Holiday-Tourismthailand

ท่องเที่ยว สูตรอาหารไทย อาหารเพื่อสุขภาพ ทั่วไทย เกาะช้าง เกาะเสม็ด เกาะกูด ภูกระดึง ระยอง หัวหิน พัทยา เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และ สถานที่ท่องเที่ยว ต่างๆ.

Custom Search


อุทยานแห่งชาติตาพระยาเป็นส่วนหนึ่งในเทือกเขาพนมดงรัก ตั้งอยู่ในแนวทิศตะวันออกยาวไปทางทิศตะวันตก ระหว่างเส้นรุ้งที่ 14 องศา 5 ลิบดาเหนือถึง 14 องศา 22 ลิบดาเหนือ และเส้นแวงที่ 102 องศา 30 ลิบดาตะวันออก ถึง 103 องศา 14 ลิบดาตะวันออก หรือบริเวณของด้านทิศใต้ของที่ราบสูงโคราช มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 371,250 ไร่ หรือ 594 ตารางกิโลเมตร โดยครอบคลุมเนื้อที่ 2 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว และบุรีรัมย์ อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 380 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชา

ความเป็นมา : เนื่องด้วยกรมป่าไม้ได้รับแจ้งจากกองทัพภาคที่ 1 ขอให้พิจารณาประกาศจัดตั้งป่าบริเวณเทือกเขาบรรทัด รอยต่อ 3 จังหวัด คือ จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์เป็นป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้พิจารณาแล้วจึงให้นายอภิศักดิ์ จัตตุพรพงษ์ นักวิชาการป่าไม้ 5 ปฎิบัติงานประจำอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในขณะนั้น ไปดำเนินการสำรวจ และจัดตั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าตาพระยา ป่าดงใหญ่ ป่าบ้านกรวด แปลงที่ห้า และป่าใกล้เคียง ในท้องที่จังหวัดสระแก้ว และจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นอุทยานแห่งชาติ ตามคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 1640/2534 ลงวันที่ 2 กันยายน 2534

เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งในอดีต (ปี 2515 - 2531) เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีการต่อสู้ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอย่างรุนแรง เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมากจนกระทั่งปี พ.ศ. 2525 ใช้การเมืองนำการทหารจนกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยยอมเข้ามอบตัว แปรสภาพฐานะเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในที่สุดความสงบสุขในพื้นที่แห่งนี้จึงกลับมาเยือนอีกครั้ง

อุทยานแห่งชาติตาพระยาได้ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฏีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าบ้านกรวด แปลงที่ห้า และป่าดงใหญ่ ในท้องที่ตำบลบึงเจริญ ตำบลจันทบเพชร ตำบลสายตะกู ตำบลหนองไม้งาม ตำบลปราสาท อำเภอบ้านกรวด ตำบลโนนดินแดง ตำบลลำนางรอง กิ่งอำเภอโนนดินแดง อำเภอละหานทราย ตำบลสำโรงใหม่ ตำบลหนองแวง ตำบลตาจง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ และป่าตาพระยา ในท้องที่ตำบลทัพราช ตำบลทัพไทย อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 113 ตอนที่ 65 ก ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2539 เป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 82





ลักษณะภูมิประเทศ

อุทยานแห่งชาติตาพระยา เป็นเทือกเขาสูงจากเทือกเขาบรรทัดตลอดแนวจนไปถึงเทือกเขาพนมดงรัก เป็นแนวเขตติดต่อระหว่างไทยกับสาธารณรัฐกัมพูชาประชาธิปไตย ตั้งแต่หลักเขตประเทศที่ 24 ถึง หลักเขตที่ 28 วางตั้งในแนวทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 206-579 เมตร ยอดเขาที่สูงที่สุดคือ ยอดเขาพรานนุช ความสูง 579 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีความลาดชันเฉลี่ยทั้งพื้นที่ประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ บริเวณที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของที่ราบสูงโคราช ซึ่งมีความสูงเฉลี่ยประมาณ 100-200 เมตร จากระดับน้ำทะเล ประกอบด้วยเขาเขาวง เขาสะแกกรอง เขาบรรทัด เขาเนินหิน เขาพนมแม่ไก่ เป็นต้นน้ำลำธารของลำสะโดน ห้วยซับกระโดน ลำนางรอง ลำจันหัน ห้วยตรุมะเมียง ห้วยแห้ง ห้วยละหอกพลวง ห้วยดินทราย ห้วยนาเหนือ ห้วยพลู และห้วยเมฆา



ลักษณะภูมิอากาศ

สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปของภูมิภาคนี้ อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงฤดูลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม-เดือนตุลาคม ความชุ่มชื้นจะถูกพัดพามาจากทะเลอันดามันและอ่าวไทย จนทำให้พื้นที่บริเวณนี้ได้รับปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อเดือนวัดได้ระหว่าง 100 มิลลิเมตร ถึง 140 มิลลิเมตร ในฤดูลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เทือกเขาพนมดงรักจะปะทะกับลมมรสุม และทำให้ฝนตกในบริเวณด้านที่รับลมมากกว่าด้านไม่รับลม ฤดูกาลมี 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม และฤดูหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม สำหรับอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีสูงสุดประมาณ 39.8 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 14.3 องศาเซลเซียส



พืชพรรณและสัตว์ป่า

ในภูมิภาคแถบนี้ยังมีสภาพป่าที่สมบูรณ์กระจายอยู่ในพื้นที่โดยทั่วไปเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง

ป่าเบญจพรรณ ป่าชนิดนี้ขึ้นอยู่ระดับความสูง 400 เมตร จากระดับน้ำทะเล ปรากฏอยู่ทางทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ คือ ในท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์ ไม้ที่สำคัญ คือ มะค่าโมง แดง ตะแบกใหญ่

ป่าดิบแล้ง ป่าชนิดนี้อยู่พื้นที่ค่อนข้างราบ ทางทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพื้นที่อุทยานแห่งชาติในท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์ และบางส่วนของจังหวัดปราจีนบุรี มักจะอยู่ในระดับความสูงประมาณ 100-400 เมตร จากระดับน้ำทะเล ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ มะค่าโมง ยางนา พยอม ตะเคียนทอง

ป่าเต็งรัง ป่าชนิดนี้อยู่ในพื้นดินทิศใต้และดินทิศเหนือบางส่วน อยู่กระจายกันในจังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ เต็ง รัง และเหียง

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่พบเห็นได้แก่ เลียงผา กวาง เก้ง กระจง หมี หมูป่า ลิง ค่าง ชะนี อีเห็น ชะมด เสือไฟ เสือปลา วัวแดง กระทิง หมาไน แมวป่า หมูหริ่ง บ่าง เม่น พังพอน ค้างคาว กระต่ายป่า กระรอก กระรอกบิน กระแต เป็นต้น

นก ที่พบเห็นได้แก่ นกพญาไท นกขุนแผน นกแก้ว นกเขาเขียว นกกางเขนดง นกหัวขวาน นกเหยี่ยว นกฮูก นกปรอด นกแขวก นกเค้าแมว นกดุเหว่า ไก่ป่า ไก่ฟ้า นกขุนทอง เป็นต้น

สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ที่พบเห็นได้แก่ งูชนิดต่าง ๆ ตะกวด ลิ่น ตุ๊กแก กิ้งก่า จิ้งเหลน แย้ ตะขาบ แมลงป่อง กิ้งกือ

ปลา ที่พบเห็นได้แก่ ปลาช่อน ปลาดุก ปลากระทิง ปลาหมอ ปลาบู่ ปลาตะเพียน ปลาสลิด ปลาซิว

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม