Holiday-Tourismthailand

ท่องเที่ยว สูตรอาหารไทย อาหารเพื่อสุขภาพ ทั่วไทย เกาะช้าง เกาะเสม็ด เกาะกูด ภูกระดึง ระยอง หัวหิน พัทยา เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และ สถานที่ท่องเที่ยว ต่างๆ.

Custom Search


อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา เป็นอุทยานแห่งชาติอยู่ระหว่างเตรียมการประกาศ มีพื้นที่ประมาณ 583 กิโลเมตร หรือ ประมาณ 364,375 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำแม่ฝาง ท้องที่ตำบลศรีดงเย็น ตำบลแม่ทะลบ อำเภอไชยปราการ ท้องที่ตำบลแม่ข่า ตำบลแม่คะ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ลาวฝั่งซ้าย ท้องที่ตำบลป่าแดด ตำบลศรีถ้อย ตำบลท่าก๊อ จังหวัดเชียงราย
ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เทือกเขาวางตัวในเแนวทิศเหนือ – ใต้ เป็นแนวแบ่งเขตจังหวัดเชียงใหม่ – เชียงราย มียอดดอยสูงสุดคือ ดอยเวียงผา มีความสูง 1,834 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าต้นน้ำลำธารและแหล่งกำเนิดของลำห้วยใหญ่ๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำฝาง และสาขาหนึ่งของน้ำแม่ลาว เช่น ห้วยแม่ฝางหลวง ห้วยแม่ฝางน้อย น้ำแม่ยางมิ้น
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศ ของอุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา โดยทั่วไปประกอบด้วย 3 ฤดู คือ ฤดูฝน ระหว่างช่วงเดือน พฤษภาคม-ตุลาคม โดยจะมีฝนตกหนักในช่วงเดือน กันยายน ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ เป็นช่วงอากาศเย็นสบายเหมาะสำหรับเดินทางมาท่องเที่ยว ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งจะเป็นช่วงที่อากาศค่อนข้างร้อน จึงไม่เหมาะต่อการเดินมาท่องเที่ยว
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
สภาพป่าประกอบด้วย ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ซึ่งป่าแต่ละชนิด เหล่านี้จะอยู่กระจัดกระจาย ทั่วไปในเขตอุทยานฯตามระดับความสูงของพื้นที่ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ประดู่ จำปีป่า สนสองใบ ก่อชนิดต่างๆ มอส เฟิร์น กล้วยไม้ เป็นต้น
เนื่องจากสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ และขึ้นผสมปะปนกันอยู่หลายชนิด ตลอดจนระดับความสูงของพื้นที่ที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ 300-1,834 เมตร จึงทำให้เกิดแหล่งอาหารและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ประกอบด้วย เก้ง หมูป่า เลียงผา เม่น กระต่ายป่า ลิง อีเห็น กระรอก กระแต และนกนานาชนิด เช่น กางเขนดง นกเขา เหยี่ยว ไก่ป่า เป็นต้น
แหล่งท่องเที่ยว
• จุดชมวิวดอยเวียงผา ชมความงามของธรรมชาติ ทิวเขา ในยามเช้าและยามเย็นในฤดูหนาวอากาศหนาวเย็นและมีหมอกในตอนเช้า เป็นความงามที่น่าสัมผัส อยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา ที่ วผ. 1 (หัวฝาย) ประมาณ 30 กิโลเมตร
• น้ำตกดอยเวียงผา เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 18 เมตร เกิดจากลำห้วยแม่ทะลบอยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 8 กิโลเมตร
• น้ำตกป่าซับ อยู่บริเวณป่าทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านมูเซอ เป็นน้ำตกขนาดกลาง น้ำไหลตลอดปี
• น้ำตกแม่ฝางหลวง เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 10 เมตร อยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์ อุทยานแห่งชาติที่ วผ. 1 (หัวฝาย) ประมาณ 10 กิโลเมตร มีน้ำไหลตลอดปี สามารถเล่นน้ำได้อย่างปลอดภัย
• น้ำตกห้วยทรายขาว เป็นน้ำตกขนาดเล็ก เกิดจากลำห้วยทรายขาว มี 3 ชั้น หน้าร้อนน้ำจะแห้งอยู่ห่างที่ทำการอุทยานฯประมาณ 300 เมตร
• น้ำตกห้วยหก อยู่บริเวณป่าทางทิศใต้ของหมู่บ้านมูเซอ ต.ศรีถ้อย อ.แม่สรวย เป้นน้ำตกขนาดเล็ก มีน้ำไหลตลอดทั้งปี
บ้านพัก-บริการ
มีบ้านพักทางการที่ตั้งในอุทยานฯ ลานกางเต้นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว
การเดินทาง
รถยนต์ อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา เดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 ไปทาง อ.ไชยปราการ ถึง กม.ที่ 125 บ้านแม่ขิ เลี้ยวขวาไปตามทางอีก 10 กม. จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา
สถานที่ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา ตู้ ปณ. 14 ปณจ.ไชยปราการ อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ 50320


อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอสันกำแพง และอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำปิง มีพันธุ์ไม้มีค่าและสัตว์ป่า ที่สำคัญหลายชนิดและประกอบด้วยจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่งเช่น น้ำตก หน้าผา น้ำพุร้อน อ่างเก็บน้ำเขื่อนต่างๆ เป็นต้น มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 1,229.8 ตารางกิโลเมตร หรือ 768,625 ไร่
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่โดยทั่วไปเป็นภูเขาสลับซับซ้อน มีความสูงตั้งแต่ 400-1,947 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นป่าต้นน้ำลำธารชั้น 1 อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงภูเขาเป็นภูเขาหินปูน มีป่าเบญจพรรณขึ้นอยู่โดยทั่วไป และมีป่าดิบเขา ขึ้นตามแนวลำห้วยขุนห้วย หุบเขา และบริเวณป่าต้นน้ำลำธารอย่างหนาแน่น
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ แบ่งออกเป็น 3 ฤดูกาล คือ
ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-เดือนตุลาคม
ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์
ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม-เดือนเมษายน
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า

สภาพป่าประกอบด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา ป่าเต็งรัง มีพันธุ์ไม้นานาชนิด ได้แก่ สัก แดง ประดู่ ยาง จำปี ประดู่ส้ม เหียง พลวง รัง ดำดง ตีนนก ไม้ชั้นล่างประกอบด้วย ไม้ไผ่ หวาย พง อ้อ เป็นต้น และจะมีสน 2 ใบ สน 3 ใบ ขึ้นอยู่เป็นหย่อมๆ ตามแนวสันเขาโดยทั่วไป
