าง 15-30 เมตร เช่น มะหาดรุม ขนุนปาน ทุ่งฟ้า เป็นต้น
ป่าโปร่งและทุ่งหญ้า ป่าบริเวณตอนกลางมีสภาพเป็นป่าโปร่งและมีหญ้าคาขึ้นอย่างหนาแน่น มีไม้เบิกนำขึ้นผสมกับพันธุ์ไม้ป่าดงดิบ พรรณไม้ที่สำคัญ ได้แก่ กระโดน ตะแบก เปล้า ส้าน เป็นต้น
พืชพรรณไม้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชุ่มน้ำที่ลุ่มต่ำน้ำขัง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
พืชพรรณที่พบในบึงน้ำจืดทะเลบัน ส่วนใหญ่เป็นพืชล้มลุก พืชที่พบได้แก่ เทียนนา บอน บากง กูดช้าง เป็นต้น
พืชพรรณไม้ป่าชายเลน เป็นป่าที่พบบริเวณแนวเขตด้านทิศตะวันตกของอุทยาน แห่งชาติ พันธุ์ที่พบได้แก่ โกงกาง แสม โปรงขาว และตีนเป็ดทะเล เป็นต้น
สัตว์ป่า จากการสำรวจสามารถจำแนกได้ดังนี้
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบรวม 80 ชนิด เป็นสัตว์ป่าสงวนจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ แมวลายหินอ่อน สมเสร็จ เลียงผา พบสัตว์ชนิดใหม่ที่ยังไม่มีรายงานการพบในประเทศ 1 ชนิด ได้แก่ ค้างคาวมงกุฎ เป็นต้น
นก พบรวม 302 ชนิด นกที่พบส่วนใหญ่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เช่น นกหว้า ไก่จุก นกเงือกหัวหงอก นกเงือกดำ นกหัวขวานใหญ่สีดำ เป็นต้น
สัตว์เลื้อยคลาน พบรวม 59 ชนิด เช่น เต่าจักร เต่าดำ ตุ๊กแกบินหางเฟิน เห่าช้าง งูจงอาง เป็นต้น
สัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก พบรวม 28 ชนิด เช่น อึ่งกรายหัวแหลม จงโคร่ง คางคกแคระ เป็นต้น
ปลา เนื่องจากอุทยานแห่งชาติทะเลบันมีบึงขนาดใหญ่จึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลามากมายหลายชนิด เช่น ปลาเลียหินหรือปลาติดหิน ปลากระทิช ปลาไส้ขม เป็นต้น
บ้านพัก-บริการ
ทางอุทยานฯ มีบ้านพัก ร้านอาหารและสถานที่กางเต้นท์ไว้รองรับนักท่องเที่ยว
แหล่งท่องเที่ยว
ถ้ำโตนดิน อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 1.5 กิโลเมตร ความลึกของถ้ำประมาณ 700 เมตร ภายในพบหินงอกหินย้อย มีลำธารไหลผ่าน ปลาน้ำจืดชนิดต่างๆ และยังมีเครื่องมือขุดแร่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หลงเหลืออยู่
ถ้ำลอดปูยู เป็นถ้ำลอดคล้ายถ้ำลอดของอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อยู่ทางทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติบริเวณเขากายัง ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย สองฝั่งลำคลองเป็นป่าโกงกาง การเดินทางไปถ้ำลอดปูยูต้องลงเรือที่ท่าเรือตำมะลัง ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดสตูล ประมาณ 9 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 58 กิโลเมตร
ทุ่งหญ้าวังประ เป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ระหว่างภูเขาทางทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด เช่น สมเสร็จ เม่น กระจง ไก่ป่า ฯลฯ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปทางทิศเหนือ ประมาณ 8 กิโลเมตร และแยกซ้ายเข้าถนนลูกรังไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร
น้ำตกยาโรย ต้นน้ำเกิดจากป่าหัวกะหมิง เทือกเขาจี มีน้ำตก 9 ชั้นอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 6.7 กิโลเมตร
บึงทะเลบัน เป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่กลางหุบเขาขนาบด้วยเทือกเขาจีนและเขาวังประ เนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ มีปลาน้ำจืดและหอยชุกชุม รอบบึงมีต้นบากงขึ้นอยู่หนาแน่นและเป็นที่อยู่ของกบว๊าก บางครั้งจะเห็นสมเสร็จลงมากินน้ำในบึง
การเดินทาง
รถยนต์ โดยใช้เส้นทางหลวงสายเพชรเกษมจนถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 4 (สายเอเชีย) ถึง อ.รัตภูมิ จ.สงขลา แยกเข้าถนนหมายเลข 406 เข้าสู่ อ.ควนโดน ถึงทางแยกเข้า ต.วังประจัน ตามถนนสายชายแดนไทย-มาเลเซีย หมายเลข 4184
เครื่องบิน จากท่าอากาศยานดอนเมือง-หาดใหญ่ จากนั้นต่อรถมายัง จ.สตูล ด้วย รถตู้หาดใหญ่-สตูล มาลงสามแยกควนสตอ รถออกทุกๆ 1 ชั่วโมง เที่ยวแรก จากหาดใหญ่ เวลา 06.00 น. เที่ยวสุดท้าย 19.00 น. ราคา 60 บาท/คน และรถประจำทาง หาดใหญ่-สตูล มาลงสามแยก ควนสตอ รถออกทุกๆ 15 นาที จากหาดใหญ่ เที่ยวแรก 06.00 น. เที่ยวสุดท้าย 18.30 น. ราคารถเมล์ ปรับอากาศ 38 บาท/คน ธรรมดา 35 บาท/คน
รถไฟ จากสถานีรถไฟกรุงเทพมาลงที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ จากนั้นเดินทางต่อไปยังอุทยานแห่ง ชาติเช่นเดียวกับข้อ 1
รถโดยสารประจำทาง จากสถานีขนส่งสายใต้ มีรถประจำทางปรับอากาศเดินทางไปจังหวัดสตูลทุกวัน ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 15 ชั่วโมง ระยะทาง 973 กิโลเมตร
สถาที่ติดต่อ อุทยานแห่งชาติทะเลบัน
หมู่ 4 ถนน สมันกรัฐบุรินทร์ ต.วังประจัน อ.ควนโดน จ.สตูล 91160
การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายใน (Internal Environmental Analysis)
-
สภาพแวดล้อมภายนอกมีอิทธิพลต่อองค์การอย่างมากก็จริง
แต่ผู้บริหารต้องมีความเข้าใจและสามารถจัดการปัจจัยภายในองค์การด้วยการดาเนินงานจึงจะบรรลุเป้าหมาย
การวิเคร...
5 ปีที่ผ่านมา