Holiday-Tourismthailand

ท่องเที่ยว สูตรอาหารไทย อาหารเพื่อสุขภาพ ทั่วไทย เกาะช้าง เกาะเสม็ด เกาะกูด ภูกระดึง ระยอง หัวหิน พัทยา เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และ สถานที่ท่องเที่ยว ต่างๆ.

Custom Search


ตรัง หรือเมืองทับเที่ยง ในอดีตเคยเป็นเมืองท่าค้าขายกับต่างประเทศ เป็นเมืองแรกที่มีต้นยางพารา โดยพระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี นำพันธุ์มาจากมาเลเซียมาปลูกเป็นแห่งแรกของภาคใต้ เมื่อ พ.ศ. 2442 และถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ตรังมีแม่น้ำสำคัญ คือ แม่น้ำตรัง มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหลวง และแม่น้ำปะเหลียน ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาบรรทัด
• ตรัง เป็นจังหวัดชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย มีฝั่งทะเลยาวทางด้านตะวันตก ประมาณ ๑๑๙ กิโลเมตร ประกอบด้วยหมู่เกาะในทะเลอันดามันที่อยู่ในการปกครองกว่า ๔๖ เกาะ ภายในพื้นที่อำเภอกันตัง ๑๒ เกาะ อำเภอปะเหลียน ๑๓ เกาะ และอำเภอสิเกา ๒๑ เกาะ ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยว คือระหว่างเดือนตุลาคม ถึงเดือนพฤษภาคมของปี
• ตรัง มีพื้นที่รวม ๔,๙๔๑ ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น ๙ อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอกันตัง อำเภอห้วยยอด อำเภอย่านตาขาว อำเภอปะเหลียน อำเภอสิเกา อำเภอวังวิเศษ อำเภอนาโยง อำเภอรัษฎา และอำเภอหาดสำราญ
อาณาเขต
• ทิศเหนือ ติดกับอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอคลองท่อม
• ทิศใต้ ติดกับจังหวัดสตูลและมหาสมุทรอินเดีย
• ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดพัทลุง
• ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดกระบี่และมหาสมุทรอินเดีย
การเดินทาง
• รถยนต์
๑. ทางหลวงหมายเลข ๔ กรุงเทพฯ-ชุมพร เข้าทางหลวงหมายเลข ๔๑ สุราษฎร์ธานี-ทุ่งสง-ห้วยยอด-ตรัง ระยะทาง ๘๒๘ กิโลเมตร
๒. ทางหลวงหมายเลข ๔ กรุงเทพฯ-ชุมพร แยกเข้าระนอง-พังงา-กระบี่-ตรัง ระยะทาง ๑,๐๒๐ กิโลเมตร
• รถไฟ มีรถเร็วและรถด่วนออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพง ถึงสถานีตรังทุกวัน ระยะทาง ๘๗๐ กิโลเมตร ใช้เวลา ๑๕ ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่ สถานีรถไฟหัวลำโพง โทร. ๑๖๙๐, ๐ ๒๒๒๓ ๗๐๑๐, ๐ ๒๒๒๓ ๗๐๒๐ หรือสถานีรถไฟตรัง โทร. ๐ ๗๕๒๑ ๘๐๑๒
• รถโดยสารประจำทาง จากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี มีรถโดยสารประจำทางทั้งธรรมดาและปรับอากาศ กรุงเทพฯ - ตรังทุกวัน รายละเอียดสอบถามได้ที่ ๐ ๒๔๓๕ ๑๑๙๙ (รถปรับอากาศ) และโทร. ๐ ๒๔๓๔ ๕๕๕๗-๘ (รถโดยสารธรรมดา) หรือ บริษัท ขนส่ง จังหวัดตรัง โทร. ๐ ๗๕๒๑ ๘๗๑๘
• เครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีเที่ยวบินตรงไปจังหวัดตรังทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. ๑๕๖๖, ๐ ๒๒๘๐ ๐๐๖๐, ๐ ๒๖๒๘ ๒๐๐๐ หรือ การบินไทย สาขาตรัง โทร. ๐ ๗๕๒๑ ๙๙๒๓, ๐ ๗๕๒๑ ๘๐๖๖
การคมนาคมภายในจังหวัด
• ในตัวเมืองตรังมีรถสามล้อเครื่อง หรือตุ๊กตุ๊ก บริการในเขตเทศบาล หากเดินทางติดต่อระหว่างอำเภอมีบริการรถประจำทาง และรถสองแถวเล็ก หรือเดินทางโดยรถตู้ซึ่งเช่าได้จากบริษัททัวร์ในตัวเมืองตรัง
• ระยะทางระหว่างอำเภอเมืองและอำเภอต่างๆ
อำเภอห้วยยอด ๒๘ กิโลเมตร
อำเภอกันตัง ๒๔ กิโลเมตร
อำเภอย่านตาขาว ๒๓ กิโลเมตร
อำเภอปะเหลียน ๔๗ กิโลเมตร
อำเภอสิเกา ๓๓ กิโลเมตร
อำเภอวังวิเศษ ๖๐ กิโลเมตร
อำเภอนาโยง ๑๐ กิโลเมตร
อำเภอรัษฎา ๔๗ กิโลเมตร
อำเภอหาดสำราญ ๔๕ กิโลเมตร
• การเดินทางจากตรังไปจังหวัดใกล้เคียง
มีบริการรถโดยสารประจำทาง และรถยนต์รับจ้างจากตัวเมืองตรังไปจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่
ตรัง-นครศรีธรรมราช ๑๒๓ กิโลเมตร
ตรัง-สตูล ๑๓๔ กิโลเมตร
ตรัง-พัทลุง ๕๖ กิโลเมตร
ตรัง-กระบี่ ๑๓๑ กิโลเมตร
ตรัง-หาดใหญ่ ๑๔๘ กิโลเมตร
ตรัง-ภูเก็ต ๓๑๒ กิโลเมตร
ตรัง-พังงา ๒๒๑ กิโลเมตร
ตรัง-สุราษฎร์ธานี ๒๒๖ กิโลเมตร
ตรัง-ชุมพร ๓๗๘ กิโลเมตร
ตรัง-สงขลา ๑๗๖ กิโลเมตร


อยุธยาเป็นเมืองหลวงของสยามเป็นเวลากว่า 400 ปี สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นโดยพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) เมื่อวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ.1893 และถูกทำลายโดยกองทัพพม่าในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2310 อยุธยามีกษัตริย์ปกครองทั้งหมด 34 พระองค์ จาก 5 ราชวงศ์ (มีราชวงศ์ อู่ทอง สุพรรณบุรี สุโขทัย ปราสาททอง และบ้านพลูหลวง) มีพุทธศาสนาแบบหินยานเป็นศาสนาประจำอาณาจักร แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเชื่อด้านวิญญาณและพระพุทธศาสนาแบบมหายานเจือปนอยู่ด้วย สำหรับในสถาบันกษัตริย์ของอยุธยา ก็ยังใช้พิธีกรรมที่เป็นฮินดูและพราหมณ์เป็นการสร้างอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ เป็นการผสมระหว่างหลัก “ธรรมราชา” และ “เทวราชา”
ภูมิศาสตร์
อยุธยาเป็นอาณาจักรที่มีความได้เปรียบทางสภาพภูมิศาสตร์ คือตั้งอยู่ที่บริเวณแม่น้ำ 3 สายมาบรรจบกัน มีแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ทำให้อยุธยามีสภาพเป็นเกาะมีแม่น้ำล้อมรอบ ถนนรอบเกาะยาวประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำการเพาะปลูกข้าวและยังอยู่ใกล้ทะเลพอสมควร ทำให้สามารถทำการค้าต่างประเทศได้โดยสะดวก
ก่อนอาณาจักรอยุธยา
ในช่วงแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 อาณาจักรไทยได้เกิดขึ้นหลายอาณาจักร เช่น สุโขทัย ล้านนา (เชียงใหม่) ล้านช้าง (หลวงพระบาง) แต่อาณาจักรเหล่านี้ยังมีลักษณะเป็น “แว่นแคว้น” หรือ “เมือง” ที่รวมกันขึ้นมาตั้งเป็นอิสระ ยังมิได้มีอาณาจักรใดอาณาจักรหนึ่งมีอำนาจหรือมีลักษณะเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง
อยุธยาถือกำเนิดขึ้นมาจากการรวมตัวของเมืองสุพรรณบุรีและลพบุรี ทั้งสองเมืองนี้เป็นศูนย์กลางของอำนาจในวงกำจัดในภาคกลางของประเทศไทย สุพรรณบุรีมีอำนาจทางซีกตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีเมืองเก่าหลายเมืองรวมอยู่ในกลุ่มนี้ เช่น นครชัยศรี (นครปฐมเดิม), ราชบุรี, เพชรบุรี ส่วนลพบุรีก็มีอำนาจทางซีกตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา
ทั้งสุพรรณบุรีและลพบุรีมีมรดกทางประวัติศาสตร์สืบเนื่องมาจากสมัยทวารวดี และอยู่ภายใต้อิทธพลของขอม (เขมร) จากเมืองพระนครหลวงหรือกรุงศรียโสธรปุระ (สมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 - สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7)
อาณาจักรอยุธยา
เมื่อปี พ.ศ. 1893 พระเจ้าอู่ทองได้สถาปนาอยุธยาขึ้น โดยตั้งขึ้นในเมืองเก่า “อโยธยา” ที่มีมาก่อน และเป็นเมืองที่อยู่ระหว่างกลางของสุพรรณบุรีและลพบุรี ประวัติศาสตร์ช่วงแรกของอยุธยา เป็นเรื่องของการแก่งแย่งชิงอำนาจของ 2 ราชวงศ์ คือ ราชวงศ์อู่ทองและราชวงศ์สุพรรณบุรี (อันเป็นฝ่ายของพระเชษฐาหรือพระอนุชาของมเหสีของพระเจ้าอู่ทอง) และจบด้วยชัยชนะของฝ่ายสุพรรณบุรีในสมัยของพระเจ้าอินทราชาธิราชที่ 1 ดังนั้นในครึ่งหนึ่งของประวัติศาสตร์อยุธยา (ก่อนเสียกรุงให้พม่าครั้งที่ 1) ที่มีกษัตริย์จาก 2 ราชวงศ์ รวม 17 พระองศ์นั้น จะมีกษัตริย์จากราชวงศ์อู่ทอง 3 พระองศ์คือ พระรามาธิบดีที่ 1 พระราเมศวร และพระรามรามาธิราช
ในช่วงแรกของอาณาจักรอยุธยา มีความพยายามที่จะยึดอาณาจักรของขอมที่เมืองพระนครหลวงหรือกรุงศรียโสธรปุระ ซึ่งมีการทำสงคราม 3 ครั้งใหญ่ อันเป็นผลทำให้อาณาจักรขอมอ่อนอำนาจลงและต้องย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่พนมเปญ ในขณะเดียวกันอยุธยาก็พยายามแผ่อำนาจไปทางเหนือ เข้าครอบครองอาณาจักรสุโขทัยได้สำเร็จ ส่วนทางใต้อยุธยาก็ได้เมืองนครศรีธรรมราช
การขยายอำนาจของอยุธยาทำให้เกิดการแย่งชิงอำนาจเหนือเชียงใหม่และอาณาจักรมอญ (ในพม่าตอนล่าง) ความพยายามของอยุธยาที่จะมีอำนาจเหนือเชียงใหม่และมอญนี้ ก็ทำให้มีการขัดแย้งกับพม่าเป็นประจำ อันทำให้อยุธยาถูกทำลายลงในปี พ.ศ.2310 (เสียกรุงครั้งที่ 2)
การปกครอง
ระบบการปกครองของอยุธยาเป็นระบบ “ราชาธิราชผสมกับศักดินา” กล่าวคือกษัตริย์มีอำนาจสูงสุด แต่ก็ยังมีการแบ่งชนชั้นปกครองเป็น พระมหากษัตริย์-ขุนนาง-พระสงฆ์-ราษฎร ออกเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน มีการเกณฑ์แรงงาน “ไพร่” และการเก็บอากร “ส่วย” เป็นผลิตผลและตัวเงิน พระเจ้าแผ่นดินทรงผูกขาดการค้ากับต่างประเทศ
การแบ่งชนชั้นของความเป็นเจ้าและขุนนาง มิได้มีการแบ่งตายตัวทั้งนี้เพราะการสืบราชสมบัติ บางครั้งขุนนางก็สามารถขึ้นมายึดอำนาจตั้งราชวงศ์
ใหม่ได้ ดังจะเห็นในกรณีของขุนวรวงศาธิราช หรือในกรณีของราชวงศ์ปราสาททองและราชวงศ์บ้านพลูหลวง
สำหรับราษฎรทั่วไปนั้น ออกแบ่งออกเป็น “ไพร่” โดยต้องมีสังกัดขึ้นกับ “มูลนาย” อย่างแน่นอน มีการแบ่งเป็น “ไพร่หลวง” และ “ไพร่สม” (ไพร่หลวงขึ้นตรงต่อพระเจ้าแผ่นดิน ไพร่สมขึ้นเจ้าหรือขุนนาง) ไพร่ทั้งสองแบบมีหน้าที่ที่จะต้องถูกเกณฑ์แรงงานทำงานให้กับนายของตน และถูกเกณฑ์เป็นทหารเมื่อเวลามีสงคราม นอกจากนี้ยังมี “ไพร่ส่วย” ซึ่งเป็นไร่ที่เอาผลิตผลมาเสียภาษีแทนการเกณฑ์แรงงาน ไพร่แบบนี้จะเป็นราษฎรที่อยู่ห่างไกลออกไปและอยู่ในพื้นที่ที่มีผลิตผลจากป่าหรือจากแผ่นดิน
ตำนาน
ตำนาน คือหนังสือที่เป็นผลงานทางด้านประวัติศาสตร์ของไทยที่เก่าแก่ที่สุดควบคู่กับ “พงศาวดาร” โดยทั่วไปตำนานแบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือ
1.เป็นเรื่องราวของวงศ์ตระกูลหรือตัวบุคคล
2.เป็นเรื่องราวของการสร้างบ้านสร้างเมือง
3.เป็นเรื่องราวของพุทธศาสนาหรือพุทธสถาน
ดังนั้นตำนานก็เป็นเสมือนผลงานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นหลักฐานเกี่ยวกับบ้านเมืองหรือผู้ปกครองเป็นหลักฐานที่อ้างถึงสิทธิอันชอบธรรมในการเป็นผู้ปกครองที่สืบทอดกันมาโดยบรรพบุรุษ
ตำนานที่เป็นที่รู้จักกันก็มีเช่น ตำนานมูลศาสนา เขียนเป็นภาษาไทยยวน เนื้อหาของตำนานนี้เป็นเรื่องราวของพุทธศาสนาที่กำเนิดขึ้นในอินเดียและเผยแพร่เข้ามาในประเทศไทย
ตำนานอื่นๆที่มีความสำคัญในลักษณะเดียวกันนี้ก็มี เช่น จามเทวีวงศ์ ชินกาลมาลีปกรณ์ ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช และตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช
พงศาวดาร
พงศาวดาร คือหนังสือที่เป็นประวัติศาสตร์ไทยที่เก่าแก่ที่สุดควบคู่กับ “ตำนาน” พงศาวดารมาจากคำ 2 คำ คือ พงศ์ และ อวตาร โดยพงศาวดารจะเขียนเป็นภาษาไทย งานเขียนของนักปราชญ์ประจำราชสำนัก พงศาวดารจึงเป็นงานเขียนที่เน้นให้ความสำคัญของพระมหากษัตริย์
พงศาวดารมักจะพบในงานเขียนของอาณาจักรอยุธยา ซึ่งสะท้องให้เห็นถึงอำนาจของอาณาจักรซึ่งมีลักษณะการรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางที่เมืองหลวงและองค์มหากษัตริย์ เช่น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐ, พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระนพรัตน์, พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม, พงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา


ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา จัดตั้งขึ้นตามโครงการที่นักวิชาการไทยและนักวิชาการญี่ปุ่นปรับขยายมาจากข้อเสนอเดิมของสมาคมไทย-ญี่ปุ่น และจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเคยเสนอปรับปรุงบริเวณที่เคยเป็นหมู่บ้านญี่ปุ่น ให้จัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านญี่ปุ่น มาเป็นการเสนอให้จัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นสถาบันวิจัยและพิพิธภัณฑสถานเกี่ยวกับราชอาณาจักรอยุธยาโดยรวม และได้รับงบประมาณช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเงิน 999 ล้านเยน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในพระบรมราชวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา และเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสที่มิตรภาพระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับราชอาณาจักรไทยได้สถาวรยืนนานมาครบ 100 ปี
ศูนย์แห่งนี้เปิดทำการทุกวัน(วันจันทร์-ศุกร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-16.30น. วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00-17.00น.) อัตราค่าเข้าชมสำหรับนักเรียน และนักศึกษา ในเครื่องแบบ 5 บาท ประชาชนทั่วไป 20 บาท นักเรียนต่างชาติ 50 บาท ชาวต่างประเทศ 100 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. (035)245123-4
วัดบรมพุทธาราม อยู่ภายในบริเวณสถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า “วัดกระเบื้องเคลือบ” เพราะแต่เดิมนั้นพระอุโบสถมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลืองแกมเขียว วัดนี้สมเด็จพระเพทราชาทรงสร้างขึ้นที่บริเวณพระนิเวศน์เดิม
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ตั้งอยู่ที่ตำบลประตูชัย ถนนโรจนะ ตรงข้ามกับสถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา หากมาจากกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองอยุธยา จากนั้นข้ามสะพานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แล้วตรงไปประมาณ 2 ไฟแดง ไปอีกไม่ไกลนักจะเห็นพิพิธภัณฑ์อยู่ทางขวามือ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างขึ้นด้วยเงินที่ประชาชนเช่าพระพิมพ์ที่ขุดได้จากกรุวัดราชบูรณะซึ่งเป็นวัดที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ทรงสร้าง จึงให้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เมื่อปีพ.ศ. 2504
คุ้มขุนแผน ตั้งอยู่ที่ถนนป่าโทน เป็นตัวอย่างของหมู่เรือนไทยภาคกลาง ในรูปแบบเรือนคหบดีไทยสมัยโบราณ เดิมเป็นจวนสมุหเทศาภิบาล มณฑลกรุงเก่า พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ทรงสร้างขึ้นในปีพ.ศ.2437 ที่เกาะลอยบริเวณสะพานเกลือซึ่งอยู่ตรงข้ามกับที่ว่าการมณฑล ต่อมาในราวปีพ.ศ. 2483 ปรีดี พนมยงค์นายรัฐบุรุษอาวุโสได้ย้ายจวนหลังนี้มาสร้างในบริเวณคุกนครบาลเก่าของพระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งสร้างเรือนไทยเพิ่มขึ้นอีกในปี พ.ศ.2499 และให้ชื่อเรือนไทยนี้ว่าคุ้มขุนแผน ซึ่งเชื่อกันว่าขุนแผนเคยต้องโทษอยู่ในคุกแห่งนี้ การเดินทาง หากมาจากกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองอยุธยาแล้วให้ข้ามสะพานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตรงไปจนถึงศาลากลางจังหวัดหลังเดิม จะเห็นสามแยกแล้วเลี้ยวขวาตรงไปไม่ไกลนักจะเห็นคุ้มขุนแผนอยู่ทางซ้ายมือ
วิหารพระมงคลบพิตร ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปคุ้มขุนแผน วิหารพระมงคลบพิตรจะอยู่ถัดไปไม่ไกลนัก พระมงคลบพิตรเป็นพระพุทธรูปบุสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 9.55 เมตรและสูง 12.45 เมตร นับเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่องค์หนึ่งในประเทศไทย ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ราวแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อพ.ศ.2145สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดเกล้าฯให้ย้ายจากทิศตะวันออกนอกพระราชวังมาไว้ทางด้านทิศตะวันตกที่ประดิษฐานอยู่ในปัจจุบัน และโปรดเกล้าฯให้ก่อมณฑปสวมไว้ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ ผ่าลงมาไหม้เครื่องบนพระมณฑปเกิดไฟไหม้ทำให้ส่วนบนขององค์พระมงคลบพิตรเสียหายจึงโปรดเกล้าฯให้ซ่อมแซมใหม่ แปลงหลังคายอดมณฑปเป็นหลังคาพระวิหารธรรมดาแทน ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 วิหารพระมงคลบพิตรถูกไฟไหม้ รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้การปฏิสังขรณ์ใหม่ สำหรับบริเวณข้างวิหารพระมงคลบพิตรทางด้านทิศตะวันออกแต่เดิมเป็นสนามหลวง ใช้เป็นที่สำหรับสร้างพระเมรุพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และเจ้านาย เช่นเดียวกับท้องสนามหลวงของกรุงเทพฯ
วัดพระศรีสรรเพชญ์ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวิหารพระมงคลบพิตร เป็นวัดสำคัญที่สร้างอยู่ในพระราชวังหลวงเทียบได้กับวัดพระศรีรัตนศาสดารามแห่งกรุงเทพมหานคร หรือวัดมหาธาตุแห่งกรุงสุโขทัย ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)ทรงสร้างพระราชมณเฑียรเป็นที่ประทับที่บริเวณนี้ ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงอุทิศบริเวณพระราชมณเฑียรให้เป็นวัดภายในพระราชวังและโปรดเกล้าฯให้สร้างเขตพุทธาวาสขึ้น เพื่อเป็นที่สำหรับประกอบพิธีสำคัญต่างๆ จึงเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา
ต่อมาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่2โปรดเกล้าฯให้สร้างพระสถูปเจดีย์ใหญ่สององค์เมื่อ พ.ศ.2035 องค์แรกทางทิศตะวันออกเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถพระราชบิดาและองค์ที่สองคือองค์กลางในปัจจุบัน เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พระบรมเชษฐา ต่อมาในปีพ.ศ. 2042 ทรงสร้างพระวิหารขนาดใหญ่และในปีพ.ศ.2043 ทรงหล่อพระพุทธรูปยืนสูง 8 วา(16 เมตร) หุ้มด้วยทองคำหนัก 286 ชั่ง (ประมาณ 171 กิโลกรัม) ประดิษฐานไว้ในวิหารถวายพระนามว่า “พระศรีสรรเพชญดาญาณ” ซึ่งภายหลังเมื่อคราวเสียกรุงพ.ศ. 2310 พม่าได้เผาลอกทองคำไปหมด สำหรับเจดีย์องค์ที่สาม ถัดมาทางทิศตะวันตก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 พระราชโอรสได้โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เจดีย์สามองค์นี้เป็นเจดีย์แบบลังการะหว่างเจดีย์แต่ละองค์มีมณฑปก่อคั้นไว้ซึ่งคงจะมีการสร้างเพิ่มในภายหลัง ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามได้มีการบูรณะเจดีย์แห่งนี้จนมีสภาพที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30–16.30 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท
พระราชวังหลวงหรือพระราชวังโบราณ ตั้งอยู่ติดกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ทางด้านทิศเหนือ สันนิษฐานว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่1(พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างพระราชวังตั้งแต่เมื่อครั้งประทับอยู่ที่เวียงเล็ก เมื่อพ.ศ.1890 และเมื่อสร้างพระราชวังเสร็จในปีพ.ศ.1893 จึงย้ายมาประทับที่พระราชวังใหม่ริมหนองโสน ปราสาทในครั้งแรกนี้สร้างด้วยไม้อยู่ในบริเวณวัดพระศรีสรรเพชญ์ ต่อมาเมื่อพ.ศ. 1991 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงถวายที่บริเวณปราสาทให้เป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์วัดในเขตพระราชวัง แล้วทรงสร้างปราสาทใหม่เลื่อนไปทางเหนือชิดกับแม่น้ำลพบุรี
บริเวณพระราชวังหลวงมีพระที่นั่งสำคัญดังนี้
วัดพระราม อยู่นอกเขตพระราชวังไปทางด้านทิศตะวันออก ตรงข้ามกับวิหารพระมงคลบพิตร สมเด็จพระราเมศวรทรงสร้างขึ้นตรงบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระรามาธิบดีที่1(พระเจ้าอู่ทอง)พระราชบิดา วัดนี้มีบึงขนาดใหญ่อยู่หน้าวัด เดิมเรียกว่า “หนองโสน” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “บึงพระราม” ปัจจุบันคือ “สวนสาธารณะบึงพระราม” ซึ่งใช้เป็นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจของชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30–16.30 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท
หมายเหตุ ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30น.- 21.00น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน
พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าอู่ทอง ประดิษฐานอยู่ระหว่างบึงพระรามกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระบรมรูปของพระเจ้าอู่ทองมีขนาดเท่าครึ่งของคนธรรมดา หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์และรมด้วยน้ำยาสีเขียว ในพระอิริยาบถประทับยืน พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระเกล้าเกศา ฉลองพระองค์แบบพระมหากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2513
วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่เชิงสะพานป่าถ่าน ทางทิศตะวันออกของวัดพระศรีสรรเพชญ์ พงศาวดารบางฉบับกล่าวว่าวัดนี้สร้างในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ต่อมาสมเด็จพระราเมศวรโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ใต้ฐานพระปรางค์ประธานของวัดเมื่อพ.ศ.1927 พระปรางค์วัดมหาธาตุถือเป็นปรางค์ที่สร้างในระยะแรกของสมัยอยุธยาซึ่งได้รับอิทธิพลของปรางค์ขอมปนอยู่ ชั้นล่างก่อสร้างด้วยศิลาแลงแต่ที่เสริมใหม่ตอนบนเป็นอิฐถือปูน สมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้ทรงปฏิสังขรณ์พระปรางค์ใหม่โดยเสริมให้สูงกว่าเดิม แต่ขณะนี้ยอดพังลงมาเหลือเพียงชั้นมุขเท่านั้น จึงเป็นที่น่าเสียดายเพราะมีหลักฐานว่าเป็นปรางค์ที่มีขนาดใหญ่มากและก่อสร้างอย่างวิจิตรสวยงามมาก เมื่อพ.ศ. 2499 กรมศิลปากรได้ขุดแต่งพระปรางค์แห่งนี้ พบของโบราณหลายชิ้น ที่สำคัญคือ ผอบศิลา ภายในมีสถูปซ้อนกัน 7 ชั้น แบ่งออกเป็น ชิน เงิน นาก ไม้ดำ ไม้จันทร์แดง แก้วโกเมน และทองคำ ชั้นในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและเครื่องประดับอันมีค่า ปัจจุบันพระบรมสารีริกธาตุนำไปประดิษฐานไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา การเดินทาง หากมาจากกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองอยุธยาแล้วข้ามสะพานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตรงไปจนถึงสี่แยกไฟแดงที่ 2 เลี้ยวขวาตรงไปไม่ไกลนัก ผ่านบึงพระราม จะเห็นวัดมหาธาตุอยู่ทางซ้ายมือ เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30–16.30 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท หมายเหตุ ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30น.-21.00น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน
วัดราชบูรณะ อยู่เชิงสะพานป่าถ่าน ตรงข้ามวัดมหาธาตุ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 1967 ณ บริเวณที่ถวายพระเพลิงเจ้าอ้ายพระยากับเจ้ายี่พระยาซึ่งชนช้างกันจนถึงแก่พิราลัยและโปรดเกล้าฯให้ก่อเจดีย์ 2 องค์บริเวณนั้น ซากที่เหลืออยู่แสดงว่าวิหารและส่วนต่างๆ ของวัดนี้ใหญ่โตมาก พระปรางค์เป็นศิลปะอยุธยาสมัยแรกซึ่งนิยมสร้างตามแบบขอมที่ให้พระปรางค์เป็นประธานของวัด พระปรางค์องค์นี้มีลวดลายสวยงามมาก ภายในกรุปรางค์มีภาพเขียนด้วยสีแดงชาดปิดทองเป็นรูปพระพุทธรูปปางลีลาและปางสมาธิ รวมทั้งรูปเทวดาและรูปดอกไม้ เมื่อกรมศิลปากรขุดแต่งพระปรางค์วัดราชบูรณะ ได้ขุดกรุนำโบราณวัตถุที่มีค่าไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ซึ่งสร้างโดยเงินบริจาคจากการนำพระพิมพ์ขนาดเล็กที่ได้จากกรุนี้มาจำหน่ายเป็นของชำร่วย เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30–16.30 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท หมายเหตุ ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30น.- 21.00น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน
พิพิธภัณฑ์เรือไทย ตั้งอยู่บริเวณฝั่งตรงข้ามกับวัดมหาธาตุ ภายในบริเวณบ้านพักของอาจารย์ไพฑูรย์ ขาวมาลา เป็นสถานที่เก็บรวบรวมเรือจำลองรูปแบบต่างๆ โดยต่อขึ้นตามแบบเรือจริงทุกประการ มีตั้งแต่เรือเดินสมุทรไปจนถึงเรือลำเล็กๆและมีส่วนที่เป็นพิพิธภัณฑ์เรือไทย จัดแสดงเรือไทยพื้นบ้านนานาชนิดหลายรูปแบบที่ปัจจุบันหาดูได้ยากตามแม่น้ำลำคลอง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร (035) 241195
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วังจันทรเกษมหรือวังหน้า ตั้งอยู่ถนนอู่ทอง ริมแม่น้ำป่าสักมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเมืองใกล้ตลาดหัวรอ วังจันทรเกษมสร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขณะยังทรงเป็นมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลกเมื่อพ.ศ.2112 เคยใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระยุพราชและพระมหากษัตริย์หลายพระองค์เมื่อคราวเสียกรุง ในปีพ.ศ.2310 วังนี้ได้ถูกข้าศึกเผาทำลายเสียหายมากและถูกทิ้งร้าง จนถึงรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมพระที่นั่งพิมานรัตยาและพลับพลาจตุรมุขไว้เป็นที่ประทับเมื่อเสด็จประพาสพระนครศรีอยุธยา ต่อมาในรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานให้เป็นที่ว่าการมณฑลอยุธยาและรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเป็นศาลากลางจังหวัดจนเมื่อได้สร้างศาลากลางใหม่แล้ว กรมศิลปากรจึงได้เข้ามาดูแลและจัดทำเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษมจนกระทั่งปัจจุบัน
วัดเสนาสนาราม อยู่ทางด้านหลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม เป็นวัดโบราณเดิมชื่อ "วัดเสื่อ" เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์คือ "พระสัมพุทธมุนี" พระประธานในอุโบสถและ "พระอินทรแปลง" ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระวิหารเป็นพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจาก นครเวียงจันทน์
วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร อยู่ในเขตพระนครด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเมือง เหนือบริเวณป้อมเพชร สามารถใช้เส้นทางเดียวกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม แต่พอถึงสามแยกให้เลี้ยวขวา แล้วตรงไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะเห็นป้ายทางเข้าวัดอยู่ทางด้านขวามือ วัดนี้เดิมชื่อว่า“วัดทอง”เป็นวัดที่พระบรมมหาชนกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้างไว้ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์ จึงโปรดเกล้าฯให้สถาปนาวัดทองขึ้นใหม่และพระราชนามว่า“วัดสุวรรณดาราราม” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระบรมชนกนาถและพระบรมราชชนนี ตามพระนามเดิมของทั้งสองพระองค์คือ“ทองดี”และ“ดาวเรือง”
เจดีย์พระศรีสุริโยทัย อยู่ในเกาะเมืองด้านทิศตะวันตก อยู่ติดกับสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 3 ถนนอู่ทอง พระเจดีย์แห่งนี้เป็นโบราณสถานที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นอนุสรณ์สถานของวีรสตรีไทยพระองค์แรก สมเด็จพระสุริโยทัยซึ่งสิ้นพระชนม์ในการทำสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระเจ้าแปร และเป็นการยืนยันเกียรติแห่งสตรีไทยที่ได้รับการยกย่องจากสังคมไทยมาแต่ครั้งบรรพกาล
ปีพ.ศ.2091 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชสมบัติมีสมเด็จพระสุริโยทัยเป็นพระมเหสี หลังจากครองราชย์ได้ 7 เดือน พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และบุเรงนองยกทัพเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยา โดยผ่านมาทางด้านด่านพระเจดีย์สามองค์จังหวัดกาญจนบุรีและตั้งค่ายล้อมพระนคร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงช้างออกไปพร้อมกับพระราชโอรสสมเด็จพระสุริโยทัยทรงเป็นห่วงพระราชสวามี จึงได้ทรงเครื่องแบบอย่างนักรบชายประทับช้างตามเสด็จออกไปกองทัพกรุงศรีอยุธยาปะทะกับทัพหน้าของกรุงหงสาวดี ซึ่งมีพระเจ้าแปรเป็นแม่ทัพสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงไสช้างเข้าชนกับช้างของพระเจ้าแปรและบังเอิญช้างทรงเกิดเพลี่ยงพล้ำ สมเด็จพระสุริโยทัยจึงไสช้างพระที่นั่งเข้าขวางพระเจ้าแปรด้วยเกรงว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระราชสวามีจะเป็นอันตราย จนถูกพระแสงของ้าวฟันพระอังสาขาดสะพายแล่งสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง เมื่อสงครามยุติลงสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงปลงพระศพของพระนางและสถาปนาวัดที่ปลงพระศพขึ้นเป็นวัดสวนหลวงสบสวรรค์ (เดิมชื่อ วัดสบสวรรค์) ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการสอบสวนหาตำแหน่งสถานที่ต่างๆ ที่กล่าวถึงในพระราชพงศาวดารเพื่อเรียบเรียงเป็นหนังสือประชุมพงศาวดารขึ้นทูลเกล้าฯถวาย จึงเป็นเหตุให้ทราบตำแหน่งของวัดสบสวรรค์ ซึ่งยังคงพบเจดีย์แบบย่อไม้สิบสองสูงใหญ่ปรากฏตามที่ตั้งในปัจจุบันนี้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงขนานนามเรียกชื่อเจดีย์ว่า "เจดีย์พระศรีสุริโยทัย"
สวนศรีสุริโยทัย ตั้งอยู่ในเขตทหาร กองสรรพาวุธซ่อมยาง สามารถใช้เส้นทางเดียวกับทางไปเจดีย์พระศรีสุริโยทัย สวนศรีสุริโยทัยจะอยู่ทางขวามือ องค์การสุราเป็นผู้สร้างสวนนี้เพื่ออุทิศส่วนกุศลถวายอดีตพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในที่ดินซึ่งเคยเป็นเขตพระราชฐานชั้นใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้พระราชทานชื่อ “สวนศรีสุริโยทัย” เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2532 และองค์การสุราได้ทูลเกล้าฯ ถวายสวนนี้แด่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ สวนนี้มีพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ ประกอบด้วยศาลาอเนกประสงค์ พลับพลาสมเด็จพระสุริโยทัย อนุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยแสดงเหตุการณ์ตอนสู้รบบนหลังช้าง เนินเสมาหินอ่อนโบราณอายุกว่า 400 ปีบรรจุชิ้นส่วนพระพุทธรูปที่ชำรุดอัญเชิญมาจากวัดพุทไธศวรรย์ (พระตำหนักเวียงเหล็กของพระเจ้าอู่ทอง) ฯลฯ สวนนี้เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น.
วัดกษัตราธิราชวรวิหาร อยู่นอกเกาะเมืองตรงข้ามกับเจดีย์พระศรีสุริโยทัย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถใช้เส้นทางเดียวกับสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ไปจนถึงสี่แยกแล้วเลี้ยวซ้ายข้ามสะพานวัดกษัตราธิราชฯ จากนั้นเลี้ยวขวาตรงไปไม่ไกลนักก็จะถึงวัดนี้ วัดนี้เดิมชื่อ “วัดกษัตรา” หรือ “วัดกษัตราราม” เป็นวัดโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยาพระ-ปรางค์ใหญ่เป็นประธานหลักของวัด และยังมีพระอุโบสถสมัยอยุธยาซึ่งมีลายสลักไม้เป็นดาวเพดานงดงามมาก เป็นวัด
ที่มีความสวยงามมากวัดหนึ่ง
วัดไชยวัฒนาราม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกนอกเกาะเมือง เป็นวัดที่พระเจ้าปราสาททอง กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาองค์ที่ 24 (พ.ศ. 2173-2198) โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2173 ได้ชื่อว่าเป็นวัดที่มีความงดงามมากแห่งหนึ่งในกรุงศรีอยุธยา ความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ วัดนี้เป็นที่ฝังพระศพของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์(เจ้าฟ้ากุ้ง) กวีเอกสมัยอยุธยาตอนปลายกับเจ้าฟ้าสังวาลย์ซึ่งต้องพระราชอาญาโบยจนสิ้นพระชนม์ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
วัดพุทไธศวรรย์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำทางด้านใต้ฝั่งตรงข้ามของเกาะเมือง หากเดินทางโดยรถยนต์ และใช้เส้นทางสายอยุธยา-เสนา ข้ามสะพานวัดกษัตราธิราชวรวิหาร แล้วเลี้ยวซ้าย จะผ่านวัดไชยวัฒนาราม มีป้ายบอกทางเป็นระยะไปจนถึงทางแยกซ้ายเข้าวัดพุทไธศวรรย์ วัดนี้สร้างขึ้นบริเวณตำหนักที่ประทับเดิมของสมเด็จพระเจ้าอู่ทองซึ่งเรียกว่า “ตำหนักเวียงเหล็กหรือเวียงเล็ก” หลังจากนั้นพระองค์ไปสร้างพระราชวังใหม่ที่ตำบลหนองโสน(บึงพระราม)จึงสถาปนาสถานที่นี้เป็นวัดพุทไธศวรรย์ ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ คือ พระปรางค์ประธานองค์ใหญ่ศิลปะแบบขอม พระอุโบสถทางด้านทิศตะวันตกของปรางค์ พระตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วิหารพระนอนและหมู่พระเจดีย์สิบสององค์
หมู่บ้านโปรตุเกส ตั้งอยู่ที่ตำบลสำเภาล่ม บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตก อยู่ทางใต้ของตัวเมือง ชาวโปรตุเกสเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาเมื่อปีพ.ศ. 2054 โดยอัลฟองโซ เดอ อัลบูเคอร์ก ผู้สำเร็จราชการของโปรตุเกส ประจำเอเซีย ได้ส่งนายดูอาร์เต้ เฟอร์นันเดส เป็นฑูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา ชาวโปรตุเกสเข้ามาตั้งหลักแหล่งค้าขายและเป็นทหารอาสาในกองทัพกรุงศรีอยุธยา สร้างโบสถ์ขึ้นเพื่อเผยแพร่ศาสนาและเป็นศูนย์กลางของชุมชน ปัจจุบันบริเวณนี้ยังมีร่องรอยสิ่งก่อสร้างปรากฏให้เห็นคือ โบราณสถานซานเปโตรหรือโบสถ์ในคณะโดมินิกันซึ่งเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา นับเป็นโบสถ์แห่งแรกที่สร้างขึ้นในแผ่นดินไทย มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ กล้องยาสูบ เหรียญกษาปณ์ เครื่องปั้นดินเผาและเครื่องประกอบพิธีทางศาสนา
วัดภูเขาทอง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างจากพระราชวังหลวงไปประมาณ 2 กิโลเมตร สามารถใช้เส้นทางเดียวกับทางไปจังหวัดอ่างทอง ทางหลวงหมายเลข 309 จะมีป้ายบอกทางแยกซ้ายไปวัดนี้ วัดภูเขาทองนี้ หนังสือคำให้การชาวกรุงเก่ากล่าวว่า สมเด็จพระราเมศวรทรงสร้าง เมื่อพ.ศ. 1930 ครั้นบุเรงนองยกมาตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อพ.ศ. 2112 ได้สร้างพระเจดีย์ภูเขาทองใหญ่แบบมอญขึ้นไว้เป็นที่ระลึกที่วัดนี้ ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดเกล้าฯให้ซ่อมแซมองค์พระเจดีย์ตอนบนเปลี่ยนจากเจดีย์แบบมอญเป็นเจดีย์ไทย ย่อมุมไม้สิบสองฝีมือช่างไทย ฝีมือช่างมอญเดิมจึงปรากฏเหลือเพียงฐานทักษิณส่วนล่างเท่านั้น เจดีย์ภูเขาทองจึงมีลักษณะสถาปัตยกรรมสองแบบผสมกัน ปัจจุบันกรมศิลปากรได้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงม้าบริเวณด้านหน้าวัดภูเขาทอง
วัดใหญ่ชัยมงคล เดิมชื่อวัดป่าแก้วหรือวัดเจ้าพระยาไทย ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก หากมาจากกรุงเทพฯเข้าตัวเมืองอยุธยาแล้วจะเห็นเจดีย์วัดสามปลื้ม(เจดีย์กลางถนน) ให้เลี้ยวซ้ายตรงไป ประมาณ 1 กิโลเมตร จะเห็นวัดใหญ่ชัยมงคลอยู่ทางซ้ายมือ วัดนี้ตามข้อมูลประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.1900 สำหรับเป็นสำนักของพระสงฆ์ซึ่งไปบวชเรียนมาแต่สำนักพระวันรัตน์มหาเถระในประเทศลังกา คณะสงฆ์ที่ไปศึกษาพระธรรมวินัยเรียกนามนิกายในภาษาไทยว่า “คณะป่าแก้ว” วัดนี้จึงได้ชื่อว่า วัดคณะป่าแก้ว ต่อมาเรียกให้สั้นลงว่า “วัดป่าแก้ว”
หลังจากนั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็น“วัดเจ้าพระยาไทย”สันนิษฐานว่าสาเหตุอาจมาจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่1 ทรงสร้างวัดป่าแก้วขึ้น ณ บริเวณที่ซึ่งได้ถวายพระเพลิงพระศพของเจ้าแก้วเจ้าไทย หรืออาจมาจากการที่วัดนี้เป็นที่ประทับของพระสังฆราชฝ่ายขวา ซึ่งในสมัยโบราณเรียกพระสงฆ์ว่า “เจ้าไทย” ฉะนั้นเจ้าพระยาไทยจึงหมายถึงตำแหน่งพระสังฆราช
ในปี พ.ศ. 2135 เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำศึกยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชแห่งพม่าที่ตำบลหนองสาหร่าย เมืองสุพรรณบุรี ได้ทรงสร้างพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นที่วัดนี้เป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ การสร้างพระเจดีย์อาจสร้างเสริมพระเจดีย์เดิมที่มีอยู่หรืออาจสร้างใหม่ทั้งองค์ก็ได้ ไม่มีหลักฐานแน่นอน ขนานนามว่า “พระเจดีย์ชัยมงคล”แต่ราษฎรเรียกว่า “พระเจดีย์ใหญ่” ฉะนั้นนานวันเข้าวัดนี้จึงเรียกชื่อเป็น “วัดใหญ่ชัยมงคล” วัดนี้ร้างไปเมื่อคราวเสียกรุงครั้งสุดท้าย และเพิ่งจะตั้งขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาเมื่อไม่นานมานี้
วัดพนัญเชิงวรวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักทางทิศใต้ฝั่งตรงข้ามของเกาะเมือง ห่างจากตัวเมืองราว 5 กิโลเมตร หรือเมื่อออกจากวัดใหญ่ชัยมงคล ให้เลี้ยวซ้ายตรงไปตามถนนประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะเห็นวัดพนัญเชิงอยู่ทางขวามือ วัดพนัญเชิงเป็นวัดที่มีมาก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง ตามพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งซึ่งครองเมืองอโยธยาเป็นผู้สร้างขึ้นตรงที่พระราชทานเพลิงศพพระนางสร้อยดอกหมาก และพระราชทานนามวัดว่า “วัดพระเจ้าพระนางเชิง”(หรือวัดพระนางเชิง) ในพระวิหารเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปขนาดใหญ่ ตามพงศาวดารกล่าวว่าสร้างเมื่อพ.ศ.1867 เดิมชื่อ “พระพุทธเจ้าพนัญเชิง” แต่ในรัชกาลที่ 4 เมื่อมีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปองค์นี้ได้พระราชทานนามใหม่ว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก” (ชาวบ้านนิยมเรียกหลวงพ่อโต ชาวจีนนิยมเรียกว่าซำปอกง)เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยลงรักปิดทอง มีขนาดหน้าตักกว้าง 14.10 เมตรและสูง 19 เมตร ฝีมือปั้นงดงามมาก อาจนับได้ว่าเป็นพระพุทธรูปนั่งสมัยอยุธยาตอนต้นที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน เป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อคราวพระนครศรีอยุธยาจะเสียกรุงแก่ข้าศึกนั้น พระพุทธรูปองค์นี้มีน้ำพระเนตรไหลออกมาทั้งสองข้าง ภายในวัดพนัญเชิงยังจะพบ ตึกเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ก่อสร้างเป็นตึกแบบจีนเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่สร้อยดอกหมากในเครื่องแต่งกายแบบจีน ชาวจีนเรียกว่า “จู๊แซเนี้ย” เป็นที่เคารพนับถือของชาวจีนทั่วไป สำหรับชาวต่างประเทศเสียค่าเข้าชม 20 บาท
หมู่บ้านญี่ปุ่น ตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะเรียน สามารถเดินทางจากวัดพนัญเชิงไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะเห็นอาคารผนวกหมู่บ้านญี่ปุ่นตั้งอยู่ทางด้านขวามือ ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขายเป็นจำนวนมาก ญี่ปุ่นเป็นชนชาติหนึ่งที่เดินทางเข้ามาในสมัยนั้น เมื่อทางการญี่ปุ่นอนุญาตให้ชาวญี่ปุ่นค้าขายกับชาวต่างชาติได้โดยให้มีหัวหน้าปกครองในกลุ่มตน นับแต่นั้นมาชาวญี่ปุ่นก็เข้ามาอาศัยในกรุงศรีอยุธยามากขึ้น หัวหน้าชาวญี่ปุ่นในขณะนั้นคือ นากามาซา ยามาดาเป็นผู้มีอำนาจและเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จนได้รับแต่งตั้งเป็นออกญาเสนาภิมุขรับราชการต่อมาจนได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจนสิ้นชีวิต
ปัจจุบันสมาคมไทย-ญี่ปุ่นได้จารึกเรื่องราวประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านญี่ปุ่นในสมัยกรุงศรีอยุธยามาจัดแสดงไว้ภายในหมู่บ้านญี่ปุ่น และปรับปรุงบริเวณหมู่บ้านให้เป็นอาคารผนวกของศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา รวมทั้งจัดแสดงเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับต่างประเทศ เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป

อำเภอพระนครศรีอยุธยา
เครื่องประดับมุก เช่น โตก ตะลุ่ม ถาด ที่ตำบลท่าวาสุกรี ตำบลไผ่ลิง ในเกาะเมือง
โต๊ะหมู่บูชา ธรรมาสน์ เฟอร์นิเจอร์ลายไม้ เครื่องไม้แกะสลัก ที่ตำบลท่าวาสุกรี ตำบลไผ่ลิง ตำบลบ้านใหม่ ตำบลประตูชัย ตำบลวัดตูม บริเวณเกาะเมือง
ปลาตะเพียนสาน เครื่องแขวน ที่บ้านหัวแหลม ตำบลท่าวาสุกรี, บ้านรัตนชัย ตำบลประตูชัย ในเกาะเมืองอยุธยา
หัวโขน มีแห่งเดียวที่บ้าน ม.ร.ว. จรูญสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ 5/1 ตำบลท่าวาสุกรี
โรตีสายไหม มีแหล่งจำหน่ายที่บริเวณทางด้านหน้า และด้านข้างโรงพยาบาลประจำจังหวัดอยุธยา ริมถนนอู่ทอง และตามร้านค้าทั่ว ๆ ไป
ร้านสังคีตประดิษฐ์ 97 หมู่ 4 หมู่บ้านสหกรณ์ครู (หมู่บ้านวรเชษฐ์) ถ.อยุธยา–เสนา ต.บ้านป้อม โทร (035) 244631, 245729
ตลาดกลางเพื่อเกษตรกร ตั้งอยู่ริมถนนสายเอเซีย ที่ตำบลหันตรา
หลังจากเที่ยวชมในจังหวัดอยุธยาแล้วจะเดินทางกลับให้ขับรถข้ามสะพานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตรงไปทางฝั่งตะวันออกของเกาะเมือง แล้วให้เลี้ยวซ้ายตรงไปจนถึงถนนสายเอเซีย เส้นทางหลวงหมายเลข 32 ไปไม่ไกลนักจะมีทางให้เลี้ยวขวาเข้าไปจะเห็นตลาดกลางอยู่ทางซ้ายมือก็จะพบกับสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นเมืองแทบทุกชนิด เช่น มีดอรัญญิกแท้จากอำเภอนครหลวง พัดสานจากอำเภอบ้านแพรก ไม้แกะสลักของอำเภอพระนครศรีอยุธยา เสื้อผ้าสำเร็จรูปจากอำเภอบางปะอิน ปลาร้า ปลาแห้งและผลไม้กวนทุกชนิด ตลอดจนของขวัญของฝากหลากหลายจากทุกอำเภอ นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารซึ่งมีกุ้งและปลาสดๆ รสชาติอร่อยอยู่หลายร้าน
บริเวณวิหารวัดพระมงคลบพิตรและบริเวณวัดพนัญเชิงวรวิหารมีร้านค้ามากมายหลายร้าน จำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นเมืองแทบทุกชนิด เช่น ปลาตะเพียน เครื่องจักสาน เครื่องหวาย มีดอรัญญิก ผลไม้กวน และขนมชนิดต่าง ๆ

อำเภอเสนา
เครื่องหวาย ที่ตำบลบ้านโพธิ์หัวเวียง และบ้านกระทุ่ม
เจียระไนพลอยที่ตำบลเจ้าเจ็ด

อำเภอนครหลวง
มีดอรัญญิก ผลิตภัณฑ์ลงหิน ที่บ้านต้นโพธิ์ไผ่หนอง บ้านอรัญญิก ตำบลท่าช้าง
หม้อดินที่อำเภอนครหลวง, บริเวณคลองสระบัว ในเกาะเมืองอยุธยา, อำเภอบางบาล และอำเภอบางปะหัน

อำเภอบางปะหัน
งอบใบลาน (โครงทำด้วยไม้ไผ่) ที่อำเภอบางปะหัน
งานจักสานจากไผ่ งานประดิษฐ์จากไม้ซาง เช่น เรือนไทยจำลอง เรือนแพ ที่ตำบลตานิม

งานประจำปีศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จัดเป็นประจำทุกปี ช่วงปลายเดือนมกราคม ภายในบริเวณศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อำเภอบางไทร มีการแสดงและประกวดผลงานด้านศิลปาชีพ มีการจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองทั่วไป การแสดงศิลปวัฒนธรรมอันงดงาม
งานเทศกาลสงกรานต์ จัดขึ้นในวันที่ 13 เมษายนของทุกปี หน้าวิหารพระมงคลบพิตร อำเภอพระนครศรีอยุธยา มีขบวนแห่ตามประเพณีของชาวอยุธยาและขบวนแห่เถิดเทิง มีการสรงน้ำพระมงคลบพิตรจำลอง การประกวดนางสงกรานต์
พิธีไหว้ครูบูชาเตา เป็น “พิธีไหว้ครู” ช่างตีมีดตีดาบ ของชาวบ้านต้นโพธิ์ บ้านไผ่หนอง และบ้านสาไล ตำบลท่าช้าง อำเภอนครหลวง ซึ่งมีอาชีพในการตีมีดเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า“มีดอรัญญิก”
บรรพชนของชาวบ้านไผ่หนองและบ้านต้นโพธิ์ ตำบลท่าช้าง อำเภอนครหลวงนั้นเป็นชาวเวียงจันทน์ เข้ามาตั้งรกรากอยู่ตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีอาชีพในการตีทองและตีเหล็ก แต่ต่อมาเลิกการตีทองจึงเหลือแต่การตีเหล็กเพียงอย่างเดียว เหล็กที่ตีนี้ส่วนใหญ่ทำเป็นมีด ดาบ และอาวุธ ตลอดจนเครื่องใช้อื่นๆ ซึ่งมีคุณภาพดีมากเมื่อทำเสร็จแล้วก็นำมาขายที่หมู่บ้านอรัญญิก ตำบลปากท่า อำเภอท่าเรือ จึงเรียกว่า “มีดอรัญญิก” สิ่งที่ชาวตำบลท่าช้างทุกคนยังคงถือสืบต่อกันมาตามขนบประเพณีเดิมคือการ “ไหว้ครูบูชาเตา” ซึ่งทุกบ้านจะจัดบูชาในวันพฤหัสบดีช่วงเช้าตรู่ของวันขึ้น 7 ค่ำ 9 ค่ำ ฯลฯ เดือน 5 (ประมาณเมษายน-พฤษภาคม) ตามแต่ความสะดวก เพื่อระลึกถึงพระคุณครูบาอาจารย์ และเพื่อความเป็นสิริมงคลของตน ทั้งยังเป็นการปัดเป่าอุปัทวเหตุต่าง ๆ ในการตีเหล็กอีกด้วย พอได้เวลา ผู้ทำพิธีไหว้ครูก็จะกล่าวบทชุมนุมเทวดาไหว้พระรัตนตรัย จากนั้นก็จะกล่าวบทอัญเชิญครูบาอาจารย์ทั้งหลาย อันได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระวิษณุกรรม พระมาตุลี พระพาย พระคงคา พระฤาษี 8 องค์ ฯลฯ ตลอดจนบูรพาจารย์ทั้งครูไทย ครูลาว ครูมอญ ครูจีน ที่ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาตีเหล็กให้แก่ตน มารับเครื่องบูชาสังเวย และประสาทพร แก่ผู้เข้าร่วมพิธีให้ประสบแต่ความสุขความ ความเจริญ แล้วปิดทองเครื่องมือทุกชิ้น ทำน้ำมนต์ธรณีสารประพรมเครื่องมือและผู้เข้าร่วมพิธี
งานลอยกระทงตามประทีป และแข่งเรือยาวประเพณีศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จัดเป็นประจำทุกปี ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน ภายในบริเวณศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อำเภอบางไทร มีการประกวดนางนพมาศ ประกวดขบวนแห่ ประกวดกระทง ประกวดโคมแขวน การแสดงการละเล่นพื้นบ้าน การแข่งเรือยาวประเพณี เรือยาวนานาชาติ การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ
งานแสดงแสงเสียงอยุธยามรดกโลก เนื่องจากนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้รับการประกาศโดยองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534 ทางจังหวัดจึงได้จัดให้มีการเฉลิมฉลองทุกปี ในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นระยะเวลา 7 วัน ในงานจะมีการแสดงชีวิตความเป็นอยู่ ศิลปหัตถกรรม วัฒนธรรม และประเพณีของไทย รวมทั้งการแสดงแสงเสียงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยา


ราชธานีเก่าแก่ของสยามประเทศ ประกอบด้วย 5 ราชวงศ์คือ ราชวงศ์อู่ทอง ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ราชวงศ์สุโขทัย ราชวงศ์ปราสาททองและราชวงศ์บ้านพลูหลวง มีกษัตริย์ปกครองทั้งสิ้น 33 พระองค์ โดยมีปฐมกษัตริย์คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) พระนครศรีอยุธยาจึงนับเป็นราชธานีที่มีอายุยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติไทย 417 ปี
• ภูมิประเทศของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่าน 3 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านทางด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ แม่น้ำป่าสักไหลผ่านทางทิศตะวันออก และแม่น้ำลพบุรี(ปัจจุบันเป็นคลองเมือง)ไหลผ่านทางด้านทิศเหนือ แม่น้ำสามสายนี้ไหลมาบรรจบกันโอบล้อมรอบพื้นที่ของตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ตัวเมืองจึงมีลักษณะเป็นเกาะ เราจะเห็นบ้านเรือนปลูกเรียงรายหนาแน่นตามสองข้างฝั่งแม่น้ำแสดงถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่ผูกพันธ์อยู่กับสายน้ำมายาวนาน
• จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอยู่ห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 76 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 2,556 ตารางกิโลเมตร แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 16 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอ นครหลวง อำเภอภาชี อำเภอบ้านแพรก อำเภอบางซ้าย อำเภอบางไทร อำเภอลาดบัวหลวง อำเภอบางบาล อำเภอมหาราช อำเภอบางปะหัน อำเภอเสนา อำเภออุทัย อำเภอบางปะอิน อำเภอผักไห่ อำเภอท่าเรือ และอำเภอวังน้อย
• ตลอดระยะเวลา 417 ปีที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแห่งราชอาณาจักรไทย มิได้เป็นเพียงช่วงแห่งความเจริญสูงสุดของชนชาติไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างสรรค์อารยธรรมของหมู่มวลมนุษยชาติซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่นานาอารยประเทศอีกด้วย แม้ว่ากรุงศรีอยุธยาจะถูกทำลายเสียหายจากสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านหรือจากน้ำมือการบุกรุกขุดค้นของพวกเรากันเอง แต่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันนี้ยังมีร่องรอยหลักฐานซึ่งแสดงอัจฉริยภาพและความสามารถอันยิ่งใหญ่ ของบรรพบุรุษแห่งราชอาณาจักรผู้อุทิศตนสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรม และความมั่งคั่งไว้ให้แก่ผืนแผ่นดินไทย หรือแม้แต่ชาวโลกทั้งมวล จึงเป็นที่น่ายินดีว่าองค์การ ยูเนสโก้ โดยคณะกรรมการมรดกโลกได้มีมติรับนครประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2519 ไว้ในบัญชีมรดกโลก เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534 ณ กรุงคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย พร้อมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชรโดยจะมีผลให้ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญาที่ประเทศต่างๆได้ทำร่วมกัน จึงสมควรที่อนุชนรุ่นหลังจะได้ไปศึกษาเยี่ยมชมเมืองหลวงเก่าของเราแห่งนี้
• สถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาส่วนใหญ่เป็นโบราณสถาน ได้แก่ วัด และพระราชวังต่างๆ พระราชวังในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีอยู่ 3 แห่ง คือ พระราชวังหลวง วังจันทรเกษมหรือวังหน้า และวังหลัง นอกจากนี้ยังมีวังและตำหนักนอกอำเภอพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นที่สำหรับเสด็จประพาส ได้แก่ พระราชวังบางปะอิน ในเขตอำเภอบางปะอิน และตำหนักนครหลวง ในเขตอำเภอนครหลวง
อาณาเขต
• ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดลพบุรี อ่างทอง และสระบุรี
• ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดปทุมธานี และนนทบุรี
• ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดสระบุรี
• ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดสุพรรณบุรี
การเดินทาง
• รถยนต์ จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้หลายเส้นทางดังนี้
1. ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 309 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
2. ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือทางหลวงหมายเลข 302 (ถนนงามวงศ์วาน) เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 306(ถนนติวานนท์) แล้วข้ามสะพานนนทบุรีหรือสะพานนวลฉวี ไปยังจังหวัดปทุมธานีต่อด้วยเส้นทาง ปทุมธานี-สามโคก-เสนา (ทางหลวงหมายเลข 3111) เลี้ยวแยกขวาที่อำเภอเสนา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 3263 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
3. ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-นนทบุรี-ปทุมธานี ทางหลวงหมายเลข 306 ถึงทางแยกสะพานปทุมธานี เลี้ยวเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 347 แล้วไปแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 3309 ผ่านศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อำเภอบางปะอิน เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
• รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยาทุกวัน วันละหลายเที่ยว ออกจากสถานีขนส่งหมอชิต ถนนกำแพงเพชร 2 รถโดยสารปรับอากาศชั้น 1 กรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยาและรถโดยสารปรับอากาศชั้น 2 กรุงเทพฯ-ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร-พระนครศรีอยุธยา ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 537-8055, 936-2852-66
• รถไฟ การเดินทางไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยาสามารถใช้บริการขบวนรถไฟโดยสารที่มีปลายทางสู่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีบริการทุกวัน โดยรถไฟจะผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในเขตอำเภอบางปะอิน อำเภอพระนครศรีอยุธยาและอำเภอภาชี ทางรถไฟจะแยกไปภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สถานีชุมทางบ้านภาชี
• ทางเรือ ปัจจุบันการเดินทางไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยทางน้ำเป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศมาก เพราะนอกจากจะได้ชมทัศนียภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ยังเป็นการย้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์สมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีและมีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ

บริการเรือนำเที่ยวไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
• บริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด จัดรายการนำเที่ยวสู่พระราชวังบางปะอิน วัดนิเวศธรรมประวัติ ผ่านวัดไผ่ล้อมและแวะเที่ยวชมศูนย์ศิลปาชีพบางไทรทุกวันอาทิตย์ เรือออกจากท่ามหาราชเวลา 08.00 น. และกลับถึงกรุงเทพฯเวลา 17.30 น. อัตราค่าโดยสารคนละ 330 บาททั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 222-5330, 225-3002-3, 623-6001-3
• เรือโอเรียนเต็ลควีน จัดรายการนำเที่ยวสู่พระราชวังบางปะอินและจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นประจำทุกวัน พร้อมอาหารบุฟเฟ่และเครื่องดื่ม เรือจะออกจากท่าโรงแรมโอเรียนเต็ลเวลาประมาณ 08.00 กลับถึงเวลา 17.00น. (สามารถเลือกเดินทางโดยทางรถยนต์กลับทางเรือหรือไปทางเรือกลับทางรถยนต์) อัตราค่าบริการคนละ 1,900 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 236-0400-9
• เรือริเวอร์ซันครุ้ยส์ บริการเรือนำเที่ยวไปเช้า-เย็นกลับ พร้อมอาหารและเครื่องดื่มสู่พระราชวังบางปะอินและนำเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทุกวัน เรือออกจากท่าศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้เวลา08.00น.และเดินทางกลับโดยทางรถยนต์เวลา 16.30 น. อัตราค่าโดยสารคนละ 1,600 บาททั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 266-9125-6, 266-9316
เรือฮอไรซันครุ้ยส์ มีบริการเรือนำเที่ยวพระราชวังบางปะอิน พระนครศรีอยุธยาทุกวัน พร้อมอาหารและเครื่องดื่ม รถออกจากลานจอดรถใกล้โรงแรมแชงกรีล่าเวลา 08.00 น. เดินทางกลับโดยทางเรือ อัตราค่าโดยสารคนละ 1,600 บาททั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 236-7777 ต่อ 1204-5, 236-9952
• เรือเมฆขลา มีบริการนำเที่ยวสู่พระราชวังบางปะอินและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แบบ 2 วัน 1 คืน พร้อมอาหารและเครื่องดื่ม โดยเรือจะออกจากท่าโรงแรมแม่น้ำ เวลา 14.30 น. และเดินทางกลับโดยรถยนต์ (หรือจะเลือกเดินทางไปโดยรถยนต์ออกเวลา 07.00 น.และเดินทางกลับโดยทางเรือ) อัตราค่าโดยสาร 4,500-7,600 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 256-7168-9

ระยะทางจากอำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยาไปยังอำเภอต่างๆ
บางบาล 10 กิโลเมตร
บางปะหัน 13 กิโลเมตร
อุทัย 15 กิโลเมตร
บางปะอิน 17 กิโลเมตร
นครหลวง 20 กิโลเมตร
วังน้อย 20 กิโลเมตร
เสนา 20 กิโลเมตร
มหาราช 25 กิโลเมตร
ผักไห่ 29 กิโลเมตร
บางซ้าย 34 กิโลเมตร
ภาชี 25 กิโลเมตร
บางไทร 45 กิโลเมตร
บ้านแพรก 53 กิโลเมตร
ท่าเรือ 60 กิโลเมตร
ลาดบัวหลวง 65 กิโลเมตร

ระยะทางจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปยังจังหวัดใกล้เคียง
พระนครศรีอยุธยา-อ่างทอง 31 กิโลเมตร
พระนครศรีอยุธยา-สุพรรณบุรี 53 กิโลเมตร
พระนครศรีอยุธยา-สระบุรี 63 กิโลเมตร
พระนครศรีอยุธยา-สิงห์บุรี 71 กิโลเมตร

หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ (รหัสทางไกล ๐๓๕)
ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๓๓๖๕๕๔
สถานีตำรวจภูธรอำเภอพระนครศรีอยุธยา ๒๔๑๐๐๑, ๒๔๑๖๐๘
ตำรวจท่องเที่ยว ๑๑๕๕, ๒๔๒๓๕๒
โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ๒๔๑๗๑๘, ๒๔๑๐๒๗
โรงพยาบาลราชธานี ๓๓๕๕๕๕-๖๐
สถานีเดินรถโดยสารประจำทาง ๓๓๕๓๐๔
สถานีรถไฟ ๒๔๑๕๒๑

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สำนักงานภาคกลาง เขต ๖ (พระนครศรีอยุธยา)
๑๐๘/๒๒ หมู่ ๔ ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๑๓๐๐๐
โทร. (๐๓๕) ๒๔๖๐๗๖-๗ โทรสาร (๐๓๕) ๒๔๖๐๗๘
พื้นที่ความรับผิดชอบ : พระนครศรีอยุธยา สระบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี

บทความที่ได้รับความนิยม