สัตว์ป่าประกอบด้วย หมูป่า ลิง ชะนี กวาง เก้ง เลียงผา เสือ กระต่าย ไก่ป่า นกนานาชนิด เช่น นกแก้ว นกกระยาง นกเค้าแมว เป็นต้น
แหล่งท่องเที่ยว
• ถ้ำเมืองออน ตั้งอยู่ที่อำเภอสันกำแพง เป็นถ้ำขนาดใหญ่ มีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ มีปูชนียวัตถุทางพุทธศาสนาอยู่เป็นจำนวนมาก
• อ่างเก็บน้ำและเขื่อนเก็บน้ำ ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำ ห้วยผาแหน อ่างเก็นน้ำห้วยขมิ้น อ่างเก็บน้ำ ห้วยบง อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตะไคร้ เขื่อนเก็บน้ำแม่กวง เขื่อนห้วยแม่ออน มีสภาพทิวทัศน์ที่สวยงาม
มีลักษณะเด่นเป็นเขาหินปูน มีหินงอก หินย้อย ถ้ำ หน้าผา น้ำตก น้ำพุร้อน ลำห้วย และสภาพป่าที่สมบูรณ์
การเดินทาง
ทางรถยนต์ การเดินทางสู่อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ ใช้เส้นทางจากตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอสันกำแพง ตำบลทาเหมือ ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร
สิ่งอำนวยความสะดวก อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ ได้จัดสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการ โดยนักท่องเที่ยวจะต้องนำเต็นท์ ไปกางเอง
การติดต่อ
อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ ต.ท่าเหนือ อ.กิ่งอำเภอแม่ออน จ.เชียงใหม่ 50130 โทรศัพท์ : (053) 818348

อุทยานแห่งชาติศรีลานนา จัดเป็นป่าต้นน้ำลำธารชั้นหนึ่ง ประกอบด้วยสัตว์ป่าและสภาพป่าธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ครอบคลุมเนื้อที่ป่าแม่งัด ป่าแม่แตง และป่าเชียงดาว ในท้องที่อำเภอพร้าว อำเภอแม่แตง และอำเภอเชียงดาว รวมเนื้อที่ ๖๕๒,๐๐๐ ไร่ ลักษณะเป็นป่าดิบเขา ภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนทอดตัวเป็นแนวเหนือใต้ เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร ไหลสู่แม่น้ำปิง
สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ
• น้ำตกม่อนหินไหล ตั้งอยู่บริเวณป่าแม่งัด อำเภอพร้าว ใช้ถนนสายเชียงใหม่-พร้าว ประมาณ ๘๕ กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายเข้าน้ำตก ๑๔ กิโลเมตรซึ่งเป็นทางลูกรังจึงต้องใช้รถขับเคลื่อน ๔ ล้อเท่านั้น น้ำตกมี ๙ ชั้น เป็นตาดหินลาดเขาตรง น้ำไหลตลอดปี แต่ละชั้นมีลักษณะเด่นที่แปลกตา และบนชั้นที่ ๙ คือยอดดอยม่อนหินไหลเป็นจุดชมวิวมองเห็นทัศนียภาพที่สวยงามของอำเภอพร้าว มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติประมาณ ๑ กิโลเมตร
สถานที่น่าสนใจอื่น ๆ ได้แก่ น้ำตกห้วยแม่ระงอง น้ำตกห้วยป่าพลู ถ้ำผาแดง เทือกเขาหินปูน เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติบริเวณดอยแม่วะห่าง (จากที่ทำการประมาณ ๔ กิโลเมตร)
การเดินทาง ไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๗ สายเชียงใหม่-ฝาง และแยกขวาเข้าเส้นทางสู่เขื่อนแม่งัด-สมบูรณ์ชล ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร ที่อุทยานฯ ยังไม่มีบ้านพักแต่มีจุดพักแรมห้วยกุ่ม ซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิงติดกับหน่วยพิทักษ์ที่ ศล.๖ ห้วยกุ่ม ประมาณกิโลเมตรที่ ๒๖๐ เส้นทางเชียงใหม่-ฝาง รายละเอียดติดต่อ อุทยานแห่งชาติศรีลานนา ตำบลบ้านเป้า อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๑๕๐
• น้ำตกบัวตองและน้ำพุเจ็ดสี(น้ำพุเย็น น้ำตกเย็น) ตั้งอยู่บริเวณแยกกิโลเมตรที่ ๔๒ สายเชียงใหม่-พร้าว ตำบลหอพระ อำเภอแม่แตง เป็นน้ำแร่ซึ่งมีแคลเซียมคาร์บอเนตพุ่งขึ้นมาจากพื้นดิน แล้วไหลเป็นลำธารและน้ำตกขนาดเล็ก มีพื้นดินที่ใต้ลำธารแข็งสีขาวเป็นประกาย เพราะมีแคลเซียมคาร์บอเนตเคลือบอยู่ ดูแปลกตา
• วัดดอยแม่ปั๋ง หมู่ที่ ๕ ตำบลแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว ไปตามถนนสายเชียงใหม่-แม่โจ้-พร้าว ทางหลวงหมายเลข ๑๐๐๑ กม.ที่ ๗๖ วัดดอยแม่ปั๋ง เป็นวัดที่หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เคยจำพรรษาตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๐๕ จนถึงมรณภาพในพ.ศ. ๒๕๒๘ ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ คือ วิหารไม้ กุฏิหลวงปู่แหวน กุฏิไม้ที่เรียกว่า “โรงย่างกิเลส” หรือ “โรงไฟ” และวิหารที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงปู่แหวนเท่าองค์จริง


อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในเขตท้องที่ ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะภูมิประเทศสลับซับซ้อน เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาผีปันน้ำ เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ สัตว์ป่าและของป่าหลายชนิด มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่งดงาม เช่น ถ้ำห้วยบอน บ่อน้ำร้อน น้ำพุร้อน ห้วยแม่ใจ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ของจังหวัดเชียงใหม่ และสามารถเดินทางเข้าไปเที่ยวได้โดยสะดวกสบาย มีเนื้อที่ประมาณ 380 กิโลเมตร หรือ 237,500 ไร่ ได้ประกาศจัดตั้งเป็น "อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง" เมื่อวันที่4 กันยายน 2543
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนซึ่งเป็นเทือกเขาผีปันน้ำ ระดับความสูงในเขตอุทยาน แห่งชาติแม่ฝาง ประมาณ 400-2,285 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยมีภูเขาที่สำคัญคือ ดอยผ้าห่มปก (สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ) ดอยปู่หมื่น ดอยแหลม ดอยอ่างขาง อันเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำฝาง
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพอากาศโดยทั่วไปนั้นมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 25.4๐C มีอากาศหนาวเย็นในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 13.7-19.0๐C ส่วนอุณหภูมิสูงสุดอยู่ในเดือนเมษายน ประมาณ 39.1๐C และมีฝนตกชุกช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 1,183.5 มม.
