Holiday-Tourismthailand

ท่องเที่ยว สูตรอาหารไทย อาหารเพื่อสุขภาพ ทั่วไทย เกาะช้าง เกาะเสม็ด เกาะกูด ภูกระดึง ระยอง หัวหิน พัทยา เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และ สถานที่ท่องเที่ยว ต่างๆ.

Custom Search


พระธาตุขามแก่น : วัดเจติยภูมิ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
• ตั้งอยู่ที่วัดเจติยภูมิ บ้านขาม หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เป็นปูชนียสถานของจังหวัดขอนแก่น บ้านขามเคยเป็นเมืองมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นเวลาประมาณ 2000 ปี ตั้งแต่ พ.ศ 500 ต่อมาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ชื่อ เพี้ยเมืองแพน (ปัจจุบันคือ จังหวัดร้อยเอ็ด)
• พระธาตุขามแก่นเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองขอนแก่น ลักษณะเป็นเจดีย์ยอดฉัตรทองคำสูง 19 เมตร พระธาตุขามแก่นมีตำนานเล่าขานกันว่า คณะอัญเชิญพระอังคารธาตุของพระพุทธเจ้า จากเมืองโมรีย์ (ประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน) นำโดยกษัตริย์เจ้านครโมรีย์ พร้อมด้วยพระอรหันต์ 9 องค์ ได้เดินทางเพื่อนำพระอังคารธาตุไปบรรจุในพระธาตุพนม ซึ่งระหว่างนั้นยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ระหว่างทางได้แวะพักในบริเวณดอนมะขาม อันที่ตั้งของพระธาตุขามแก่นในปัจจุบัน ซึ่งมีต้นมะขามใหญ่ที่ตายแล้วเหลือเพียงแก่นและได้นำพระอังคารธาตุไปวางพักไว้บนแก่นมะขามนั้น รุ่งเช้า จึงเดินทางมุ่งหน้าสู่สถานที่ก่อสร้างพระธาตุพนมต่อไป
• เมื่อไปถึงปรากฎว่า พระธาตุพนมได้สร้างเสร็จแล้ว จึงต้องนำพระอังคารธาตุ กลับตามเส้นทางเดิม โดยตั้งใจว่าจะนำกลับไปยังนครโมรีย์ของตนตามเดิม เมื่อกลับมาถึงดอนมะขามที่เคยพักแรม ได้เห็นมะขามต้นที่ตายเหลือแต่แก่น กับฟื้นคืนชีวิตแตกใบเขียวชะอุ่ม น่าอัศจรรย์ จึงพร้อมใจกันสร้างพระธาตุครอบต้นมะขามและบรรจุพระอังคารธาตุไว้และพระพุทธรูปบรรจุไว้ภายใน และให้นามว่า “พระธาตุขามแก่น” พร้อมทั้งสร้างวัดเป็นที่พำนักของพระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ เคียงคู่องค์พระธาตุ พร้อมสร้างบ้านเรือน ปักถิ่นฐานในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย
• การมาไหว้พระธาตุขามแก่นหรือมาแก้บน ควรมาในวันพุธ เพราะจะมี “เฒ่าจ้ำ หรือ กระจ้ำ” ซึ่งเป็นเหมือนผู้นำด้านจิตวิญญาณ ทำหน้าที่ด้านพิธีกรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในชุมชน มาเป็นคนนำกล่าวคำนมัสการองค์พระธาตุขามแก่น และแนะนำพิธีการต่างๆ ตามแบบแผนที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอีกด้วย
• ประเพณี : งานฉลองและนมัสการพระธาตุขามแก่น ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 การสักการะ ใช้ธูป เทียน ดอกไม้ ขันแปดเก้า ในวันขึ้น 15 ค่ำ ของทุกเดือน พระธาตุขามแก่น พระธาตุขามแก่นเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่เมืองขอนแก่นและเป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดขอนแก่น ตั้งอยู่ในบริเวณวัดเจติภูมิ บ้านขาม หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 15 ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง อยู่ห่างจากจังหวัดขอนแก่นประมาณ 30 กิโลเมตร เดินทางไปตามถนนสายขอนแก่น -กาฬสินธุ์ เลี้ยวซ้ายที่หลักกิโลเมตรที่ 12 บ้านโคกสี เป็นถนนราดยางตลอด มีป้ายบอกทางไปพระธาตุ ขามแก่นเป็นระยะๆ
• คำนมัสการพระธาตุขามแก่น : อุกาสะ วันทามิ ภันเต มะหาสาระนะคเร เจติยะภูมิยัง อาราเม นะวะหิ อะระหันเตหิ อานีตัง สุปะติฎฐาปิตัง สัมมาสัมพุทธะ สารีริกะธาตุง สิระสา นะมามิ ตัสสะ สารีริกธาตุในปูชา เม ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ
• อานิสงส์ที่ได้รับ : เรื่องร้ายกลายเป็นดี ดุจดังแก่นขามตายแล้วฟื้น รักยั่งยืน เรื่องร้ายกลายเป็นดี โรคภัยที่มี หลีกลี้ห่างหาย

• แหล่งท่องเที่ยวที่ใกล้เคียง
• วัดป่าแสงอรุณ อยู่ห่างจากตัวเมืองขอนแก่นไปราว 3 กิโลเมตร ชมความงดงามของสิมอีสานที่มีความวิจิตรงดงาม ด้วยสถาปัตยกรรมแบบอีสานผสมผสาน ภายในมีภาพเขียนฝาผนังเป็นลายผ้าไหมมัดหมี่ ซึ่งนับเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของขอนแก่น
