Holiday-Tourismthailand

ท่องเที่ยว สูตรอาหารไทย อาหารเพื่อสุขภาพ ทั่วไทย เกาะช้าง เกาะเสม็ด เกาะกูด ภูกระดึง ระยอง หัวหิน พัทยา เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และ สถานที่ท่องเที่ยว ต่างๆ.

Custom Search


สภาพทั่วๆ ไปของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นพื้นที่ด้านตะวันตกของเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งสูงโดดเด่นขึ้นมาจากที่ราบภาคกลางแล้วก่อตัวเป็นแนวเขตของที่ราบสูงโคราช มีเขาร่มเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด 1,351 เมตร เขาแหลมสูง 1,326 เมตร เขาเขียวสูง 1,292 เมตร เขาสามยอดสูง 1,142 เมตร เขาฟ้าผ่าสูง 1,078 เมตร เขากำแพงสูง 875 เมตร เขาสมอปูนสูง 805 เมตร และเขาแก้วสูง 802 เมตร ซึ่งวัดความสูงจากระดับน้ำทะเลเป็นเกณฑ์ และยังประกอบด้วยทุ่งกว้างสลับกับป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ด้านทิศเหนือและตะวันออกพื้นที่จะลาดลง ทางทิศใต้และตะวันตกเป็นที่สูงชันไปเรื่อยๆ

นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารที่สำคัญถึง 5 สาย ได้แก่ แม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำนครนายก อยู่ในพื้นที่ทางทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเกษตรกรรมและระบบทางเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคนี้ แม่น้ำทั้ง 2 สายนี้ มาบรรจบกันที่จังหวัดฉะเชิงเทรา กลายเป็นแม่น้ำบางปะกงแล้วไหลลงสู่อ่าวไทย แม่น้ำลำตะคองและแม่น้ำพระเพลิง อยู่ในพื้นที่ทางทิศเหนือ ไหลไปหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมของที่ราบสูงโคราช ไปบรรจบกับแม่น้ำมูลซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของภาคอีสานตอนล่างไหลลงสู่แม่น้ำโขง ห้วยมวกเหล็ก อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีปริมาณน้ำไหลตลอดทั้งปีและให้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะการปศุสัตว์ของภูมิภาคนี้ ไหลลงสู่แม่น้ำป่าสัก ที่อำเภอมวกเหล็ก



ลักษณะภูมิอากาศ

ด้วยสภาพป่าที่รกทึบและได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม ทำให้เกิดฝนตกชุกตามฤดูกาล อากาศไม่ร้อนจัดและหนาวจัดจนเกินไป จัดอยู่ในประเภทเย็นสบายตลอดทั้งปี เหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยวและประกอบกิจกรรมนันทนาการชนิดต่างๆ อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 23 องศาเซลเซียส

ฤดูร้อน แม้ว่าอากาศจะร้อนอบอ้าวกว่าในที่อื่น แต่ที่เขาสูงบนเขาใหญ่อากาศเย็นสบายเหมาะแก่การพักผ่อน เล่นน้ำในลำธารและนำอาหารไปรับประทาน ไม้ป่ามีดอกหลากสีบานสะพรั่งบ้างออกผลตามฤดูกาล

ฤดูฝน เป็นช่วงหนึ่งของปีที่สภาพบนเขาใหญ่ชุ่มฉ่ำ ป่าไม้ทุ่งหญ้าเขียวขจีสดสวย น้ำตกทุกแห่งไหลแรงส่งเสียงดังก้องป่าให้ชีวิตชีวาแก่ผู้ไปเยือน แม้การเดินทางจะลำบากกว่าปกติแต่จำนวนนักท่องเที่ยวก็ไม่ลดน้อยลงเลย

ฤดูหนาว ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นฤดูที่นิยมไปเขาใหญ่มากที่สุด ท้องฟ้าสีครามแจ่มใสตัดกับสีเขียวขจีของป่าไม้ พยับหมอกที่ลอยเอื่อยไปตามทิวเขา ดวงอาทิตย์กลมโตอยู่เบื้องหน้าไกลโพ้น อากาศหนาวเย็นในเวลากลางคืน แต่รุ่งเช้าของวันใหม่จะพบกับธรรมชาติที่สวยงามแตกต่างไปจากเมื่อวานอีกแบบหนึ่ง



พืชพรรณและสัตว์ป่า

สภาพป่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แบ่งออกๆได้เป็น ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้น ป่าดิบเขา ทุ่งหญ้า และป่ารุ่นหรือป่าเหล่า ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ป่าเบญจพรรณแล้ง ลักษณะของป่าชนิดนี้อยู่ทางด้านทิศเหนือ ซึ่งมีระดับความสูงระหว่าง 200-600 เมตร จากระดับน้ำทะเล ประกอบด้วยไม้ยืนต้นประเภทผลัดใบ เช่น มะค่าโมง ประดู่ ตะแบก ตะเคียนหนู แดง นนทรี ซ้อ ปออีเก้ง สมอพิเภก ตะคล้ำ เป็นต้น พืชชั้นล่างมีไม้ไผ่และหญ้าต่างๆ รวมทั้งกล้วยไม้ด้วย ในฤดูแล้งป่าชนิดนี้จะมีไฟลุกลามเสมอ และตามพื้นป่าจะมีหินปูนผุดขึ้นอยู่ทั่วๆ ไป

ป่าดงดิบแล้ง ลักษณะป่าชนิดนี้มีอยู่ทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นที่ราบลูกเนินในระดับความสูง 200-600 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ไม้ชั้นบน ได้แก่ ยางนา พันจำ เคี่ยมคะนอง ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน ตะแบก สมพง สองสลึง มะค่าโมง ปออีเก้ง สะตอ ซาก และคอแลน เป็นต้น ไม้ยืนต้นชั้นรองมี กะเบากลัก หลวงขี้อาย และกัดลิ้น เป็นต้น พืชจำพวกปาล์ม เช่น หมากลิง และลาน พืชชั้นล่างประกอบด้วยพืชจำพวกมะพร้าว นกคุ้ม พวกขิง ข่า กล้วยป่า และเตย เป็นต้น