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
สภาพป่าโดยทั่วไปยังเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มากประกอบด้วยป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าสนหรือป่าสนเขา ป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง ซึ่งมีพรรณไม้ชนิดต่าง ๆ ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ไม้ตะเคียน มะไฟป่า ยางประดู่ ตะแบก สัก จำปีป่า มะขามป้อม ฯลฯ ที่สำคัญยังมีพรรณไม้ที่หายากของเมืองไทย อาทิ “เทียนหาง” และ “กุหลาบไฟ” ซึ่งสามารถพบเห็นได้ตามบริเวณดอยผ้าห่มปก
ด้วยสภาพป่าเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ซึ่งติดต่อกับพื้นที่ของประเทศพม่าจึงทำให้มีสัตว์ป่าต่าง ๆ ย้ายถิ่นเข้ามาอยู่เป็นประจำ อีกทั้งป่ายังมีความอุดมสมบูรณ์ จึงชุกชุมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด เช่น เก้ง กวาง หมี หมูป่า นางอาย นกเขา รวมทั้งนกปีกแพรสีม่วง ซึ่งมีเฉพาะป่าดิบเขาทางภาคเหนือ เลียงผา อันเป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งของไทย และผีเสื้อที่ใกล้จะสูญพันธุ์จากเมืองไทยแล้ว คือ ผีเสืออิมพิเรียนหรือผีเสือไกเซอร์ และผีเสื้อสมิงเชียงดาวหรือผีเสื้อภูฐาน
แหล่งท่องเที่ยว
• ดอยผ้าห่มปก เป็นดอยที่สูงอันดับ 2 ของประเทศไทย ด้วยความสูงประมาณ 2,285 เมตร จากระดับน้ำทะเล ปานกลางบนยอดดอยสูงสุดเป็นทุ่งโล่งอันเกิดจากสภาพธรณีวิทยาที่มีชั้นดินตื้นชั้นหินเป็นหินแกรนิตประกอบกับอากาศมีลมกรรโชกแรงตลอดทั้งปี จากยอดดอยจะเห็นทิวทัศน์ที่สวยงาม เช่น ทะเลหมอก และถนนบนสันเขาขนานกับชายแดนไทย-พม่า ซึ่งถือเป็นถนนที่สร้างขึ้นเพื่อความมั่นคงระหว่างประเทศ ส่วนสภาพป่าเป็นป่าต้นน้ำ ป่าดิบเขา ซึ่งมีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่สมดุลและหลากหลายทางชีวภาพ ดังเช่น จะพบพันธุ์พืชและสัตว์ป่าหายากนานาชนิด อาทิ เทียนหาง ผีเสื้ออิมพิเรียน ผีเสื้อภูฐาน และนกปีกแพรสีม่วง เป็นต้น
• ถ้ำห้วยบอน เป็นถ้ำขนาดใหญ่มีหินงอกหินย้อยที่สวยงามมากมีความลึกจากปากถ้ำหนึ่งถึงอีกปากถ้ำหนึ่งประมาณ 150 เมตร กว้างประมาณ 20-30 เมตร ภายในถ้ำไม่มีจุดอันตรายต่อผู้เข้าชม และบริเวณใกล้เคียงมีถ้ำเล็กถ้ำน้อยประมาณ 10 ถ้ำ อยู่ห่างจากอำเภอฝางประมาณ 12 กิโลเมตร สามารถเดินทางโดย ทางเท้าจากบ่อน้ำร้อนระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร
• น้ำตกตาดหมอก ตั้งอยู่ห่างจาก อ.แม่อาย ประมาณ 4 กม. อยู่ติดกับถนนลาดยาง ลักษณะที่น้ำตกลงมาเหมือนใยแก้ว ละอองน้ำกระจายอยู่ทั่วแผ่นผาคล้ายหมอก
• น้ำตกนามะอื้น อยู่บริเวณกลางป่าทึบใน ต.แม่สาว อ.แม่อาย เป็นน้ำตกขนาดใหญ่มีทั้งหมด 3 ชั้นใหญ่ ๆน้ำตก ทั้ง 4 มีลักษณะคล้ายกัน คือ มีน้ำไหลตลอดปี และมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติอยู่มาก ซึ่งจะเป็นได้จาก มอส เฟริ์นที่เกาะตามโขดหินข้าง ๆ ลำห้วย
• น้ำตกโป่งน้ำดัง ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง (มฝ.3) ณ บ้านแม่สูนน้อย ต.แม่สูน อ.ฝาง เป็นน้ำตกที่สวยงามมีการไหลของน้ำที่สม่ำเสมอ
• น้ำตกห้วยเฮี้ยน อยู่ทางตอนเหนือของลำห้วยเฮี้ยนห่างจากถ้ำห้วยบอนประมาณ 3 กม. เป็นน้ำตกใหญ่มีประมาณ 7ชั้น
• น้ำพุร้อน น้ำพุร้อนจะพุ่งขึ้นมากเหนือพื้นดินสูงประมาณ 50 เมตร เวลาประมาณ 2 นาที และหยุดพุ่งประมาณ 25 นาที แล้วจะพุ่งขึ้นมาอีกเป็นระยะๆ ตลอดเวลาเป็นที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยว อยู่ใกล้บริเวณบ่อ น้ำร้อน
• บ่อน้ำร้อน เป็นบ่อน้ำร้อนธรรมชาติเกิดจากความร้อนใต้ดินมีไอร้อนคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลาอุณหภูมิของน้ำ ประมาณ 90-130 องศาเซลเซียส มีจำนวนมากมายหลายบ่อในพื้นที่ ประมาณ 10 ไร่ (บ่อใหญ่มีไอน้ำร้อนพุ่งขึ้นสูงถึง 40-50 ม.) นักท่องเที่ยวนิยมมาพักผ่อนหย่อนใจ และอาบน้ำแร่ อบไอน้ำกันเป็นจำนวนมาก ที่ตั้งของบ่อน้ำร้อนอยู่ในบริเวณเดียวกันกับที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง
• ห้วยแม่ใจ เป็นลำห้วยที่มีน้ำไหลมากตลอดปี น้ำใสสะอาด เหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ อยู่ห่างจากบ่อน้ำร้อนประมาณ 300 เมตร
บ้านพัก-บริการ
อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง มีบ้านพัก ร้านอาหารและจัดสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว
การเดินทาง
รถยนต์ เริ่มจากจังหวัดเชียงใหม่มาตามถนนหลวง (หมายเลข 107) ผ่านอำเภอแม่ริม อำเภอ แม่แตง อำเภอเชียงดาว ถึงอำเภอฝาง-บ้านลาน ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร แยกขวามาตามถนน (หมายเลข 54) บ้านแม่ใจใต้-บ้านโป่งน้ำร้อน เป็นถนนลูกรังระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ถึงบริเวณบ่อน้ำร้อนเป็นเส้นทางผ่านบ้านสามารถใช้ได้ตลอดทั้งปี รวมห่างจากอำเภอฝางประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นสถานที่เหมาะในการจัดตั้งเป็นสำนักงานอุทยานแห่งชาติ รวมระยะทางจากเชียงใหม่ประมาณ 160 กิโลเมตร
รถโดยสารประจำทาง รถประจำทางมีรถประจำทางปรับอากาศของบริษัทขนส่งจำกัดและบริษัทรถร่วมเอกชนระหว่าง กรุงเทพ-ฝาง , เชียงใหม่-ฝาง เมื่อถึง อ.ฝาง จะมีรถรับจ้างคอยบริการรับส่งสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง อีกประมาณ 10 กม.