• กู่ประภาชัย บ้านนาคำน้อย ซึ่งเป็นกลุ่มโบราณสถานสำคัญ กู่ประภาชัย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “กู่บ้านนาคำน้อย” เป็นโบราณสถานที่มีแผนผังแบบห้องอโรคยา (สถานพยาบาล) ซึ่งสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรเขมร ราวช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 บริเวณโดยรอบประกอบด้วยปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านขวามือคือที่ตั้งของบรรณาลัย ตัวอาคารทั้งสองล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ด้านนอกกำแพงมีสระน้ำ รอบด้านร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่
• หมู่บ้านงูจงอาง อ.น้ำพอง แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของขอนแก่น นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินิยมเดินทางไปชมการแสดงของงู ซึ่งมีหลากหลาย เช่น การชกมวยระหว่างคนและงู การแสดงละครงูตามจังหวะเพลง นอกจากนี้ยังมีโรงเพาะพันธุ์งูจงอาง ร้านขายยา สมุนไพรรักษาโรคต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อติดไม้ติดมือ ถือเป็นการสร้างอาชีพและรายได้ให้ชาวบ้านในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง สามารถเยี่ยมชมการแสดงได้ทุกวัน ไม่เก็บค่าเข้าชม
อำเภอเมือง
• ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์หลักเมือง สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพสักการะของชาวขอนแก่นแห่งนี้ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาสุขใจ ถนนเทพารักษ์หน้าเทศบาลขอนแก่น ท่านเจ้าคุณปู่พระราชสารธรรมมุนี และหลวงธุรนัยพินิจ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นได้ริเริ่มสร้างขึ้นโดยนำหลักศิลาจารึกจากโบราณสถานในท้องที่อำเภอชุมแพมาประกอบพิธีทางพุทธศาสนา และตั้งเป็นศาลหลักเมืองเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2499
• พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น เป็นที่เก็บรวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุอันมีค่าตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ มีการจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์ยุคหินใหม่ที่บ้านเชียงและเครื่องมือเครื่องใช้ของผู้คนในยุคนั้น สิ่งที่ควรชมสำหรับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คือใบเสมาหินทรายขนาดใหญ่เป็นงานพุทธศิลป์สมัยทวารวดีจำหลักภาพพุทธประวัติที่งดงามและสมบูรณ์มาก พบที่เมืองฟ้าแดดสูงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ นอกจากนั้นยังมีศิลปวัตถุสมัยขอมหรือลพบุรีอันได้แก่ทับหลังจากปราสาทหินในภาคอีสาน นอกเหนือจากโบราณวัตถุที่พบในท้องถิ่นแล้ว ที่นี่ยังจัดแสดงศิลปวัตถุสมัยอื่นไว้ด้วย เช่น สุโขทัย อยุธยา เป็นต้น และส่วนหนึ่งก็จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านไว้ด้วยเหมาะสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีสาน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่ถนนหลังศูนย์ราชการ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. ปิดวันจันทร์, วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ อัตราค่าเข้าชมชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ โทร. (043) 246170
• บึงแก่นนคร ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลกลางเมืองขอนแก่น เป็นบึงขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ 603 ไร่ นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์ "เจ้าเพียเมืองแพน" ผู้ก่อตั้งเมืองขอนแก่นแล้ว ที่นี่ยังเป็นสถานที่ที่นิยมมาพักผ่อนหย่อนใจ และทำกิจกรรมนันทนาการของชาวเมืองเพราะมีบรรยากาศสบายๆ พื้นที่โดยรอบมีการปรับปรุงตกแต่งให้เป็นสวนสุขภาพ ประดับประดาด้วยประติมากรรมรูปต่างๆดูเพลินตาเพลินใจ ยิ่งไปกว่านั้นทางเทศบาลยังปลูกต้นคูณ และไม้ดัดไว้โดยรอบเพิ่มความร่มรื่นสวยงามให้กับสถานที่ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีสนามเด็กเล่นและร้านอาหารเปิดบริการหลายประเภทอีกด้วย
• มหาวิทยาลัยขอนแก่น เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 บนพื้นที่ประมาณกว่า 5,000 ไร่ บริเวณ “มอดินแดง” เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ ทรงกระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2510 มหาวิทยาลัยแห่งนี้อยู่ห่างจากตัวเมือง 4 กิโลเมตร มีทางเข้าสองทางคือ ด้านถนนมิตรภาพ (สายขอนแก่น-อุดรธานี) และด้านถนนประชาสโมสร (สายขอนแก่น-เลย) สิ่งที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวคือ “บึงสีฐาน” ซึ่งมีนกเป็ดน้ำอพยพมาอาศัยอยู่ในช่วงฤดูหนาว
