หมู่เกาะสิมิลัน ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 43 เมื่อปีพ.ศ. 2525 มีขนาดพื้นที่ 128 ตารางกิโลเมตร (80000 ไร่) ในปีพ.ศ. 2541 มีการผนวกเกาะตาชัยและเกาะบอนเพิ่มอีก 12 ตารางกิโลเมตร รวมเป็น 140 ตารางกิโลเมตร (87,500ไร่) ซึ่งเป็นพื้นที่บก 15 ตารางกิโลเมตร (9,375 ไร่)
• อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันอยู่ในเขต อ.คุระบุรี จ.พังงา สิมิลัน เป็นภาษายาวี หมายถึง เก้า ตามจำนวนเกาะที่เรียงตัวในแนวเหนือ-ใต้ โดยเกาะหนึ่งอยู่ด้านทิศใต้ เกาะแปดหรือเกาะสิมิลันมีขนาดใหญ่ที่สุดบนพื้นที่ประมาณ 5 ตารางกิโลเมตร และมียอดสูงสุดที่ 244 เมตร
กฎระเบียบข้อห้าม
• การท่องเที่ยวพักผ่อนในเขตพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ มีกฎระเบียบที่นักท่องเที่ยวผู้มีจิตสำนึกทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติ
เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในการใช้พื้นที่ร่วมกันอย่างยั่งยืนถาวร ดังนี้
-ไม่เก็บทุกอย่างออกจากพื้นที่นอกจากขยะ
-ไม่ส่งเสียงดังอันเป็นการรบกวนผู้อื่น รวมทั้งสัตว์ป่า
-ไม่ล่า ทำลาย หรือกระทำการใดๆ อันจะทำให้พืช สัตว์ และสภาพแวดล้อมเสียหาย
-จงตระหนักถึงคุณค่าของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ที่เราทุกคนต้องใช้ร่วมกันและรักษาไว้เพื่อตัวเราเอง
• เกาะเมียงหรือเกาะสี่ เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานฯ หาดทรายขาวละเอียดน่าเล่นน้ำทั้งหาดใหญ่และหาดเล็กซึ่งต้องเดินผ่านป่าดิบสภาพสมบูรณ์ประมาณ 20 นาที เป็นที่อาศัยของนกชาปีไหน ค้างคาวแม่ไก่ และปูไก่ที่มีเสียงร้องคล้ายลูกไก่ รวมทั้งสัตว์ป่าสารพัดชนิด บนเกาะมีแหล่งน้ำจืด มีบ้านพัก ลานกางเต็นท์ ร้านค้าสวัสดิการ และมีบริการเรือหางยาวพาดำน้ำตื้น
• เกาะสิมิลันหรือเกาะแปด เป็นเกาะใหญ่ที่สุด มีอ่าวใหญ่โค้งสวยงาม เรียกว่า อ่าวเกือก ทรายขาวละเอียดราวแป้ง หน้าอ่าวสามารถดำน้ำชมปะการังน้ำตื้นได้ ด้านขวาของอ่าวมีหินรูปร่างคล้ายเรือใบตั้งตระหง่านโดดเด่นเป็นสัญลักษณ์ของสิมิลัน สามารถปีนขึ้นไปชมทิวทัศน์ได้
• เกาะปาหยูหรือเกาะเจ็ด ด้านตะวันออกมีทั้งจุดดำน้ำตื้นและน้ำลึกที่สวยงามมาก นักดำน้ำหลายคนชอบที่นี่มากที่สุด เพราะมีทั้งปะการังแข็ง ปะการังอ่อน กัลปังหา และฝูงปลานานาชนิด รองลงไปคือด้านตะวันตก ส่วนด้านเหนือมีกองหินมีกัลปังหา เกาะนี้ไม่มีหาด
• หินปูซาหรือหินหัวกะโหลก เป็นเกาะเล็กๆ ที่มีก้อนหินรูปร่างคล้ายหัวกะโหลกอยู่เหนือน้ำ ส่วนใต้น้ำก็แปลกตาด้วยก้อนหินที่มีรูมีโพรงและมีช่องให้นักดำน้ำตื่นตาตื่นใจ
• เกาะห้า ด้านตะวันตกมีกองหินขนาดใหญ่ที่มีปะการังอ่อนขึ้นอยู่ทั่ว พื้นที่ใกล้ๆ มีปลาไหลสวนที่มุดอยู่และชูคอออกมาดักอาหาร
กองหินแฟนตาซี เป็นจุดดำน้ำลึกอยู่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะบางูหรือเกาะเก้า มีกองหินสลับซับซ้อนที่เต็มไปด้วยปะการังอ่อนและกัลปังหา
• หินสันฉลาม เป็นกองหินปริ่มน้ำใกล้ๆ เกาะปาหยันหรือเกาะสาม นักดำน้ำมักได้พบกับฉลามครีบเงิน ฉลามเสือดาว และฉลามหูขาว
• เกาะบอน อยู่ระหว่างหมู่เกาะสิมิลันกับเกาะตาชัย ไม่มีหาด แม้ใต้น้ำไม่สวยเท่าจุดอื่นๆ แต่มีโอกาสพบกระเบนราหูได้มาก เหมาะสำหรับการดำน้ำลึก
• เกาะตาชัย อยู่เหนือสุดของหมู่เกาะสิมิลัน บนเกาะมีหาดทรายขาวละเอียดสวยงาม มีแหล่งน้ำจืดและลานกางเต็นท์ เหมาะสำหรับการดำน้ำลึก เป็นที่ซึ่งพบฉลามวาฬได้บ่อยการเดินทางไปหมู่เกาะสิมิลัน
• นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะไปลงเรือที่ท่าเรือทับละมุ จ.พังงา จากทางหลวงหมายเลข 4 (ช่วงระนอง-พังงา) ช่วง ต.ลำแก่น มีทางแยกขวาไปท่าเรือทับละมุอีกประมาณ 5 กิโลเมตร ก่อนถึงท่าเรือด้านซ้ายมือเป็นที่ตั้งของที่ทำการและศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
• หากเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางจากสถานีขนส่งสายใต้ สามารถไปได้ทุกคันที่วิ่งสายระนอง-พังงา ลงที่ทางแยกไปท่าเรือทับละมุแล้วต่อรถรับจ้างมาที่ท่าเรือ
• ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม เป็นฤดูท่องเที่ยว มีเรือโดยสารจากท่าเรือทับละมุไปเกาะสิมิลันทุกวัน โดยเรือส่วนเรือออกช่วงเช้า หากมาเป็นหมู่คณะสามารถเช่าเหมาเรือได้
• หมู่เกาะสิมิลันอยู่ห่างจากฝั่งที่ท่าเรือทับละมุซึ่งเป็นจุดที่ใกล้ที่สุดประมาณ 70 กิโลเมตร แต่ก็มีเรือท่าเรือโดยสารธรรมดาและเรือเร็วบริการพานักท่องเที่ยวมาจากภูเก็ตด้วย
• หมู่เกาะสิมิลันอยู่ห่างไกลจากฝั่ง มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จำกัด การเดินทางไปเกาะสิมิลันจึงต้องติดต่อล่วงหน้าเท่านั้น
• ติดต่อบ้านพักที่ที่ฝ่ายบริการบ้านพัก สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร.0-2561-2918, 0-2561-2921, 0-2561-4292-4 ต่อ 746 หรือที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน โทร.0-7659-5045
• อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานที่ให้นักท่องเที่ยวแวะเวียนเยี่ยมชมหาความสำราญสนุกสนานเฮฮาเท่านั้น แต่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันยังเป็นสถานที่ซึ่งมีคุณค่าอันประเมินไม่ได้เป็นมรดกทางธรรมชาติและยังเป็นแหล่งความรู้สำหรับทุกคน เป็นที่รวมของธรรมทั้งพันธุ์พืชและเหล่าสัตว์ที่ยังหลงเหลือจากการถูกล่าอาจกล่าวได้ว่าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เป็นห้องเรียนธรรมชาติที่สมบูรณ์บริสุทธิ์ เป็นที่รวมของป่าหลายประเภทเป็นที่บรรจบกันของป่าดิบกับแนวปะการัง ด้วยอาณาเขตที่ครอบคลุมทั้งทะเลและผืนป่าอันสุดสมบูรณ์ จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากตั้งแต่ปลาที่ใหญ่ที่สุดในโลก เช่น ฉลามวาฬ จนถึงนกหายากอย่างเช่น นกชาปีไหน นกลุมพูขาว รวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 27 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 22 ชนิด และสัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก 4 ชนิด สัตว์เหล่านี้อยู่อาศัย หากิน และดำรงเผ่าพันธุ์มาช้านานในพื้นที่แห่งนี้โดยไม่มีมนุษย์ปะปน จึงไม่มีเหตุผลใดที่ผู้ไปเยือนจะก่อความเสียหาย ทำลาย หรือแม้แต่ทำการรบกวนต่อสิ่งมีชีวิตตังเล็กๆ สักตัว
ข้อห้ามดำเนินการในเขตอุทยานฯ (คัดลอกจากเอกสารของอุทยานแห่งชาติเกาะสิมิลัน)
1.ห้ามก่อกองไฟ
2.ห้ามประกอบอาหาร
3.ห้ามจุดเทียนไขในเต้นท์
4.ห้ามส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น
5.ห้ามเคลื่นย้ายเครื่องนอนทั้งในบ้านพักและเต็นท์
6.ห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปในเขตอุทยานฯ
7.ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อุทยานฯอย่างเคร่งครัด
1.บ้านชมวิว มี 20 ห้อง พักได้ห้องละ 2 ท่าน ราคา 2,000 บาท/ห้อง/คืน (อยู่เกาะสี่)
2.บ้านสิมิลัน มี 5 ห้อง พักได้ห้องละ 2 ท่าน ราคา 1,000 บาท/ห้อง/คืน (อยู่เกาะสี่)
3.บ้านปูไก่ 1 มี 5 ห้อง พักได้ห้องละ 2 ท่าน ราคา 600 บาท/ห้อง/คืน (อยู่เกาะสี่)
4.บ้านปูไก่ 2 มี 5 ห้อง พักได้ห้องละ 2 ท่าน ราคา 600 บาท/ห้อง/คืน (อยู่เกาะสี่)
5.บ้านหูยง มี 5 ห้อง พักได้ห้องละ 2 ท่าน ราคา 600 บาท/ห้อง/คืน (อยู่เกาะสี่)
6.บ้านปายัง มี 5 ห้อง พักได้ห้องละ 2 ท่าน ราคา 600 บาท/ห้อง/คืน (อยู่เกาะสี่)
7.บ้านปาหยัน มี 5 ห้อง พักได้ห้องละ 2 ท่าน ราคา 600 บาท/ห้อง/คืน (อยู่เกาะสี่)
8.เต็นท์ ราคา 400 บาท+อุปกรณ์เครื่องนอน พักได้ 2 ท่าน (มีทั้งเกาะสี่และเกาะแปด)
• กรณีนำเต็นท์มากางเอง ให้กางที่เกาะแปด ค่าธรรมเนียมกางเต็นท์ 40 บาท/คน/คืน
ค่าธรรมเนียมบุคคลเข้าเขตอุทยานแห่งชาติ (เกาะสิมิลัน)
คนไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท / เด็ก 20 บาท
ต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท / เด็ก 100 บาท
ค่าธรรมเนียมดำน้ำลึก : คนไทยและต่างชาติ 200 บาท/คน/วัน
ค่าเช่าอุปกรณ์ดำน้ำ : หน้ากาก 100 บาท/วัน, ตีนกบ 100 บาท/วัน, ชูชีพ 50 บาท/วัน
สถานที่ติดต่อ
• อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
93 หมู่ 5 บ้านทับละมุ ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา 82210
โทร. 0 - 7659 - 5045 (บนฝั่ง), โทร. 0 - 7642 - 1365 (เกาะสี่), โทร. 0 - 7642 - 2136 (เกาะแปด)