สถานที่ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง ตู้ ปณ. 39 อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ 50110 โทร. 0 - 5345 - 1441


เกาะจาบัง
• ที่ตั้ง : ทิศตะวันออกของเกาะหินงาม
• การเดินทาง : เหมาเรือหางยาวจากเกาะหลีเป๊ะ โดยสามารถแวะเที่ยวเกาะข้างๆไดสะดวกเช่น เกาะหินงาม เกาะยาง เกาะอาดัง ฯลฯ
• จุดเด่น : หากเป็นคนต่างถิ่นแล้วนั่งเรือผ่านเกาะจาบัง จะมองไม่เห็นความโดเด่นของเกาะที่มีรูปร่างเป็นกองหินที่ดูแสนจะธรรมดา แต่หากเป็นผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่คุ้นเคยกับทะเลย่านนี้ ย่อมที่จะไม่ยอมพลาดกับการลอยลำผูกทุ่น แล้วนำนักท่องเที่ยวทยอยลงน้ำ ลอยตัวด้วยชูชีพ เพื่อชมความงดงามที่ไม่อาจมองเห็นได้จากบนเรือ
• โลกใต้ทะเลรอบเกาะจาบังนั้นโดดเด่นด้วยปะการังอ่อนสวยงาม หลายคนที่ดำน้ำเป็นระจำ พร้อมใจกันยกย่องว่าแนวปะการังหลากสีสันนี้ มีความงดงามระดับโลก เพราะเหตุนี้เองโปรแกรมดำน้ำที่เกาะจาบังจึงมักปรากฎอยู่ในโปรแกรมท่องเที่ยวในบริเวณนี้ หากเป็นฤดูท่องเที่ยว บริเวณนี่จะมีนักท่องเที่ยวนับร้อยลอยตัวอยู่เต็มไปหมด ดูคึกคักน่าสนุก ดังนั้นหากเหมาเรือมาเอง ไม่ควรพลาดที่จะแวะชมโลกใต้ทะเลที่เกาะจาบังแห่งนี้
• หลังจากดำน้ำที่เกาะจาบังแล้ว เดินทางไปอีกนิดเดียวก็จะถึงเกาะหินงาม แวะเที่ยวต่อเนื่องไปยังเกาะข้างเคียง บ่ายแก่ๆ กลับมาพักบนเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งมีรีสอร์ตและบังกะโลให้บริการหลายแห่ง


อุทยานแห่งชาติทะเลบัน ตั้งอยู่ในท้องที่ อ.ควนโดน และอ.เมือง จ.สตูล มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
ทิศเหนือ จดคลองตูโย๊ะ ตำบลวังประจัน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล
ทิศตะวันออก จดเขตอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
ทิศใต้ จดรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย
ทิศตะวันตก จดทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติทะเลบันเป็นภูเขาสลับซับซ้อน พืชพรรณป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูง มีเทือกเขาหินปูนที่ยังไม่สลายตัว จึงถูกปัจจัยธรรมชาติ คือน้ำที่อยู่ใต้ดินเกิดการกัดเซาะทำให้เป็นร่องรอยหรือรูโหว่ขนาดใหญ่ กลายเป็นถ้ำขนาดใหญ่ เช่น ถ้ำโตนดิน ถ้ำผาเดี่ยว ถ้ำลอดปูยู นอกจากนี้การเกิดของบึงทะเลบันก็เช่นเดียวคือเกิดการการยุบตัวของโพรงถ้ำหินปูนใต้ดินระหว่างหุบเขา ยอดเขาสูงสุดพื้นที่นี้คือเขาจีน สูง 756 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ลักษณะภูมิอากาศ
จังหวัดสตูลได้รับอิทธิพลเต็มที่จากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดมาจากมหาสมุทรอินเดีย ในเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ในระยะที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้อ่อนกำลังลงก็จะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากประเทศจีนพัดเข้ามาแทนที่
แต่เนื่องจากจังหวัดสตูลอยู่ทางด้านตะวันตกของฝั่งทะเล จึงไม่ค่อยได้รับอิทธิพลมากนักจากมรสุมนี้ อย่างไรก็ตามในระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ก็ยังมีฝนตกชุกอยู่หลังจากนี้ไปฝนจะเริ่มน้อยลงตามลำดับ ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคมเป็นช่วงที่มีอากาศแห้งแล้ง เนื่องจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้พัดเข้ามาแทนที่ ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นในระยะนี้ โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปี 27.5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 38.9 องศาเซลเซียส ในเดือนเมษายน และอุณหภูมิต่ำสุด 17.0 องศาเซลเซียส ในเดือนกุมภาพันธ์ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปี 2,280.9 มิลลิเมตร เดือนที่มีฝนตกน้อยที่สุด คือ เดือนมกราคม วัดได้โดยเฉลี่ย 7.2 มิลลิเมตร เดือนที่มีฝนตกมากที่สุด คือ เดือนกันยายน วัดได้ 377.8 มิลลิเมตร
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
พืชพรรณ สามารถจำแนกออกได้ 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ
1.พืชพรรณไม้ป่าบก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
ป่าดงดิบ เป็นป่าผืนใหญ่ปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานฯ ประกอบด้วยไม้ยืนต้นที่มีเรือนยอดสูงที่สุด เป็นระดับชั้นที่ 1 ได้แก่ สกุลไม้ยาง ตะเคียนทอง ไข่เขียว และไม้ยืนต้นที่มีความสูงของระดับเรือนยอดรองลงมา คือ ความสูงระหว่าง 15-30 เมตร เช่น มะหาดรุม ขนุนปาน ทุ่งฟ้า เป็นต้น