• วัดไชยศรี ตั้งอยู่ที่บ้านสะวี สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2408 สิ่งที่น่าสนใจคือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ดูสวยงามแปลกตาฝีมือนายทอง ทิพย์ชา ช่างพื้นบ้านชาวมหาสารคาม ภาพจิตรกรรมที่วัดนี้จะเขียนทั้งภายในและภายนอกสิม(โบสถ์) สิ่งที่สะดุดตาอันดับแรกคือการใช้สี ช่างจะเขียนด้วยสีฝุ่นโทนสีคราม เหลือง ขาว มองสบายตา ลักษณะการเขียนภาพเน้นสัดส่วนที่เกินจริง อารมณ์ของภาพดูสนุกสนาน ตัวละครจะออกท่าทางโลดโผน เรื่องราวที่เขียนบนฝาผนังด้านนอกเป็นรูปนรกแปดขุม ภาพพระเวสสันดร นิทานพื้นบ้านเรื่องสังข์สินไชย ภาพทวารบาล ส่วนด้านในจะเล่าเรื่องพุทธประวัติ มีภาพเทพ มนุษย์และสัตว์ต่างๆ แต่ปรกติวัดในต่างจังหวัดยังคงเคร่งตามประเพณีเดิม คือผู้หญิงไม่สามารถเข้าไปภายในโบสถ์ได้ ซึ่งวัดไชยศรีก็เป็นวัดหนึ่งที่ยังรักษาธรรมเนียมนี้อยู่ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของสิมโบราณ เดิมเป็นหลังคาแบบอีสานคือมีปีกยื่น ต่อมาหลังคาชำรุดชาวบ้านจึงร่วมกันปฏิสังขรณ์ใหม่เป็นแบบรัตนโกสินทร์ ซึ่งไม่สามารถกันแดดกันฝนได้ทั่วถึง จึงทำให้ภาพจิตรกรรมที่ผนังด้านนอกเลือนไปบ้างแต่อย่างไรก็ดีกรมศิลปากรก็ได้เข้ามาต่อเติมปีกด้านข้างของโบสถ์แล้ว นอกจากนั้นยังยกพื้นขึ้นเพื่อป้องกันน้ำกัดเซาะฐานด้วย
• การเดินทาง ไปตามถนนมะลิวัลย์สายขอนแก่น-ชุมแพ ถึงกิโลเมตรที่ 14 แล้วเลี้ยวขวาไปตามเส้นทางหมู่บ้านสาวะถี ผ่านบ้านม่วงรวมระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นทางลูกรังประมาณครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าจะไปโดยทางลาดยางตลอดต้องอ้อมนิดหน่อยผ่านบ้านม่วง บ้านโคกล่าม บ้านหนองตาไก้ บ้านม่วงโป้ บ้านโนนกู่และเข้าสู่สาวะถี รวมระยะทาง 21 กิโลเมตร
• กู่แก้ว ตั้งอยู่ที่ตำบลดอนช้าง เป็นศาสนสถานเขมรขนาดเล็กสร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 ในพุทธศาสนานิกายมหายาน ประกอบด้วย "บรรณาลัย"(ห้องสมุด) และองค์ปรางค์ประธาน ภายในกำแพงแก้ว ส่วนนอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มี"บาราย"(สระน้ำ)ก่อด้วยศิลาแลง ระหว่างการบูรณะพบศิลาจารึกสลักเป็นภาษาสันสกฤตกล่าวถึงพระประสงค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในการสร้างศาสนสถานเพื่อเป็นทั้งที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและรักษาโรคภัยไข้เจ็บแก่ประชาชนด้วยเรียกว่า“อโรคยาศาล” นอกจากนั้นยังพบรูปสลักหินทรายพระโพธิสัตว์ พระนารายณ์ทรงครุฑ และพรหมทรงกระบือ

• ข้อมูลท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยว อ.น้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
อำเภอน้ำพอง
• พระธาตุขามแก่นสร้างขึ้นประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ตั้งอยู่ในวัดเจติยภูมิ ตำบลบ้านขาม ตามประวัติโดยย่อ กล่าวว่าโมริยกษัตริย์เจ้าเมืองโมรีย์ซึ่งเป็นเมืองอยู่ในอาณาเขตของประเทศกัมพูชา มีความประสงค์ที่จะนำพระอังคารของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ไว้เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าปรินิพพานใหม่ๆ มาบรรจุพระธาตุพนม จึงโปรดให้พระอรหันต์และพระเถระเจ้าคณะรวม 9 องค์นำขบวนอัญเชิญพระอังคารมาในครั้งนี้ เมื่อผ่านมาถึงดอนมะขามแห่งหนึ่งซึ่งมีต้นมะขามใหญ่ที่ตายแล้วเหลือแต่แก่น เนื่องจากเป็นเวลาพลบค่ำแล้วและบริเวณนี้ภูมิประเทศราบเรียบดีจึงหยุดคณะพักชั่วคราว รุ่งเช้าจึงเดินทางต่อไปถึงภูกำพร้าปรากฏว่าพระธาตุพนมได้สร้างเสร็จแล้ว จึงเดินทางกลับและตั้งใจว่าจะนำพระอังคารธาตุกลับไปประดิษฐานไว้ที่บ้านเมืองของตน แต่เมื่อเดินทางผ่านดอนมะขามอีกครั้งปรากฏว่าแก่นมะขามที่ตายแล้วนั้นกลับยืนต้นแตกกิ่งก้านผลิใบเขียวชอุ่มเป็นที่น่าอัศจรรย์ คณะอัญเชิญพระอังคารธาตุจึงพร้อมใจกันสร้างเจดีย์ครอบต้นมะขามนี้ พร้อมกับนำพระอังคารธาตุและพระพุทธรูปบรรจุไว้ในองค์พระธาตุและให้นามว่าพระธาตุขามแก่นมาจนทุกวันนี้ พระธาตุขามแก่นถือว่าเป็นโบราณสถานที่สำคัญของจังหวัดขอนแก่น ทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 จะมีงานฉลองและนมัสการพระธาตุเป็นประจำ
• การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 209 (ขอนแก่น-กาฬสินธุ์) ห่างจากตัวเมืองไปประมาณ 12 กิโลเมตร เมื่อข้ามลำน้ำพองแล้ว เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 14 กิโลเมตร
