Holiday-Tourismthailand

ท่องเที่ยว สูตรอาหารไทย อาหารเพื่อสุขภาพ ทั่วไทย เกาะช้าง เกาะเสม็ด เกาะกูด ภูกระดึง ระยอง หัวหิน พัทยา เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และ สถานที่ท่องเที่ยว ต่างๆ.

Custom Search

ถ้ำใหญ่กลางขุนเขาติดอันดับโลกแห่งนี้ ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางขุนเขามากกว่า 3,000 ปี อยู่ในพื้นที่อำเภอมะนัง เป็นถ้ำที่อลังการมีขนาดกว้างขวางใหญ่โตขนาดเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ หรือ 20,000 ตารางเมตร เดิมทีเรียกว่า ถ้ำลอด หรือ ถ้ำเพชร ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นภูผาเพชร เพราะความวิจิตรตระการตาไปด้วยหินงอกหินย้อยที่ส่องแสงระยิบระยับยามต้องแสง ซึ่งห้องในโถงใหญ่แห่งนี้มีมากกว่า 20 ห้อง แต่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมแค่เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ทุกห้องโถงมีความแตกต่างกัน เช่น หินงอกที่เป็นเสาค้ำสุริยัน เสาหินปูนขนาดมหึมาค้ำเพดานถ้ำรอบทิศ ส่วนที่โคนเสาหินงอกนี้จะเป็นเกล็ดหินคล้ายแผ่น