ป่าดงดิบชื้น ลักษณะป่าชนิดนี้เป็นป่าที่อยู่ในระดับความสูง 400-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง จะมีชนิดไม้คล้ายคลึงกับป่าดงดิบแล้ง เพียงแต่ว่าไม้วงศ์ยางขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ยางกล่อง ยางขน ยางเสี้ยน และกระบาก โดยเฉพาะพื้นที่ถูกรบกวนจะพบ ชมพูป่าและกระทุ่มน้ำขึ้นอยู่ทั่วไป พรรณไม้ผลัดใบ เช่น ปออีเก้ง สมพง และกว้าว แทบจะไม่พบเลย บริเวณริมลำธารมักจะมีไผ่ลำใหญ่ๆ คือ ไผ่ลำมะลอกขึ้นอยู่เป็นกลุ่ม ป่าดิบชื้นบนที่สูงขึ้นไปจะมียางปายและยางควน นอกจากไม้ยางแล้วไม้ชั้นบนชนิดอื่นๆ ยังมี เคี่ยมคะนอง ปรก บรมือ จำปีป่า พะดง และทะโล้ ไม้ชั้นรอง ได้แก่ ก่อน้ำ ก่อรัก ก่อด่าง และก่อเดือย ขึ้นปะปนกัน

ป่าดิบเขา ป่าชนิดนี้เกิดอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นบนภูเขาสูง ที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 เมตรขึ้นไป สภาพป่าแตกต่างไปจากป่าดงดิบชื้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่มีไม้วงศ์ยางขึ้นอยู่เลย พรรณไม้ที่พบเป็นไม้เนื้ออ่อน เช่น พญาไม้ มะขามป้อมดง ขุนไม้ และสนสามพันปี และไม้ก่อชนิดต่างๆ ที่พบขึ้นในป่าดงดิบชื้น นอกจากก่อน้ำและก่อต่างๆ ความสูงจากระดับน้ำทะเล 600-900 เมตรเท่านั้น ตามเขาสูงจะพบต้นกำลังเสือโคร่งขึ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ไม้ชั้นรอง ได้แก่ เก็ดล้าน ส้มแปะ แกนมอ เพลาจังหัน และหว้า พืชชั้นล่าง ได้แก่ ต้างผา กำลังกาสาตัวผู้ กูด และกล้วยไม้ดิน

ทุ่งหญ้าและป่ารุ่นหรือป่าเหล่า ลักษณะป่าชนิดนี้เป็นผลเสียเนื่องจากการทำไร่เลื่อนลอยในอดีต ก่อนมีการจัดตั้งป่าเขาใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติได้มีราษฎรอาศัยอยู่และได้แผ้วถางป่าทำไร่ เมื่อมีการอพยพราษฎรลงไปสู่ที่ราบ บริเวณไร่ดังกล่าวถูกปล่อยทิ้ง ต่อมามีสภาพเป็นทุ่งหญ้าคาเสียส่วนใหญ่ บางแห่งมีหญ้าแขม หญ้าพง หญ้าขนตาช้างเลา และตองกง และยังมีกูดชนิดต่างๆ ขึ้นปะปนอยู่ด้วย เช่น โขนใหญ่ กูดปี้ด โขนผี กูดงอดแงด และกูดตีนกวาง

เนื่องจากในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีการป้องกันไฟป่าเป็นอย่างดี พื้นที่ป่าหญ้าหรือป่าเหล่านี้จึงไม่ถูกรบกวนจากไฟป่าเลย ดังนั้น จึงมีพันธุ์ไม้เบิกนำจำนวนไม่น้อย แพร่พันธุ์กระจัดกระจายทั่วไป เช่น สอยดาว บรมือ ลำพูป่า เลี่ยน ปอหู ตลงแตบ ฯลฯ ปัจจุบันพื้นที่ป่าทุ่งหญ้าบางแห่งได้กลับฟื้นคืนสภาพเป็นป่าละเมาะบ้างแล้ว

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นแหล่งที่มีสัตว์ป่าชุกชุมมาก ในบางโอกาสขณะขับรถยนต์ไปตามถนน จะสามารถเห็นสัตว์ป่าเดินผ่านหรือออกหากินตามทุ่งหญ้า หรืออาจจะเห็นโขลงช้างออกหากินริมถนน ลูกช้างเล็กๆ ซนและน่ารักมาก บริเวณตั้งแต่ที่ชมวิวกิโลเมตรที่ 30 จนถึงปากทางเข้าหนองผักชี ตลอดจนโป่งต้นไทร ในปัจจุบันถ้าขับรถยนต์ขึ้นเขาใหญ่ทางด่านตรวจเนินหอมข้ามสะพานคลองสามสิบไปแล้ว สามารถเห็นโขลงช้างได้เหมือนกัน โดยเฉพาะในตอนกลางคืนจากการศึกษาตามโครงการการอนุรักษ์ช้างป่า และการจัดการพื้นที่ป้องกัน (ELEPHANT CONSERVATION AND PROTECTED AREA MANAGMENT) โดย MR. ROBERT J. DOBIAS ภายใต้ความร่วมมือของ WWF และ IUCN ในปี พ.ศ.2527-2528 พบว่า มีจำนวนประมาณ 250 เชือก

สัตว์ป่าที่สามารถพบได้บ่อยๆ และตามโอกาสอำนวย ได้แก่ เก้ง กวาง ตามทุ่งหญ้าทั่วๆ ไป นอกจากนี้ยังพบ เสือโคร่ง กระทิง เลียงผา หมี เม่น ชะนี พญากระรอก หมาไม้ ชะมด อีเห็น กระต่ายป่า นกชนิดต่างๆ จำนวน 250 ชนิด จากจำนวนไม่น้อยกว่า 340 ชนิด ที่สำรวจพบอาศัยอยู่บริเวณป่าเขาใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งหาอาหารและที่อาศัยอย่างถาวร นกที่น่าสนใจและพบเห็นได้บ่อย ได้แก่ นกเงือก นกขุนทอง นกขุนแผน นกพญาไฟ นกแต้วแล้ว นกโพระดก นกแซงแซว นกเขา นกกระปูด ไก่ฟ้า และนกกินแมลงชนิดต่างๆ นกเงือกทั้ง 4 ชนิด ซึ่งได้แก่ นกกก นกเงือกกรามช้าง นกแก๊ก และนกเงือกสีน้ำตาล ที่พบบนเขาใหญ่นับว่าเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักดูนกเป็นอย่างดี เพราะพบเห็นได้ทั่วไป พวกแมลงที่มีมากกว่า 5,000 ชนิด ที่สวยงามและพบเห็นบ่อยได้แก่ ผีเสื้อ มีรายงานพบกว่า 216 ชนิด


อุทยานแห่งชาติตาพระยาเป็นส่วนหนึ่งในเทือกเขาพนมดงรัก ตั้งอยู่ในแนวทิศตะวันออกยาวไปทางทิศตะวันตก ระหว่างเส้นรุ้งที่ 14 องศา 5 ลิบดาเหนือถึง 14 องศา 22 ลิบดาเหนือ และเส้นแวงที่ 102 องศา 30 ลิบดาตะวันออก ถึง 103 องศา 14 ลิบดาตะวันออก หรือบริเวณของด้านทิศใต้ของที่ราบสูงโคราช มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 371,250 ไร่ หรือ 594 ตารางกิโลเมตร โดยครอบคลุมเนื้อที่ 2 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว และบุรีรัมย์ อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 380 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชา

ความเป็นมา : เนื่องด้วยกรมป่าไม้ได้รับแจ้งจากกองทัพภาคที่ 1 ขอให้พิจารณาประกาศจัดตั้งป่าบริเวณเทือกเขาบรรทัด รอยต่อ 3 จังหวัด คือ จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์เป็นป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้พิจารณาแล้วจึงให้นายอภิศักดิ์ จัตตุพรพงษ์ นักวิชาการป่าไม้ 5 ปฎิบัติงานประจำอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในขณะนั้น ไปดำเนินการสำรวจ และจัดตั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าตาพระยา ป่าดงใหญ่ ป่าบ้านกรวด แปลงที่ห้า และป่าใกล้เคียง ในท้องที่จังหวัดสระแก้ว และจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นอุทยานแห่งชาติ ตามคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 1640/2534 ลงวันที่ 2 กันยายน 2534

เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งในอดีต (ปี 2515 - 2531) เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีการต่อสู้ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอย่างรุนแรง เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมากจนกระทั่งปี พ.ศ. 2525 ใช้การเมืองนำการทหารจนกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยยอมเข้ามอบตัว แปรสภาพฐานะเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในที่สุดความสงบสุขในพื้นที่แห่งนี้จึงกลับมาเยือนอีกครั้ง

อุทยานแห่งชาติตาพระยาได้ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฏีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าบ้านกรวด แปลงที่ห้า และป่าดงใหญ่ ในท้องที่ตำบลบึงเจริญ ตำบลจันทบเพชร ตำบลสายตะกู ตำบลหนองไม้งาม ตำบลปราสาท อำเภอบ้านกรวด ตำบลโนนดินแดง ตำบลลำนางรอง กิ่งอำเภอโนนดินแดง อำเภอละหานทราย ตำบลสำโรงใหม่ ตำบลหนองแวง ตำบลตาจง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ และป่าตาพระยา ในท้องที่ตำบลทัพราช ตำบลทัพไทย อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 113 ตอนที่ 65 ก ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2539 เป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 82





ลักษณะภูมิประเทศ

อุทยานแห่งชาติตาพระยา เป็นเทือกเขาสูงจากเทือกเขาบรรทัดตลอดแนวจนไปถึงเทือกเขาพนมดงรัก เป็นแนวเขตติดต่อระหว่างไทยกับสาธารณรัฐกัมพูชาประชาธิปไตย ตั้งแต่หลักเขตประเทศที่ 24 ถึง หลักเขตที่ 28 วางตั้งในแนวทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 206-579 เมตร ยอดเขาที่สูงที่สุดคือ ยอดเขาพรานนุช ความสูง 579 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีความลาดชันเฉลี่ยทั้งพื้นที่ประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ บริเวณที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของที่ราบสูงโคราช ซึ่งมีความสูงเฉลี่ยประมาณ 100-200 เมตร จากระดับน้ำทะเล ประกอบด้วยเขาเขาวง เขาสะแกกรอง เขาบรรทัด เขาเนินหิน เขาพนมแม่ไก่ เป็นต้นน้ำลำธารของลำสะโดน ห้วยซับกระโดน ลำนางรอง ลำจันหัน ห้วยตรุมะเมียง ห้วยแห้ง ห้วยละหอกพลวง ห้วยดินทราย ห้วยนาเหนือ ห้วยพลู และห้วยเมฆา



ลักษณะภูมิอากาศ

สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปของภูมิภาคนี้ อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงฤดูลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม-เดือนตุลาคม ความชุ่มชื้นจะถูกพัดพามาจากทะเลอันดามันและอ่าวไทย จนทำให้พื้นที่บริเวณนี้ได้รับปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อเดือนวัดได้ระหว่าง 100 มิลลิเมตร ถึง 140 มิลลิเมตร ในฤดูลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เทือกเขาพนมดงรักจะปะทะกับลมมรสุม และทำให้ฝนตกในบริเวณด้านที่รับลมมากกว่าด้านไม่รับลม ฤดูกาลมี 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม และฤดูหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม สำหรับอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีสูงสุดประมาณ 39.8 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 14.3 องศาเซลเซียส



พืชพรรณและสัตว์ป่า

ในภูมิภาคแถบนี้ยังมีสภาพป่าที่สมบูรณ์กระจายอยู่ในพื้นที่โดยทั่วไปเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง

ป่าเบญจพรรณ ป่าชนิดนี้ขึ้นอยู่ระดับความสูง 400 เมตร จากระดับน้ำทะเล ปรากฏอยู่ทางทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ คือ ในท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์ ไม้ที่สำคัญ คือ มะค่าโมง แดง ตะแบกใหญ่

ป่าดิบแล้ง ป่าชนิดนี้อยู่พื้นที่ค่อนข้างราบ ทางทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพื้นที่อุทยานแห่งชาติในท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์ และบางส่วนของจังหวัดปราจีนบุรี มักจะอยู่ในระดับความสูงประมาณ 100-400 เมตร จากระดับน้ำทะเล ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ มะค่าโมง ยางนา พยอม ตะเคียนทอง

ป่าเต็งรัง ป่าชนิดนี้อยู่ในพื้นดินทิศใต้และดินทิศเหนือบางส่วน อยู่กระจายกันในจังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ เต็ง รัง และเหียง

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่พบเห็นได้แก่ เลียงผา กวาง เก้ง กระจง หมี หมูป่า ลิง ค่าง ชะนี อีเห็น ชะมด เสือไฟ เสือปลา วัวแดง กระทิง หมาไน แมวป่า หมูหริ่ง บ่าง เม่น พังพอน ค้างคาว กระต่ายป่า กระรอก กระรอกบิน กระแต เป็นต้น

นก ที่พบเห็นได้แก่ นกพญาไท นกขุนแผน นกแก้ว นกเขาเขียว นกกางเขนดง นกหัวขวาน นกเหยี่ยว นกฮูก นกปรอด นกแขวก นกเค้าแมว นกดุเหว่า ไก่ป่า ไก่ฟ้า นกขุนทอง เป็นต้น

สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ที่พบเห็นได้แก่ งูชนิดต่าง ๆ ตะกวด ลิ่น ตุ๊กแก กิ้งก่า จิ้งเหลน แย้ ตะขาบ แมลงป่อง กิ้งกือ

ปลา ที่พบเห็นได้แก่ ปลาช่อน ปลาดุก ปลากระทิง ปลาหมอ ปลาบู่ ปลาตะเพียน ปลาสลิด ปลาซิว


อุทยานแห่งชาติทับลาน มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์และมีป่าลาน ซึ่งหาดูได้ยากที่มีเฉพาะบางท้องที่เท่านั้น มีต้นลานขึ้นตามธรรมชาติ เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำ ลำธารต่างๆ และมีธรรมชาติที่สวยงาม เช่น หุบผา หน้าผา น้ำตก เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีเนื้อที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ คือ มีเนื้อที่ประมาณ 1,397,375ไร่ หรือ 2,235.80 ตารางกิโลเมตร

ในอดีตป่าลานที่อุดมสมบูรณ์มีขึ้นอยู่กระจายทั่วๆ ไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมามีการขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรม จึงทำให้ป่าลานได้ถูกบุกรุกทำลายลงไปมาก จนปัจจุบันคงเหลือป่าลานแห่งสุดท้าย คือ บริเวณบ้านทับลาน บ้านขุนศรี บ้านบุพราหมณ์ และบ้านวังมืด จังหวัดปราจีนบุรี ในการไปตรวจสอบสภาพป่าลานเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2517 นายประดิษฐ์ วนาพิทักษ์ อธิบดีกรมป่าไม้ พบว่า ป่าลานในบริเวณดังกล่าวเป็นป่าลานแห่งสุดท้ายของประเทศเพื่ออนุรักษ์ป่าลานไว้ จึงมีดำริให้จัดตั้งป่าลานนี้เนื้อที่ประมาณ 36,250 ไร่ หรือ 58 ตารางกิโลเมตร เป็นวนอุทยาน และในการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติครั้งที่ 1/2518 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2518 ได้มีมติให้ดำเนินการวางแผนปฏิบัติการที่ป่าลานกบินทร์บุรี ซึ่งสำนักงานป่าไม้เขตปราจีนบุรี ได้มีคำสั่งที่ 169/2518 ลงวันที่ 11 เมษายน 2518 และคำสั่งที่ 194/2518 ลงวันที่ 15 เมษายน 2518 ให้ นายสุชล ผาติเสนะ นักวิชาการป่าไม้ตรี และ นายยัณห์ ทักสูงเนิน พนักงานประจำเขต โดยอยู่ในความควบคุมการดำเนินงานของนายไพโรจน์ เชี่ยวเอี่ยมวัฒนา นักวิชาการป่าไม้โท ไปดำเนินการรังวัดหมายแนวเขต และจัดพื้นที่ปรับปรุงให้เป็นวนอุทยานป่าลาน ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแก่งดินสอ-แก่งใหญ่-เขาสะโตน จังหวัดปราจีนบุรี

ต่อมากองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 2383/2520 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2520 ให้นายเชาวลิต เลิศชยันตรี นักวิชาการป่าไม้ 5 ทำหน้าที่หัวหน้าวนอุทยานทับลาน และในปี พ.ศ. 2523 กองอุทยานแห่งชาติ ได้ให้วนอุทยานทับลานสำรวจพื้นที่โดยรอบ เพื่อผนวกพื้นที่บริเวณใกล้เคียงแนวเขตติดต่อวนอุทยาน ยกฐานะวนอุทยานทับลานเป็นอุทยานแห่งชาติ ผลการสำรวจปรากฏว่า บริเวณป่าดังกล่าวโดยรอบมีสภาพป่าสมบูรณ์ มีทิวทัศน์สวยงาม สัตว์ป่าชุกชุมเป็นป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำบางปะกงและแม่น้ำมูล ตามหนังสือรายงานผลการสำรวจ ที่ กส 0708(ทล.)/16 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2523 ทั้งเพื่อเป็นการสนองมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2522 ที่ให้รักษาป่าไว้โดยการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ

กรมป่าไม้จึงเสนอให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2523 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2523 เห็นสมควรออกพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่าดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าวังน้ำเขียวและป่าครบุรี ในท้องที่ตำบลสะแกราช ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอปักธงชัย ตำบลครบุรี ตำบลจระเข้หิน ตำบลโคกกระชาย อำเภอครบุรี และตำบลสระตะเคียน ตำบลโนนสมบูรณ์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน ในท้องที่ตำบลบุพราหมณ์ ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 98 ตอนที่ 210 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2524 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 39 ของประเทศ

ต่อมาได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2531 อนุญาตให้กรมชลประทานใช้พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานบริเวณป่าวังน้ำเขียว ป่าครบุรี ป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน บางส่วนในท้องที่ตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำมูลบน เพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีเนื้อที่ 2,625 ไร่ หรือ 4.20 ตารางกิโลเมตร โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนพื้นที่ส่วนนี้ออก และในปี 2532 จึงได้มีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนอุทยานแห่งชาติป่าวังน้ำเขียว ป่าครบุรี ป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน บางส่วนในท้องที่ตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ออกจากการเป็นอุทยานแห่งชาติตามที่กำหนดไว้โดยพระราชกฤษฎีกาเดิมปี พ.ศ. 2524 ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 106 ตอนที่ 107 ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2532





ลักษณะภูมิประเทศ

อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตเทือกเขาพนมดงรัก สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปประกอบด้วยภูเขาใหญ่น้อยสลับซับซ้อนต่อเนื่องกันเป็นบริเวณกว้างขวาง โดยมีเขาที่สำคัญหลายลูก เช่น เขาละมั่ง เขาภูสามง่าม เขาภูสูง เขาใหญ่ เขาวง เขาสลัดได เขาทิดสี เขาไม้ปล้อง เขาทับเจ็ก และเขาด่านงิ้ว ซึ่งยอดเขาละมั่งเป็นยอดเขาที่สูงสุด มีระดับความสูงประมาณ 992 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นเทือกเขายาวต่อเนื่องกันทำให้มีหุบเขาตามธรรมชาติ เหว และน้ำตก เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำหลายสาย เช่น ห้วยขมิ้น ห้วยปลาก้าง ห้วยคำแช ห้วยคำขี้แรด ห้วยมูลสามง่าม ห้วยภูหอม ห้วยกระทิง ห้วยลำเลย ห้วยกุดตาสี ห้วยลำดวน เป็นต้น ลำห้วยแต่ละสายไหลรวมกันเป็นแม่น้ำมูล ส่วนลำห้วยสวนน้ำหอม ห้วยหินยาว ห้วยชมพู ห้วยสาลิกา ห้วยวังมืด ห้วยลำไยใหญ่ ฯลฯ ลำห้วยเหล่านี้จะไหลรวมกันเป็นแม่น้ำบางปะกง



ลักษณะภูมิอากาศ

อุทยานแห่งชาติทับลาน ในช่วงฤดูลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ความชุ่มชื้นจะถูกพัดมาจากทะเลอันดามันและอ่าวไทย จนทำให้พื้นที่บริเวณนี้ได้รับปริมาณน้ำฝนมาก เฉลี่ยตลอดปี 1,070 มิลลิเมตร ฝนจะตกชุกที่สุดในเดือนกันยายน ซึ่งเทือกเขาพนมดงรักจะปะทะลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และทำให้ฝนตกในบริเวณด้านรับลมมากกว่าด้านไม่รับลม ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมากราคม อากาศจะหนาวเย็นมากในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นเดือนที่มีค่าเฉลี่ยอุณหภูมิต่ำสุด 22.8 องศาเซลเซียส ฟดูร้อนเริ่มตั้งแต่กุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม อากาศจะร้อนอบอ้าวมากในเดือนเมษายนซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 29.3 องศาเซลเซียส สำหรับอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 26.7 องศาเซลเซียส



พืชพรรณและสัตว์ป่า

อุทยานแห่งชาติทับลาน มีสังคมพืชที่จัดเป็นป่าลุ่มต่ำที่มีความสมบูรณ์มากสามารถจำแนกได้ 4 ประเภท คือ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้ง จัดเป็นสังคมพืชที่มีการซ้อนทับกันของลักษระทางนิเวศของป่าภาคกลางและป่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าชุกชุม

ป่าเต็งรัง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานมีสภาพเป็นป่าโปร่ง ขาดแคลนแหล่งน้ำ มีต้นไม้ขึ้นกระจัดกระจายทั่วพื้นที่และมักจะมีลำต้นเล็กและเตี้ย พืชพื้นล่างเป็นพวกหญ้าเพ็ก หญ้าคา และสาบเสือ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น เต็ง รัง เหียง พลวง ฯลฯ

ป่าเบญจพรรณ จะมีไม้ต่างชนิดขึ้นปะปน และจะพบไผ่ขึ้นปนมากมาย มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น แดง ตะแบกใหญ่ ประดู่ มะกอก ชิงชัน ฯลฯ พืชพื้นล่างที่สำคัญ เช่น ไผ่กาย โด่ไม่รู้ล่ม เป็นต้น ป่าผลัดใบเหล่านี้ในช่วงฤดูฝนไม้พื้นล่างจะผลิใบอ่อนเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์กินพืช ได้แก่ ช้างป่า กระทิง วัวแดง กวางป่า และนกที่อาศัยพื้นที่นี้ได้แก่ ไก่ป่า เหยี่ยวชิครา นกแขกเต้า นกหัวขวาน สัตว์เลื้อยคลานที่พบได้แก่ ตะกวด และแย้ เป็นต้น

ป่าดงดิบชื้น พบขึ้นอยู่ทั่วไปในพื้นที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 400-1,000 เมตร

ป่าดงดิบแล้ง จะพบขึ้นอยู่บนพื้นที่ค่อนข้างราบ ไม้ที่พบโดยทั่วไปได้แก่ ยางนา ยางแดง เป็นต้น จากลักษณะเรือนยอดที่ต่อเนื่องกันนั้นจึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชะนีมือขาว ชะนีมงกุฎ ค่างหงอก ลิงกัง พญากระรอกบินหูแดง และจากสภาพป่าที่มีความรกทึบเป็นที่หลบพักและซ่อนตัวของสัตว์ใหญ่ เช่น ช้างป่า กระทิง นกป่าที่หากินและดำเนินกิจกรรมอยู่ในพื้นที่ ได้แก่ ไก่ฟ้าพญาลอ ไก่ฟ้าหลังขาว นกมูม นกลุมพู นกเค้าเหยี่ยว นกเงือกกรามช้าง นกแก๊ก นกกก นกพญาปากกว้างสีดำ นกพญาปากกว้างหางยาว นกขุนแผนหัวแดง และนกขุนทอง สัตว์เลื้อยคลานที่พบได้แก่ ตะกวด เต่าใบไม้ เต่าเหลือง และตะกอง เป็นต้น

นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติทับลานยังมีป่าอีกชนิดหนึ่งซึ่งถือเป็นประเภทป่าผลัดใบ ป่าชนิดนี้ถูกเรียกว่า “ป่าลาน” สภาพจะเป็นป่าโปร่ง มีลานขึ้นอย่างหนาแน่นทั่วพื้นที่ ป่าลานนี้มีเนื้อที่ 200 ไร่ บริเวณที่ราบบนเขาละมั่ง ด้านตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ไม้ลานเป็นพืชในตระกูลปาล์ม (Palmae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Corypha lecomtei Becc. บริเวณป่าลานและป่ารุ่นเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่สามารถปรับตัวอยู่ในสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้แก่ กระรอก หนู กระต่ายป่า พังพอน เก้ง กวางป่า เหยี่ยวขาว นกคุ่มอกลาย กิ้งก่าหัวแดง ตุ๊กแกบ้าน กิ้งก่าหางยาว อึ่งอ่างบ้าน และคางคก เป็นต้น

บริเวณเขาหินปูน ถ้ำ หน้าผา ซึ่งได้แก่บริเวณเขาละมั่ง เขาวง และภูสามง่าม เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และที่กำบังภัยของสัตว์ป่าบางชนิด เช่น เลียงผา เม่นหางพวง และค้างคาว เป็นต้น บริเวณแหล่งน้ำ ห้วย ลำธาร เป็นย่านที่อาศัยของสัตว์ป่าบางชนิดได้แก่ งูปลิง กบหงอน เขียดอ่องเล็ก นกยางไฟธรรมดา นกยางเขียว นกกระเต็นธรรมดา นกกระเต็นใหญ่ธรรมดากำกวม และนกกระเต็นลาย ปลาน้ำจืดที่พบ เช่น ปลาชะโอน ปลาดุกเนื้อเลน ปลากระสง ปลาดัก และปลากระทิงดำ เป็นต้น


เป็นของคนไทยทุกคน โปรดช่วยกันรักษาไว้ให้ลูกหลานของเรา




ข้อมูลทั่วไป

อุทยานแห่งชาติปางสีดา มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอตาพระยา อำเภอวัฒนานคร อำเภอเมืองจังหวัดสระแก้ว และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า มีสภาพธรรมชาติและเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตกปางสีดา น้ำตกผาตะเคียน น้ำตกแควมะค่า จุดชมวิว โขดหินตามลำน้ำที่มีลักษณะแปลกๆ มีเนื้อที่ประมาณ 527,500 ไร่ หรือ 844 ตารางกิโลเมตร

เดิมบริเวณน้ำตกปางสีดา เป็นหน่วยงานหนึ่งในโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการที่จะจัดป่าในบริเวณให้เป็นสถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวทั่วไป อีกทั้งยังเป็นการรักษาป่าต้นน้ำลำธารและสภาพป่าโดยรอบ กรมป่าไม้จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกดำเนินการสำรวจและจัดตั้งเป็นวนอุทยาน ชื่อว่า “วนอุทยานปางสีดา” เมื่อปี พ.ศ. 2521 อยู่ในความดูแลของสำนักงานป่าไม้จังหวัดปราจีนบุรี มีนายเดชา พงษ์พานิช นักวิชาการป่าไม้ 3 ทำหน้าที่หัวหน้าวนอุทยาน

ต่อมาได้มีการสำรวจพื้นที่โดยรอบที่มีเขตติดต่อกันปรากฏว่า บริเวณดังกล่าวมีสภาพป่าที่สมบูรณ์ ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า และทิวทัศน์ที่สวยงาม สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเชาสูงชันสลับซับซ้อน มีน้ำตกหลายแห่ง เช่น น้ำตกปางสีดา น้ำตกนาโตร น้ำตกผาน้อย และยังเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำบางประกง ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรรมในภาคตะวันออก สมควรดำเนินการให้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามหนังสือวนอุทยานปางสีดา ที่ กส 07008(ปด)/22 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2523 เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติดั้งเดิมไว้ เพื่อประโยชน์ในการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ และเพื่อการศึกษาค้นคว้าของประชาชนส่วนรวม ทั้งเป็นการสนองมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2522 ที่ให้พิจารณาจัดตั้งอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าให้เป็นการเพียงพอ ต่อมาจึงได้โอนความรับผิดชอบมาให้กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติ

กองอุทยานแห่งชาติได้นำรายงานการสำรวจเบื้องต้นและข้อคิดเห็น เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีมติในการประชุม ครั้งที่ 2/2523 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2523 เห็นสมควรให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ ป่าเขาสะโตน และป่าท่ากระบาก ในท้องที่ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี ตำบลบ้านแก่ง ตำบลโคกปี่ฆ้อง ตำบลท่าแยก อำเภอสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว และตำบลหนองน้ำใส ตำบลช่องกุ่ม อำเภอวัฒนานคร จังหวัดปราจีนบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 24 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2525 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 41 ของประเทศไทย





ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติปางสีดา เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน และเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งทอดยาวมาจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลานไปยังอุทยานแห่งชาติตาพระยาจรดประเทศกัมพูชา โดยมีความลาดชันจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 50 - 878 เมตร มียอดเขาใหญ่เป็นยอดเขาที่สูงที่สุด เทือกเขาเหล่านี้เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยลำธารหลายสาย เช่น ห้วยชมพู ห้วยสวนน้ำหอม ห้วยสาริกา ห้วยวังมืด และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำบางปะกง



ลักษณะภูมิอากาศ

มีสภาพภูมิอากาศเป็นแบบฝนเมืองร้อน อากาศแห้งแล้งและชุ่มชื้นสลับกัน ในฤดูมรสุมจะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดผ่าน ทำให้ลักษณะอากาศเป็นแบบชุ่มชื้น และมีฝนตลอดฤดูกาล แต่ในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือ หรือฤดูหนาวจะมีอากาศแห้งแล้ง ฤดูร้อน เริ่มต้นแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม และฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 28 องศาเซลเซียส



พืชพรรณและสัตว์ป่า

อุทยานแห่งชาติปางสีดา ครอบคลุมไปด้วยพื้นที่ป่าประมาณร้อยละ 95 ประกอบไปด้วย
ป่าดิบชื้น พบทั่วไปในเขตอุทยานแห่งชาติ บริเวณพื้นที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 400-1.000 เมตร ไม้ที่พบอยู่ทั่วไป ได้แก่ ยางกล่อง ยางขน ยางเสี้ยน กระบาก ยางปาย เคี่ยมคะนอง ทะโล้ จำปีป่า พะอง ก่อน้ำ ก่อเดือย ฯลฯ ไม้พุ่มมีหลายชนิด เช่น ส้มกุ้ง ข้าวสารหลวง ชะโอน คานหามเสือ เป็นต้น ส่วนบริเวณฝั่งลำธารจะมีพวก ลำพูป่า กระทุ่ม มหาสะดำ กูดพร้าว ละอองไฟฟ้า พืชอิงอาศัยที่พบโดยทั่วไปได้แก่ กระปอกเล็ก ชายผ้าสีดา กูดอ้อม เอื้องกุหลาบพวง และเอื้องปากเป็ด เป็นต้น

ป่าดิบแล้ง พบขึ้นในบริเวณพื้นที่ค่อนข้างราบสูง จากระดับน้ำทะเล 100-400 เมตร ไม้ที่พบขึ้นอยู่ทั่วไป ได้แก่ ยางนา ยางแดง สะเดาปัก ตะเคียนทอง มะค่าโมง ตาเสือ หมากนางลิง ลาน ฯลฯ พืชชั้นล่าง เช่น พืชในสกุลขิงข่า กระเจียว และกล้วยป่า เป็นต้น

ป่าดิบเขา พบในบริเวณที่มีอากาศเย็นบนภูเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตรขึ้นไป ไม้ที่พบขึ้นอยู่ทั่วไป ได้แก่ พญาไม้ มะขามป้อมดง สนสามพันปี ก่อน้ำ ก่อด่าง กำลังเสือโคร่ง ฯลฯ พืชชั้นล่างเป็นพวกไม้พุ่มชนิดต่างๆ เช่น กาลังกาสาตัวผู้ กล้วยไม้ดิน หญ้าข้าวกล่ำ สามร้อยยอด เป็นต้น

ป่าเบญจพรรณ ชนิดของไม้ที่ขึ้นอยู่ ได้แก่ มะค่าโมง ซ้อ ประดู่ ตะแบกใหญ่ ตีนนก สมอพิเภก กว้าว ฯลฯ พืชชั้นล่าง ได้แก่ ไผ่ป่า และหญ้าต่างๆ และ (5) ป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง มะขามป้อม รกฟ้า ฯลฯ พืชพื้นล่างเป็นพวกหญ้าเพ็ก และหญ้าคา

ด้วยสภาพป่าอันอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้และลักษณะภูมิประเทศทำให้บริเวณนี้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสายเหมาะสมที่จะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า จึงมีสัตว์ป่าที่มีขนาดใหญ่จนถึงขนาดเล็ก รวมทั้งนกไม่ต่ำกว่า 200 ชนิด อาศัยอยู่กระจัดกระจายทั่วไป สัตว์ป่าที่พบได้แก่ ช้าง กระทิง วัวแดง เสือโคร่ง เก้ง กวางป่า กระจง ชะนีมงกุฎ นากเล็กเล็บสั้น เม่นแผงคอใหญ่ ค้างคาวปีกขน ไก่ฟ้าพญาลอ นกยางเขียว นกพญาปากกว้างอกสีเงิน นกแต้วแล้วธรรมดา นกเด้าดิน ตะกอง กิ้งก่าบิน ตะกวด เขียดตาปาด เขียดทราย อึ่งแม่หนาว เป็นต้น บริเวณลำห้วยลำธารต่างๆ เช่น ห้วยน้ำเย็น ห้วยโสมง ห้วยพลับพลึง พบปลาชนิดต่างๆ ได้แก่ ปลาสร้อยนกเขา ปลาชะโอน ปลาค้อ ปลากดเหลือง ปลาดัก ปลาแค้ขี้หมู ปลาดุก ปลาก้าง และปลากระทิงดำ เป็นต้น


อุทยานแห่งชาติแม่เมย เริ่มมีการสำรวจว่าจัดตั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เป็นหน่วยงานสังกัดส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ใช้ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติแม่เมยนั้น เพราะว่ามีแม่น้ำเมยซึ่งกั้นระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่า เป็นเขตด้านทิศตะวันตกเกือบ 50 กิโลเมตร จากทิศเหนือจรดทิศใต้ อีกทั้ง แม่น้ำเมยนั้นเป็นแม่น้ำที่แปลกคือ จะไหลมาทางทิศใต้ขึ้นไปทางทิศเหนือ อุทยานแห่งชาติแม่เมยมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 185.28 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 115,800 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตท้องที่ตำบลแม่ต้านและตำบลแม่สอง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก
ลักษณะภูมิประเทศ
ส่วนมากเป็นภูเขาสลับซับซ้อนมีที่ราบน้อยมาก โดยมีความสูงเฉลี่ย 680 เมตร จากระดับน้ำทะเล ( จุดสูงสุด 1,250 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ) ปกคลุมไปด้วยป่าไม้ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ไม้ใหญ่มีน้อย เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของลำน้ำแม่สอง ลำน้ำแม่อุสุ ลำน้ำแม่สลิดหลวง และแม่น้ำเมย
ลักษณะภูมิอากาศ
จะมีฝนตกชุกมากในฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - เดือนตุลาคม ซึ่งไม่เหมาะสมต่อการท่องเที่ยว ฤดูร้อนอากาศค่อนข้างอบอุ่น และจะหนาวถึงหนาวจัดในฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะแก่การรองเที่ยวชมทะเลหมอกและสภาพทิวทัศน์ทั่วไปเป็นอย่างมาก
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
สัตว์ที่สามารถพบเห็นได้บ่อยเช่น เก้ง หมูป่า อีเห็น ไก่ป่า และนกชนิดต่างๆ
แหล่งท่องเที่ยว
ถ้ำแม่อุสุ เป็นถ้ำที่มีลำน้ำลอดผ่าน คือ ลำน้ำแม่อุสุ ภายในมีสภาพเป็นหินงอกหินย้อยที่สวยงามมาก และยังมีบางส่วนที่ยังไม่ได้ทำการสำรวจอีก เป็นถ้ำที่สวยงามแห่งหนึ่งในประเทศไทย
น้ำตกแม่สลิดน้อย เป็นน้ำตกสำหรับผู้ที่รักการเดินป่า เพราะต้องเดินจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่เมยประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดเล็ก - กลาง เป็นต้นน้ำของลำห้วย แม่สลิดน้อยเกโกที่ไหลผ่านที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่เมย ซึ่งเป็นชั้น ๆ เรื่อยไปจนถึงชั้นสูงสุด
น้ำตกชาวดอย เป็นน้ำตกขนาดกลาง เดินเท้าเข้าชมประมาณ 1 กิโลเมตร
จุดชมทะเลหมอก ซึ่งทุกจุดจะตั้งอยู่ติดทางหลวงสายแม่สลิด - อมก๋อย
จุดชมทะเลหมอกหลังที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่เมย ซึ่งมีความสูงประมาณ 1,100 เมตร เป็นจุดที่มองเห็นทะเลหมอกได้กว้างไกลมาก รวมทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก อีกทั้งเป็นจุดชมวิวที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่นิยมการเดินป่า เพราะจะต้องเดินเท้าเข้าไปประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง และต้องพักค้างแรม 1 คืน เพื่อชมทิวทัศน์ที่สวยงาม
ม่อนครูบาใสและม่อนพูนสุดา ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 200 เมตร สามารถชมทะเลหมอกยามเช้าและชมพระอาทิตย์ตกดินได้ ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่เมย ประมาณ 7 กิโลเมตร
ม่อนกิ่วลม เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวมากที่สุด เพราะจะเห็นพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าเหนือทะเลหมอก อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่เมย ประมาณ 14 กิโลเมตร
สิ่งอำนวยความสะดวก
ทางอุทยานแห่งชาติแม่เมย มีบ้านพักไว้บริการ หากนักท่องเที่ยวถ้าต้องการสัมผัสกับธรรมชาติ ก็มีที่กางเต็นท์ ณ บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่เมย และบริเวณจุดชมทิวทัศน์ม่อนกิ่วลม
สิ่งอำนวยความสะดวก
ทางอุทยานแห่งชาติแม่เมย มีบ้านพักไว้บริการ หากนักท่องเที่ยวถ้าต้องการสัมผัสกับธรรมชาติ ก็มีที่กางเต็นท์ ณ บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่เมย และบริเวณจุดชมทิวทัศน์ม่อนกิ่วลม
การเดินทาง
โดยทางรถยนต์จากจังหวัดตาก มาอำเภอแม่สอดและอำเภอแม่สองยาง โดยใช้เส้น ทางสายแม่สอด - แม่สะเรียง หมายเลข 105 ประมาณ 84 กิโลเมตร แยกก่อนถึงบ้านแม่สลิดหลวง ประมาณ 11 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่เมย
การติดต่อ
อุทยานแห่งชาติแม่เมย ต.แม่สอง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก 63150 โทรศัพท์ : (055) 519644

สู่...แม่เมย

บทความที่ได้รับความนิยม