Holiday-Tourismthailand

ท่องเที่ยว สูตรอาหารไทย อาหารเพื่อสุขภาพ ทั่วไทย เกาะช้าง เกาะเสม็ด เกาะกูด ภูกระดึง ระยอง หัวหิน พัทยา เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และ สถานที่ท่องเที่ยว ต่างๆ.

Custom Search


อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทยในท้องที่ ตำบลกระโสม ตำบลกะไหล ตำบลคลองเคียน อำเภอตะกั่วทุ่ง ตำบลเกาะปันหยี อำเภอเมืองพังงา และ ตำบลเกาะยาวน้อย ตำบลเกาะยาวใหญ่ อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา มีอาณาเขตติดต่อกันดังนี้
• ทิศเหนือ จดพื้นที่ป่าชายเลนในท้องที่ อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา
• ทิศใต้ จดทะเลเขตอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา และเขตทะเล จังหวัดภูเก็ต
• ทิศตะวันออก จดเขตท้องที่จังหวัดกระบี่
• ทิศตะวันตก จดพื้นที่ป่าชายเลน และที่ชายทะเล ท้องที่ อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา
ลักษณะภูมิประเทศ
• ลักษณะโครงสร้างและธรณีสัณฐานของดินแดนภาคใต้ฝั่ง ตะวันตก เป็นบริเวณที่อยู่ใกล้กับแนวทิวเขาแกรนิต ที่เรียกว่า ทิวเขาตะนาวศรี และทิวเขาภูเก็ต อันเป็นเส้นกั้นพรมแดนไทย-พม่า ที่ทอดยาวไปจนถึงจังหวัดพังงา-ภูเก็ต เป็นทิวเขาที่เกิดในยุคครีตาเชียสกับยุคเทอร์เชียรีตอนต้น อายุประมาณ 136-36 ล้านปีมาแล้ว ภูมิสัณฐานและภูมิประเทศทั่วไปของบริเวณนี้ ยังเป็นผลมาจากลักษณะโครงสร้างที่เรียกว่า รอยเลื่อน มีชื่อทางธรณีว่า รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย และรอยเลื่อนพังงา การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของหิน (รอยคดโค้ง-รอยเลื่อน) ของหินแกรนิต นำเอาแร่ธาตุที่มีค่ามาสะสมตกผลึก เช่น แร่ดีบุก ตะกั่ว วุลแฟรม เหล็ก พลวง แมงกานีส แบไรต์ ฟลูออไรต์ และทองคำ ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของภูมิภาคนี้ นอกจากนั้นยังมีภูเขาหินตะกอน หินแปร แทรกสลับอยู่เป็นแนว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูเขาหินปูนซึ่งแทรกโผล่เป็นหย่อมๆ กระจายอยู่ทั่วไป ทั้งภูเขาหินปูนที่เป็นแนวเทือกเขาสลับซับซ้อนหรือภูเขาหินปูนลูกโดด และยังปรากฏว่ามี ซากดึกดำบรรพ์ (ฟอสซิล) อีกการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติดังกล่าวทำให้เกิดเป็นช่อง โพรงหรือถ้ำมากมาย ส่วนภูเขาหินดินดานบางแห่งสลายตัวกลายเป็นหย่อมเนินเขาขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง การยุบตัวของแผ่นดินทางด้านตะวันตกทำให้เกิดเป็นชายฝั่งขรุขระ เว้าๆ แหว่งๆ เกิดเป็นอ่าวและเกาะซึ่งเป็นภูเขาหินปูนลูกโดด กระจายอยู่ตามฝั่งมากมาย โดยเฉพาะในเขตจังหวัดพังงา กระบี่ ตรัง และสตูล โดยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา เป็นท้องทะเล พื้นทะเลเป็นดินเลน โคลน และทราย เป็นส่วนใหญ่ มีภูเขาหินปูน โผล่อยู่กลางน้ำ กระจายทั่วบริเวณอ่าวพังงา มีลักษณะสวยงาม โดดเด่น รูปร่างแปลกๆ มากมาย ประกอบไปด้วย เกาะน้อยใหญ่ ประมาณ 42 เกาะ เช่น เกาะเขาเต่า เกาะพระอาตเฒ่า ฯลฯ ซึ่งแต่ละเกาะก็จะมีสภาพธรรมชาติที่แตกต่างกันไปและมีความ สวยงามเฉพาะตัว
ลักษณะภูมิอากาศ
• เนื่องจากภาคใต้ฝั่งตะวันตกเป็นฝั่งทะเลเปิด จึงได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เต็มที่ในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ทะเลมีคลื่นลมจัด ฝั่งทะเลช่วงใดที่ไม่มีเกาะกำบังจึงกลายเป็นฝั่งซึ่งมีหาดทรายชันและน้ำลึกในระยะใกล้ฝั่ง ส่วนฝั่งทะเลช่วงที่มีเกาะกำบังลมด้านนอก หรือฝั่งตอนที่เป็นอ่าวเว้าไม่รับลมมรสุมเต็มที่ จะมีลักษณะเป็นบริเวณที่พื้นดินอ่อนเป็นโคลนเลน มีป่าชายเลนขึ้นหนาแน่นตามขอบฝั่งและเลยลึกเข้าไปในฝั่งที่น้ำเค็มเข้าไปถึง ลักษณะเช่นนี้จะเห็นได้ชัดบริเวณอ่าวพังงา จังหวัดพังงา นี้เอง
พรรณไม้และสัตว์ป่า
สังคมพืชในอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
• ป่าชายเลน ป่าชายเลนบริเวณเขาหินปูนพบว่า มีชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญในป่าชายเลนมากถึง 12 ชนิด ได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ตะบูนขาว เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบ ต้นจาก ซึ่งขึ้นอยู่บริเวณริมน้ำ หรือที่ค่อนข้างเป็นดินเลนเป็นจำนวนมาก และเหงือกปลาหมอ ส่วนปรงทะเล พบน้อยมากบริเวณที่โล่ง หรือบริเวณที่ป่าถูกทำลายเท่านั้น
• ป่าชายเลนบริเวณเขาหินเซลล์และควอทไซท์ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ พบ 7 ชนิด ได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ตะบูนขาว เป็นต้น สำหรับพันธุ์ไม้พื้นล่างอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ เหงือกปลาหมอ ซึ่งขึ้นอยู่หนาแน่น
• ป่าชายเลนบริเวณเขาหินทราย ชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญในบริเวณนี้มีน้อยมาก ทั้งนี้เนื่อง จากบริเวณนี้อยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ พันธุ์ไม้สำคัญที่พบมี 5 ชนิดได้แก่โกงกางใบเล็ก ลำแพน แสม ตะบูนขาว และฝาด นอกจากนี้มักพบเสม็ด ในบริเวณที่ติดกับป่าบกซึ่ง น้ำมีความเค็มค่อนข้างต่ำ
• ป่าบก ป่าบกที่พบเป็นป่าประเภทที่ไม่ผลัดใบ ซึ่งจัดเป็นป่าดิบชื้น จำแนกได้ดังนี้
• ป่าบกที่ขึ้นบนพื้นที่เขาหินปูน พบอยู่กระจัดกระจายทั่วไป มี 2 ประเภท ได้แก่ ป่าที่ ขึ้นอยู่บนบก พื้นที่ค่อนข้างราบ และบริเวณทีเรียกว่า Karst ซึ่งเป็นบริเวณหุบเขา ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ขี้หนอน เหรียง ตะเคียนหิน และชุมเห็ด สำหรับไม้พื้นล่าง จะขึ้นอยู่หนาแน่น พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ เต่าร้าง เคย ลำเพ็ง นอกจากนี้ยังมี พวกหญ้า ปาล์ม และว่านชนิดต่างๆ อีกประเภทได้แก่ ป่าที่ขึ้นอยู่บนที่สูงค่อนข้างชื้น ของเขาหินปูน ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ที่มีขนาดเล็ก ค่อนข้างเตี้ย พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ตะเคียนหิน เขากวาง เป็นต้น
• ป่าบกที่ขึ้นอยู่บนพื้นที่เขาหินเชลล์ ควอทไซท์ พันธุ์ไม้ขึ้นอยู่ค่อนข้างหนาแน่น ใน บริเวณที่ลุ่มตามเชิงเขาที่มีความชื้นค่อนข้างสูงจะพบไม้ยางนา ขึ้นอยู่กระจัดกระจาย และพบพันธุ์ไม้อื่นที่สำคัญได้แก่ มังตาล พังกา เฉียงพร้านางแอ เป็นต้น สำหรับไม้ พื้นล่างพบพวก ไผ่ป่า พังแหร หญ้า ฯลฯ