ปะการังใต้ท้องทะเล รวมทั้งมีผ้าม่านเป็นริ้ว ๆ แปลกตา บางจุด จะมีหยดน้ำทิพย์จากเพดานถ้ำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสความบริสุทธิ์ บางคนนำมาดื่มหรือชโลมร่างกาย ถือว่าเป็นสิริมงคลและเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์
• ไฮไลต์ของถ้ำภูผาเพชรแห่งนี้คือ ห้องแสงมรกต ซึ่งเมื่อเดินลึกเข้าไปด้านในสุดจะเห็นเพดานถ้ำโหว่มีแสงส่องลงมากระทบกับ หินสีเขียวก้อนใหญ่ตรงใจกลางห้อง กลายเป็นลานแสงมรกตแปลกตา และสุดท้ายปลายทางเป็นห้องที่มีความมืด 100 เปอร์เซ็นต์ที่ห้องพญานาค สาเหตุที่เรียกว่าห้องพญานาคก็ด้วยเหตุผลที่ว่า กว่า 3,000 ปีมาแล้ว ที่ห้องแห่งนี้ถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานานทำให้เกิดตะกอนหินปูนจับตัวกันเป็น สันนูนโดยรอบ ลักษณะคล้ายหลังพญานาคจึงตั้งชื่อว่า “ถ้ำพญานาค”
• ถ้ำภูผาเพชร ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 9 บ้านควนดินดำ ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอ 27 กิโลเมตร ไปตามถนนที่ลาดยางตลอดสายจนถึงบริเวณถ้ำตั้งอยู่บนเทือกเขาหินปูน ในเขตของทิวเขานครศรีธรรมราช ซึ่งนิยมเรียกว่า เขาบรรทัด ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันออก ทางขึ้นไม่ค่อยลาดชันนัก ความสูงจากพื้นราบถึงปากถ้ำประมาณ 50 เมตร ใช้เวลาในการเดินทางจากพื้นราบถึงจุดเข้าถ้ำราว 30 นาที
• ชื่อเดิมของถ้ำภูผาเพชร คือ “ถ้ำลอด ถ้ำยาว หรือถ้ำเพชร” เนื่องจากถ้ำมีความยาว ลักษณะคดเคี้ยว แบ่งเป็นหลายตอน ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย เมื่อกระทบกับแสงไฟ ผนังถ้ำมีประกายแวววาวเหมือนเพชร จึงเป็นที่มาของชื่อถ้ำเพชรก่อน ภายหลังชื่อเต็มอย่างเป็นทางการว่า ถ้ำภูผาเพชร
• ตามประวัติมีว่า เมื่อปี พ.ศ. 2517 ครอบครัวของนายช่วงและนางแดง รักทองจันทร์ ได้ย้ายเข้ามาอาศัยบริเวณถ้ำยาวเป็นครอบครัวแรก ล่วงมาปีพ.ศ. 2535 มีพระธุดงค์รูปหนึ่งมาตั้งสำนักบริเวณถ้ำยาว อยู่ได้หนึ่งปีก็จากไป ก่อนจากไปท่านได้บอกชาวบ้านว่าได้เห็นทางเข้าไปในถ้ำยาว มีถ้ำน้อยใหญ่อีกหลายถ้ำ บางถ้ำมีพื้นที่กว้างขวางสวยงาม กระทั่งปี พ.ศ.2540 นายศักดิ์ชัย บุญคง สมาชิก อบต. ตำบลปาล์มพัฒนาได้ทำการสำรวจร่วมกับทางราชการและราษฏรถ้ำภูผาเพชรจึงได้เปิด โฉมหน้าให้คนทั่วไปได้รู้จักกันทุกวันนี้
• พ.ศ. 2541 นักโบราณคดีของสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ 10 จังหวัดสงขลา ได้สำรวจบริเวณถ้ำภูผาเพชร โดยความร่วมมือของสภาตำบลปาล์มพัฒนา พบร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดี ประกอบด้วยกระดูกมนุษย์ยุคโบราณ พบเศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบร่องรอยส่วนก้นภาชนะดินเผา ถูกหินปูนและเปลือกหอยยึดเกาะอยู่ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า บริเวณถ้ำภูผาเพชรเคยเป็นที่อยู่ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว
• ถ้ำภูผาเพชรมีเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ หรือ 20,000 ตารางวา แบ่งเป็นห้องเล็กห้องน้อยประมาณ 20 ห้อง ชื่อเรียกต่างกันออกไป เช่น ห้องปะการัง มีหินงอกหินย้อยคล้ายปะการังในทะเล ห้องเห็ด เต็มไปด้วยรูปดอกเห็ดขนาดต่าง ๆ ห้องม่านเพชร ลักษณะคล้ายผ้าม่านแขวนเป็นหลืบซ้อนกัน ห้องพญานาคเห็นหินงอกต่อตัวกันคล้ายงูใหญ่หรือพญานาค ส่วนห้องสวนมรกตจะมีสีเขียว ส่องแสงระยิบระยับคล้ายสีของมรกต ล้วนเป็นการรังสรรค์ของธรรมชาติโดยแท้
• ถ้ำภูผาเพชรจึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวบนบกแห่งใหม่ของจังหวัดสตูล การไปมาก็สะดวก มีถนนลาดยางถึงบริเวณปากถ้ำ สภาตำบลปาล์มพัฒนาดำเนินการเร่งรัดปรับปรุงสถานที่แห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่อง เที่ยวที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัดสตูลขณะนี้
• การเดินทางสู่ภูผาเพชร : สามารถไปได้ 2 เส้นทาง คือ จากจังหวัดสตูลเข้าทางแยกควนกาหลง เข้าสู่อำเภอมะนัง หากเริ่มต้นจากจังหวัดตรังเมื่อเข้าสู่เขตสตูลให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่มะนังเช่นกัน ทั้งนี้จะมีป้ายบอกเป็นระยะๆ และต้องเดินขึ้นบันไดประมาณ 300 ขั้น (เท่านั้นเอง) ส่วนภายในถ้ำมีบันไดไม้เดินได้สะดวก
• เตรียมตัวเดินทาง : นักท่องเที่ยวควรนำไฟฉายติดตัวไปเพื่อส่องดูความงามภายในถ้ำ หรือสามารถเช่าจากชาวบ้านบริเวณทางเข้าถ้ำ และควรสวมใส่รองเท้าที่เดินสบาย

 อุทยานแห่งชาติศรีพังงา มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอคุระบุรี และอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เป็นอุทยานแห่งชาติ 1 ในจำนวน 5 แห่ง ของโครงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเพื่อการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2530 ซึ่งมีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์และสวยงามตามธรรมชาติ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญ มีสัตว์ป่าชุกชุม และจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตก หน้าผา อุทยานแห่งชาติศรีพังงา มีเนื้อที่ประมาณ 153,800 ไร่ หรือ 246.08 ตารางกิโลเมตร