ป่าโปร่งและทุ่งหญ้า ป่าบริเวณตอนกลางมีสภาพเป็นป่าโปร่งและมีหญ้าคาขึ้นอย่างหนาแน่น มีไม้เบิกนำขึ้นผสมกับพันธุ์ไม้ป่าดงดิบ พรรณไม้ที่สำคัญ ได้แก่ กระโดน ตะแบก เปล้า ส้าน เป็นต้น
พืชพรรณไม้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชุ่มน้ำที่ลุ่มต่ำน้ำขัง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
พืชพรรณที่พบในบึงน้ำจืดทะเลบัน ส่วนใหญ่เป็นพืชล้มลุก พืชที่พบได้แก่ เทียนนา บอน บากง กูดช้าง เป็นต้น
พืชพรรณไม้ป่าชายเลน เป็นป่าที่พบบริเวณแนวเขตด้านทิศตะวันตกของอุทยาน แห่งชาติ พันธุ์ที่พบได้แก่ โกงกาง แสม โปรงขาว และตีนเป็ดทะเล เป็นต้น
สัตว์ป่า จากการสำรวจสามารถจำแนกได้ดังนี้
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบรวม 80 ชนิด เป็นสัตว์ป่าสงวนจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ แมวลายหินอ่อน สมเสร็จ เลียงผา พบสัตว์ชนิดใหม่ที่ยังไม่มีรายงานการพบในประเทศ 1 ชนิด ได้แก่ ค้างคาวมงกุฎ เป็นต้น
นก พบรวม 302 ชนิด นกที่พบส่วนใหญ่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เช่น นกหว้า ไก่จุก นกเงือกหัวหงอก นกเงือกดำ นกหัวขวานใหญ่สีดำ เป็นต้น
สัตว์เลื้อยคลาน พบรวม 59 ชนิด เช่น เต่าจักร เต่าดำ ตุ๊กแกบินหางเฟิน เห่าช้าง งูจงอาง เป็นต้น
สัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก พบรวม 28 ชนิด เช่น อึ่งกรายหัวแหลม จงโคร่ง คางคกแคระ เป็นต้น
ปลา เนื่องจากอุทยานแห่งชาติทะเลบันมีบึงขนาดใหญ่จึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลามากมายหลายชนิด เช่น ปลาเลียหินหรือปลาติดหิน ปลากระทิช ปลาไส้ขม เป็นต้น
บ้านพัก-บริการ
ทางอุทยานฯ มีบ้านพัก ร้านอาหารและสถานที่กางเต้นท์ไว้รองรับนักท่องเที่ยว
แหล่งท่องเที่ยว
ถ้ำโตนดิน อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 1.5 กิโลเมตร ความลึกของถ้ำประมาณ 700 เมตร ภายในพบหินงอกหินย้อย มีลำธารไหลผ่าน ปลาน้ำจืดชนิดต่างๆ และยังมีเครื่องมือขุดแร่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หลงเหลืออยู่
ถ้ำลอดปูยู เป็นถ้ำลอดคล้ายถ้ำลอดของอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อยู่ทางทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติบริเวณเขากายัง ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย สองฝั่งลำคลองเป็นป่าโกงกาง การเดินทางไปถ้ำลอดปูยูต้องลงเรือที่ท่าเรือตำมะลัง ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดสตูล ประมาณ 9 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 58 กิโลเมตร
ทุ่งหญ้าวังประ เป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ระหว่างภูเขาทางทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด เช่น สมเสร็จ เม่น กระจง ไก่ป่า ฯลฯ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปทางทิศเหนือ ประมาณ 8 กิโลเมตร และแยกซ้ายเข้าถนนลูกรังไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร
น้ำตกยาโรย ต้นน้ำเกิดจากป่าหัวกะหมิง เทือกเขาจี มีน้ำตก 9 ชั้นอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 6.7 กิโลเมตร
บึงทะเลบัน เป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่กลางหุบเขาขนาบด้วยเทือกเขาจีนและเขาวังประ เนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ มีปลาน้ำจืดและหอยชุกชุม รอบบึงมีต้นบากงขึ้นอยู่หนาแน่นและเป็นที่อยู่ของกบว๊าก บางครั้งจะเห็นสมเสร็จลงมากินน้ำในบึง
การเดินทาง
รถยนต์ โดยใช้เส้นทางหลวงสายเพชรเกษมจนถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 4 (สายเอเชีย) ถึง อ.รัตภูมิ จ.สงขลา แยกเข้าถนนหมายเลข 406 เข้าสู่ อ.ควนโดน ถึงทางแยกเข้า ต.วังประจัน ตามถนนสายชายแดนไทย-มาเลเซีย หมายเลข 4184
เครื่องบิน จากท่าอากาศยานดอนเมือง-หาดใหญ่ จากนั้นต่อรถมายัง จ.สตูล ด้วย รถตู้หาดใหญ่-สตูล มาลงสามแยกควนสตอ รถออกทุกๆ 1 ชั่วโมง เที่ยวแรก จากหาดใหญ่ เวลา 06.00 น. เที่ยวสุดท้าย 19.00 น. ราคา 60 บาท/คน และรถประจำทาง หาดใหญ่-สตูล มาลงสามแยก ควนสตอ รถออกทุกๆ 15 นาที จากหาดใหญ่ เที่ยวแรก 06.00 น. เที่ยวสุดท้าย 18.30 น. ราคารถเมล์ ปรับอากาศ 38 บาท/คน ธรรมดา 35 บาท/คน
รถไฟ จากสถานีรถไฟกรุงเทพมาลงที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ จากนั้นเดินทางต่อไปยังอุทยานแห่ง ชาติเช่นเดียวกับข้อ 1
รถโดยสารประจำทาง จากสถานีขนส่งสายใต้ มีรถประจำทางปรับอากาศเดินทางไปจังหวัดสตูลทุกวัน ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 15 ชั่วโมง ระยะทาง 973 กิโลเมตร
สถาที่ติดต่อ อุทยานแห่งชาติทะเลบัน