• ป่าบกที่ขึ้นอยู่บนหินทราย พบบนพื้นที่ค่อนข้างลาดมีไม้ขึ้นอยู่หนาแน่น ไม่ค่อยสูง นัก ไม้พื้นล่างไม่หนาแน่น อาจเป็นเพราะขาดความ อุดมสมบูรณ์ของดิน พันธุ์ไม้ที่ สำคัญได้แก่ สตอตั๊กแตน พังกา แค เป็นต้น สำหรับไม้พื้นล่างปรากฏอยู่น้อยมากส่วน ใหญ่เป็นจำพวกหญ้า
• เมื่อปีงบประมาณ 2517 จังหวัดพังงาได้เสนอพื้นที่บริเวณถ้ำลอด เกาะปันหยี และเขาพิงกัน ให้กรมป่าไม้ดำเนินการจัดตั้งเป็นวนอุทยาน โดยใช้ชื่อว่า " วนอุทยานศรีพังงา " แต่ต่อมากรมป่าไม้ได้ดำเนินการสำรวจบริเวณอ่าวพังงาเพื่มเติม และดำเนินการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยกำหนดเป็นพระราชกฤษฎีกา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า 1 - 3 เล่มที่ 98 ตอนที่ 64 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2524 ภายใต้ชื่อว่า " อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา " มีเนื้อที่ประมาณ 400 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 250,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนผืนใหญ่ ที่อุดมสมบูรณ์คงสภาพธรรมชาติดั้งเดิมอยู่เป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่เขตอำเภอเมืองพังงา เลียบตามชายฝั่ง จนถึงเขตอำเภอตะกั่วทุ่ง และพื้นน้ำในท้องทะเลอันดามันมีพื้นที่กว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาทั้งหมด ซึ่งในร้อยละ 80 ของพื้นที่ประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ ประมาณ 42 เกาะ เช่น เขาเต่า เกาะพระอาดเฒ่า เกาะมะพร้าว เกาะโบยใหญ่ เกาะรายาหริ่ง เกาะพนัก เกาะห้อง เขาพิงกัน ฯลฯ
แหล่งท่องเที่ยว
• เกาะปันหยี เป็นหมู่บ้านชาวประมง ซึ่งก่อสร้างบนพื้นที่น้ำทะเลท่วมถึง บ้านถูกสร้างยกระดับให้พ้นการขึ้น- ลง ของน้ำทะเล บริเวณหมู่บ้านอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติ ชาวปันหยีเป็นชุมชนชาวประมงดั้งเดิม ประกอบอาชีพประมงน้ำตื้น โดยการทำประมงอวนลอย โป๊ะ เลี้ยงหอยแครง เลี้ยงปลากระชัง ปัจจุบันเกาะปันหยีเป็นชุมชนที่รองรับนักท่องเที่ยว โดยได้ทำการปรับปรุงบ้านอยู่อาศัยเดิมบางส่วนเป็นร้านอาหารและจำหน่ายของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยว
• เขาเขียน อยู่ระหว่างเส้นทางไปเกาะปันหยี มีภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งกรมศิลปากรได้ทำการสำรวจศึกษา พบว่าภาพเขียนสีเหล่านี้มีอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี ภายในภาพเขียนจะมีรูปสัตว์ชนิดต่างๆและรูปเรือ
• เกาะพนัก เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่กว่าเกาะห้อง อยู่ระหว่างเส้นทางเดินเรือ จากภูเก็ต–พังงา ประกอบด้วยถ้ำต่าง ๆ ที่มีความสวยงาม เช่น ถ้ำค้างคาว ถ้ำโกงกาง ถ้ำไอศครีม และถ้ำปีนที่มีลักษณะเป็นทะเลใน โดยในการเข้าสู่ทะเลในต้องใช้เรือซีแคนูเพียงอย่างเดียว จึงจะเข้าไปได้ มีความลึกตั้งแต่ 50–150 เมตร
• เกาะห้อง มีลักษณะเป็นเขาหินปูน มีหินงอกหินย้อยที่มีความสวยงาม คล้ายห้องหลายๆ ห้อง เรียงต่อกันเป็นแถว มีพันธุ์พืชและสัตว์ป่าชนิดต่างๆ จำนวนมาก สามารถเข้าไปชมทัศนียภาพได้ โดยการจอดเรือบริเวณหน้าเกาะและใช้เรือซีแคนูเข้าไปชมบริเวณภายในถ้ำ และรอบๆเกาะซึ่งมีความสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
• เกาะทะลุนอก เป็นเขาหินปูน มีถ้ำทะลุ คล้ายๆ ถ้ำลอดใหญ่ แต่มีขนาดเล็กกว่า เรือสามารถแล่นลอดผ่านได้ เช่นเดียวกับ ถ้ำลอดใหญ่ และเป็นจุดพายเรือแคนูที่มีนักท่องเที่ยวนิยมกันมากแห่งหนึ่งในอ่าวพังงา
• เขาตาปู–เขาพิงกัน เป็นจุดที่เรือทุกลำจะจอดให้นักท่องเที่ยวแวะชมและถ่ายภาพ เป็นที่รู้จักของชาวต่างประเทศ เพราะเป็นฉากหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องเจมส์บอนด์
• ถ้ำลอด เป็นถ้ำขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 50 เมตร เรือสามารถลอดผ่านได้ ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม ระหว่างการเดินทางไปยังถ้ำลอดจะผ่านป่าชายเลน ที่มีความอุดมสมบูรณ์ผืนหนึ่งของประเทศไทย
• เขาหมาจู อยู่ระหว่างเส้นทางไปเกาะปันหยี เป็นภูเขาหินปูนที่มีขนาดเล็ก สามารถมองเห็นได้ในระยะไกลเมื่อเรือแล่นผ่าน เขาหมาจู มีลักษณะเหมือนสุนัขพันธุ์พุดเดิ้ล
• เกาะละวะใหญ่ เป็นเกาะขนาดเล็ก ซึ่งมีหาดทรายที่ขาวสะอาด สามารถเดินทางโดยเรือ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ หรือสามารถลงเรือได้ที่ท่าเทียบเรือบ้านคลองเคียน ใช้เวลาประมาณ 30 นาที เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่มีความสวยงาม และมีร้านอาหารสวัสดิการของอุทยานฯไว้สำหรับบริการนักท่องเที่ยว และมีปะการังน้ำตื้นอยู่โดยรอบ
การเดินทาง
• รถยนต์ ท่านสามารถนำรถยนต์ส่วนตัวเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปตามถนนเพชรเกษม (ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 4) ไปจนถึงจังหวัดพังงา ระยะทางประมาณ 850 กิโลเมตร (11 ชั่วโมง) และเดินทางมุ่งหน้าไปสู่อำเภอตะกั่วทุ่ง จนถึงทางแยก เข้าทางหลวงจังหวัด หมายเลข 4144 ไปอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา โดยห่างจากทางแยก ประมาณ 2.5 กิโลเมตร
• เครื่องบิน ท่านสามารถเดินทางไปยังท่าอากาศยานกรุงเทพ และโดยสารเครื่องบินไปยังท่าอากาศยานนานาชาติ จังหวัดภูเก็ต ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที แล้วเดินทางโดยรถยนต์อีก ประมาณ 61 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง เมื่อถึงจังหวัดพังงา โดยสารรถยนต์ (รถสองแถว) สายพังงา-ท่าด่าน ระยะทาง 9 กิโลเมตร
• เรือ ท่านสามารถเหมาเรือหรือติดต่อบริษัทนำเที่ยว ได้ที่ท่าเรือบ้านท่าด่าน อำเภอเมืองพังงา หรือท่าเรือสุระกุล อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา
• รถไฟ ท่านสามารถขึ้นรถไฟได้ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพฯ เดินทางไปถึงสถานีรถไฟ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วขึ้นรถโดยสารประจำทางอีกประมาณ 160 กิโลเมตร ( 3 ชั่วโมง) เดินทางไปถึงจังหวัดพังงา
• รถโดยสารประจำทางท่านสามารถเดินทางโดยขึ้นรถยนต์ปรับอากาศ ลิกไนท์ทัวร์ หรือ รถ บขส. เส้นทาง พังงา-กรุงเทพฯ ได้ที่สถานีขนส่งสายใต้ กรุงเทพฯ ในอัตรา 441 บาท (สำหรับรถยนต์ 32 ที่นั่ง) และอัตรา 685 บาท (สำหรับรถยนต์ 24 ที่นั่ง) ระยะทางประมาณ 850 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 11 ชั่วโมง เมื่อเดินทางถึงสถานีขนส่ง จังหวัดพังงา แล้วเดินทางโดยรถประจำทาง(รถสองแถว) อีกประมาณ 9 กิโลเมตร ในราคาประมาณ 20 บาท/คน
สิ่งอำนวยความสะดวก
• มีบ้านพักไว้สำหรับบริการนักท่องเที่ยว จำนวน 8 หลัง สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ บริเวณเกาะละวะใหญ่ และมีบริการให้เช่าเต็นท์
มีร้านอาหารสวัสดิการอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา บริเวณที่ทำการอุทยานฯ และบริเวณเกาะละวะใหญ่
อัตราค่าธรรมเนียมในการเข้าเขตอุทยานฯ คนละ 20 บาท/วัน
สถานที่ติดต่อ
• อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา 80 ม.1 บ้านท่าด่าน ต.เกาะปันหยี อ.เมือง จ.พังงา 82000 โทรศัพท์ : 0-7641-1136 โทรสาร : 0-7641-2188

ในปี พ.ศ. 2531 มีข่าวว่านายทุนกำลังติดต่อขอเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่บริเวณเกาะระ-พระทอง จังหวัดพังงา นายดิษฐพงศ์ โชคคณาพิทักษ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ในขณะนั้น จึงได้มีหนังสืออุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ด่วนมาก ที่ กช 0713 (มส) /116 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2531 เสนอให้กองอุทยานแห่งชาติแจ้งกรมป่าไม้ โปรดระงับไม่ให้มีการเช่าพื้นที่บริเวณเกาะระ และมีความเห็นให้สงวนไว้เพื่ออุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จะได้ดำเนินการสำรวจผนวกให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ต่อมาอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ได้มีหนังสือเสนอกรมป่าไม้ เห็นควรสำรวจพื้นที่บริเวณเกาะระ-เกาะพระทอง พื้นที่ป่าชายเลนใกล้เคียง และพื้นที่อื่นๆ ที่เห็นว่ามีศักยภาพเหมาะสมที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้โดย ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ โปรดอนุมัติลงวันที่ 28 มีนาคม 2543 ท้ายหนังสือสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่ กษ 0712.5/981 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2543 ให้นายธนพงศ์ อภัยโส นักวิชาการป่าไม้ 6 ซึ่งปฏิบัติงานประจำอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ดำเนินการสำรวจเบื้องต้นบริเวณเกาะพื้นที่เกาะระ เกาะพระทอง พื้นที่ป่าชายเลนใกล้เคียง ท้องที่ อำเภอคุระบุรี อำเภอ.ตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ผลการสำรวจเบื้องต้น ปรากฏว่า พื้นที่บริเวณที่ดำเนินการสำรวจครอบคลุมพื้นที่ 401,250 ไร่ เป็นพื้นน้ำ 185,180 ไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่บก 206,080 ไร่ มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ มีความหลากหลายทางชีวภาพเหมาะสมที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงมีคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 1868/2543 ลงวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2543 ให้นายธนพงศ์ อภัยโส นักวิชาการป่าไม้ 5 ไปดำเนินการสำรวจจัดตั้งพื้นที่บริเวณเกาะระ- เกาะพระทอง และพื้นที่ป่าชายเลน ใกล้เคียงในท้องที่อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เป็นอุทยานแห่งชาติ จากการดำเนินการทำให้แกนนำบางคนในท้องถิ่นเสียผลประโยชน์จึงได้ยุยงให้ชาวบ้านประท้วงคัดค้านการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ โดยอ้างปัญหาการประมงพื้นบ้านเป็นประเด็นหลัก ทำให้การชุมนุมประท้วง ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2543 บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอคุระบุรี เพื่อคัดค้านการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ โดยมีแกนนำผู้คัดค้านผลิตเปลี่ยนกันชึ้นเวทีปราศัยโจมตีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ สำหรับทางฝ่ายราชการมีนายมานิต วัฒนเสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นายยอด คีรีรัตน์ ป่าไม้เขตนครศรีธรรมราช และนายธนพงศ์ อภัยโส หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระ-เกาะพระทอง ชี้แจงข้อเท็จจริง และทำความเข้าใจ ผลการชุมนุมประท้วงในวันนั้น ผู้ชุมนุมประท้วงได้ลงลายมือชื่อคัดค้าน และยื่นข้อเสนอต่อจังหวัดพังงาให้ยุติการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ ซึ่งทางจังหวัดพังงารับเรื่องไว้เสนอต่อกรมป่าไม้ ผู้ชุมนุมประท้วงจึงแยกย้ายสลายกลุ่มไป การดำเนินการสำรวจจัดตั้งยังคงดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2544 ได้มีชาวบ้าน ประมาณ 300 คน ได้บุกรุกเข้ารื้อถอนที่ทำการชั่วคราวของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระ-เกาะพระทอง บริเวณอ่าวเส็ง ท้องที่หมู่ 3 ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา และบังคับให้เจ้าหน้าที่ขนย้ายวัสดุขึ้นมาจากเกาะระ ในช่วงเวลาดังกล่าวกรมป่าไม้ได้มีการโยกย้ายข้าราชการโดยแต่งตั้งนายยุทธนา สัจกุล เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ไปทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระ – เกาะพระทอง ต่อไป โดยดำเนินการประสานงานนายอำเภอท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และหัวหน้าหน่วยงานราชการเกี่ยวข้องดำเนินการ ตั้งที่ทำการชั่วคราว ณ จุดเดิมที่ถูกรื้อถอนไปอีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2544 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศเป็นชายฝั่งทะเลยุบตัว ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของภาคใต้ท้องที่จังหวัดพังงา ลักษณะโดยรวมของพื้นที่เป็นหาดโคลนปากแม่น้ำ มีลำคลองหลายสายไหลลงมาบริเวณดังกล่าว เป็นคลองยาวมีสาขามากมายก่อนเปิดออกสู่ทะเลมีความสมบูรณ์ของธาตุอาหารในตะกอนดิน และได้รับอิทธิพลจากการขึ้น-ลง ของน้ำทะเล มีภูเขาสูงชันและเกาะต่างๆ วางในแนวเหนือใต้ ได้แก่ เกาะระพื้นที่เป็นเขาสูงและชัน สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 235 เมตร เกาะพระพื้นที่เป็นที่ราบ เกาะคอเขาพื้นที่เป็นที่ราบส่วนใหญ่มีภูเขาสลับ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 310 เมตร และจากเกาะบริวารเล็กๆ อีก เช่น เกาะปลิง เกาะตาชัย และเขาบ่อไทรที่มียอดเขาสูงที่สุดคือ 450 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ลักษณะภูมิอากาศ
พื้นที่เกาะระ เกาะพระทอง และพื้นที่ใกล้เคียง มีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้น มีฝนตกชุกเกือบทั้งปี เพราะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ และลมมรสะมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งแบ่งได้ 2 ฤดู คือ ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงพฤศจิกายน โดยมีฝนตกชุกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนพฤศจิกายน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,124.7 มิลลิเมตร โดยเดือนกันยายนมีปริมาณน้ำฝนมากที่สุด คือ 366.2 มิลลิเมตร และฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม-มีนาคมโดยมีฝนตกในช่วงนี้บ้าง อุณหภูมิสูงสุด 37.8 องศาเซลเซียส อยู่ในเดือนเมษายน อุณหภูมิเฉลี่ย 28.97 องศาเซลเซียส
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
ทรัพยากรป่าไม้ จากการสำรวจสามารถจำแนกได้เป็น 5 ประเภทดังนี้
ป่าดิบชื้น พบว่าขึ้นปกคลุมบริเวณที่เป็นเขา เช่น เกาะระ บริเวณลาดเขาและสันเขาพันธุ์ไม้ที่เป็นไม้เด่น เช่น ยางยุง ยางปราย ขันทอง ไม้เรือนยอดรองลงมา เช่น มะปริง มะส้าน เลือดกวาง มะไฟป่า ไม้พื้นล่าง เช่น หวาย กะพ้อ และเตย เป็นต้น
ป่าชายเลน พบขึ้นบริเวณชายฝั่ง ตามอ่าวของเกาะ เนื่องจารับอิทธิพลจากลำธาร แม่น้ำลำคลองกลายสายและการขึ้นลงของน้ำทะเล ดินเป็นเลนปนทรายหากมองจากภาพถ่ายทางอากาศ ป่าชายเลนจะเป็นผืนยาวติดต่อกันตั้งแต่ตอนเหนือจากบ้านทุ่งนางดำ ไปทางใต้จนถึงเกาะคอเขา ในพื้นที่อำเภอ ตะกั่วป่า พันธุ์ไม้ที่พบ ได้แก่ โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ ตะปูนขาว ถั่วดำ ฝาดอกแดง แสมขาว แสมดำ และไม้วงศ์ปาล์ม เช่น จาก เป้งทะเล หลาวชะโอน ไม้พื้นที่ล่างเช่น กระเพาะปลา และ เหงือกปลาหมอ เป็นต้น
ป่าชายหาด พบตามชายหาด ตามอ่าวที่น้ำทะเลท่วมไม่ถึง บริเวณเกาะระและเกาะพระทองพันธุ์ไม้ที่พบอาทิ เช่น สนทะเล ชมพู่ป่า โพทะเล มะส้าน เตยทะเล ไม้พื้นล่าง เช่น ผักบุ้งทะเล
สังคมพืชทดแทน จากการทำเหมืองแร่ดีบุกบริเวณเกาะพระทอง ซึ่งเป็นพื้นที่ราบสภาพดินขาดแร่ธาตุ ไม้เด่นในพื้นที่จะเป็นไม้เสม็ดขาว ขึ้นเป็นกลุ่มบริเวณแอ่งน้ำ และพื้นที่โล่งกว้าง ไม้เสม็ดขึ้นอยู่ห่างกัน และ
แหล่งหญ้าทะเล จากการสำรวจการแพร่กระจายและพื้นที่ปกคลุมของหญ้าทะเลชนิดต่างๆ บริเวณหาดทุ่งนางดำโดยวิธี visual estimation พบว่ามีการแพร่กระจายสูง หาดดังกล่าวเป็นพื้นที่ขายหาดฝั่งปากคลองคุระ ความขุ่นใสค่อนข้างน้อย แม่น้ำต่อเนื่องไปบริเวณหาดทุ่งนางดำ ระหว่างเนินทรายและชายฝั่งเกิดมีลักษณะคล้ายแอ่งน้ำขนาดใหญ่เป็นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของหญ้าทะเล ซึ่งพบหญ้าทะเลบริเวณนี้ 8 ชนิด โดยมีพื้นที่แพร่กระจายรวม 1.38 ตารางกิโลเมตร เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อยดังนี้ Cymodocea serrulata, Halodule uninervis H. ovalis, Syringodium isoetipolium, Enhalus acoroides, Halophrii และ H. minor นอกจากนี้ยังพบการแพร่กระจายของหญ้าทะเลบริเวณทิศตะวันออกของเกาะระ ความสำคัญของแหล่งหญ้าทะเลนั้นมีมากมาย ตั้งแต่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งเลี้ยงตัวอ่อน แห่ลงพบซ่อนศัตรูและเป็นแหล่งหากินของสัตว์ทะเลนานาชนิดอันได้แก่ กุ้ง ปู และปลา อีกทั้งเป็นแหล่งหากินของสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ คือ เต่าทะเล และพะยูนด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันแหล่งหญ้าทะเลได้เกิดความเสื่อมโทรม เนื่องจากการทำประมงด้วยเครื่องมือบางชนิดและการเปลี่ยนแปลงของตะกอนในน้ำทะเลมากขึ้น จากการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง ทำให้หญ้าทะเลถูกทำลายลงเป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลต่อสัตว์ทะเลที่อยู่ในระบบนิเวศ ดังนั้นการควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ตามแนวชายฝั่งให้เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง อันจะเป็นการฟื้นฟูสภาพระบบนิเวศแนวชายฝั่งให้เกิดผลดีต่อหญ้าทะเล จึงเห็นควรให้หน่วยงายของรัฐเข้ามาควบคุมอย่างจริงจัง
ทรัพยากรสัตว์ป่า
จากการสำรวจบนเกาะทุกเกาะตามถิ่นที่อยู่อาศัยประเภทต่างๆ โดยทำการจำแนกและบันทึกสัตว์ป่า ที่พบตัวจริงโดยใช้กล้องส่องทางไกลสำรวจร่องรอยของสัตว์ป่า และจากการสอบถามราษฎรที่อยู่ในท้องถิ่นได้ผลดังนี้
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จากการสำรวจเบื้องต้นพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น กวางป่า หมูป่า ค่างแว่นถิ่นใต้ ลิงแสม อีเห็นธรรมดา นากใหญ่ขนเรียบ นิ่ม กระรอกท้องแดง กระรอกปลายหางดำ ค้างคาวแม่ไก่เกาะ บ่าง และหนูเกาะ เป็นต้น จากการสำรวจเบื้องต้น โดยการสัมภาษณ์ชาวประมงข้อมูลการขึ้นมาเกยตื้นของพะยูน ของการสำรวจทางอากาศของประชากรพะยูนของฝั่งอันดามันได้กำเนิดโดยใช้เรือบิน โพลารีส เป็นพาหนะในการสำรวจบินด้วยความเร็วต่ำ (70-80 กม./ชม.) ที่ความสูง 200-1,000 ฟุต โดยสำรวจในบริเวณแหล่งหญ้าทะเลพื้นที่ประมาณ 100-200 ตร.กม จำนวน 8 แห่ง ในจังหวัดพังงา กระบี่ สตูล ระหว่างวันที่ 31 มกราคม 2540 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2540 พบพะยูนระหว่าง 1-6 ตัว ใน 5 พื้นที่ในจังหวัดพังงาที่บ้านทุ่งนางดำ อำเภอคุระบุรี และข้อมูลเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2541 มีราษฎรพบเห็นพะยูนติดโป๊ะบริเวณด้านทิศตะวันออกของเกาะระ และอ่าวท่งนางดำบ่อยครั้งจึงเป็นหลักฐานยืนยันว่ายังพบพะยูนในพื้นที่ทำการสำรวจ ปัจจุบันพะยูนได้มีประมาณน้อยลงอย่างมากในน่านน้ำไทย เนื่องจากเป็นสัตว์ที่กินหญ้าทะเลสัตว์น้ำตื้นชายฝั่ง และเป็นสัตว์ที่เป็นอาหารของชาวประมง การเพิ่มจำนวนของเรื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพก่อให้เกิดการจับพะยูนมากขึ้น จนเข้าใจว่าอาจจะสูญพันธุ์ไปจากน่านน้ำไทยในเวลาอันใกล้ พะยูนจึงเป็นทรัพยากรมีชีวิตในแหล่งหญ้าทะเลที่จัดได้ว่ามีความสำคัญและความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ที่จะต้องดำเนินการศึกษาและคุ้มครองดูแลให้คงอยู่บริเวณแหล่งหญ้าทะเลต่อไป
นก ที่พบเห็น เช่น นกตะกรุม นกพญาปากกว้างท้องแดง นกเงือกกรามช้าง นกเงือกหัวงอน และจากการรายงานการสำรวจนกในพื้นที่เกาะระและเกาะพระทองของนักวิชาการจากต่างประเทศที่เข้าไปพักในสุดขอบฟ้ารีสอร์ทในช่วงระยะเวลา 1 ปี พบว่า มีนกถึง 106 ชนิด
สัตว์เลื้อยคลาน จากการสำรวจพบสัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ ตะกวด เหี้ย งูเหลือม งูพังกา งูลายสอใหญ่ จิ้งเหลนบ้าน เต่าหับ เต่าดำ เป็นต้น ปัจจุบันมีนักวิจัยชาวต่างประเทศได้เข้ามาทำการศึกษาวิจัยเต่าทะเล พบว่าบริเวณเกาะระและเกาะพระทองด้านทางทิศตะวันตกมีการพบเห็นเต่าทะเล โดยพบเห็นเต่าทะเลถึง 3 ชนิดด้วยกัน คือเต่ามะเฟือง เต่าหญ้า และเต่าตะนุ นอกจากนี้บริเวณชายหาดยังเป็นพื้นที่ที่เต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคมของทุกปี ซึ่งปัจจุบันประสบปัญหาอย่างหนักในเรื่องประชากรและอัตราการรอดตายของเต่าทะเล อันเนื่องมาจากเครื่องมือทำการประมงบางชนิด เช่นอวนลาก ทำให้เต่าทะเลในช่วงเจริญพันธุ์ลดลง จึงสมควรมีการจัดการในเรื่องของเต่าทะเลอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการทั้งด้านอนุรักษ์และการป้องกัน
ปลา เนื่องจากพื้นที่ทำการสำรวจเป็นพื้นที่สำคัญดังนั้นจะพบปลาที่สำคัญทางเศรษฐกิจและในแนวปะการัง โดยการสอบถามราษฎรและชาวประมงในพื้นที่ ดังนั้นปลาที่พบในพื้นที่ป่าชายเลน เช่น ปลาสีเสียด ปลากะพงข้างปาน ปลาตะกรับ ปลากะตัก ปลาปักเป้า ปลากระทุงเหวปากแดง ปลากระพงแดง ปลากดทะเล ปลาสีกุน เป็นต้น ปลาในแนวปะการัง เช่น ปลาสิงโต ปลากะรังลายขวางจุดน้ำเงิน ปลากระพง ปลาผีเสื้อ ปลาสลิดหิน ปลาการ์ตูนส้มขาว ปลาขี้ตังเบ็ดฟ้า และปลาปักเป้า เป็นต้น
แหล่งท่องเที่ยว
บริเวณพื้นที่ทำการสำรวจแระกอบด้วยทรัพยากรชายฝั่งที่มีศักยภาพสูงในด้านที่จะปรับปรุงไปเป็นแหล่งท่องเที่ยวในกิจกรรมหลายๆ ด้านปัจจุบันด้านการท่องเที่ยวยังมีไม่มากนัก ท่องเที่ยวที่เข้ามา จะได้รับการบริการจากหน่วยงานของเอกชนที่บริการด้านการท่องเที่ยวเท่านั้น และรูปแบบจะเป็นบางกิจกรรมพิ้นที่สามารถให้การบริการด้านการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพเพียงพอ ที่จะรองรับนักท่องเที่ยวได้มีดังนี้
เกาะคอเขา สภาพเป็นเขสลับกันเป็นพื้นที่ราบ ในเขตอำเภอคุระบุรีกับ อำเภอตะกั่วป่ามีความสวยงาม ชายหาดยาวตลอดความยาวเกาะ ปัจจุบันมีส่วนมะพร้าวและหมู่บ้าน ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 30 นาที
เกาะปลิง – เกาะพ่อตา อยู่ชิดกันบริเวณด้านตะวันตกมีแนวปะการังหลากหลาย แต่แนวปะการังที่ไม่กว้างมาก สามารถดูปะการังได้ พื้นที่ชายเลน ตามลำคลองต่าง ๆ ภาพในป่าชายเลน กิจกรรมที่สามารถทำได้ เช่น พานเรือคายัด ดูนก ศึกษาสภาพป่า เป็นต้น
จากสภาพที่มีความแตกต่างกัน และมีความสวยงาม พื้นที่ดังกล่าวจึงสามารถทำกิจกรรมด้านนันทนาการได้หลายอย่าง ซึ่งได้รับความนิยมในปัจจุบัน บางกิจกรรมเป็นกิจกรรมใหม่ เช่น พายเรือคายัด ปั่นจักรยาน ซึ่งพื้นที่มีความเหมาะสมที่จะจัดกิจกรรมได้ และเป็นการสนับสนุนกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเป็นอย่างดี
เกาะพระทอง เป็นเกาะที่มีพื้นที่กว้างและเป็นที่ราบไม่มีภูเขา ด้านทิศตะวันออกพื้นที่เป็นป่าชายเลนติดต่อกัน ส่วนพื้นที่ราบทางด้านทิศตะวันตกสภาพเป็นป่าทดแทนที่ไม้เสม็ดขึ้นเป็นส่วนใหญ่ โล่งกว้างสามารถนำรถไปวิ่งได้ มีความสวยงาม เป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์เช่น กวางป่า หมูป่า เป็นต้น สามารถทำกิจกรรมได้หลายอย่าง เช่น ตั้งแค็มป์ ปั่นจักรยาน อีกทั้งชายหาดที่วางตัวทิศเหนือไปถึงทิศใต้ของตัวเกาะเดินป่า หรือการเข้าไปศึกษาธรรมชาติของสัตว์บกตอนกลางคืน เนื่องจากาวาง ประมาณ 60 ตัว ซึ่งพบเห็นได้บ่อยครั้ง เป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดีใช้เวลาในการเดินทางโดยเรือ 50 นาที เกาะพระทองปัจจุบันยังอยู่ในการดูแลของกรมป่าไม้
เกาะระ เป็นเกาะที่มีความลาดชันสูง ที่ราบจะพบบางแห่งใกล้กับชายหาด ประกอบไปด้วยป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ สามารถทำเส้นทางเดินป่า และเส้นทางศึกษาธรรมชาติได้ ชายหาดที่กว้างและยาวทางด้านทิศตะวันตก และด้านทิศเหนือของเกาะ เหมาะแก่การเล่นน้ำ อาบแดด หรือชมพระอาทิตย์ตกได้ใช้เวลาเดินทางประมาณ 60 นาที ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดให้บริการในด้านการท่องเที่ยวในเกาะระ และยังอยู่ในการดูแลของกรมป่าไม้
การเดินทาง
รถยนต์ การเดินทางสามารถเดินทางโดยรถยนต์จากกรุงเทพฯ โดยใช้ทางหลวงหมาย 4 ถึงอำเภอคุระบุรีและเดินทางต่อไปยังท่าเทียบเรือเพื่อไปยังเกาะต่างๆ
สถานที่ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระ-เกาะพระทอง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา

อุทยานแห่งชาติศรีพังงา อยู่ในเขตอำเภอคุระบุรี และอำเภอตะกั่วป่า ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเทือกเขานมสาว มีเนื้อที่ 153,800 ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีป่าไม้สมบูรณ์เป็นประเภทป่าดิบชื้น มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น ไม้ยาง ไม้ตะเคียนทอง ปาล์มสกุลต่าง ๆ กระพ้อหนู ชายผ้าสีดา กล้วยไม้ เช่น รองเท้านารี เอื้องเงินหลวง และยังสามารถพบสัตว์ป่าและนกต่าง ๆ หลายชนิด ได้แก่ สมเสร็จ เลียงผา วัวแดง เก้ง เสือ นกเงือก นกเขียวคราม นกชนหิน ปลาพลวง กบทูด เป็นต้น อุทยานฯ จะมีฤดูฝนมากกว่าฤดูร้อน ฝนตกเกือบตลอดปี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ธันวาคม ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2531 และได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ
สถานที่น่าสนใจภายในเขตอุทยานฯ ได้แก่
น้ำตกตำหนัง อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 1 กิโลเมตร เมื่อถึงบริเวณที่จอดรถต้องเดินเท้าเข้าไปอีก 500 เมตร เป็นน้ำตกที่ตกจากหน้าผาสูง 63 เมตร มีน้ำตลอดทั้งปีแต่ในช่วงหน้าฝนจะมีน้ำมากไหลแรง บรรยากาศโดยรอบร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ และมีปลาพลวงอาศัยอยู่ในลำธาร มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ระยะทาง 2 กิโลเมตร เส้นทางลาดชัน ใช้เวลาเดินประมาณสามชั่วโมง ต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง
น้ำตกโตนต้นเตย ตรงไปตามทางแยกซ้ายมือ ก่อนถึงด่านตรวจทางเข้าที่ทำการ เป็นน้ำที่ตกจากหน้าผาหินสูง 45 เมตร สามารถเดินไปถึงบริเวณต้นน้ำตกได้ ระยะทาง 1 กิโลเมตร ตามเส้นทางที่เดินไปจะผ่านจุดชมวิวสามารถมองเห็นป่าเขาที่สมบูรณ์ของอุทยานฯ ใช้เวลาในการเดินเท้าไปกลับ ประมาณ 3 ชั่วโมง ต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง ระหว่างทางมีน้ำตกโตนต้นเตยน้อย สูงประมาณ 10 เมตร ให้แวะพักให้หายเหนื่อยด้วย
น้ำตกโตนต้นไทร เป็นน้ำตกที่ไหลจากโขดหินสูง 20 เมตร บริเวณโดยรอบมีต้นไทรขึ้นปกคลุม มีโขดหินสวยงาม ใช้เส้นทางเดียวกับน้ำตกโตนต้นเตย แต่เลยไปประมาณ 500 เมตร
นอกจากนี้อุทยานฯ ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ น้ำตกสวนใหม่ เป็นน้ำตกที่มีบรรยากาศร่มรื่นเย็นสบาย มีน้ำไหลตลอดทั้งปี ทุ่งชาลี เป็นทุ่งขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่ เป็นแหล่งหากินของสัตว์ป่านานาชนิด มีนกอาศัยอยู่จำนวนมาก และสามารถกางเต็นท์ได้แต่ต้องนำเต็นท์ไปเอง สะพานพระอร่าม เป็นสะพานที่ก่อสร้างขึ้นโดยคนที่มาทำเหมืองแร่ดีบุก ใช้ก้อนหินก่อสร้างข้ามแม่น้ำ มีความยาว 25 เมตร ปัจจุบันเหลือแต่เพียงร่องรอยของซากเสาหิน
อัตราค่าเข้าอุทยานฯ นักท่องเที่ยว ชาวไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท
ที่พัก อุทยานฯ ไม่มีบ้านพัก แต่มีสถานที่กางเต็นท์ และร้านสวัสดิการบริการ โดยนักท่องเที่ยวจะต้องนำเต็นท์มาเอง เสียค่าพื้นที่กางเต็นท์คนละ 20 บาท/คืน สอบถามรายละเอียด ได้ที่ อุทยานแห่งชาติ ศรีพังงา อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา โทร. 0 7641 2611
การเดินทาง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 100 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 4 สายอำเภอตะกั่วป่า-ระนอง เมื่อถึงกิโลเมตรที่ 756 จะมีแยกขวามือให้เลี้ยวเข้าไป 5 กิโลเมตร
เกาะพระทอง อยู่ตำบลเกาะพระทอง เป็นเกาะขนาดใหญ่ในทะเลอันดามัน มีหาดทรายขาวสวยงาม และยังคงสภาพสมบูรณ์ทางธรรมชาติ บรรยากาศเงียบสงบ มีสัตว์ป่าหลายชนิดอาศัยอยู่ เช่น กวาง หมูป่า นกเงือก นกตะกรุม บนเกาะมีชาวบ้านอาศัยอยู่ทำอาชีพประมง และมีที่พักของเอกชนไว้บริการนักท่องเที่ยว การเดินทาง สามารถเช่าเรือหางยาวได้ที่ท่าเรือคุระบุรี ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ติดต่อได้ที่องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะพระทอง โทร. 0 7649 1735


อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อยู่ตำบลเกาะพระทอง ครอบคลุมพื้นที่ 80,000 ไร่ ประกาศเป็นเขตอุทยานฯ เมื่อ 1 กันยายน พ.ศ. 2525 คำว่า “สิมิลัน” เป็นภาษายาวี หรือ มลายู แปลว่า เก้า หรือ หมู่เกาะเก้า หมู่เกาะสิมิลันเป็นหมู่เกาะเล็ก ๆ ในทะเลอันดามัน มีทั้งหมด 9 เกาะ เรียงลำดับจากเหนือมาใต้ ได้แก่ เกาะหูยง เกาะปายัง เกาะปาหยัน เกาะเมี่ยง (มี 2 เกาะติดกัน) เกาะปายู เกาะหัวกระโหลก ( เกาะบอน) เกาะสิมิลัน และเกาะบางู ที่ทำการอุทยานฯ อยู่ที่เกาะเมี่ยงเพราะเป็นเกาะที่มีน้ำจืด หมู่เกาะเหล่านี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหมู่เกาะที่มีความงามทั้งบนบกและใต้น้ำที่ยังคงความสมบูรณ์ของท้องทะเล สามารถดำน้ำได้ทั้งน้ำตื้นและน้ำลึก มีปะการังที่มีสีสันสวยงามหลากชนิด ปลาหลากสีสันและหายาก เช่น กระเบนราหู ปลาวาฬ ปลาโลมา ปลาไหลมอนเร่ ปลาการ์ตูน ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน เป็นช่วงที่น่าท่องเที่ยวมากที่สุด ส่วนเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน เป็นฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มีคลื่นลมแรงเป็นอันตรายต่อการเดินเรือและทางอุทยานฯ จะประกาศปิดเกาะในเดือนพฤษภาคมเพื่อเป็นการฟื้นฟูธรรมชาติทุกปี
สถานที่น่าสนใจภายในเขตอุทยานฯ ได้แก่
เกาะสิมิลัน หรือ เกาะแปด เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะสิมิลัน ลักษณะอ่าวเป็นรูปโค้งเหมือนเกือกม้า มีหาดทรายขาวละเอียดเนียนนุ่มน้ำทะเลใสน่าเล่น ใต้ทะเลมีปะการังสวยงามหลายชนิด ทั้งปะการังเขากวาง ปะการังใบไม้ ปะการังสมอง ปะการังดอกเห็ดขนาดใหญ่ที่มีความสมบูรณ์ กัลปังหา พัดทะเล กุ้งมังกร และปลาประเภทต่าง ๆ ที่มีสีสันสวยงามมากมาย เป็นเกาะที่สามารถดำน้ำทั้งน้ำลึกและน้ำตื้น และทางด้านเหนือของเกาะมีก้อนหินขนาดใหญ่ รูปร่างแปลกตา เช่น หินรูปรองเท้าบู๊ท หรือรูปหัวเป็ดโดนัลด์ดั๊ก ตอนบนที่ตรงกับแนวหาดมีหินรูปเรือใบ ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่สวยงามที่จะมองเห็นความสวยงามของท้องทะเลได้กว้างไกล
เกะบางู หรือ เกาะเก้า เป็นเกาะเล็ก ๆ ที่มีโขดหินรูปลักษณะต่าง ๆ โดยเฉพาะที่จุดดำน้ำ กองหินคริสมาสพอยต์เป็นกองหินใต้น้ำขนาดใหญ่ที่มีความสวยงามสลับซับซ้อนกันเป็นบริเวณกว้างจะมีแนวปะการัง และกัลปังหาที่สมบูรณ์ และยังเป็นที่อยู่ของปลาหลากชนิด เช่น ปลาไหลริบบิ้น ฉลามครีบเงิน ปลาเก๋า ปลาบู่ กั้งตั๊กแตน
เกาะหัวกะโหลก-หินปูซา หรือเกาะเจ็ด เป็นเกาะที่มีลักษณะเหมือนรูปหัวกะโหลก สภาพใต้น้ำสวยงามเหมือนหุบเขาใต้ทะเลที่เต็มไปด้วยปะการังอ่อน กัลปังหารูปพัดหลากสีสัน ฝูงปลานานาพันธุ์ และยังสามารถพบปลากระเบนราหู หรือฉลามวาฬได้มากที่สุดแห่งหนึ่งในหมู่เกาะสิมิลัน
เกาะหูยง หรือ เกาะหนึ่ง เป็นเกาะขนาดใหญ่ที่มีหาดทรายขาวสะอาด และยาวมากที่สุดในเก้าเกาะ มักจะมีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้เห็นร่องรอยของเต่าที่ขึ้นมาวางไข่บนชายหาดคล้ายกับรอยตีนตะขาบเล็ก ๆ
เกาะเมี่ยง หรือเกาะสี่ เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่รองจากสิมิลัน เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานฯ มีแหล่งน้ำจืด ชายหาดที่เกาะสี่จะมีสีขาวละเอียดเนียนสวยงามน่าสัมผัส น้ำทะเลใส บนเกาะสี่จะมีสัตว์ที่หาดูได้ยาก เช่น ปูไก่ ที่มีลำตัวเป็นสีแดงสด มีก้ามสีดำเหลือบน้ำเงิน เวลาร้องจะมีเสียงคล้ายไก่ จะเห็นได้ในช่วงหัวค่ำที่มันออก0หากิน นกชาปีไหน เป็นนกประจำถิ่นขนาดใหญ่ตระกูลเดียวกับนกพิราบป่า มีสีสันและลวดลายบนตัวที่งดงาม จะพบได้ตามริมชายหาด หรือร้านอาหารหน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และ ปูเสฉวน ที่มีมากมายหลายขนาดทั้งเล็กและใหญ่
นอกจากนั้นรอบ ๆ อุทยานฯ ยังมีบริเวณดำน้ำที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอีก ทั้ง จุดดำน้ำลึก ได้แก่ เกาะตาชัย อยู่ทางตอนเหนือสุดของอุทยานฯ จะพบปลาสาก ปลาค้างคาว ปลากระเบนราหู ฉลามวาฬ เกาะบอน อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่เกาะสิมิลัน จะพบฉลามครีบขาว ปลากระเบนราหู ฉลามกบ กองหินคริสต์มาสพอยต์ จะพบปลาไหลริบบิ้นสีฟ้า กั้งตั๊กแตน กองหินแฟนตาซี อยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะแปด เป็นจุดรวมของหินดอกไม้ ปะการัง กัลปังหา สัตว์น้ำหลากชนิด และ จุดดำน้ำตื้น ได้แก่ อ่าวลึก อ่าวกวางเอง เป็นต้น นักท่องเที่ยวที่สนใจกิจกรรมดำน้ำสามารถติดต่อบริษัทดำน้ำในจังหวัดภูเก็ตและพังงา
การเดินทางไปอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
- ท่าเรือทับละมุ อำเภอท้ายเหมือง อยู่ห่างจากอำเภอเมือง 70 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายพังงา-ตะกั่วป่า และเป็นท่าเรือที่อยู่ใกล้อุทยานฯที่สุด ประมาณ 40 กิโลเมตร จากท่าเรือทับละมุใช้เวลาในการเดินทางไปหมู่เกาะสิมิลันประมาณ 3-4 ชั่วโมง มีเรือให้เช่าหลายขนาด สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะเดินทางไปหมู่เกาะสิมิลัน สามารถติดต่อบริษัททัวร์ ที่ท่าเรือได้
การเดินทางไปท่าเรือทับละมุ สามารถไปได้หลายเส้นทาง คือ
- จากกรุงเทพฯ นั่งรถประจำทางสายกรุงเทพฯ-ระนอง และกรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี ลงที่สามแยกลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จากนั้นนั่งรถมอเตอร์ไซด์มาท่าเรือทับละมุ
- จากตัวเมืองพังงา มีรถประจำทางสายพังงา-ท่าเรือทับละมุ ออกจากสถานีขนส่งพังงา หรือนั่งรถประจำทางกรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี หรือ กรุงเทพฯ –ระนอง ลงที่สามแยกลำแก่น จากนั้นนั่งรถมอเตอร์ไซด์ไปท่าเรือ
- จากอำเภอท้ายเหมือง มีรถสองแถวสายท้ายเหมือง-ทับละมุ รถโดยสารประจำทางสายภูเก็ต-ตะกั่วป่าหรือ ภูเก็ต-สุราษฎร์ธานี ขึ้นที่ตลาดถนนเพชรเกษม มาลงที่สามแยกลำแก่นจากนั้นให้นั่งรถมอเตอร์ไซด์ไปท่าเรือ
- ท่าเรือคุระบุรี อำเภอคุระบุรี อยู่ห่างจากหมู่เกาะสิมิลัน 70 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง 3 ชั่วโมง สามารถติดต่อเช่าเรือได้ที่ คุระบุรี กรีนวิว รีสอร์ท
- ท่าเรือหาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ก็สามารถเดินทางไปอุทยานฯได้ ระยะทาง 70 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัทนำเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต หรือเดินทางโดยเรือท่องเที่ยวของบริษัทเอกชน
ที่พัก อุทยานฯ มีบริการบ้านพักเป็นเรือนแถว พักได้ห้องละ 4 คน จำนวน 10 ห้อง ราคา 600 บาท พักได้ 2 คน จำนวน 5 ห้อง ราคา 1,000 บาท มีบริการเต็นท์ให้เช่า หลังละ 100–300 บาท สำหรับ นักท่องเที่ยวที่นำเต็นท์มาเองเสียค่าพื้นที่กางเต็นท์คนละ 40 บาท/คืน นอกจากนี้นักท่องเที่ยวต้องเสียค่าขึ้นเกาะ นักท่องเที่ยว ชาวไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน หมู่ 1 ทับละมุ ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา 82120 โทร. 0 7642 1365 สำนักงานบนฝั่ง โทร. 0 7659 5045 หรือส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเล กรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. 0 2561 2920-1

อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ประกาศเป็นเขตอุทยานฯ เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2529 มีพื้นที่ทั้งหมด 45,000 ไร่ แยกออกเป็นสองส่วน คือ เทือกเขาลำปี ประกอบด้วยภูเขาหลายลูกเรียงเป็นแนวยาว ส่วนใหญ่เป็นหินอัคนี อายุอยู่ในช่วง 60–140 ล้านปี สภาพป่าเป็นป่าดงดิบ มีพันธุ์ไม้ เช่น ไม้ยาง ตะเคียนทอง กระบาก เฟิร์น หวาย ไผ่ มียอดเขาที่สูงที่สุดคือ ยอดเขาขนิม สูง 622 เมตร และหาดท้ายเหมืองซึ่งอยู่ริมฝั่งทะเลอันดามัน ชายหาดฝั่งตะวันตกเป็นหาดทรายขาว ด้านตะวันออกติดป่าชายเลนและเป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานฯ สัตว์ที่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานฯ ได้แก่ อีเห็น กวางป่า ไก่ป่า นกเขาเปล้าธรรมดา ส่วนในทะเลและชายหาดจะพบ ปลากระเบน ปลากระบอก ปลาบิน ปลาดาว และปะการังกลุ่มเล็ก
สถานที่น่าสนใจภายในเขตอุทยานฯ ได้แก่
หาดท้ายเหมือง อยู่ในเขตสุขาภิบาลท้ายเหมือง มีทางแยกขวาเข้าไปอีก 1.5 กิโลเมตร จากนั้นเข้าถนนเลียบชายหาดไปอีก 5 กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณที่ทำการอุทยานฯ ชายหาดท้ายเหมืองเป็นหาดทรายสะอาดขนานไปกับทางหลวงแผ่นดินมีความยาวกว่า 13 กิโลเมตร น้ำทะเลใส เล่นน้ำได้ ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ จะมีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ จึงมีกิจกรรมเดินดูเต่าไข่ในตอนกลางคืนเดือนหงาย และช่วงที่ไข่เต่าฟักเป็นตัวจะมีการปล่อยเต่าลงทะเล เรียกว่า ประเพณีปล่อยเต่า มีในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี
ทุ่งเสม็ด ทางตอนกลางของหาดท้ายเหมือง เป็นป่าเสม็ดขาวล้วน ในพื้นที่ 1,000 ไร่ สภาพดินเป็นทรายขาวละเอียด
น้ำตกโตนไพร เป็นน้ำตกที่มีความสูงใหญ่ เกิดจากเขาโตนย่านไทร สภาพป่าโดยรอบร่มรื่นมีต้นไม้ใหญ่ การเดินทาง จากอำเภอท้ายเหมือง ตามทางหลวงหมายเลข 4 บริเวณกิโลเมตรที่ 28-29 ให้เลี้ยวขวาเข้าไปอีก 7 กิโลเมตร
น้ำตกลำปี เป็นน้ำตกขนาดกลาง มี 4 ชั้น ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาลำปี ชั้นล่างเป็นอ่างน้ำขนาดใหญ่ มีน้ำตลอดปี ในฤดูฝนจะมีประชาชนนิยมไปพักผ่อนกันมาก การเดินทาง จากอำเภอท้ายเหมือง ตามทางหลวงหมายเลข 4 บริเวณกิโลเมตรที่ 32–33 จะมีทางแยกให้เลี้ยวขวา เข้าไป 2 กิโลเมตร
ที่พัก อุทยานฯ มีบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว จำนวน 3 หลัง พักได้ 5–10 คน ราคา 800-1,000 บาท เต็นท์ ให้เช่าสำหรับ 2-5 คน ราคา 100–200 บาท ในกรณีที่นักท่องเที่ยวนำเต็นท์มาเองเสียค่าพื้นที่กางเต็นท์ คนละ 20 บาท/คืน นักท่องเที่ยวจะต้องนำอาหารมาเอง ทางอุทยานฯ ไม่มีร้านค้าสวัสดิการ ติดต่อรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา 82120 หรือ ส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเล กรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. 0 2561 2918-22
การเดินทาง จากตัวเมืองพังงาใช้เส้นทางสายพังงา-ท้ายเหมือง ระยะทาง 56 กิโลเมตร ให้เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกตลาดท้ายเหมืองประมาณ 6 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานฯ แต่หากเดินทางโดยรถยนต์จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางถนนเพชรเกษมผ่านอำเภอตะกั่วป่าแล้วใช้เส้นทางสายตะกั่วป่า-ท้ายเหมือง ประมาณ 66 กิโลเมตร ก็จะถึงสี่แยกตลาดท้ายเหมือง
บ่อน้ำพุร้อน บ้านบ่อดาน อยู่ตำบลบ่อดาน ห่างจากตัวเมืองพังงา 43 กิโลเมตร ตามเส้นทางพังงา -โคกกลอย เมื่อถึงสี่แยกโคกกลอย ขับตรงไปประมาณ 2 กิโลเมตร จะเห็นป้ายบ่อน้ำพุร้อนให้เลี้ยวขวาเข้าไปอีก 3 กิโลเมตร น้ำพุร้อน บ้านบ่อดาน เป็นของเอกชน รอบบริเวณจัดเป็นสวนสวยงามร่มรื่น มีน้ำแร่อุ่น ๆ ไหลวนเวียนอยู่ในสระเหมาะสำหรับการแช่เพื่อการพักผ่อนคลายความเครียด บรรเทาอาการปวดข้อ กระดูก เหน็บชา ตลอดจนบำรุงผิวพรรณ และเส้นผม เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00–21.00 น. อัตราค่าบริการ ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 20 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 7658 1115, 0 7658 1360
ศูนย์อนุรักษ์อุทยานใต้ทะเลจุฬาภรณ์ อยู่ในกองทัพเรือภาค 3 หมู่บ้านทับละมุ ตำบลลำแก่น ฐานทัพเรือพังงาตั้งขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเลแก่นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป เป็นอาคาร 2 ชั้น แสดงนิทรรศการเกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมทางทะเล การฉายสไลด์มัลติวิชั่นเกี่ยวกับใต้ทะเลอันดามัน ศูนย์ฯ แห่งนี้ เปิดบริการทุกวันไม่เสียค่าเข้าชม ตั้งแต่เวลา 08.30–16.30 น. และทางศูนย์ฯ มีบริการที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 7644 3299–300
บ่ออนุบาลเต่ากองทัพเรือภาค3 อยู่ใกล้ ๆ ศูนย์อนุรักษ์อุทยานใต้ทะเลจุฬาภรณ์ เป็นบ่ออนุบาลและเพาะเลี้ยงเต่าทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งทางฝั่งทะเลอันดามัน มีทั้งเต่าตนุ เต่ากระ และเต่าหญ้า เปิดให้เข้าชมในวัน และเวลาราชการ

อำเภอตะกั่วทุ่ง
วัดสุวรรณคูหา ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลกระโสม ตามทางหลวงหมายเลข 4 (พังงา-ภูเก็ต) ห่างจากตัวเมืองพังงาประมาณ 9 กิโลเมตร บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 30 จะมีถนนลาดยาง แยกเข้าขวามือไปอีก 1 กิโลเมตร วัดสุวรรณคูหานี้ชาวบ้านทั่วไป เรียกว่า “วัดถ้ำ” เป็นวัดสำคัญของจังหวัดพังงา เนื่องจากเป็นโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทางโบราณคดี บริเวณที่ตั้งวัดมีภูเขา ซึ่งมีถ้ำใหญ่น้อย ถ้ำที่สำคัญ ได้แก่ ถ้ำใหญ่ ถ้ำแจ้ง ถ้ำมืด และถ้ำแก้ว โดยถ้ำใหญ่อยู่ตอนล่างสุด ตลอดความยาวของถ้ำประดับตกแต่งด้วยกระเบื้อง ถ้วย จานเชิงลายคราม และเบญจรงค์ ถ้ำใหญ่นี้ใช้เป็นวิหารมีพระพุทธรูปต่าง ๆ ประดิษฐานอยู่หลายองค์ ที่สำคัญคือ พระพุทธไสยาสน์ มีความงดงามมาก นอกจากนั้นยังมีพระปรมาภิไธยย่อของพระเจ้าแผ่นดิน และพระราชวงศ์หลายพระองค์ เช่น จปร. ปปร. ภปร. รพ. เป็นต้น นอกจากนั้นบริเวณหน้าถ้ำยังเป็นที่อยู่อาศัยของฝูงลิงจำนวนมากที่ลงมาหาอาหาร เก็บค่าเข้าชมเฉพาะชาวต่างชาติ คนละ 10 บาท
วนอุทยานน้ำตกรามัญ อยู่ตำบลกระโสม ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขาโตนดิน มีพื้นที่ประมาณ 125 ไร่ วนอุทยานฯ เป็นน้ำตกขนาดกลางมีน้ำไหลตลอดทั้งปี เหตุที่มาของชื่อน้ำตกรามัญ คือ เมื่อสงครามเก้าทัพ ได้มีชาวมอญกลุ่มหนึ่งหนีทัพพม่าขึ้นไปตั้งชุมชนตรงชั้นบนสุดของน้ำตกแห่งนี้ ชาวบ้านจึงรียกว่า “น้ำตกรามัญ” บริเวณต้นน้ำมีลักษณะเป็นเทือกเขาเรียงรายติดต่อกัน สภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์เป็นป่าดงดิบ วนอุทยานฯ ในส่วนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวประกอบด้วยธารน้ำขนาดกลางไหลจากป่าต้นน้ำผ่านหุบเขา และพื้นที่ต่างระดับทำให้เกิดน้ำตกชั้นต่าง ๆ หลายชั้น นอกจากนี้ยังมีสัตว์ป่า ได้แก่ เลียงผา สมเสร็จ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวน ตะพาบน้ำ ปลาซิว ปลาพรวงหิน ปลาเสือ วนอุทยานฯ มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติด้วย นอกเหนือจากน้ำตกรามัญ ยังมีน้ำตกอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีก เช่น โตนใต้ เป็นน้ำตกชั้นล่างสุด หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ตีนล่าง โตนขอนปัก มีลักษณะเป็นสระน้ำขนาดกลาง มีความลึกพอสมควร เหมาะสำหรับการเล่นน้ำ โตนไอ้จุ่น มีลักษณะเหมือนชั้นที่ 2 สามารถลงเล่นน้ำได้ตลอดทั้งปี โตนกลาง เป็นชั้นที่มีธารน้ำตกสูงพอสมควร มีความสวยงาม และเหมาะสำหรับเล่นน้ำใต้ธารน้ำตก โตนหินราว เป็นชั้นน้ำตกที่มีความลึกมาก โตนสาวงาม เป็นน้ำตกชั้นสุดท้ายที่มีความสวยงามเช่นกัน
ที่พัก วนอุทยานฯ ไม่มีบริการบ้านพัก แต่มีสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว โดยจะต้องนำเต็นท์ เตรียมเครื่องนอน-อุปกรณ์ในการพักแรมมาเอง และมีบริการร้านค้าสวัสดิการ ตั้งแต่เวลา 09.00–16.30 น.
การเดินทาง รถยนต์ จากตัวเมืองพังงาไปตามทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม ไปทางตำบลกระโสม ห่างจากตัวเมืองประมาณ 11 กิโลเมตร มีทางแยกขวาเข้าสู่วนอุทยานฯ อีก 6 กิโลเมตร หรือจากอำเภอตะกั่วทุ่ง ตามทางหลวงหมายเลข 4 ประมาณ 10 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายเข้าสู่วนอุทยานฯ รถประจำทาง สามารถจะเช่าเหมาได้จากตลาดในอำเภอเมืองไปวนอุทยานฯ ได้
ชายทะเลท่านุ่น อยู่เชื่อมระหว่างสะพานสารสิน - สะพานเทพกษัตรี ระหว่างจังหวัดพังงาและภูเก็ต จากทางหลวงหมายเลข 4 ตรงเข้าสู่จังหวัดภูเก็ต โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 402 ก่อนถึงเกาะภูเก็ตบริเวณช่องแคบปากพระ จะแลเห็นหาดทรายทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ที่หาดทรายนี้ทุก ๆ ปี จะมีเต่าขึ้นมาวางไข่อยู่เสมอ

บทความที่ได้รับความนิยม