Holiday-Tourismthailand

ท่องเที่ยว สูตรอาหารไทย อาหารเพื่อสุขภาพ ทั่วไทย เกาะช้าง เกาะเสม็ด เกาะกูด ภูกระดึง ระยอง หัวหิน พัทยา เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และ สถานที่ท่องเที่ยว ต่างๆ.

Custom Search


พระธาตุขามแก่น : วัดเจติยภูมิ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
• ตั้งอยู่ที่วัดเจติยภูมิ บ้านขาม หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เป็นปูชนียสถานของจังหวัดขอนแก่น บ้านขามเคยเป็นเมืองมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นเวลาประมาณ 2000 ปี ตั้งแต่ พ.ศ 500 ต่อมาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ชื่อ เพี้ยเมืองแพน (ปัจจุบันคือ จังหวัดร้อยเอ็ด)
• พระธาตุขามแก่นเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองขอนแก่น ลักษณะเป็นเจดีย์ยอดฉัตรทองคำสูง 19 เมตร พระธาตุขามแก่นมีตำนานเล่าขานกันว่า คณะอัญเชิญพระอังคารธาตุของพระพุทธเจ้า จากเมืองโมรีย์ (ประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน) นำโดยกษัตริย์เจ้านครโมรีย์ พร้อมด้วยพระอรหันต์ 9 องค์ ได้เดินทางเพื่อนำพระอังคารธาตุไปบรรจุในพระธาตุพนม ซึ่งระหว่างนั้นยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ระหว่างทางได้แวะพักในบริเวณดอนมะขาม อันที่ตั้งของพระธาตุขามแก่นในปัจจุบัน ซึ่งมีต้นมะขามใหญ่ที่ตายแล้วเหลือเพียงแก่นและได้นำพระอังคารธาตุไปวางพักไว้บนแก่นมะขามนั้น รุ่งเช้า จึงเดินทางมุ่งหน้าสู่สถานที่ก่อสร้างพระธาตุพนมต่อไป
• เมื่อไปถึงปรากฎว่า พระธาตุพนมได้สร้างเสร็จแล้ว จึงต้องนำพระอังคารธาตุ กลับตามเส้นทางเดิม โดยตั้งใจว่าจะนำกลับไปยังนครโมรีย์ของตนตามเดิม เมื่อกลับมาถึงดอนมะขามที่เคยพักแรม ได้เห็นมะขามต้นที่ตายเหลือแต่แก่น กับฟื้นคืนชีวิตแตกใบเขียวชะอุ่ม น่าอัศจรรย์ จึงพร้อมใจกันสร้างพระธาตุครอบต้นมะขามและบรรจุพระอังคารธาตุไว้และพระพุทธรูปบรรจุไว้ภายใน และให้นามว่า “พระธาตุขามแก่น” พร้อมทั้งสร้างวัดเป็นที่พำนักของพระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ เคียงคู่องค์พระธาตุ พร้อมสร้างบ้านเรือน ปักถิ่นฐานในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย
• การมาไหว้พระธาตุขามแก่นหรือมาแก้บน ควรมาในวันพุธ เพราะจะมี “เฒ่าจ้ำ หรือ กระจ้ำ” ซึ่งเป็นเหมือนผู้นำด้านจิตวิญญาณ ทำหน้าที่ด้านพิธีกรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในชุมชน มาเป็นคนนำกล่าวคำนมัสการองค์พระธาตุขามแก่น และแนะนำพิธีการต่างๆ ตามแบบแผนที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอีกด้วย
• ประเพณี : งานฉลองและนมัสการพระธาตุขามแก่น ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 การสักการะ ใช้ธูป เทียน ดอกไม้ ขันแปดเก้า ในวันขึ้น 15 ค่ำ ของทุกเดือน พระธาตุขามแก่น พระธาตุขามแก่นเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่เมืองขอนแก่นและเป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดขอนแก่น ตั้งอยู่ในบริเวณวัดเจติภูมิ บ้านขาม หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 15 ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง อยู่ห่างจากจังหวัดขอนแก่นประมาณ 30 กิโลเมตร เดินทางไปตามถนนสายขอนแก่น -กาฬสินธุ์ เลี้ยวซ้ายที่หลักกิโลเมตรที่ 12 บ้านโคกสี เป็นถนนราดยางตลอด มีป้ายบอกทางไปพระธาตุ ขามแก่นเป็นระยะๆ