หมู่ 4 ถนน สมันกรัฐบุรินทร์ ต.วังประจัน อ.ควนโดน จ.สตูล 91160


เกาะหินงาม
• ที่ตั้ง : อยู่ห่างจากเกาะอาดังประมาณ 2.5 กิโลเมตร
• การเดินทาง : เหมาเรือหางยาวจากเกาะหลีเป๊ะไป ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาที ก่อนถึงเกาะหินงามจะผ่านเกาะจาบัง ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ
• จุดเด่น : แม้จะเป็นเพียงเกาะเล็กๆแต่เกาะหินงามก็มีความพิเศษที่หาเกาะใดเหมือน นั่นคือเป็นเกาะที่ไร้หาดทราย เป็นหาดหินทั้งเกาะ บริเวณด้านหน้าหาดนั้นมีหินก้อนกลมมนขนาดเท่าๆกัน ยามน้ำทะเลซัดขึ้นมา หินเหล่านี้จะเปียกชุ่มส่องประกายมันวาวสะท้อนไปทั่วหาด หินเหล่านี้มีสีเทาดำ ยื่นเป็นปลายแหลมตัดออกไปในน้ำทะเลสีมรกต ยามน้ำลดแนวหาดหินจะปรากฏกว้างยิ่งขึ้น กลางเกาะเป็นป่าขนาดย่อมๆที่สมบุรณ์เขียวสด และมีหินขนาดใหญ่หลายก้อนระเกะระกะอยู่กลางเกาะ โปรแกรมเที่ยวเกาะหินงามนี้เป็นโปรแกรมสำคัญที่พลาดไม่ได้ เมื่อมาเที่ยวหมู่เกาะอาดัง-ราวี อาจจะพลาดเกาะอื่นๆได้แต่ต้องไม่ใช่เกาะหินงามแห่งนี้
• หากนั่งเรือมาจากเกาะหลีเป๊ะ ก่อนถึงเกาะหินงามจะเป็นเกาะจาบัง เกาะเล็กๆเกาะนี้เป็นปหล่งดำน้ำที่ยอดเยี่ยมแห่ง ตัวเกาะไม่น่าสนใจเพราะเป็นเกาะหิน แต่สำหรับโลกใต้ทะเล เพียงไม่กี่เมตรรอบเกาะจะได้ชมฝูงปลาหลากสีหลายพันธุ์ และปะการังอ่อนหลายชนิดให้ชม


อุทยานแห่งชาติตะรุเตา เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย มีชื่อเสียงทางด้านประวัติศาสตร์และความสวยงามของธรรมชาติ ตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน ห่างจากตัวเมืองสตูลประมาณ ๔๐ กิโลเมตร และห่างจากฝั่งที่ท่าเรือปากบารา ๒๒ กิโลเมตร มีอาณาเขตทิศเหนือจดอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ทิศใต้จดทะเลที่เป็นแนวพรมแดนระหว่างประเทศไทยและสหพันธรัฐมาเลเซีย มีพื้นที่ทั้งเกาะและทะเลรวมกันประมาณ ๑,๔๙๐ ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วยหมู่เกาะใหญ่น้อย จำนวน ๕๑ เกาะ มีเกาะขนาดใหญ่ ๗ เกาะ ได้แก่ เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะหลีเป๊ะ เกาะกลาง เกาะบาตวง และเกาะบิสสี แบ่งออกเป็น ๒ หมู่เกาะใหญ่ คือ หมู่เกาะตะรุเตา และหมู่เกาะอาดัง-ราวี ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๑๗ และ ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโก ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้เป็นมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Parks and Reserves) ช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – เมษายน
ลักษณะภูมิประเทศ
• อุทยานแห่งชาติตะรุเตามีสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขามีความลาดชันสูง ชายฝั่งทางด้านตะวันออก ส่วนมากจะเป็นหน้าผาสูงชันสลับกับอ่าวและหาดทรายโคลน ทางด้านตะวันตกจะมีหน้าผาเฉพาะทางด้านเหนือบริเวณแหลมตันหยงมะระ(ด้านหัวเกาะ) มีที่ราบอยู่เป็นหย่อมๆ ทางเทือกเขาหลังอ่าว อ่าวที่สำคัญได้แก่ อ่าวพันเตมะละกา อ่าวสน อ่าวมะขาม อ่าวตะโละอุดัง และอ่าวตะโละวาว เป็นต้น อ่าวต่างๆ เหล่านี้มีคลองและลำธารไหลผ่านออกสู่ทะเล มีที่ราบเล็กน้อย เกาะอาดัง-ราวี อยู่ห่างจากเกาะตะรุเตาไปทางทิศตะวันตกประมาณ 40 กิโลเมตร สภาพพื้นที่เป็นเทือกเขาสูงครอบคลุมเนื้อที่เกือบทั้งหมดของเกาะ มีที่ราบเฉพาะบริเวณเหนือชายหาดต่างๆ
ลักษณะภูมิอากาศ
• ข้อมูลภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติตะรุเตาในรอบปีที่ผ่านมา (มกราคม 2543-พฤศจิกายน 2543) พบว่า ฝนตกมากที่สุดในเดือน เมษายน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 11.66 มิลลิเมตร รองลงมาเดือน มิถุนายน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 10.59 มิลลิเมตร และตกน้อยที่สุดในเดือน มกราคม ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 0.01 มิลลิเมตร อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 34.5 องศาเซลเซียสในเดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 10.5 ในเดือนกันยายน
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
พืชพรรณ สามารถจำแนกออกได้ เป็น 6 ประเภท ได้แก่
• ป่าดงดิบ พันธุ์ไม้ที่พบ เช่น หงอกค่าง ยางปาย ยางเสียน เป็นต้น
• ป่าผสมผลัดใบ/ป่าเขาหินปูน พันธุ์ไม้ที่พบ เช่น รักขาว รักป่า สะแกแสง เป็นต้น
• ป่าชายหาด พันธุ์ไม้ที่พบ เช่น เสม็ดชุน เสม็ดขาว สนทะเล รักทะเล เป็นต้น
• ป่าพรุ พันธุ์ไม้ที่พบ เช่น จิกน้ำ ตีนเป็ดเล็ก กะลิง เป็นต้น
• ป่าชายเลน พันธุ์ไม้ที่พบ เช่น เหงือกปลาหมอดอกม่วง ตีนเป็ดทะเล แคทะเลหรือแคป่า เป็นต้น