• กู่ประภาชัย หรือ กู่บ้านนาคำน้อย ตั้งอยู่ที่บ้านนาคำน้อย ตำบลบัวใหญ่ การเดินทาง ไปทางเดียวกับพระธาตุขามแก่น ตรงไปก่อนถึงสะพานข้ามคลองส่งน้ำจากลำน้ำพอง เลี้ยวซ้ายตามถนนเลียบคลองส่งน้ำแล้วเลี้ยวขวาข้ามสะพานเข้าหมู่บ้านนาคำน้อย กู่จะอยู่ภายในวัดกู่บ้านนาคำน้อย หรือจะขับรถข้ามสะพานข้ามคลองส่งน้ำ ตรงไปตามถนนลาดยางประมาณ 6 กิโลเมตร ก็จะมีป้ายบอกทางให้เลี้ยวซ้ายผ่านหมู่บ้านไปประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะถึงกู่ประภาชัย
• กู่ประภาชัย คือกลุ่มโบราณสถานที่มีลักษณะแผนผังอย่างเดียวกันกับโบราณสถานที่พบหลักฐานแสดงอโรคยาศาล หรือสถานพยาบาลที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรเขมรโบราณโปรดฯให้สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 (พ.ศ.1720-1780) คือประกอบด้วยปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีมุขยื่นทางด้านหน้า ด้านขวามือเยื้องไปข้างหน้าเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมที่เรียกว่า บรรณาลัย อาคารทั้งสองล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วโดยมีโคปุระหรือซุ้มประตูทางเข้าออกด้านหน้าหรือทางด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว นอกกำแพงที่มุมซ้ายมีสระน้ำ 1 สระทั้งหมดสร้างด้วยศิลาแลง โดยมีเสาประดับประตู ทับหลังเป็นหินทราย ปัจจุบันหักพังแต่ได้รับการดูแลรักษาจากทางวัดเป็นอย่างดี ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478
• หมู่บ้านงูจงอาง บ้านโคกสง่า ต.ทรายมูล ชาวบ้านโคกสง่าแต่เดิมมีอาชีพขายยาสมุนไพรควบคู่กับการทำนามาแต่รุ่นปู่ย่าตายาย การขายยาสมุนไพรในสมัยก่อนต้องเดินเท้าไปเร่ขายยาตามหมู่บ้านต่างๆด้วยความยากลำบาก แต่เมื่อปีพ.ศ. 2494 พ่อใหญ่เคน ยงลา หมอยาบ้านโคกสง่าจึงได้คิดหางูเห่ามาแสดงเพื่อเป็นการดึงดูดคนมาดู แทนที่จะต้องเดินไปขายยาในทุกๆ หมู่บ้านเช่นเคย ปรากฏว่าการแสดงประสบความสำเร็จสามารถเรียกคนมาดูได้มากพอสมควร แต่เนื่องจากงูเห่านั้นมีอันตรายมากสามารถพ่นพิษได้ไกลถึง 2 เมตรพ่อใหญ่จึงเปลี่ยนมาใช้งูจงอางแสดงแทนและถ่ายทอดวิชาแสดงงูให้คนในหมู่บ้าน เมื่อว่างเว้นจากการเกษตรชาวบ้านจะรวมกลุ่มเดินทางออกเร่แสดงงูเพื่อขายยาสมุนไพร ส่วนการแสดงที่หมู่บ้านนั้นจะจัดขึ้นบริเวณลานวัดศรีธรรมา และรอบๆบริเวณก็จะมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับงูจงอาง รวมทั้งมีโรงเรือนเพาะเลี้ยงงูจงอางอยู่ด้วย
• ปัจจุบันการแสดงงูจงอางบ้านโคกสง่าเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมาก ชาวบ้านเกือบทุกหลังคาเรือนจะเลี้ยงงูจงอางไว้ใต้ถุนบ้าน มีการจัดแสดงหลายรูปแบบเพื่อดึงดูดให้คนสนใจยิ่งขึ้น เช่นการแสดงละครงูตามจังหวะเพลง การชกมวยระหว่างคนกับงูจงอางจนชาวบ้านที่มีชื่อเสียงทางการแสดงงูมีฉายาประจำ เช่น กระหร่องน้อย เมืองอีสาน, ทองคำ ลูกทองชัย ฯลฯ
• บ้านโคกสง่าอยู่ห่างจากตัวจังหวัดเป็นระยะทาง 49 กิโลเมตร เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 2(ถนนมิตรภาพ) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 33 เลี้ยวขวาเข้าเส้นทางไปอำเภอกระนวน ตามทางหลวงหมายเลข 2039 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 14 เมื่อสังเกตเห็นป้อมยามตำรวจพังทุยทางด้านซ้าย ให้เลี้ยวขวาไปตามถนนลูกรังผ่านบ้านนางาม วัดสระแก้ว เมื่อถึงสี่แยกที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านแล้วเลี้ยวซ้ายไปประมาณ 600 เมตร จะถึงประตูทางเข้าหมู่บ้าน


• เป็นองค์พระเจดีย์ขนาดใหญ่ สถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างแบบขององค์พระปฐมเจดีย์และพระธาตุพนม สูง 6 ชั้น ยอดฉัตรทองคำ มีความกว้าง ยาว และสูง อย่างละ 101 เมตร รายล้อมด้วยเจดีย์องค์เล็ก 8 ทิศ สร้างในเนื้อที่ 101 ไร่บนยอดภูเขาเขียว แนวเทือกเขาภูพาน สามารถมองเห็นทัศนียภาพอันสวยงาม
• แต่ละชั้นของพระมหาเจดีย์ ถูกตกแต่งอย่างวิจิตรงดงาม ประดิษฐานรูปเหมือนสลักหินทรายของพระคณาจารย์ ปราชญ์อีสานในอดีตและหุ่นรูปเหมือนพระสุปฏิปันโนในจำนวน 101 องค์ รวมทั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานซึ่งเก็บรวบรวมอัฏฐะบริขารของหลวงปู่ศรี มหาวีโร ผู้ดำเนินการสร้างพระมหาเจดีย์อีกด้วย ชั้นบนสูงสุด เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รวมยอดทองคำเป็น 109เมตร ใช้ทอง คำหนัก 4,750 บาท หรือประมาณ 60 กิโลกรัม ภายในองค์พระมหาเจดีย์เหมือน อยู่บนวิมานแดนสวรรค์