• คำนมัสการพระธาตุขามแก่น : อุกาสะ วันทามิ ภันเต มะหาสาระนะคเร เจติยะภูมิยัง อาราเม นะวะหิ อะระหันเตหิ อานีตัง สุปะติฎฐาปิตัง สัมมาสัมพุทธะ สารีริกะธาตุง สิระสา นะมามิ ตัสสะ สารีริกธาตุในปูชา เม ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ
• อานิสงส์ที่ได้รับ : เรื่องร้ายกลายเป็นดี ดุจดังแก่นขามตายแล้วฟื้น รักยั่งยืน เรื่องร้ายกลายเป็นดี โรคภัยที่มี หลีกลี้ห่างหาย

• แหล่งท่องเที่ยวที่ใกล้เคียง
• วัดป่าแสงอรุณ อยู่ห่างจากตัวเมืองขอนแก่นไปราว 3 กิโลเมตร ชมความงดงามของสิมอีสานที่มีความวิจิตรงดงาม ด้วยสถาปัตยกรรมแบบอีสานผสมผสาน ภายในมีภาพเขียนฝาผนังเป็นลายผ้าไหมมัดหมี่ ซึ่งนับเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของขอนแก่น
• กู่ประภาชัย บ้านนาคำน้อย ซึ่งเป็นกลุ่มโบราณสถานสำคัญ กู่ประภาชัย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “กู่บ้านนาคำน้อย” เป็นโบราณสถานที่มีแผนผังแบบห้องอโรคยา (สถานพยาบาล) ซึ่งสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรเขมร ราวช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 บริเวณโดยรอบประกอบด้วยปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านขวามือคือที่ตั้งของบรรณาลัย ตัวอาคารทั้งสองล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ด้านนอกกำแพงมีสระน้ำ รอบด้านร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่
• หมู่บ้านงูจงอาง อ.น้ำพอง แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของขอนแก่น นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินิยมเดินทางไปชมการแสดงของงู ซึ่งมีหลากหลาย เช่น การชกมวยระหว่างคนและงู การแสดงละครงูตามจังหวะเพลง นอกจากนี้ยังมีโรงเพาะพันธุ์งูจงอาง ร้านขายยา สมุนไพรรักษาโรคต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อติดไม้ติดมือ ถือเป็นการสร้างอาชีพและรายได้ให้ชาวบ้านในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง สามารถเยี่ยมชมการแสดงได้ทุกวัน ไม่เก็บค่าเข้าชม
อำเภอเมือง
• ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์หลักเมือง สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพสักการะของชาวขอนแก่นแห่งนี้ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาสุขใจ ถนนเทพารักษ์หน้าเทศบาลขอนแก่น ท่านเจ้าคุณปู่พระราชสารธรรมมุนี และหลวงธุรนัยพินิจ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นได้ริเริ่มสร้างขึ้นโดยนำหลักศิลาจารึกจากโบราณสถานในท้องที่อำเภอชุมแพมาประกอบพิธีทางพุทธศาสนา และตั้งเป็นศาลหลักเมืองเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2499
• พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น เป็นที่เก็บรวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุอันมีค่าตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ มีการจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์ยุคหินใหม่ที่บ้านเชียงและเครื่องมือเครื่องใช้ของผู้คนในยุคนั้น สิ่งที่ควรชมสำหรับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คือใบเสมาหินทรายขนาดใหญ่เป็นงานพุทธศิลป์สมัยทวารวดีจำหลักภาพพุทธประวัติที่งดงามและสมบูรณ์มาก พบที่เมืองฟ้าแดดสูงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ นอกจากนั้นยังมีศิลปวัตถุสมัยขอมหรือลพบุรีอันได้แก่ทับหลังจากปราสาทหินในภาคอีสาน นอกเหนือจากโบราณวัตถุที่พบในท้องถิ่นแล้ว ที่นี่ยังจัดแสดงศิลปวัตถุสมัยอื่นไว้ด้วย เช่น สุโขทัย อยุธยา เป็นต้น และส่วนหนึ่งก็จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านไว้ด้วยเหมาะสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีสาน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่ถนนหลังศูนย์ราชการ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. ปิดวันจันทร์, วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ อัตราค่าเข้าชมชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ โทร. (043) 246170
• บึงแก่นนคร ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลกลางเมืองขอนแก่น เป็นบึงขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ 603 ไร่ นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์ "เจ้าเพียเมืองแพน" ผู้ก่อตั้งเมืองขอนแก่นแล้ว ที่นี่ยังเป็นสถานที่ที่นิยมมาพักผ่อนหย่อนใจ และทำกิจกรรมนันทนาการของชาวเมืองเพราะมีบรรยากาศสบายๆ พื้นที่โดยรอบมีการปรับปรุงตกแต่งให้เป็นสวนสุขภาพ ประดับประดาด้วยประติมากรรมรูปต่างๆดูเพลินตาเพลินใจ ยิ่งไปกว่านั้นทางเทศบาลยังปลูกต้นคูณ และไม้ดัดไว้โดยรอบเพิ่มความร่มรื่นสวยงามให้กับสถานที่ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีสนามเด็กเล่นและร้านอาหารเปิดบริการหลายประเภทอีกด้วย
• มหาวิทยาลัยขอนแก่น เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 บนพื้นที่ประมาณกว่า 5,000 ไร่ บริเวณ “มอดินแดง” เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ ทรงกระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2510 มหาวิทยาลัยแห่งนี้อยู่ห่างจากตัวเมือง 4 กิโลเมตร มีทางเข้าสองทางคือ ด้านถนนมิตรภาพ (สายขอนแก่น-อุดรธานี) และด้านถนนประชาสโมสร (สายขอนแก่น-เลย) สิ่งที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวคือ “บึงสีฐาน” ซึ่งมีนกเป็ดน้ำอพยพมาอาศัยอยู่ในช่วงฤดูหนาว
• วัดไชยศรี ตั้งอยู่ที่บ้านสะวี สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2408 สิ่งที่น่าสนใจคือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ดูสวยงามแปลกตาฝีมือนายทอง ทิพย์ชา ช่างพื้นบ้านชาวมหาสารคาม ภาพจิตรกรรมที่วัดนี้จะเขียนทั้งภายในและภายนอกสิม(โบสถ์) สิ่งที่สะดุดตาอันดับแรกคือการใช้สี ช่างจะเขียนด้วยสีฝุ่นโทนสีคราม เหลือง ขาว มองสบายตา ลักษณะการเขียนภาพเน้นสัดส่วนที่เกินจริง อารมณ์ของภาพดูสนุกสนาน ตัวละครจะออกท่าทางโลดโผน เรื่องราวที่เขียนบนฝาผนังด้านนอกเป็นรูปนรกแปดขุม ภาพพระเวสสันดร นิทานพื้นบ้านเรื่องสังข์สินไชย ภาพทวารบาล ส่วนด้านในจะเล่าเรื่องพุทธประวัติ มีภาพเทพ มนุษย์และสัตว์ต่างๆ แต่ปรกติวัดในต่างจังหวัดยังคงเคร่งตามประเพณีเดิม คือผู้หญิงไม่สามารถเข้าไปภายในโบสถ์ได้ ซึ่งวัดไชยศรีก็เป็นวัดหนึ่งที่ยังรักษาธรรมเนียมนี้อยู่ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของสิมโบราณ เดิมเป็นหลังคาแบบอีสานคือมีปีกยื่น ต่อมาหลังคาชำรุดชาวบ้านจึงร่วมกันปฏิสังขรณ์ใหม่เป็นแบบรัตนโกสินทร์ ซึ่งไม่สามารถกันแดดกันฝนได้ทั่วถึง จึงทำให้ภาพจิตรกรรมที่ผนังด้านนอกเลือนไปบ้างแต่อย่างไรก็ดีกรมศิลปากรก็ได้เข้ามาต่อเติมปีกด้านข้างของโบสถ์แล้ว นอกจากนั้นยังยกพื้นขึ้นเพื่อป้องกันน้ำกัดเซาะฐานด้วย
• การเดินทาง ไปตามถนนมะลิวัลย์สายขอนแก่น-ชุมแพ ถึงกิโลเมตรที่ 14 แล้วเลี้ยวขวาไปตามเส้นทางหมู่บ้านสาวะถี ผ่านบ้านม่วงรวมระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นทางลูกรังประมาณครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าจะไปโดยทางลาดยางตลอดต้องอ้อมนิดหน่อยผ่านบ้านม่วง บ้านโคกล่าม บ้านหนองตาไก้ บ้านม่วงโป้ บ้านโนนกู่และเข้าสู่สาวะถี รวมระยะทาง 21 กิโลเมตร
• กู่แก้ว ตั้งอยู่ที่ตำบลดอนช้าง เป็นศาสนสถานเขมรขนาดเล็กสร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 ในพุทธศาสนานิกายมหายาน ประกอบด้วย "บรรณาลัย"(ห้องสมุด) และองค์ปรางค์ประธาน ภายในกำแพงแก้ว ส่วนนอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มี"บาราย"(สระน้ำ)ก่อด้วยศิลาแลง ระหว่างการบูรณะพบศิลาจารึกสลักเป็นภาษาสันสกฤตกล่าวถึงพระประสงค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในการสร้างศาสนสถานเพื่อเป็นทั้งที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและรักษาโรคภัยไข้เจ็บแก่ประชาชนด้วยเรียกว่า“อโรคยาศาล” นอกจากนั้นยังพบรูปสลักหินทรายพระโพธิสัตว์ พระนารายณ์ทรงครุฑ และพรหมทรงกระบือ

• ข้อมูลท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยว อ.น้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
อำเภอน้ำพอง
• พระธาตุขามแก่นสร้างขึ้นประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ตั้งอยู่ในวัดเจติยภูมิ ตำบลบ้านขาม ตามประวัติโดยย่อ กล่าวว่าโมริยกษัตริย์เจ้าเมืองโมรีย์ซึ่งเป็นเมืองอยู่ในอาณาเขตของประเทศกัมพูชา มีความประสงค์ที่จะนำพระอังคารของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ไว้เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าปรินิพพานใหม่ๆ มาบรรจุพระธาตุพนม จึงโปรดให้พระอรหันต์และพระเถระเจ้าคณะรวม 9 องค์นำขบวนอัญเชิญพระอังคารมาในครั้งนี้ เมื่อผ่านมาถึงดอนมะขามแห่งหนึ่งซึ่งมีต้นมะขามใหญ่ที่ตายแล้วเหลือแต่แก่น เนื่องจากเป็นเวลาพลบค่ำแล้วและบริเวณนี้ภูมิประเทศราบเรียบดีจึงหยุดคณะพักชั่วคราว รุ่งเช้าจึงเดินทางต่อไปถึงภูกำพร้าปรากฏว่าพระธาตุพนมได้สร้างเสร็จแล้ว จึงเดินทางกลับและตั้งใจว่าจะนำพระอังคารธาตุกลับไปประดิษฐานไว้ที่บ้านเมืองของตน แต่เมื่อเดินทางผ่านดอนมะขามอีกครั้งปรากฏว่าแก่นมะขามที่ตายแล้วนั้นกลับยืนต้นแตกกิ่งก้านผลิใบเขียวชอุ่มเป็นที่น่าอัศจรรย์ คณะอัญเชิญพระอังคารธาตุจึงพร้อมใจกันสร้างเจดีย์ครอบต้นมะขามนี้ พร้อมกับนำพระอังคารธาตุและพระพุทธรูปบรรจุไว้ในองค์พระธาตุและให้นามว่าพระธาตุขามแก่นมาจนทุกวันนี้ พระธาตุขามแก่นถือว่าเป็นโบราณสถานที่สำคัญของจังหวัดขอนแก่น ทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 จะมีงานฉลองและนมัสการพระธาตุเป็นประจำ
• การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 209 (ขอนแก่น-กาฬสินธุ์) ห่างจากตัวเมืองไปประมาณ 12 กิโลเมตร เมื่อข้ามลำน้ำพองแล้ว เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 14 กิโลเมตร