   ความเป็นมา : ในต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2529 ราษฎรอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ได้เสนอผ่าน นายบรม ตันเถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ทางราชการจัดตั้งพื้นที่บริเวณน้ำตกตำหนัง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่อปรับปรุงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและอนุรักษ์ไว้เป็นแหล่งต้นน้ำ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2529 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2529 พิจารณาจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้จัดตั้งพื้นที่ป่าบริเวณน้ำตกตำ หนัง เป็นอุทยานแห่งชาติเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ
   เดือนพฤษภาคม 2529 กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 877/2529 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2529 ให้ นายธวัช ไชยพัฒน์ เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 ไปดำเนินการสำรวจและจัดตั้งพื้นที่บริเวณป่าน้ำตกตำหนังเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยใช้ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติศรีพังงา” จากรายงานการสำรวจตามหนังสือ ที่ กษ 0713 (ศง)/32 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2529 บริเวณดังกล่าวมีสภาพป่าสมบูรณ์ มีทิวทัศน์และจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงาม กองอุทยานแห่งชาติ ได้ดำเนินการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเทือกเขานมสาว ในท้องที่ตำบลคุระ ตำบลแม่นางขาว ตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี และตำบลบางนายสี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่ม 105 ตอนที่ 60 ลงวันที่ 16 เมษายน 2531 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 56 ของประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศ
   สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นแนวขนานกับฝั่งทะเลอันดามันในแนวเหนือใต้ บริเวณเทือกเขาจะมีสภาพป่าที่สมบูรณ์เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เป็นต้นกำเนิดลำห้วยต่างๆ มากมาย ทำให้เกิดจุดเด่นทางธรรมชาติประเภทน้ำตก หน้าผา และสภาพป่าที่สวยงาม มีต้นน้ำลำธารมากมาย เช่น คลองคุรอด คลองตำหนัง คลองแพรกขวา คลองแพรกซ้าย คลองบางแดง คลองบางวัน คลองหลักเขต และคลองบางใหญ่
ลักษณะภูมิอากาศ
   อุทยานแห่งชาติได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีฝนตกเกือบตลอดปี มีเพียง 2 ฤดูกาล โดยฤดูร้อนจะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม - เมษายน และฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - ธันวาคม ซึ่งสภาพอากาศจะชื้นและไม่หนาวหรือร้อนจัด มีอุณหภูมิตั้งแต่ 26-29 องศาเซลเซียส ตลอดปี
พืชพรรณและสัตว์ป่า
   พื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยป่าดิบชื้นเป็นไม้ไม่ผลัดใบสภาพป่าค่อนข้างชื้น มีพรรณไม้ที่สำคัญได้แก่ ยาง ตะเคียน สะตอป่า กระท้อน ตาเสือ เสียดช่อ และนาคบุตร เป็นต้น ส่วนพืชพื้นล่างรกทึบด้วย หวาย เถาวัลย์ ว่าน สมุนไพร ระกำ มอส และเฟินชนิดต่างๆ รวมทั้งไผ่หลายชนิด มีสัตว์ป่าชุกชุมเนื่องจากพื้นที่ติดกับป่าเหนือเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้สัตว์ป่าอพยพหนีน้ำอันเกิดจากการปิดกั้นเขื่อนกักน้ำ มาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น สมเสร็จ เลียงผา ช้างป่า เก้ง กวางป่า หมี เสือ กระจง ชะนี ลิง ค่าง วัวแดง และนกชนิดต่างๆ อีกมากมาย เช่น นกแก้ว ไก่ป่า นกเงือก นกโพระดก นกแซงแซว นกปรอด นกหัวขวาน ฯลฯ นอกจากนี้ยังพบสัตว์เลื้อยคลานประกอบด้วย เต่า ตะพาบน้ำ เห่าช้าง ตะกวด งู กิ้งก่า ฯลฯ ทั้งยังมีสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เช่น กบทูด คางคก เขียด อึ่งอ่าง และปลาที่สวยงามอยู่มากมายตามแอ่งน้ำต่างๆ
แหล่งท่องเที่ยว
   อุทยานแห่งชาติศรีพังงามีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ป่าในท้องที่อำเภอคุระบุรี และอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งมีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์และสวยงามตามธรรมชาติ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญ มีสัตว์ป่าชุกชุม และจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามw เช่น น้ำตก สภาพป่า ฯลฯ มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่
   น้ำตกตำหนัง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ทิ้งตัวลงมาจากหน้าผาหิน สูงประมาณ 60 ม. ลงสู่แอ่งน้ำใหญ่เบื้องล่าง เหมาะแก่การเล่นน้ำมาก เป็นน้ำตกที่เดินทางไปเที่ยวได้สะดวกที่สุดของอุทยานแห่งชาติศรีพังงา จากที่ทำการอุทยานแห่งชาติจะมีทางรถยนต์ต่อเข้าไปอีกราว 1.5 กิโลเมตร จากนั้นเดินเท้าผ่านแอ่งปลาพลวงและผืนป่าร่มรื่นไปอีก 500 เมตร ก็จะถึงน้ำตกตำหนัง ระหว่างทางมีนกหลายชนิดให้ชม เช่น นกหัวขวานสีน้ำตาล นกปรอดเล็กตาขาว นกปรอดโอ่งท้องสีน้ำตาล ฯลฯ
   น้ำตกโตนต้นไทร เกิดจากลำน้ำซึ่งตกจากโขดหินขนาด ใหญ่ บริเวณใกล้น้ำตกจะมีต้นไม้ใหญ่น้อย และโขดหินสวยงาม สายน้ำไหลตกลงมาตามผาหินสูงประมาณ 20 เมตร บริเวณน้ำตกมีต้นไทรอยู่หลายต้นจนเป็นที่มาของชื่อน้ำตก ทางเข้าน้ำตกอยู่เลยด่านตรวจอุทยานแห่งชาติก่อนเข้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติ มาเล็กน้อย เมื่อพบทางแยกให้เลี้ยวซ้าย ผ่านสวนผลไม้ชาวบ้านไปอีก 2 กิโลเมตร จากนั้นต้องเดินเลาะลำธารเข้าไปถึงน้ำตก ควรมีเจ้าหน้าที่ช่วยนำทาง แต่ในช่วงฤดูฝนจะเดินเข้าไปน้ำตกไม่ได้ จากน้ำตกโตนต้นไทรไปอีก 500 เมตร จะถึง ถ้ำค้างคาว ซึ่งมีค้างคาวอาศัยอยู่จำนวนมาก
   น้ำตกโตนต้นเตย จากที่ทำการอุทยานแห่งชาติมีทางเดินไปน้ำตกโตนต้นเตย ผ่านลำธารที่มีก้อนหินน้อยใหญ่ประมาณ 30 นาที จะถึงน้ำตกชั้นล่าง เรียกว่า น้ำตกโตนเตยน้อย สูง 10 เมตร จากนั้นเดินตามลำธารไปจนถึงน้ำตกโตนเตยที่ทิ้งตัวลงจากผาหินสูง 45 เมตร อยู่ท่ามกลางป่าดงดิบ มีเฟิน หวาย และนกหลายชนิดให้พบเห็น เช่น นกเขียวคราม นกเขียวก้านตอง นกโพระดกคางแดง ฯลฯ ในช่วงฤดูฝนที่น้ำหลากไม่สามารถเดินตามลำธารเข้าไปได้ ควรมีเจ้าหน้าที่ช่วยนำทางเพราะอาจหลงทางได้
   เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เริ่มจากบริเวณลานจอดรถของน้ำตกตำหนัง มีทางเดินไต่เขาผ่านป่าดิบชื้นขึ้นไปจนถึงจุดชมทิวทัศน์ มองเห็นบริเวณที่คลองตำหนังไหลผ่านป่าชายเลนลงทะเลระหว่างทางมีต้นไทร ซึ่งถ้าโชคดีเป็นช่วงลูกไทรสุก ก็จะมีโอกาสได้พบนกหลากชนิดที่แวะมากินลูกไทร เช่น นกแก๊ก รวมทั้งนกเงือกหายาก เช่น นกชนหิน นกเงือกดำ ในบริเวณนี้ยังมีพืชหากยาก เช่น กระโถนพระฤาษี บัวผุด ด้วย จากนั้นเส้นทางจะผ่าน น้ำตกโตนอู น้ำตกโตนเด้ง แล้ววกกลับมายังจุดเริ่มต้น

ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก
   มีบ้านพักสำหรับบริการนักท่องเที่ยว จำนวน 3 หลัง มีลานกางเต้นท์ ร้านอาหาร ภายในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
   มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น.
การเดินทาง
   รถยนต์ โดยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ตะกั่วป่า-ระนอง) ผ่านป่าเทือกเขานมสาว เลี้ยวเข้าทางแยกสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติตรงหลักกิโลเมตรที่ 756 เป็นเส้นทางลำลองจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (จากปากทางบ้านตำหนัง) เข้าเขตน้ำตกตำหนังเป็นระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร
สถานที่ติดต่อ
   อุทยานแห่งชาติศรีพังงา ตู้ ปณ.22 ปทจ.ตะกั่วป่า อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา 82110 โทรศัพท์ 0 7641 9056



วนอุทยานน้ำตกรามัญ อยู่ในท้องที่ตำบลกระโสม อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา มีเนื้อที่ประมาณ 125 ไร่ กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2526
ลักษณะภูมิประเทศ
   สภาพพื้นที่โดยทั่วไปบริเวณน้ำตกรามัญ เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนติดต่อกัน พื้นที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 100 เมตร ดินเป็นดินเหนียวปนทราย หินเป็นหินปูน มีหินทรายและหินแกรนิตปนบ้างเล็กน้อย
ลักษณะภูมิอากาศ
   ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคม รวม 8 เดือน แต่ช่วงที่มีฝนตกชุกคือระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน


พืชพรรณและสัตว์ป่า
   ป่าบริเวณน้ำตกยังสมบูรณ์ซึ่งเป็นป่าดงดิบชื้นเหลืออยู่เฉพาะบริเวณลำห้วยเท่านั้น เหนือขึ้นไปส่วนใหญ่ป่ามีสภาพเสื่อมโทรม ถูกบุกรุกแผ้วถางทำสวนเกือบหมด พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ตะเคียนสามพอน ตะเคียนทราย ยาง ยูง เสียดช่อ ส้าน เป็นต้น ไม้พื้นล่างได้แก่ ไผ่บง ไผ่ซาง ไผ่รวก กล้วย ป่าเฟิร์น และบอน
   สัตว์ป่าที่พบได้แก่ ลิง ค่าง หมูป่า กระจง เก้ง อีเห็น กระรอก และนกชนิดต่างๆ
ที่พักและบริการ
   วนอุทยานน้ำตกรามัญ ไม่มีบ้านพักบริการแก่นักท่องเที่ยว หากมีความประสงค์จะไปพักแรมเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ โปรดนำเต็นท์ไปกางเอง แล้วไปติดต่อขออนุญาตใช้สถานที่กับเจ้าหน้าที่วนอุทยานน้ำตกรามัญโดยตรง
การเดินทาง
   รถยนต์ ระยะทางห่างจากที่ว่าการอำเภอตะกั่วทุ่งประมาณ 10 กิโลเมตร โดยเดินทางไปตามทางหลวง แผ่นดินหมายเลข 4 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 874 แยกเข้าทางแยกซ้ายมือตามถนนลูกรังไปประมาณ 6 กิโลเมตร
สถานที่ติดต่อ
   วนอุทยานน้ำตกรามัญ หมู่ 6 บ้านหินสามก้อน ต.กระโสม อ. ตะกั่วทุ่ง จ. พังงา 82130 โทรศัพท์ 0 7535 6134, 0 7635 6780 

บทความที่ได้รับความนิยม