ชั้นที่ 1 เป็นห้องโถงกว้างใหญ่ โอ่อ่า ผนังจารึกนามทานาธิบดีต่าง ๆ ใช้เป็นห้องประชุม บำเพ็ญบุญ
ชั้นที่ 2 เป็นห้องโถงโอ่อ่าเช่นกัน ผนังติดตั้งรูปพระพุทธประวัติ ลวดลาย ไทยวิจิตรพิสดาร
ชั้นที่ 3 เป็นที่ประดิษฐานรูปพระณาจารย์ ปราชญ์ อีสานในอดีต เป็นรูปเหมือนสลักหินอ่อน และหุ่นรูปเหมือนพระสุปฏิปัน โน 101 องค์
ชั้นที่ 4 จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงวัดวาอาราม สถานปฏิบัติสม ถะวิปัสสนา กรรมฐานที่หลวงปู่ศรี เคยบำเพ็ญธรรมมา
ชั้นที่ 5 บันไดเวียน 119 ชั้น เป็นห้องโถงรูประฆัง 8 เหลี่ยมบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
• ผู้ริเริ่มดำเนินการสร้างพระมหาเจดีย์ชัยมงคล คือ หลวงปู่ศรี มหาวีโร แห่งวัดประชาคมวนาราม (วัดป่ากุง) ลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระบุพพาจารย์ใหญ่ ด้านวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รวมถึงรวบรวมเรื่องราวของครูบาอาจารย์ด้านวิปัสสนากรรมฐาน เป็นศูนย์กลางสำหรับไว้ให้พุทธศาสนิกชนเข้ามาศึกษาหาความรู้ ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานและสักการะบูชา สืบไป พระมหาเจดีย์ชัยมงคล จึงเป็นศูนย์รวมจิตใจและพลังศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา และต่อหลวงปู่ศรีของชาวร้อยเอ็ด ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ ซึ่งร่วมใจบริจาคทรัพย์ตามกำลัง จนเกิดเป็นพระมหาเจดีย์ยิ่งใหญ่ดังที่เห็น
• คำนมัสการพระบรมสารีริกธาตุวัดพระมหาเจดีย์ชัยมงคล : วันทามิ พันเต เตติยัง พุทธปะระมะ สารีริกธาตุง สิระสานะมามิ
• อานิสงส์ที่ได้รับ : เสริมมงคลให้ชีวิต อลังการพระมหาเจดีย์ชัยมงคล เสริมส่งมงคล ท่วมท้นชัยชนะด้วยพุทธานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า




• แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง
• สักการะพระพุทธรัตนมงคลมหามุนี พระพุทธรูปปางประทานพรที่สูงที่สุดในประเทศไทยในวัดบูรพาภิราม บุด้วยกระเบื้องโมเสก สูง 67.55 เมตร ศิลปะพื้นบ้านส่วนผิวหนังเป็นสีเนื้อแลเห็นเด่นชัด เป็นพระพุทธรูปยืนองค์สูงที่สุดในประเทศไทยและสูงที่สุดในโลก เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดร้อยเอ็ด สร้างโดยพระครูสิริวุฒเมธี เจ้าอาวาสวัดบูรพาภิราม พระนักพัฒนา ผู้ชอบก่อสร้างศาสนสถานและปูชนียสถานต่างๆ พระพุทธรัตนมงคลมหามุนี หรือหลวงพ่อใหญ่ เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.2514 เสร็จสิ้นเมื่อ พ.ศ.2522 สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่ฐานพระพุทธรูปองค์นี้เป็นห้องพิพิธภัณฑ์จำนวนหลายห้อง ความสูงขององค์พระวัดจากพระบาทถึงยอดเกศสูงถึง 59 เมตร 20 เซนติเมตร และมีความสูงทั้งหมด 67 เมตร 55 เซนติเมตร นอกจากนี้หลวงพ่อใหญ่ยังเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัด และปรากฏอยู่ในคำขวัญของเมืองร้อยเอ็ดด้วย
• ไหว้ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ที่อยู่ในบริเวณบึงพลาญชัย แหล่งหย่อนใจที่งดงามด้วยเกาะกลางบึงน้ำขนาดใหญ่ รอบด้านตกแต่งเป็นสวนดอกไม้ขนาดใหญ่ มีสนามเด็กเล่น สวนสุขภาพ และเครื่องออกกำลังกาย นับเป็นสวนขนาดใหญ่ที่ร่มรื่นและงดงาม
• สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด แสดงปลาน้ำจืดหลากสายพันธุ์ โดยมีจุดเด่นอยู่ที่อุโมงค์ลอดใต้ตู้ปลาขนาดใหญ่ เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์
• สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดี เป็นโครงการสวนพฤกษศาสตร์ในวรรณคดีประจำภาคอีสาน ซึ่งปลูกไม้ตามวรรณคดีมากมาย นอกจากนี้ ยังมีสมุนไพรหลากชนิด จัดแต่งบริเวณรอบได้อย่างงดงาม
• เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาน้ำทิพย์ ซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยผืนป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง ชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ผาภูไท พระอาทิตย์ตกดินที่ผาหมอกมิวาย มีทางเดินศึกษาธรรมชาติ มีลานกางเต็นท์และบ้านพักบริการ


วนอุทยานโกสัมพี อยู่ในท้องที่หมู่ที่ 1 ตำบลหัวขวาง ในเขตสุขาภิบาล อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม มีเนื้อที่ประมาณ 125 ไร่ กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2519
ลักษณะภูมิประเทศ