• กู่ประภาชัย หรือ กู่บ้านนาคำน้อย ตั้งอยู่ที่บ้านนาคำน้อย ตำบลบัวใหญ่ การเดินทาง ไปทางเดียวกับพระธาตุขามแก่น ตรงไปก่อนถึงสะพานข้ามคลองส่งน้ำจากลำน้ำพอง เลี้ยวซ้ายตามถนนเลียบคลองส่งน้ำแล้วเลี้ยวขวาข้ามสะพานเข้าหมู่บ้านนาคำน้อย กู่จะอยู่ภายในวัดกู่บ้านนาคำน้อย หรือจะขับรถข้ามสะพานข้ามคลองส่งน้ำ ตรงไปตามถนนลาดยางประมาณ 6 กิโลเมตร ก็จะมีป้ายบอกทางให้เลี้ยวซ้ายผ่านหมู่บ้านไปประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะถึงกู่ประภาชัย
• กู่ประภาชัย คือกลุ่มโบราณสถานที่มีลักษณะแผนผังอย่างเดียวกันกับโบราณสถานที่พบหลักฐานแสดงอโรคยาศาล หรือสถานพยาบาลที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรเขมรโบราณโปรดฯให้สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 (พ.ศ.1720-1780) คือประกอบด้วยปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีมุขยื่นทางด้านหน้า ด้านขวามือเยื้องไปข้างหน้าเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมที่เรียกว่า บรรณาลัย อาคารทั้งสองล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วโดยมีโคปุระหรือซุ้มประตูทางเข้าออกด้านหน้าหรือทางด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว นอกกำแพงที่มุมซ้ายมีสระน้ำ 1 สระทั้งหมดสร้างด้วยศิลาแลง โดยมีเสาประดับประตู ทับหลังเป็นหินทราย ปัจจุบันหักพังแต่ได้รับการดูแลรักษาจากทางวัดเป็นอย่างดี ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478
• หมู่บ้านงูจงอาง บ้านโคกสง่า ต.ทรายมูล ชาวบ้านโคกสง่าแต่เดิมมีอาชีพขายยาสมุนไพรควบคู่กับการทำนามาแต่รุ่นปู่ย่าตายาย การขายยาสมุนไพรในสมัยก่อนต้องเดินเท้าไปเร่ขายยาตามหมู่บ้านต่างๆด้วยความยากลำบาก แต่เมื่อปีพ.ศ. 2494 พ่อใหญ่เคน ยงลา หมอยาบ้านโคกสง่าจึงได้คิดหางูเห่ามาแสดงเพื่อเป็นการดึงดูดคนมาดู แทนที่จะต้องเดินไปขายยาในทุกๆ หมู่บ้านเช่นเคย ปรากฏว่าการแสดงประสบความสำเร็จสามารถเรียกคนมาดูได้มากพอสมควร แต่เนื่องจากงูเห่านั้นมีอันตรายมากสามารถพ่นพิษได้ไกลถึง 2 เมตรพ่อใหญ่จึงเปลี่ยนมาใช้งูจงอางแสดงแทนและถ่ายทอดวิชาแสดงงูให้คนในหมู่บ้าน เมื่อว่างเว้นจากการเกษตรชาวบ้านจะรวมกลุ่มเดินทางออกเร่แสดงงูเพื่อขายยาสมุนไพร ส่วนการแสดงที่หมู่บ้านนั้นจะจัดขึ้นบริเวณลานวัดศรีธรรมา และรอบๆบริเวณก็จะมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับงูจงอาง รวมทั้งมีโรงเรือนเพาะเลี้ยงงูจงอางอยู่ด้วย
• ปัจจุบันการแสดงงูจงอางบ้านโคกสง่าเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมาก ชาวบ้านเกือบทุกหลังคาเรือนจะเลี้ยงงูจงอางไว้ใต้ถุนบ้าน มีการจัดแสดงหลายรูปแบบเพื่อดึงดูดให้คนสนใจยิ่งขึ้น เช่นการแสดงละครงูตามจังหวะเพลง การชกมวยระหว่างคนกับงูจงอางจนชาวบ้านที่มีชื่อเสียงทางการแสดงงูมีฉายาประจำ เช่น กระหร่องน้อย เมืองอีสาน, ทองคำ ลูกทองชัย ฯลฯ
• บ้านโคกสง่าอยู่ห่างจากตัวจังหวัดเป็นระยะทาง 49 กิโลเมตร เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 2(ถนนมิตรภาพ) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 33 เลี้ยวขวาเข้าเส้นทางไปอำเภอกระนวน ตามทางหลวงหมายเลข 2039 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 14 เมื่อสังเกตเห็นป้อมยามตำรวจพังทุยทางด้านซ้าย ให้เลี้ยวขวาไปตามถนนลูกรังผ่านบ้านนางาม วัดสระแก้ว เมื่อถึงสี่แยกที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านแล้วเลี้ยวซ้ายไปประมาณ 600 เมตร จะถึงประตูทางเข้าหมู่บ้าน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม