อุทยานแห่งชาติเขาหลัก - ลำรู่ แต่เดิมเป็นเพียงวนอุทยานป่าชายทะเลเขาหลัก ต่อมา นายสมจิต สูงสง่า ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลกะปง อำเภอกะปง จังหวัดพังงา ได้มีหนังสือต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2527 ขอให้พิจารณาประกาศจัดตั้งพื้นที่ป่าบริเวณอำเภอกะปง กับพื้นที่ป่าอื่นๆ เพื่อเป็นการอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญของจังหวัดพังงา ซึ่งมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าชุกชุม ทั้งยังประกอบไปด้วยจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงาม คือ น้ำตกขนาดเล็กหลายแห่ง จึงได้ดำเนินการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 66 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2534 ให้ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ ครอบคลุมพื้นที่ 78,125 ไร่
ลักษณะภูมิประเทศ
• ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อน ได้แก่ เขาหลัก เขาลำรู เขาแสงทอง เขาไม้แก้ว และเขาปลายบางโต๊ะ มียอดเขาสูงที่สุดประมาณ 1,077 เมตร จากระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญ ๆ ของจังหวัดพังงา ได้แก่ แม่น้ำตะกั่วป่า และแม่น้ำพังงา และยังประกอบด้วยคลองและลำห้วยลำเล็กๆ มากมาย ส่วนบริเวณที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาหลัก–ลำรู่ เป็นพื้นที่ชายฝั่งที่ติดกับทะเล เป็นระบบนิเวศหาดหิน ระบบนิเวศหาดทราย และกลุ่มประการัง
ลักษณะภูมิอากาศ
• อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ ตั้งอยู่ทางฝั่งทะเลตะวันตกของฝั่งทะเลอันดามัน จึงได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีฝนตกเกือบตลอดทั้งปี มีฤดูกาลเพียง 2 ฤดู คือฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายน ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนธันวาคม โดยจะมีฝนตกชุก
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
• สภาพป่าโดยทั่วไป ประกอบด้วย
• ป่าดิบชื้น โดยมีโครงสร้างป่าในแนวตั้งแบ่งเป็น 3 ชั้นเรือนยอด คือ เรือนยอดชั้นบนประกอบด้วยพรรณไม้วงศ์ยางได้แก่ ยางขน ยางปาย ยางมันหมู ยางกล่อง เป็นต้น เรือนยอดชั้นกลาง ประกอบด้วย มะปริง ยางขาว โพบาย พลับพลา เป็นต้นเรือนยอดชั้นล่าง ประกอบด้วย นวล นกนอน เปล้า จิกเขา จิกนม พลองขาว มะเม่าดง สลัด เป็นต้น
• ป่าชายหาด เป็นสังคมพืชที่ขึ้นอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล ที่เป็นดินทราย และบริเวณฝั่งทะเลที่เป็นโขดหินกระจายอยู่ทั่วไป พรรณไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่าชายหาดจัดเป็นพืชทนเค็ม เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากไอเค็มของน้ำทะเล บริเวณชายฝั่งที่ติดกับทะเล พรรณไม้ที่พบได้แก่ กระทิง หูกวาง จิกเล เป็นต้น
• สัตว์ป่า ได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ กระแตใต้ บ่าง หมีขอ พังพอนเล็ก กระจ้อน ค้างคาว ส่วนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ได้แก่ เลียงผา สมเสร็จ เป็นต้น
• สัตว์เลื้อยคลาน แบ่งออกเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่ออกหากินตอนกลางวัน เช่น กิ้งก่าบินปีกสีส้ม กิ้งก่าเขาหนามยาว และตะกวด เป็นต้น ส่วนสัตว์ที่สามารถพบเห็นได้โดยตรงอีกกลุ่มคือ งู เช่น งูแสงอาทิตย์ งูลายสอสวน งูกะปะ และงูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง
สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ได้แก่ อึ่งกรายลายเลอะ จงโคร่ง กบหลังตาพับ และอึ่งข้างดำ เป็นต้น
• นก จากการสำรวจสามารถจำแนกชนิดของนกภายในอุทยาน ได้เป็น 15 อันดับวงศ์ 108 สกุล เช่น เหยี่ยวรุ้ง นกออก นกเขาเขียวและนกพญาไฟใหญ่ เป็นต้น ส่วนนกขนาดใหญ่ที่พบได้มี 3 ชนิด คือ นกเงือกปากดำ นกแก๊ก และนกกาฮัง
• ผีเสื้อกลางวัน พบส่วนใหญ่อยู่บริเวณป่าดงดิบชื้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าดิบชื้น ที่มีลำห้วยหรือแอ่งน้ำ ผีเสื้อกลางวันที่จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่ ผีเสื้อถุงทองธรรมดา ผีเสื้อถุงทองปักษ์ใต้ และผีเสื้อนางพญากอดเฟรย์
• สัตว์ทะเล ได้แก่ สัตว์กลุ่มปลิง เช่น ปลิงดำ ปลิงขาว ปลิงลูกปัด เป็นต้น กลุ่มเม่น เช่น เม่นหนามยาง เป็นต้น กลุ่มทากทะเล เช่น ทากปุ่ม เป็นต้น กลุ่มปลา เช่น ปลาไหลมอเรย์ยักษ์ ปลาปากคม ปลากระทุงเหว เม่นหนามยาว กลุ่มดาวขนนก เช่น ดาวขนนก กลุ่มปู กุ้ง หอย เช่น หอยสังข์หนาม หอยเบี้ยเสือดาว เป็นต้น
บ้านพักและบริการเขาหลัก
• มีบ้านพัก ร้านอาหาร ลานกางเต้นท์พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก
แหล่งท่องเที่ยวเขาหลัก
• คลองลำรูใหญ่ ลักษณะเป็นลำห้วยขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยลำห้วยขนาดเล็กจำนวนมาก แต่ละห้วยมีน้ำตกขนาดเล็กที่สวยงาม เช่น น้ำตกวังกล้วยเถื่อน เป็นน้ำตกที่มีความสูงขนาดกลาง รวม 7 ชั้น ที่สวยงามยิ่ง คลองลำรูใหญ่เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของอำเภอท้ายเหมือง
• ชายทะเลเขาหลัก เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นวนอุทยานชายทะเลเขาหลัก มีลักษณะเป็นชายฝั่งทะเลยุบตัวและชายหาด มีทิวทัศน์ที่สวยงาม และเป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ อยู่ห่างจากอำเภอตะกั่วป่ามาทางอำเภอท้ายเหมืองตามถนนเพชรเกษม 33 กิโลเมตร แล้วแยกเข้าไปเพียง 50 เมตร ฝั่งตรงข้ามเป็นศาลเจ้าพ่อเขาหลักซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของคนทั่วไป บริเวณนี้ประกอบด้วยแหลมหิน หาดหิน หาดทราย และปรากฏรอยเท้าที่จารึกบนแผ่นหินอยู่ใต้ต้นไทร มีจุดชมวิวในบริเวณแหลมเขาหลัก มีทางเดินศึกษาธรรมชาติจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปหาดเล็ก ระยะทาง 2 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นทางเดินเรียบชายฝั่ง นอกจากนี้ยังมีทางเดินป่าระยะไกลจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปน้ำตกโตนช่องฟ้า ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร บริเวณชายทะเลเขาหลักยังสามารถดำน้ำชมปะการังน้ำตื้นได้
• น้ำตกโตนช่องฟ้า มีต้นน้ำเกิดจากคลองบางเนียง ประกอบด้วยน้ำตกจำนวน 5 ชั้นใหญ่ๆ จัดเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่สวยงาม นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปตามถนนเพชรเกษม แยกเข้าบริเวณวัดพนัสนิคมในหมู่บ้านบางเนียง เป็นระยะทาง 5 กิโลเมตร ทางอุทยานแห่งชาติได้จัดเส้นทางเดินป่าบริเวณเทือกเขาหลักไปตามแนวสันเขาถึงน้ำตกโตนช่องฟ้า ระยะทาง 9 กิโลเมตร
• น้ำตกลำพร้าวและน้ำตกหินลาด มีต้นน้ำเกิดจากคลองปลายบางโต๊ะและน้ำตกทั้งสองอยู่ในลำห้วยเดียวกัน น้ำตกลำพร้าว มีชั้นน้ำตก 3 ชั้น ส่วนน้ำตกหินลาดมีชั้นน้ำตก 2 ชั้น นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4090 แยกเข้าบ้านทุ่งคาโงก 4 กิโลเมตร แล้วเดินเท้าต่อไปยังน้ำตกอีกเล็กน้อย
• น้ำตกลำรู่ เป็นน้ำตกที่มีความสูงขนาดกลาง รวม 5 ชั้น มีน้ำไหลตลอดปี สวยงามน่าชม นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปโดยใช้ถนนแยกจากทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4090 (อำเภอกะปง-บ้านกะปง-หมู่บ้านลำรู่) ผ่านที่ว่าการอำเภอกะปง ไปยังหมู่บ้านลำรู่ 9 กิโลเมตร และเดินทางต่อไปยังย้ำตกลำรู่อีก 1 กิโลเมตร
• หาดเล็ก เป็นชายหาดทรายขาวละเอียด และเงียบสงบ สามารถว่ายน้ำ ดำน้ำ ดูปะการังโดยเดินเท้าจากที่ทำการอุทยาแห่งชาติประมาณ 1.5 กิโลเมตร ตลอดทางจะเดินผ่านป่า ลัดเลาะไปตามชายทะเลเขาหลัก
สถานที่ติดต่อและการเดินทาง
การเดินทางสู่เขาหลัก
• รถยนต์ จากกรุงเทพฯใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม ที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาหลัก–ลำรู่ อยู่ใกล้ถนนเพียง 50 เมตร มีจุดสังเกตคือ ศาลพ่อตาเขาหลัก ซึ่งเป็นที่สักการะของชาวบ้านและคนทั่วไป
• เครื่องบิน จะต้องใช้บริการของสนามบินนานาชาติจังหวัดภูเก็ต แล้วโดยสารรถมาสู่อุทยานแห่งชาติเขาหลัก–ลำรู่ โดยใช้เส้นทางตามถนนเพชรเกษมมุ่งสู่อำเภอท้ายเหมือง
• รถโดยสารประจำทาง จากสถานีขนส่งสายใต้ มีทั้งรถปรับอากาศ และรถธรรมดาสายกรุงเทพฯ-ภูเก็ต และกรุงเทพฯ-ตะกั่วป่า ซึ่งอัตราค่าโดยสาร กรุงเทพฯ-พังงา รถยนต์โดยสารธรรมดา ราคา 357 บาท ปรับอากาศ ราคา 459 บาท ปรับอากาศพิเศษ ราคา 685 บาท
สถานที่ติดต่อ
• อุทยานแห่งชาติเขาหลัก - ลำรู่ หมู่ที่ 7 ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา 82190
การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายใน (Internal Environmental Analysis)
-
สภาพแวดล้อมภายนอกมีอิทธิพลต่อองค์การอย่างมากก็จริง
แต่ผู้บริหารต้องมีความเข้าใจและสามารถจัดการปัจจัยภายในองค์การด้วยการดาเนินงานจึงจะบรรลุเป้าหมาย
การวิเคร...
5 ปีที่ผ่านมา