• ป่าหนองบุ้งเป็นป่าดงดิบมีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบอยู่ริมแม่น้ำชี ในเขตสุขาภิบาล อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ภายในบริเวณป่าหนองบุ้ง ซึ่งเป็นหนองน้ำธรรมชาติ ขนาดเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ มีน้ำตลอดอีกประมาณ 1- 1.50 เมตร บริเวณป่าหนองบุ้งด้านทิศใต้มีอาณาเขตติดต่อกับถนนข้างมณฑปหลวงพ่อมิ่งเมือง และวัดกลางโกสุมพิสัย จะมีลักษณะเป็นป่าดงดิบตามธรรมชาติมาตั้งแต่เดิม เนื้อที่ประมาณ 60 ไร่ และบริเวณที่อยู่ถัดลงไปทางด้านทิศตะวันตกจนจดลำชีหลง เนื้อที่ประมาณ 45 ไร่
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
• มีพรรณไม้หลายชนิดส่วนใหญ่ที่สำคัญได้แก่ กะเบา ยาง ชมภู่ป่า หว้า ทองกวาว กระโดดสำหรับไม้พื้นล่างส่วนใหญ่ ได้แก่ เถาวัลย์เปรียง หวาย ตดตะกั่ว มะดัน นมแมว คัดเค้า และไม้ไผ่ นอกจากนั้นยังมีต้นจามจุรี หรือก้ามปู ซึ่งชาวบ้านนำไปปลูกไว้ นอกจากจะมีพรรณไม้ดังกล่าวมาแล้ว ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยไม้มีค่านานาชนิด อาทิเช่น มะค่าโมง ตะเคียนทอง ตะแบกใหญ่ เป็นต้น
• สัตว์ป่าที่ยังมีเหลืออยู่ในปัจจุบันที่สำคัญได้แก่ ลิง ซึ่งมีอยู่ 2 ฝูง จำนวนประมาณ 500 ตัว และยังมีนกกางเขนบ้าน นกกิ้งโค้ง นกสาริกา นกเอี้ยงหงอน นกปรอดสวน นกปรอดหัวโขน นกอีเสือหัวดำ และพวกนกกระจิบธรรมดา
บ้านพักและสิ้งอำนวยความสะดวก
• วนอุทยานโกสัมพี ไม่มีบ้านพักสำหรับบริการแก่นักท่องเที่ยว หากนักท่องเที่ยวมีความประสงค์จะไปพักแรม โปรดนำเต็นท์ไปกางเองทางวนอุทยานได้จัดสถานที่ไว้ให้พร้อมกับห้องสุขา โปรดเตรียมอาหารไปเองแล้วไปติดต่อขออนุญาตกับเจ้าหน้าที่วนอุทยานโกสัมพีโดยตรง หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ฝ่ายจัดการวนอุทยาน สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรุงเทพฯ 10900 ในเวลาราชการ หรือสำนักบริหารจัดการในพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 จังหวัดขอนแก่น โทร. (043) 343411
แหล่งท่องเที่ยว



• ป่าหนองบุ้ง ป่าหนองบุ้งเป็นป่าดงดิบตามธรรมชาติและมีศาลเจ้าปู่ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชานับถือของชาวบ้านท้องถิ่นเป็นคู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอโกสุมพิสัยมาตั้งแต่เดิม และยังเป็นป่าดงดิบตามธรรมชาติที่อยู่ใกล้ชุมชนที่สุดแห่งหนึ่งและยังมีลิงวอกอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นลิงวอกชนิดเดียวกับลิงวอกที่อยู่ในศาลพระกาฬ จังหวัดลพบุรี ต่อมากรมป่าไม้จึงได้ทำการสำรวจพื้นที่และจัดตั้งเป็นวนอุทยาน เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไว้เพื่อศึกษาและเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป
การเดินทาง
• รถยนต์ การเดินทางไปวนอุทยานโกสัมพี อำเภอดกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม นั้นสะดวกสบายมากที่สุด คือไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 208 จังหวัดมหาสารคาม ไปตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ประมาณ 28 กิโลเมตร ก็จะถึงวนอุทยานโกสัมพี อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม หรือจะเดินทางจากตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่นก็ได้ ระยะทางประมาณ 28 กิโลเมตรเช่นกัน
สถานที่ติดต่อ
• วนอุทยานโกสัมพี สำนักบริหารจัดการในพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (ขอนแก่น) ต.หัวขวาง อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม


บริเวณที่ตั้งขององค์พระธาตุนาดูน แต่เดิมเป็นที่นาของนายทองดี ปะวะภูตา ราษฎรหมู่บ้านนาดูน อันเป็นที่ตั้งเดิมของเมืองโบราณนครจำปาศรี ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2522 มีการขุดพบสถูบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ขนาดเท่ากับเมล็ดข้าวสารหักสีขาวขุ่น คล้ายแก้วมุกดา ซึ่งบรรจุในผอบซ้อนกันสามชั้น ชั้นในเป็นทองคำ ชั้นกลางเป็นเงิน และชั้นนอกเป็นสำริด รวมถึงพระพุทธรูป พระพิมพ์ลายหลายแบบจำนวนมาก เมื่อกรมศิลปากรมาสำรวจพบว่า บริเวณนี้เดิมเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณ นครจัมปาศรี ซึ่งมีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางพุทธศาสนาและวัฒนธรรม ตั้งแต่สมัยทวาราวดี ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-15
• ต่อมาจึงได้สร้างองค์พระธาตุนาดูนขึ้นในบริเวณที่ขุดพบสถูป องค์พระธาตุมีความสูง 50.50 เมตร ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบ ก่อสร้างแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2530 เป็นปูชนียสถานที่สร้างขึ้นเพื่อสิริมงคลแก่ภูมิภาค พื้นที่โดยรอบได้ถูกพัฒนาเพื่อเป็นศูนย์กลางส่งเสิรมกิจการพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงเรียกขานว่าเป็น “พุทธมณฑลอีสาน” รอบองค์พระธาตุมีบริเวณกว้างขวาง จัดแต่งเป็นสวนรุกขชาติ ปลูกต้นไม้ในพุทธประวัติ นับเป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาคู่บ้านคู่เมืองของชาวมหาสารคาม
• รูปลักษณะพระธาตุนาดูน จำลองแบบจากสถูปสำริดที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ฐานประยุกต์แบบศิลปทวาราวดี ฐานกว้าง 35.70 * 35.70 เมตร มีความสูงจากฐานถึงยอด 50.50 เมตร ฐานรากและโครงสร้างทั่วไปเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ทั้งหมด ผนังภายนอกพระธาตุส่วนใหญ่ทำด้วยหินล้างเบอร์ 4 บางแห่งฉาบปูนเรียบสีขาว มีลวดลายลวดบัว เสาบัวต่าง ๆ จำลองแบบ พระเครื่องพิมพ์ต่าง ๆ ที่ขุดพบมาประดิษฐานพระธาตุจำนวน 32 รูป และมีมารแบกปั้นเป็นแบบนูนสูงประดับที่ฐาน จำนวน 40 ตัว ตัวองค์พระธาตุจะแบ่งออกเป็น 16 ชั้น ลักษณะการก่อสร้างแบบคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด ภายในโปร่ง จากฐานรากขึ้นไปชั้นที่ 1 สูง 3.7 เมตร
ชั้นที่ 1 คือฐานรากมีจำนวนฐานททั้งหมด 105 ฐาน มีเสาขึ้นจากฐานทั้งหมด 144 ต้น ส่วนฐานที่เป็นองค์พระธาตุมีลักษณะกลม มีเสาทั้งหมด 16 ต้น ชั้นที่ 1 มีพื้นทางเดินโดยรอบ และมีซุ้มประตูลายปูนปั้น 4 ประตูประจำทิศ ผนังประดับด้วยกระเบื้องด่านเกวียนศิลปะของ ภาคอีสาน พื้นปูด้วยกระเบื้องเซรามิก 6 เหลี่ยม ผนังทั่วไปทำด้วยหินล้าง
ชั้นที่ 2 สูงจากชั้นที่หนึ่ง 5.00 เมตร โครงสร้างมีเสาทั้งหมด 86 ต้น มีพื้นที่โดยรอบ สำหรับก่อสร้างเจดีย์องค์เล็กประจำทิศเหนือ ทั้ง 4 และพระพุทธรูปประจำซุ้ม 4 องค์ ผนังประกอบด้วยปูนปั้นเป็นรูปเสามีบัวเหนือเสา พื้นปูด้วยกระเบื้องเซรามิก 6 เหลี่ยม ผนังทั่วไป ทำด้วยหินล้างและประดับกระเบื้องด่านเกวียน
ชั้นที่ 3 สูงจากชั้นที่สอง 4.80 เมตร โครงสร้างมีเสาทั้งหมด 44 ต้น มีพื้นโดยรอบ สำหรับก่อสร้างเจดีย์องค์เล็กประจำทิศเฉียง 4 องค์ เช่นเดียวกับชั้นที่ 2 พื้นปูด้วยกระเบื้อง เซรามิก 6 เหลี่ยม ผนังทั่วไปทำด้วยหินล้าง
ชั้นที่ 4 สูงจากชั้นที่สาม 1.60 เมตร ประกอบด้วยฐาน 8 เหลี่ยม เป็นชั้นเริ่มต้นของ ตัวองค์พระธาตุ โครงสร้างประกอบด้วยเสาทั้งหมด 24 ต้น ผนังทั่วไปทำด้วยหินล้าง ชั้นที่ 5 สูงจากชั้นที่สาม 1.00 เมตร ประกอบด้วยฐานบัวกลม โครงสร้างประกอบ ด้วยเสาทั้งหมด 16 ต้น ผิวภายนอกทำด้วยหินล้าง
ชั้นที่ 5 ถึงชั้นที่ 10มีความสูง 11.00 เมตรเป็นตัวองค์ระฆังของพระธาตุโดยเฉพาะชั้นที่ 8 จะเป็นชั้นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โครงสร้างประกอบด้วยเสาทั้งหมด 16 ต้น จนถึงชั้นที่ 9 ชั้นที่ 10 ลดเหลือเสา 9 ต้น ลักษณะองค์ระฆังภายนอกทำด้วยหินล้างทั้งหมด เป็นชั้นบัลลังก์ ลักษณะโครงสร้างมีเสาทั้งหมด 5 ต้น ผนังทำด้วยหินล้าง
ชั้นที่ 11 ถึงชั้นที่ 14 มีความสูง 4.60 เมตร เป็นชั้นบัลลังก์ประกอบด้วยลักษณะทรงกลมมีลายปูนปั้นเป็นกลีบบัว โครงสร้างประกอบด้วยเสา 5 ต้น ผนังทำด้วยหินล้างทั้งหมด
ชั้นที่14 ถึงชั้นที่ 16 มีความสูง 6.80 เมตร เป็นชั้นปล้องไฉน มีทั้งหมด 6 ปล้อง โครงสร้างประกอบด้วยเสาแกนต้นเดียว ปล้องไฉนทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ผิวทำด้วยหินล้าง ชั้นที่ 16 ถึงยอดคือปลียอด มีชั้นปลี ชั้นลูกแก้ว และะชั้นฉัตรยอด โครงสร้าง ประกอบด้วยเสาแกนต้นเดียว ผนังผิวทำด้วย หินล้างโดยรอบ ส่วนฉัตรยอดบุด้วยโมเสกแก้วสีทอง
• คำนมัสการพระธาตุนาดูน : อะติเตกิระ จำปาศรีนะคะเร สัมมาสัมพุทธะ สารีริกธาตุ นาตุละมัง นะคะระฐาเนวะ มหาสาระคามัง นะคะระสีมัง ปัจจุปันนัญจะ สิระสานะมามิ (สิระสานะมามะ)
• อานิสงส์ที่ได้รับ : เพิ่มพูนบารมี ศูนย์รวมความดี บารมีแดนอีสาน

• แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง
• พิพิธภัณฑ์นครจำปาศรี จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาและพัฒนาการของเมืองโบราณนครจำปาศรี เมืองซึ่งมีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมในยุคทวาราวดี ยังมีเรื่องราวการค้นพบพระบรมสารีริกธาตุเป็นศูนย์กลางในการส่งเสิรมกิจการของพุทธศาสนาประจำภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือที่เรียกว่า พุทธมณฑลอีสาน เปิดให้เข้าชมวันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 08.30-16.30 น.