• ป่าแคระ/ไม้พุ่ม พันธุ์ไม้ที่พบ เช่น ปรงเขา ส้านใหญ่ ไกรทอง เป็นต้น
สัตว์ป่า จากการสำรวจสามารถจำแนกได้ดังนี้
• สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ประกอบด้วย หมูป่า กระจงควาย กระจงเล็ก เป็นต้น
• นก ประกอบด้วย นกโจรสลัด นกกระสาใหญ่ นกยางเขียว เป็นต้น
• สัตว์เลื้อยคลาน ประกอบด้วย ตะกวด เหี้ย งูเหลือม เป็นต้น
• สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ประกอบด้วย กบภูเขา หรือเขียดแลว กบหนอง เป็นต้น
• แมลง ประกอบด้วย ผีเสื้อมรกตธรรมดา ผีเสื้อลายขีดเงินลายขอ ผีเสื้อสะพายขาวปีกโค้ง เป็นต้น
• สัตว์น้ำ ประกอบด้วย ตะพาบน้ำ ปูน้ำตก กุ้งก้ามกราม เป็นต้น
ทรัพยากรทางทะเล
• สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ประกอบด้วย พะยูน โลมาหัวขวดธรรมดา โลมาหัวขวดมลายู เป็นต้น
• สัตว์เลื้อยคลานประกอบด้วย เต่ามะเฟือง เต่าตนุ เต่ากระ เป็นต้น
• ปลา ประกอบด้วย ปลากระเบน ปลาการ์ตูน ปลาเหลืองปล้อง เป็นต้น
• หอย ประกอบด้วย หอยเป๋าอื้อ หอยฝาชี หอยมงกุฎ เป็นต้น
• หมึก ประกอบด้วย หมึกกระดอง หมึกยักษ์ หมึกกล้วย เป็นต้น
• ปู ประกอบด้วย ปูหิน ปูเสฉวน ปูม้า ปูลม เป็นต้น
• กุ้ง ประกอบด้วย กั้ง กุ้งมังกร กุ้งชีแฮ้ เป็นต้น
• ปะการัง ประกอบด้วย ปะการังลายกลีบดอกไม้ ปะการังดอกกะหล่ำ ปะการังผิวเกล็ดน้ำแข็ง เป็นต้น
บ้านพัก-บริการ
• ทางอุทยานฯจัดบ้านพัก ร้านอาหาร สถานที่กางเต้นท์ไว้อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยงที่ เกาะตะรุเตาและเกาะอาดัง
แหล่งท่องเที่ยว
• ถ้ำจระเข้ อยู่ปลายคลองพันเตมะละกา ใช้เรือพาดหางไปจอดท่าเทียบเรือหน้าถ้ำ ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร แล้วเดินทางต่อไปตามสะพานไม้ที่ทอดผ่านป่าชายเลนจนถึงถ้ำจระเข้ เพื่อเข้าไปชมความงามของหินงอกหินย้อย และเสาหิน
• น้ำตกโละโป๊ะ เป็นน้ำตกขนาดเล็ก สวยงาม เหมาะแก่การเดินป่า ศึกษาธรรมชาติ อยู่ในบริเวณอ่าวสน ซึ่งห่างจากของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ตต.4 (อ่าวสน) 5 กิโลเมตรโดยประมาณ ห่างจากที่ทำการ 13 กิโลเมตร
• น้ำตกลูดู เป็นน้ำตกขนาดเล็ก สวยงาม เหมาะแก่การเดินป่า ศึกษาธรรมชาติ อยู่ในบริเวณอ่าวสน ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ตต.4 (อ่าวสน) 3 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 11 กิโลเมตร
• ผาชะโด ตั้งอยู่ในเกาะอาดัง อดีตเป็นจุดสังเกตการณ์ของกลุ่มโจรสลัดเพื่อเข้าโจมตีเรือสินค้า ชมทิวทัศน์สวยงามของท้องทะเล จะเห็นทิวสนและหาดทรายสีขาวของ เกาะอาดัง ทั้งยังสามารถมองเห็นทิวทัศน์ ความงามของเกาะหลีแป๊ะ ใช้ระยะเวลาในการเดินประมาณ 30 นาที อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 40 กิโลเมตร
• ผาโต๊ะบู สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 60 เมตร อยู่ด้านหลังอาคารที่ทำการ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ใช้เวลาเดินขึ้นประมาณ 20 นาที เป็นจุดชมวิวที่มีทัศวิสัยกว้างไกล มีศาลา สำหรับพักผ่อน
• เกาะจาบัง อยู่ระหว่างเกาะอาดังและเกาะราวี รอบๆเกาะถูกปกคลุมไปด้วยปะการังอ่อนสีชมพู สีม่วง สีแดง ไล่น้ำหนักอ่อนแก่อย่างสวยงาม มีฟองน้ำครก แส้ทะเล ดอกไม้ทะเล ดาวขนนก รวมทั้งปลาสวยงามในแนวปะการังที่ตื่นตา ซึ่งเหมาะสำหรับการดำน้ำลึกและการดำน้ำตื้น
• เกาะดง เป็นเกาะสุดท้ายในทะเลลึก ความโดดเด่นของเกาะนี้คือ มีหินซ้อนตั้งเรียงกันอยู่อย่างงดงาม แปลกตา และยังมีจุดดำน้ำลึกและดำน้ำตื้นให้นักท่องเที่ยวได้ชมความงามใต้ท้องทะเลรอบเกาะ ได้อีกด้วย
• เกาะไข่ เกาะเล็กๆที่มีหาดทรายขาวละเอียด งดงาม ห่างจากเกาะตะรุเตา 25 กิโลเมตร อยู่ระหว่างเกาะตะรุเตาและเกาะอาดัง เกาะไข่มีสิ่งที่โดดเด่นอันถือเป็นสัญลักษณ์ทางการท่องเที่ยวของจังหวัดสตูล นั่นคือ ซุ้มประตูหินธรรมชาติ ที่ทอดโค้งจากผืนทรายจรดน้ำ นอกจากนี้เกาะไข่ยังเป็นที่วางไข่ของเต่าทะเลอีกด้วย
• เกาะยาง อยู่ถัดจากเกาะหินงามขึ้นมาทางเหนือ บริเวณรอบๆ เกาะถูกปกคลุมไปด้วยปะการังแข็ง เช่น ปะการังเขากวาง ปะการังผักกาด ปะการังรูปโต๊ะ ฯลฯ จึงเหมาะสำหรับการดำน้ำตื้น หาดทรายสวยงาม น้ำใส มีปลาสวยงามในแนวปะการัง
• เกาะราวี มีหาดทรายขาว น้ำใส เงียบสงบ เหมาะแก่การกางเต็นท์พักผ่อน เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์ อุทยานแห่งชาติที่ ตต. 6 (หาดทรายขาว) และหน่วยพิทักษ์ อุทยานแห่งชาติที่ ตต. 7 (ตะโละปะเหลียน)
• เกาะหลีเป๊ะ อยู่ห่างจากอาดังไปทางทิศใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นที่อยู่ของชุมชนชาวเล มีที่พักของเอกชน ร้านค้าและร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยวอยู่ห่างจากที่ทำการ 47 กิโลเมตร
• เกาะหินงาม เป็นเกาะเล็กๆ ที่เป็นหาดหิน เต็มไปด้วยก้อนหินสีดำ กลมเกลี้ยง เนื่องจากถูกขัดสีด้วยแรงคลื่น งามสดสวย เมื่อถูกน้ำประกายวาววับ หินทุกก้อนที่หาดแห่งนี้มีคำสาปเจ้าพ่อตะรุเตา ห้ามนำ เคลื่อนย้ายออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ
• เกาะอาดัง ในอดีตเป็นที่ซ่องสุมโจรสลัด ปล้นสะดมเรือ มีหาดทรายขาวละเอียด สวยงาม และมีแนวปะการังอยู่รอบๆเกาะ เหมาะสำหรับดำน้ำตื้น เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ตต. 5 (แหลมสน) อยู่ห่างจากที่ทำการ 40 กิโลเมตร
• อ่าวจาก เป็นอ่าวเล็กๆ ติดต่อกับอ่าวพันเตมะละกา หาดทรายขาวสะอาด เหมาะสำหรับเดินเล่น พักผ่อน
• อ่าวตะโละวาว อยู่ทางด้านตะวันออกของเกาะตะรุเตา เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์สถานที่ตั้งนิคมฝึกอาชีพหรือ ทัณฑสถาน นักโทษเด็ดขาด นักโทษกักกัน ระหว่าง พ.ศ. 2480 –2490 คงพบเห็นแต่มูลดิน ซากปรักหักพังของสิ่งก่อสร้าง และสุสาน 700 ศพ เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ตต.1(ตะโละวาว) อยู่ห่างจากที่ทำการ 12 กิโลเมตร
• อ่าวตะโละอุดัง อยู่ด้านทิศใต้ของเกาะตะรุเตา ห่างจากเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย ประมาณ 8 กิโลเมตร อดีตเป็นที่กักขังนักโทษการเมือง กบฏบวรเดชและ กบฏนายสิบ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ตต. 2(อ่าวตะโละอุดัง) อยู่ห่างจากที่ทำการ 23 กิโลเมตร



• อ่าวพันเตมะละกา เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติตะรุเตา หาดทรายขาวสะอาด เหมาะแก่การเดินชายหาด เล่นน้ำทะเลและพักผ่อน ค้างแรม กางเต็นท์
• อ่าวเมาะและ มีหาดทรายขาวสะอาดและดงมะพร้าวสวยงาม
• อ่าวฤาษี เป็นอ่าวเล็กๆ มีถ้ำไว้หลบฝน ปะการังแข็งเหมาะแก่การดำน้ำตื้น
• อ่าวมะขาม เป็นที่จอดพักเรือประมงขนาดเล็ก มีน้ำจืดสนิท ป่าไม้สมบูรณ์ มีสัตว์ป่า และนกชุม เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ตต.3 (อ่าวมะขาม)
• อ่าวสน ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 8 กิโลเมตร หาดทรายยาวประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นที่วางไข่ของเต่าทะเล มีหาดหิน น้ำตกและธารน้ำใส เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ตะรุเตาที่ ตต. 4 (อ่าวสน) มีจุดกางเต็นท์ บริการอาหาร ห้องน้ำ-ห้องสุขา
การเดินทาง
• เครื่องบิน จากกรุงเทพฯถึงหาดใหญ่ เดินทางโดยเครื่องบิน เดินทางต่อจากหาดใหญ่ถึงท่าเทียบเรือปากบารา เดินทางโดยรถแท็กซี่ หาดใหญ่-ละงู นั่งรถสองแถวจากอำเภอละงูไปงท่าเทียบเรือปากบารา หรือรถตู้ปรับอากาศ หาดใหญ่-ปากบารา หรือ รถโดยสารประจำทางหาดใหญ่ปากบารา
• เรือ จากท่าเรือปากบารา อำเภอละงู ถึงเกาะตะรูเตา และเกาะอาดัง-หลีเป๊ะ มีเรือโดยสารประจำทาง
• ปากบารา-ตะรูเตา เรืออกจากปากบารา 10.30 น. และ 15.00 น.
• ตะรูเตา-อาดัง เรือออกจากตะรุเตา 13.00 น.
• อาดัง-ตะรุเตา เรือออกจากอาดังเวลา 09.00 น.
• ตะรุเตา-ปากบารา เรือออกจากตะรุเตาเวลา 09.00 น. และ 13.00 น.
• เรือ จากท่าเรือตำมะลัง ถึงเกาะตะรูเตา และเกาะอาดังถึงหลีเป๊ะ มีเรือโดยสารประจำทาง(เรือเฟอร์รี่)
• ตำมะลัง- ตะรุเตา เรือออกจากตำมะลังเวลา 11.00 น.
• ตะรุเตา-อาดัง-หลีเป๊ะ เรือออกจากตะรูเตาเวลา 12.00 น.
• อาดัง-หลีเป๊ะ-ตะรุเตา เรืออกจากอาดังเวลา 18.00 น.
• ตะรุเตา-ตำมะลัง เรือออกจากตะรุเตาเวลา 16.00 น.
• รถไฟ จากกรุงเทพฯถึงหาดใหญ่ เดินทางโดยรถไฟเดินทางต่อจากหาดใหญ่ถึงท่าเทียบเรือปากบารา เดินทางโดยรถแท็กซี่ หาดใหญ่-ละงู นั่งรถสองแถวจากอำเภอละงูไปงท่าเทียบเรือปากบารา หรือรถตู้ปรับอากาศ หาดใหญ่-ปากบารา หรือ รถโดยสารประจำทางหาดใหญ่ปากบารา
• รถโดยสารประจำทาง จากกรุงเทพฯถึงอำเภอละงู เดินทางโดยรถโดยสารปรับอากาศและรถโยสารประจำทางสาย ตรัง-สตูล ถึงอำเภอละงูขึ้นรถสองแถวมายังท่าเทียบเรือ ปากบารา
• รถโดยสารประจำทาง จากกรุงเทพฯ ถึงสตูล เดินทางโดยรถโดยสารปรับอากาศและรถโดยสารประจำทางเดินทางต่อจากสตูลไปท่าเรือตำมะลังโดยรถสองแถว
• รถโดยสารประจำทาง จากกรุงเทพฯถึงหาดใหญ่ เดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง เดินทางต่อจากหาดใหญ่ถึงท่าเทียบเรือปากบารา เดินทางโดยรถแท็กซี่ หาดใหญ่-ละงู นั่งรถสองแถวจากอำเภอละงูไปงท่าเทียบเรือปากบารา หรือรถตู้ปรับอากาศ หาดใหญ่-ปากบารา หรือ รถโดยสารประจำทางหาดใหญ่ปากบารา
สถานที่ติดต่อ
• อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล 91110

บทความที่ได้รับความนิยม