• สถาบันวิจัยรุกขเวช ร่มรื่นด้วยพรรณไม้ ทั้งสวนสมุนไพร ลานไผ่ พิพิธภัณฑ์โรงเกวียนอีสาน พิพิธภัณฑ์เรือนอีสาน จำลองบ้านผู้ไทย บ้านประมง บ้านดนตรี บ้านเครื่อง มือดักสัตว์ บ้านผ้าทอ และบ้านหมอยา เปิดให้เข้าชมทุกวัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 043-723539
• เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน แหล่งดูนกและศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศที่ดีอีกแห่งของอีสาน ทั้งยังเป็นถิ่นอาศัยของปูน้ำจืดที่สวยงาม ชาวบ้านเรียกว่า ปูแป้ง ต่อมา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ทรงพระราชทานชื่อ จึงเรียกว่า “ปูทูลกระหม่อม” ปูชนิดนี้ตัวใหญ่กว่าปูนา ลำตัวมีหลากหลายสี ทั้งม่วง ส้ม เหลือง และขาว


พระธาตุยาคู เป็นหนึ่งในโบราณสถานที่พบในเขตเมืองฟ้าแดดสงยาง ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่มีการขุดค้นพบหลักฐานต่างๆ มากมาย พระธาตุยาคูเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองฟ้าแดดสงยาง ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่า เป็นพระธาตุที่บรรจุอัฐิของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ชาวเมืองเคารพนับถือ จึงเรียกกันว่า พระธาตุยาคู (ญาคู ภาษาอีสาน หมายถึง พระสงฆ์ผู้ใหญ่ในวัด) และเนื่องด้วยเป็นสถานที่แห่งเดียวในเมืองฟ้าแดดสงยางที่ไม่ถูกทำลายโดยเมืองเชียงโสม ซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงคราม จึงนับเป็นโบราณสถานที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ มีหลักฐานว่าแต่ละส่วนของพระธาตุยาคู สร้างขึ้นใน 3 สมัย โดยส่วนฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม มีบันไดทางขึ้น 4 ทิศ สร้างในสมัยทวารวดี ถัดขึ้นมาเป็นส่วนฐานทรงแปดเหลี่ยม สร้างในสมัยอยุธยา ซึ่งสร้างซ้อนทับบนฐานเดิม ส่วนองค์ระฆังและส่วนยอดสร้างต่อเติมในสมัยรัตนโกสินทร์
• มีข้อสังเกตตามประวัติศาสตร์ว่า เมื่อเมืองเชียงโสมชนะสงคราม ได้ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างในเมืองฟ้าแดดสงยาง แต่พระธาตุยาคูเป็นสถานที่แห่งเดียวในเมืองฟ้าแดดสงยางที่ไม่ถูกทำลายโดยเมืองเชียงโสม จึงนับเป็นโบราณสถานที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ทุกๆ ปีในเดือนพฤษภาคม ชาวบ้านจะจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ เพื่อเป็นการขอฝนและนำความร่มเย็นมาสู่หมู่บ้าน
• อานิสงส์ที่ได้รับ : ร่มเย็นเป็นสุข สักการะพระธาตุโบราณ เบิกบานร่มเย็น อัศจรรย์บูชาพระธาตุโบราณ ชีวิตเบิกบาน สมบูรณ์พูนสุข

• แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง
• เมืองฟ้าแดดสงยาง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอกมลาไสย ฟ้าแดดสงยาง หรือเรียกเพี้ยนไปเป็นฟ้าแดดสูงยาง บางแห่งเรียกว่า เมืองเสมา เนื่องจากมีผังเมืองรูปร่างคล้ายใบเสมา เป็นเมืองโบราณ มีซากอิฐปนดิน คูเมืองสองชั้นมีลักษณะเป็นท้องน้ำที่พอมองเห็น คือพระธาตุยาคู ผังเมืองรูปไข่แบบทวาราวดีแต่มีตัวเมืองสองชั้น เชื่อว่าเกิดจากการขยายตัวเมือง ชาวนามักขุดพบใบเสมาหินทราย
• วัดโพธิ์ชัยเสมาราม เมืองฟ้าแดดสงยาง เป็นวัดโบราณที่ชาวบ้านนำใบเสมาหินขนาดใหญ่ที่ขุดค้นพบมารวบรวมไว้เป็นจำนวนมาก ใบเสมาเหล่านี้เป็นภาพแกะสลักบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ใบเสมาที่มีความงดงามและสมบูรณ์ที่สุดปัจจุบันได้จำลองไว้ที่วัดแห่งนี้ ส่วนของจริงย้ายไปไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น
• เขื่อนลำปาว สร้างขึ้นมาเพื่อบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับน้ำ อีกทั้งยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา ใกล้กันมีสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าลำปาว(สวนสะออน) ร่มรื่นด้วยพรรณไม้น้อยใหญ่ มีสวนสัตว์เปิดให้ได้ชมสัตว์นานาชนิด ยังมีสัตว์ป่าหายากอย่าง วัวแดง ซึ่งอยู่ประจำถิ่นกว่าร้อยตัว สวนแห่งนี้เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 07.00-18.00 น.
• แหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว จัดแสดงหลุมขุดค้นและเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์ ภายในบริเวณแหล่งขุดค้นยังมีพิพิธภัณฑ์สิรินธร ซึ่งมีความทันสมัยและให้ความรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์อย่างครบครัน ทั้งสองแห่งเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 09.00-17.00 น. ไม่เก็บค่าเข้าชม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ 043-871014

บทความที่ได้รับความนิยม